พระไตรปิฎกอักขะระไตล้านช้าง-ปาฬิ
พระไตรปิฎกชุดชาติพันธุ์ไต
ภาพโดยพระบรมราชานุญาต
หนังสือ ที่ พว 0005.1/771
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ผู้ทรงเป็นประธานการพิมพ์เพื่ออนุรักษ์ต้นฉบับ พระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 เสด็จเป็นประธานในพิธีพระราชทาน ต้นฉบับสัชฌายะ (Sajjhāya Phonetic Edition) ในพระไตรปิฎกสากล ซึ่งจัดพิมพ์เป็นชุด อักขะระชาติพันธุ์ไตชุดต่างๆ (Tai Scripts) คู่ขนาน กับ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ (Thai Phonetic Alphabet-Pāḷi) รวม 9 ชุดอักขะระ โดยได้พระราชทานต้นฉบับแก่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และ ศาลปกครองสูงสุด พ.ศ. 2557 ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
พิธีสมโภชพระไตรปิฎกสากลจัดขึ้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวาระที่ ชุดสัททะอักขะระในการพิมพ์พระไตรปิฎกสากลดังกล่าว สามารถสร้างสรรค์สำเร็จขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกในรัชกาลที่ 9 โดยได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาฉบับแรก The World Tipiṭaka Patent No. 46390 พ.ศ. 2557 (2014)
ต้นฉบับพระไตรปิฎกสากล ชุดสัททะอักขะระ-ปาฬิ (Pāḷi Phonetic Alphabet) ได้พระราชทานแก่สถาบันศาล ในฐานะที่พระไตรปิฎกเปรียบเป็นพระธรรมศาสตร์เก่าแก่ ซึ่งเป็นรากฐานทางกฎหมายของมนุษยชาติ ซึ่งศาลเป็นผู้ใช้อำนาจทางตุลาการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตรย์ไทย
หมายเหตุ : ในภาพคือต้นฉบับ ภิกขุปาติโมกขะปาฬิ อักขะระไตขืน-ปาฬิ (เชียงตุง) จากชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต-ปาฬิ 9 ชุดอักขะระ ปัจจุบัน พ.ศ. 2563 ได้มีการจัดเพิ่มเป็นพระไตรปิฎกสากล 18 ชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต ชุดละ 40 เล่ม เป็นทั้งชุดหนังสือและระบบดิจิทัลพร้อมเสียงสัชฌายะดิจิทัล รวม 3,052 ชั่วโมง ความจุ 1.6 เทระไบต์
อักษรธัมม์ล้านช้าง หรือที่โครงการพระไตรปิฎกสากลเรียกว่า อักขะระไตล้านช้าง-ปาฬิ เป็นอักขะระที่ใช้เขียนพระไตรปิฎกในคัมภีร์ใบลานโบราณ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมพุทธศาสนาเถรวาทในอาณาจักรล้านช้างเก่าแก่ที่มีดินแดนครอบคลุมต่อจากล้านนาทางภาคเหนือ และภาคอิสานของไทย ตลอดจนดินแดนของประเทศลาวในปัจจุบัน
อิทธิพลในทางอักขรวิธีเขียนและอ่านของอักขะระล้านช้างสืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาในประวัติศาสตร์ของชนชาติไตในล้านช้างและล้านนา ซึ่งปรากฏหลักฐานการเขียนปาฬิภาสาด้วยอักขะระล้านนาของชาวไตยวนที่ฐานพระพุทธรูปตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 และต่อมาได้มีความสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นยุคที่พระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาได้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก โดยให้บันทึกด้วยอักขะระล้านนา และต่อมาในสมัยพระไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างที่ยิ่งใหญ่ของลาวได้มีอำนาจปกครองนครเชียงใหม่ของล้านนาในอดีตด้วยนั้น ทำให้อักขรวิธีล้านนาแพร่หลายเข้าสู่อาณาจักรล้านช้างในดินแดนลาวปัจจุบันและรวมถึงดินแดนอิสานในประเทศไทยด้วย ซึ่งชาวไทยเรียกว่า อักษรธัมม์อิสาน หรือในที่นี้จะเรียกว่า อักขะระธัมม์อิสาน ซึ่งกล่าวได้ว่ามีรูปเขียนเสียงปาฬิที่เหมือนกัน เพียงแต่เรียกชื่ออักขะระต่างกัน
ลักษณะเด่นของอักษรธัมม์ล้านช้าง หรือ อักขะระธัมม์อิสาน คือ อักขรวิธีที่เขียนพยัญชนะซ้อนกัน เป็นอักขรวิธีเช่นเดียวกับของชาวไตยวนในอาณาจักรล้านนา ไตขืนในเมืองเชียงตุง และไตลื้อในแคว้นสิบสองปันนา กล่าวคือ พยางค์เสียงสะกด จะเขียนพยัญชนะเสียงสะกดใต้พยัญชนะต้น ต้องอ่านเสียงพยัญชนะสะกดทวนเข็มนาฬิกา ส่วนพยางค์เสียงกล้ำ จะเขียนเสียงพยัญชนะต้นตัวแรกที่เป็นเสียงกล้ำอยู่ใต้พยัญชนะตัวที่สองที่ตามมา ต้องออกเสียงกล้ำของพยัญชนะตัวแรกก่อนตามเข็มนาฬิกา
พ.ศ. 2562 โครงการพระไตรปิฎกสากล มีความประสงค์จะอนุรักษ์เสียงปาฬิในพระไตรปิฎกในหมู่ชาติพันธ์ุไตจึงได้เรียงพิมพ์อักขะระธัมม์ล้านช้างโบราณดังกล่าวขึ้นในระบบดิจิทัลเป็นชุดชาติพันธุ์ไตชุดหนึ่ง เรียกว่า พระไตรปิฎกสากล-ปาฬิภาสา ชุดอักขะระไตล้านช้าง-ปาฬิ เพื่อเป็นการอนุรักษ์อักขรวิธีซ้อนพยัญชนะแบบดั้งเดิม และเพื่อให้ต่างจากฉบับต่างๆ ที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ในประเทศลาวปัจจุบันที่พิมพ์ตามอักขรวิธีพินทุบอดแบบไทย
เนื่องจากอักขรวิธีลาวพินทุบอดใช้สัญลักษณ์จุดพินทุเขียนทั้งเสียงสะกดและเสียงกล้ำ จึงมักเป็นปัญหาลักลั่นในการอ่านสำหรับผู้ที่ไม่รู้ไวยากรณ์ของรูปศัพท์เสียงสะกดและเสียงกล้ำ ดังนั้นโครงการพระไตรปิฎกสากลจึงได้พัฒนาอักขรวิธีใหม่ขึ้นอีกชุดหนึ่งสำหรับพิมพ์พระไตรปิฎกลาว โดยใช้สัญลักษณ์ไม้หันอากาศลาว กำกับเสียงสะกด และเพิ่มรูป สระ-อะ สำหรับพยางค์เสียงที่ไม่สะกดเพื่อให้ต่างจากพยางค์เสียงกล้ำ ซึ่งเป็นพยัญชนะสองตัวเรียงกันโดยไม่มีสระคั่น
โครงการพระไตรปิฎกสากลได้นำอักขะระไตล้านช้าง-ปาฬิ จัดพิมพ์คู่ขนาน กับชุดสัททะอักขะระไทย-ปาฬิ เป็นชุดอักขะระชาติพันธ์ไต ตามหลักการถอดเสียงอย่างละเอียดในทางภาษาศาสตร์ ที่เรียกว่า การถอดเสียงปาฬิ (Pāḷi Phonetic Transcription) ซึ่งได้มุ่งเน้นการออกเสียงละหุ เสียงเร็ว (พิมพ์สีเบาโปร่ง) และเสียงคะรุ เสียงนาน (พิมพ์สีเข้มทึบ) ตามหลัก พยัญชะนะกุสะละ (Byanjanakusala) ในพระวินัยปิฎก ปริวารวัคค์ ข้อ 455 โดยอ้างอิงกับไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ทั้งนี้เพื่อมุ่งเน้นการออกเสียงปาฬิให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะได้อธิบายรายละเอียดของ ชุดสัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ต่อไป
สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ มีรายละเอียด ดังนี้
สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ (Thai Phonetic Alphabet Pāḷi) เป็นการเขียนเสียงปาฬิ ในทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์ ด้วยรูป อักขะระไทย (Thai Alphabet) ที่พัฒนาจาก อักขะระสยาม-ปาฬิ และ สัททะอักขะระสยาม-ปาฬิ เป็น สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ (Thai Phonetic Alphabet-Pāḷi) พร้อมกับระบบสัททสัญลักษณ์ปาฬิ (Pāḷi Phonetic Symbol) ตามที่ได้นำเสนอแล้วในที่ประชุมสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 และต่อมาได้มีการจัดพิมพ์ลงในวารสารราชบัณฑิตยสถาน เพื่อแสดงการเขียนเสียงปาฬิให้แม่นตรงตามหลักไวยากรณ์ในกัจจายะนะ-ปาฬิ อันเป็นการเขียนตามแนวอักขรวิธีสยามปาฬิ ในพระไตรปิฎก จปร. พ.ศ. 2436 โดยไม่คำนึงถึงเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำในภาษาไทย โดยเขียนรูป สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ และสัททสัญลักษณ์ปาฬิ ในเครื่องหมายวงเล็บสัททสัญลักษณ์สากล [ ] ดังมีหลักการดังนี้
1. การสร้างตาราง การถอดเสียง (Transcription) ชุด สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ เป็นการจัดรูป อักขะระ ที่แสดงที่กำเนิดเสียงปาฬิตามฐานอวัยวะกับลิ้นในปาก หรือที่เรียกว่า ฐาน-กรณ์
2. การรสร้าง สัททสัญลักษณ์ (Phonetic Symbol) ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ กำหนดการออกเสียง ดังนี้
2.1 รูป สระ-อะ ที่ลดรูปใน อักขะระสยาม-ปาฬิ ใน สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ จะแสดงรูปสระ เช่น อักขะระสยาม-ปาฬิ เขียนว่า ปน สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ จะเขียนว่า [ปะนะ] สังเกตการพิมพ์สีเบาโปร่งแสดงเสียงละหุ
2.2 กรณีที่ อักขะระสยาม-ปาฬิ มี ไม้อะ ( ั ) นำหน้าพยัญชนะเสียงสะกด ซึ่งแสดงด้วย พยัญชนะที่กำกับด้วย ไม้วัญฌการ ( ์ ) เช่น อักขะระสยาม-ปาฬิ เขียนว่า ตัส์ส สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ จะใช้อักขรวิธี ไม้ อะ อักขะระสยาม-ปาฬิ คือคงรูป ไม้-อะ ไว้ แต่งดรูปไม้วัญฌการ เขียนว่า [ตัสสะ] ส่วนสระอื่นๆ ซึ่งตามด้วยเสียงสะกด ก็ยังคงรูปสระไว้ และงดรูปไม้วัญฌการ เช่นกัน
2.3 กรณีที่ อักขะระสยาม-ปาฬิ มี ไม้-อะ นำหน้าพยัญชนะเสียงกล้ำ ซึ่งกำกับด้วยไม้ยามักการ ( ๎ ) เช่น ต๎ว ใน กัต๎วา สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ จะเขียนว่า [กะตวา] เพื่อมุ่งเน้นเสียง สระ-อะ ให้ออกเสียงเป็นพิเศษตามหลักไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602 ที่กำหนดว่า ให้สระเสียงสั้นที่นำหน้าพยัญชนะเสียงกล้ำ เป็น เสียงคะรุ-ออกเสียงนานขึ้น และใช้สัททสัญลักษณ์ ไม้กล้ำกำกับใต้พยัญชนะเสียงกล้ำทั้งสองตัว
สังเกต สระเสียงสั้นพิมพ์สีเข้มทึบ แสดงเสียงนานขึ้น เช่น ใน อักขะระสยาม-ปาฬิ ว่า กัต๎วา สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ เป็น [กะตวา] หิต๎วา เป็น [หิตวา] และ คุย๎หํ เป็น [คุยหัง] และมีการใช้เครื่องหมายจุดแบ่งพยางค์ [ . ] ทุกครั้ง เพื่อให้ออกเสียงได้ง่าย
2.4 ในคำที่มีไม้ยามักการกำกับและอยู่หลัง สระ-เอ หรือ สระ-โอ เช่น อักขะระสยาม-ปาฬิ เขียนว่า เท๎ว ตุเม๎ห มูโฬ๎ห ใน สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ จะเขียนสลับตำแหน่งและเขียนสัททสัญลักษณ์ไม้กล้ำ ใต้อักขะระสามตัวเป็น [ดเว] [ตุมเห] และ [มุฬโห] ตามความนิยมในอักขรวิธีเขียนในภาษาไทยปัจจุบัน และจะใช้เครื่องหมายจุดแบ่งพยางค์ [ . ] ทุกครั้ง เพื่อให้ออกเสียงได้ง่าย
2.5 สระ-เอ สระ-โอ เมื่อตามด้วยพยัญชนะเสียงสะกด ให้ออกเป็นสระเสียงสั้น ตามคำอธิบายในไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ใช้สัททสัญลักษณ์ ไม้ไต่คู้ ( ็ ) แสดงเสียงสระเสียงสั้น ที่เป็นละหุ-ออกเสียงเร็ว เช่น อักขะระสยาม-ปาฬิ ว่า โกณ์ฑัญ์ญ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ว่า [โก็ณฑัญญะ]
2.6 เครื่องหมาย ง-พินทุโปร่ง ( งํ ) เป็นพยัญชนะที่ประกอบกับสระเสียงสั้น (อ อิ อุ) เป็นสัญลักษณ์แทนเสียงนิคคะหิต ที่เกิดที่จมูกเท่านั้น เช่น อักขะระสยาม-ปาฬิ ว่า สํกัป์ปํ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ เขียนว่า [สังํกัปปังํ] อักขะระสยาม-ปาฬิ ว่า เอตัส๎มิํ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ เขียนว่า [เอตะสมิงํ] อักขะระสยาม-ปาฬิ ว่า ภิกขุํ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ เขียนว่า [ภิกขุงํ]
3. พิมพ์สัททสัญลักษณ์ของเสียงละหุคะรุ ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัล กล่าวคือ เสียงละหุ-ออกเสียงเร็ว พิมพ์สีเบาโปร่ง เสียงคะรุ-ออกเสียงนานขึ้น พิมพ์สีเข้มทึบ ซึ่งเป็นการจัดทำเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ตามหลักการออกเสียงละหุคะรุตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ
ขอขอบคุณ พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค นายกกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ และคณะ ที่ดำเนินการออกแบบ บันทึกอักขะระไตล้านช้าง-ปาฬิ ชุดนี้ เพื่อจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต พ.ศ. 2563
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์
ประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค
ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา
ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล
พ.ศ. 2563
tipitaka in tai lanxang script pali by Dhamma Society on Scribd