คลังพระไตรปิฎกสากล & การเปลี่ยนผ่านดิจิทัล
"คลัง" คือสถานที่รวบรวมสิ่งที่มีค่าต่างๆ เช่น คลังหลวง และ คลังพระไตรปิฎก คลังจึงมีความหมายต่างจาก "ห้องเก็บของ" เพราะคลังหมายถึงสถานที่รวบรวมสิ่งมีค่าในทางนามธรรม หรือที่โครงการพระไตรปิฎกสากลเขียนว่า นามธัมม์ ด้วย
1. คลังพระไตรปิฎกสากล (The World Tipiṭaka Collection)
โครงการพระไตรปิฎกสากล (The World Tipiṭaka Project) ซึ่งกำเนิดขึ้นโดยพระบัญชาในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 19 เมื่อ พ.ศ. 2542 ได้ทำการศึกษา ตรวจทาน และจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล เป็นอักษรโรมันชุดสมบูรณ์ชุดแรกของโลก จากต้นฉบับการสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 โดยสร้างเป็นสื่อหนังสือพระไตรปิฎกปาฬิ (Pāḷi Tipiṭaka : The World Edition 2005) และสื่อเสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation Sound) ด้วยเหตุนี้คลังพระไตรปิฎกในยุคใหม่จึงมีศักยภาพในการพัฒนาและเปลี่ยนผ่านเป็นสื่อต่างๆ (Media Transformation) คลังพระไตรปิฎกที่สำคัญในโครงการพระไตรปิฎกสากล ได้แก่ คลังต้นฉบับหนังสือพระไตรปิฎกใบลานและชุดหนังสือ คลังเสียงทุกพยางค์ในพระไตรปิฎก ซึ่งออกเสียงตามหลักไวยากรณ์กัจจายะนะ และคลังฐานข้อมูลในพระไตรปิฎกอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
พ.ศ. 2543 โครงการพระไตรปิฎกสากลได้รวบรวม "คลังพระไตรปิฎกนานาชาติ" (The International Tipiṭaka Collection) จำนวน 2,000 เล่ม ก่อตั้งเป็น "หอพระไตรปิฎกนานาชาติ" (The International
Tipiṭaka Hall) โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิด ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบัน พ.ศ. 2562 โครงการพระไตรปิฎกได้ปริวรรติพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน เป็นอักขะระต่างๆ โดยเฉพาะอักขะระชาติพันธุ์ไตจำนวน 16 อักขะระ โดยจัดพิมพ์เป็นฉบับสัชฌายะคือการพิมพ์คู่ขนานระหว่างอักขะระไต กับ สัททะอักขะระชุดต่างๆ รวมทั้งได้ถอดเสียงเป็นโน้ตเสียงปาฬิในทางดุริยางคศาสตร์ทำให้สามารถจัดพิมพ์เป็นชุดอักขะระต่างๆ ได้ เป็นชุด 40 เล่ม, ชุด ภ.ป.ร. ส.ก. เฉลิมพระเกียรติ 80 เล่ม, ชุดโน้ตเสียงปาฬิเวอร์ชั่นต่างๆ ชุดสมบูรณ์ ชุดละ 250 เล่ม, และชุดพระไตรปิฎกศึกษาอ้างอิง 2,000 เล่ม ได้ไม่น้อยกว่า 50 ชุด รวมเป็นคลังพระไตรปิฎกสากลทั้งสิ้น ประมาณ 10,000 เล่ม ในสื่อหนังสือ
2. คลังอักขะระ-ปาฬิ (Pāḷi Script PDF)
เป็นคลังพระไตรปิฎก ต้นฉบับปาฬิภาสา-อักขะระ (หรือที่เดิมเรียกกันว่า (ภาษาบาลี-อักษร) ของชุดที่สำคัญของชาติต่างๆ ทั่วโลก เช่น อักขะระสยาม อักขะระโรมัน รวมถึง สัททะอักขะระ และสัญลักษณ์โน้ตเสียงสากล เป็นต้น ดูรายละเอียดในข้อ 1
คลังอักขะระ-ปาฬิ สามารถจัดพิมพ์เป็นชุดอักขะระต่างๆ และสามารถสืบค้นได้ในสื่อ PDF ที่ tipitakaprinting.dhammadhaj.co.th/ (in progress)
3. คลังเสียงสัชฌายะ (Sajjhāya Recitation Sound)
เป็นคลังเสียงอิเล็กทรอนิกส์ที่รวบรวมการออกเสียงอักขะระปาฬิในข้อ 2 ด้วยการมุ่งเน้นจังหวะของ เสียงละหุ/เสียงคะรุ ในทางไวยากรณ์กัจจายะนะ พร้อมทั้งการหยุดวรรคตอนตามที่จัดพิมพ์ไว้ในพระไตรปิฎก เพื่อความแม่นตรงตามพระวินัยปิฎก (พยัญชนะกุสะละ 10) และเห็นรูปเสียงที่ชัดเจนของแต่ละคำ
สัชฌายะ หรือ การออกเสียงสัชฌายะ (Sajjhāya Recitation) คือ การออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกที่แม่นตรงกับกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ ซึ่งเป็นคัมภีร์ไวยากรณ์ทางเสียงที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนาเถรวาท
4. คลังคำแปล (Tipiṭaka Translation in Various Languages)
เป็นการรวบรวมคำแปลในพระไตรปิฎก จากเสียงปาฬิดั้งเดิมที่สังคายนาสืบทอดมา เป็นทั้งรูปเสียงและรูปศัพท์ในวัฒนธรรมพระไตรปิฎก เช่น การเขียนในคลังคำแปลว่า ธัมมะ dhamma แทนการเขียนว่า ธรรม หรือ ธรรมะ หรือ dharmma ซึ่งไม่ตรงกับไวยากรณ์การออกเสียงในพระไตรปิฎก เนื่องจากการแปลในอดีตมิได้แปลจากต้นฉบับสากล โดยที่ต่างคนต่างแปล ทำให้การแปลในอดีตเป็นภาษาต่างๆ ไม่สามารถอ้างอิงเป็นมาตรฐานนานาชาติได้ ต่างจาก "คลังคำแปล" ในโครงการพระไตรปิฎกสากล ซึ่งได้พยายามจัดทำการอ้างอิงกับหน้า และข้อของฉบับสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ได้เป็นมาตรฐานสากล
5. คลังฐานข้อมูล (World Tipiṭaka Database)
ฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากลในระบบดิจิทัล (World Tipiṭaka Database) เป็นผลงานในโครงการพระไตรปิฎกสากล สร้างโดยกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2542-2555 และร่วมกับมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ตั้งแต่ พ.ศ. 2556-ปัจจุบัน (2562)
ฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากลจึงเกิดจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยในยุค พ.ศ. 2540 มาประยุกต์จากสื่อสิ่งพิมพ์ในกระดาษปริมาณมหาศาลบันทึกลงสู่เทปแม่เหล็กไฟฟ้า และจัดเก็บในรูปแบบฐานข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ด้วยโครงสร้างภาษา XML (Extensible Markup Language) ซึ่งได้ถูกสร้างเป็นมาตรฐานใหม่เรียกว่า TipitakaML ที่ทันสมัยแห่งยุค ปัจจุบันได้พัฒนาบริหารจัดเก็บข้อมูลด้วย MongoDB ซึ่งเป็น JSON Document Database ที่ล้ำสมัย สามารถใช้เรียงพิมพ์ชุดอักษรโรมันดังกล่าวโดยพัฒนาเป็นสัททสัญลักษณ์ต่างๆ ตลอดจนโน้ตเสียงปาฬิ และนำไปใช้สืบค้น จัดพิมพ์ และได้ใช้เทคโนโลยีทางเสียงสังเคราะห์เป็นเสียงสัชฌายะดิจิทัล เป็นต้น และนอกจากนี้ยังสามารถนำไปบูรณาการร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อต่อยอดเป็นนวัตกรรมได้ อาทิ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, A.I), วัตถุเสมือนจริง (Augmented Reality, A.R.), สภาพเสมือนจริง (Virutal Reality, V.R.) และ Big Data เป็นต้น
6. คลังเผยแผ่ความรู้ (Tipiṭaka Studies Webservice)
เป็นความรู้จากการศึกษาพระไตรปิฎกในระดับนานาชาติ เรียกว่า พระไตรปิฎกศึกษาฉบับสากล ซึ่งได้ใช้วิชาการทางวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ทำการบูรณาการและสังเคราะห์เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถสืบค้นและให้บริการข้อมูลในอินเตอร์เน็ต เรียกว่า World Tipiṭaka Webservice ทำให้สามารถสืบค้นข้อมูลต่างๆ ในพระไตรปิฎกสากลในมิติต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เช่น การสืบค้นชื่อบุคคล หรือ ข้อธัมมะ ในพระไตรปิฎกจากต้นฉบับเดิม 40 เล่ม หรือ สืบค้นในทางวิชาการภาษาศาสตร์ เช่น การออกเสียงของแต่ละคำ เช่น เสียงไม่พ่นลม (Unaspirated) หรือ เสียงพ่นลม (Aspirated) ตลอดจนเสียงสัชฌายะการแบ่งพยางค์ของคำแต่ละคำว่า เป็นพยางค์เสียงสะกด (Final-consonant sound) หรือ พยางค์เสียงกล้ำ (Cluster-Consonant Sound) เป็นต้น (ดู suttacentral.net และ sajjhaya.org) ในอนาคตจะได้เปิดให้ทำการสืบค้นด้วยเสียงสัชฌายะ (Sajjhāya Voicing Activation) ด้วย