World Sajjhāya Pāḷi Notation
พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ)
เสียงสัชฌายะดิจิทัล : เสียงปาฬิในพระไตรปิฎกสากล
ฉบับสัชฌายะ สัททะอักขะระ-ปาฬิ พ.ศ. 2559
โดย รองศาสตราจารย์ดวงใจ ทิวทอง
หัวหน้าภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ควบคุมการผลิตและเปล่งเสียงสัชฌายะ
โน้ตเสียงปาฬิ : พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ
ผลงานสร้างสรรค์ทางดุริยางคศาสตร์สำหรับเสียงปาฬิ
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศี พงศ์สรายุทธ
ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้สร้างสรรค์โน้ตเสียงปาฬิ
ปาฬิ คือ เสียงคำสอน เป็นเสียงเนื้อหาพระธัมมวินัยของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจุบันบันทึกเสียงเป็นลายลักษณ์อักษรในพระไตรปิฎกพระพุทธศาสนาเถรวาท ผู้สร้างสรรค์โน้ตเสียงปาฬิได้ค้นคว้าเรื่องเสียงปาฬิโดยอ้างอิงกับ กัจ์จายนปาฬิ หรือที่ไทยเรียกว่ากฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ที่สืบทอด มาจากไวยากะระณะในนวังคสัตตุศาสตร์ตั้งแต่สังคายนา พ.ศ. 1 พบว่าปัจจุบันการออกเสียงปาฬิไม่แม่นตรงตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ (ดูบทความเรื่อง อักขรวิธี “ละหุ คะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” ใน 80 ปี ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2557)
การออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกให้แม่นตรง ได้แก่ การมีระดับเสียงถูกต้อง และพร้อมเพรียงกันเรียกว่า สัชฌายะ (Saj-jhā-ya) กำเนิดตั้งแต่การประชุมสังคายนา พ.ศ. 1 มีเอกลักษณ์ที่ไวยากรณ์กัจจายะนะกล่าวว่า เป็นการออกเสียงที่ปราศจากเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ คือ ทำนองเสียงระดับเดียว (Monotone) การสัชฌายะเสียงปาฬิจึงเป็นวัฒนธรรมตะวันออกของการออกเสียงระดับเดียว ที่เก่าแก่กว่าการสวดกริกรอเรียน (Gregorian Chant) ในวัฒนธรรมดนตรีตะวันตกที่มีทำนองเสียงระดับเดียวเหมือนกัน แต่พัฒนาขึ้นภายหลังการสวดสัชฌายะถึง 1,000 ปี คือประมาณปี พ.ศ. 1100
การออกเสียงปาฬิที่ไม่แม่นตรงอาจสรุปเป็นข้อสังเกตทั้งในด้านไวยากรณ์และทางวิชาการด้าน
ภาษาศาสตร์ รวม 4 ประเด็น คือ :
1. ปาฬิ เป็นการออกเสียงที่มีจังหวะ
2. ปาฬิ มีเสียงละหุ และเสียงคะรุ
3. ปาฬิ เป็นเสียงที่มีระบบการออกเสียงที่ชัดเจน
4. ปาฬิ เป็นเสียงที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำ
1. ปาฬิ เป็นการออกเสียงที่มีจังหวะ
จังหวะสัชฌายะเสียงปาฬิในอดีตขึ้นอยู่กับบุคคลผู้นำการออกเสียงสัชฌายะ ระดับเสียงของผู้นำ และความรู้ทางไวยากรณ์ปาฬิของผู้นำ และเนื่องจากพระวินัยห้ามมิให้ภิกขุออกเสียงสวดสูงต่ำเป็นทำนองดนตรีหลักการสำคัญของการออกเสียงปาฬิ จึงเป็นจังหวะของการออกเสียง 2 แบบ คือเกิดจากเสียงสระสั้น และเกิดจากเสียงสระยาว ดังนั้นหากผู้นำออกเสียงสระสั้นและสระยาวไม่ชัดเจน ย่อมทำให้เกิดจังหวะไม่พร้อมเพรียงกัน
2. ปาฬิ มีเสียงละหุ และเสียงคะรุ
พยางค์เสียงสระสั้น เรียกว่า เสียงละหุ (Lahu) ออกเสียงเร็ว ส่วนพยางค์เสียงสระยาว เรียกว่า เสียงคะรุ (Garu) ออกเสียงให้นานขึ้น แต่ในพระวินัยปิฎก เรื่อง พ๎ยัญ์ชนกุสล (อัฏฐกถาใช้ พ๎ยัญ์ชนพุท์ธิ) ห้ามมิให้ออกเสียงปาฬิที่เป็นอักขะระวิบัติ ดังนั้น เสียงละหุ เมื่อเปลี่ยนเป็นเสียงคะรุ จึงต้องมีวิธีเขียนอย่างชัดเจนให้ออกเป็นเสียงคะรุเพื่อป้องกันอักขะระวิบัติ เช่น (นะโม) แม้คำว่า (นะ) เป็นสระสั้น แต่เมื่อเป็นเสียงพยางค์ต้นบท ไวยากรณ์กำหนดให้ออกเสียงคะรุคือเสียงนานขึ้น เพื่อให้เสียงพยางค์ต้นชัดเจน ไม่เคลื่อนไปกล้ำกับพยางค์ถัดไป (ดู วิจินตน์ ภาณุพงศ์ อ้างอิง กัจ์จายนปาฬิ ข้อ 5 อัญ์เญทีฆา และ อัฏฐกถากัจจายะนะ-ปาฬิ พ.ศ. 1700 ชื่อ วุต์โตทย คาถา 10 ปทาทครุ, สัท์ทนีตปทมาลา พ.ศ. 1700 ข้อ สมานสุติสัท์ทวินิจ์ฉย)
ในทางไวยากรณ์ขั้นสูงมีรายละเอียดของสระสั้นที่สามารถเปลี่ยนเป็นเสียงคะรุได้ถึง 4 ประเภท และสระเสียงยาวที่สามารถเปลี่ยนเป็นเสียงละหุได้ถึง 3 ประเภท (ดู ละหุ คะรุ ในบทนำภิกขุปาติโมกขะปาฬิ พ.ศ. 2557) แต่เนื่องจากในทางสากลยังไม่มีระบบการเขียนเสียงสระสั้นให้เป็นเสียงคะรุ จึงทำให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ไวยากรณ์เกิดความสับสนในการออกเสียงละหุคะรุ
3. ปาฬิ เป็นเสียงที่มีระบบการออกเสียงที่ชัดเจนโดยฐาน และ กรณ์ (อวัยในปาก และ ลิ้น)
เสียงปาฬิ รวมพยัญชนะและสระ 41 เสียง มีคำอธิบายตำแหน่งที่เกิดเสียงตั้งแต่ในลำคอออกมาจนถึงริมฝีปาก เป็นลำดับ (ดู วิจินตน์ ภาณุพงศ์ อ้างอิง กัจ์จายนปาฬิ ข้อ 2 อัก์ขราปาทโย เอกจัต์ตาลีสํ และอัฏฐกถากัจจายะนะ-ปาฬิ ชื่อ มุขมัต์ตทีปนี ข้อ 2 อัก์ขราปาทโย เอกจัต์ตาลีสํ) และมีคำอธิบายตำแหน่งการเปลี่ยนแปลงของลิ้นที่ทำให้เกิดเสียงต่างๆ เช่น เสียงพ่นลม (Aspirated) และ เสียงไม่พ่นลม (Unaspirated) เป็นต้น (ดู วิจินตน์ ภาณุพงศ์ อ้างอิง กัจ์จายนปาฬิ ข้อ 9 ปรสมัญ์ญา ปโยเค และอัฏฐกถากัจจายะนะ-ปาฬิ ชื่อ รูปสิท์ธื ข้อ 11 ปรสมัญ์ญา ปโยเค) เช่น พุท์ธ ปาฬิออกเสียงว่า (บุด-ดะ หรือ bud-dha) แต่ภาษาไทยออกเสียง ว่า (พุด-ทะ) กล่าวคือ เอาเสียง (พะ-pa) และ (ทะ-ta) ที่ในภาษาไทยเป็นเสียงพ่นลม ไปปนแทรกกับ เสียงปาฬิ (บะ-ba) (ดะ-da) ที่เป็นเสียงไม่พ่นลม เพราะเกิดความสับสนจากรูปเขียนอักขะระไทย-พ (p) และ อักขะระไทย-ท (t) ที่มีรูปเขียนพ้องกับเสียงของอักขะระปาฬิ-พ (b) และ อักขะระปาฬิ-ท (d) แม้ปัจจุบันเขียนด้วยอักขะระโรมัน ว่า buddha และสัททะอักขะระ ว่า [bud̪d̪ʱa] คนส่วนมากก็ยังไม่เข้าใจ ในปัญหาการแทรกแซงทางเสียง ข้อนี้แสดงว่าสัททสัญลักษณ์ในทางภาษาศาสตร์ยังมิอาจเปลี่ยนความเข้าใจผิดข้อนี้ได้ นอกจากนี้ในทางพระวินัย ดู พระวินัยปิฎก ปริวาควัค์ค ข้อ 455 เรื่อง พ๎ยัญ์ชนกุสล และอัฏฐกถาพระวินัยปิฎก เรื่อง พ๎ยัญ์ชนพุท์ธิ
4. ปาฬิ เป็นเสียงที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำ
วินัยปิฎก จุล์ลวัค์ค บัญญัติห้ามภิกขุทั้งหลายมิให้สวดธัมมะท่วงทำนองยาว เป็นเสียงเพลงขับ (อายตเกน คีตัส์สเรน) หมายถึงเสียงปาฬิเป็นเสียงสามัญ ดังนั้นเมื่อเขียนเสียงปาฬิด้วยอักขะระต่างๆ จึงทำให้อาจติดเสียงวรรณยุกต์ ตามภาษาท้องถิ่นนั้นมาด้วย เช่น (ส) ในภาษาไทยเป็นพยัญชนะเสียงสูงเมื่อประกอบ สระ-โอ จะเป็น วรรณยุกต์เสียงจัตวา เช่น (โส) แต่ปาฬิเป็นเสียงในตระกูลภาษาอินโด-อารยัน ซึ่งเป็นภาษาที่ไม่มีเสียงวรรณยุกต์ เช่น อักขะระโรมัน ว่า so (โส) ในปาฬิบทว่า itipi so (อิติปิ โส) หรือ สัททะอักขะระโรมัน ว่า [it̪ipi s̪o] ชาวตะวันตกจะไม่ออกเสียงวรรณยุกต์ ในกรณีนี้วัฒนธรรมการออกเสียงในทางตะวันตกที่เป็นสากลมีส่วนป้องกันการแทรกแซงทางเสียงได้
เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เบื้องต้น มีรายงานของผู้ออกแบบโน้ตเสียงปาฬิ ดังนี้
1. แก้ปัญหาจังหวะการออกเสียงปาฬิที่เน้นเสียงสระสั้นยาว เป็น เสียงละหุคะรุ
โครงการพระไตรปิฎกสากลได้จัดพิมพ์สัญลักษณ์เสียงละหุ เสียงคะรุ เพิ่มเติมในพระไตรปิฎกสัชฌายะเป็นครั้งแรก (หนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา พ.ศ. 2557 เลขที่ 305129)การเน้นเสียงละหุ เสียงคะรุ จึงเป็นการเปลี่ยนจังหวะของการออกเสียงสระสั้นและสระยาวในอดีต ซึ่งไม่สามารถเขียนสัญลักษณ์สระเสียงสั้นที่เป็นเสียงคะรุ (ซึ่งต้องออกเสียงนานขึ้น) และไม่อาจพิมพ์สระเสียงยาวที่เป็นเสียงละหุ (ซึ่งต้องออกเสียงเร็ว) ด้วยเหตุนี้การใช้ระบบโน้ตเสียงดนตรีซึ่งในที่นี้เรียกว่าโน้ตเสียงปาฬิ ที่มีจังหวะเร็ว ตรงกับเสียงละหุ และโน้ตเสียงปาฬิที่มีจังหวะช้า ตรงกับเสียงคะรุ และเทคโนโลยีในการพิมพ์สีอ่อนสำหรับละหุ และสีเข้มสำหรับคะรุ จึงเป็นการเปลี่ยนระบบจังหวะการออกเสียงให้พร้อมเพรียงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล เพราะผู้ออกเสียงสัชฌายะจะไม่ติดกับจังหวะเดิมของสระสั้น สระยาว แต่ จะอ่านตามจังหวะใหม่ของโน้ตเสียงละหุและโน้ตเสียงคะรุ
2. เลือกใช้ระบบตัวโน้ต (Note) แสดงจังหวะเสียงปาฬิให้พร้อมเพรียงเป็นมาตรฐานสากล
2.1 โน้ตตัวดำ โน้ตตัวขาว
โน้ตตัวดำ (Quarter Note) มีระยะเวลาเสียงเร็ว 1 จังหวะ แทนเสียงละหุ และโน้ตตัวขาว (Half Note) มีระยะเวลาเสียงนาน 2 จังหวะ แทนเสียงคะรุ โดยเพิ่มสัญลักษณ์ยืดเสียง (Tenuto) ใต้โน้ตตัวดำที่ไวยากรณ์กำหนดเสียงคะรุให้เป็นเสียงละหุ (Tenuto Quarter Note) และใต้โน้ตตัวขาวที่ไวยากรณ์ กำหนดเสียงละหุให้เป็นเสียงคะรุ (Tenuto Half Note)
2.2 โน้ตเสียงเร็วมาก
โน้ตเสียงเร็วมาก (Acciaccatura) แสดง เสียงกล้ำแท้ (Perfect-Cluster Sound) เช่น คำ บ๎ร [บระ] พยัญชนะ-ร เป็นเสียงไม่พ่นลม จึงกล้ำกับพยัญชนะตัวแรกได้อย่างเร็วมาก
2.3 โน้ตเสียงเร็ว
โน้ตเสียงเร็ว (Appoggiatura) แสดง เสียงกล้ำไม่แท้ (Imperfect-Cluster Sound) เช่น คำ ห๎ม [หมะ] พยัญชนะ-ห เป็นเสียงทรวงอก จึงกล้ำกับพยัญชนะตัวถัดไปไม่สนิท จึงออกเสียงต่างจากเสียงกล้ำแท้เล็กน้อย (ดูโน้ตเสียงเร็วมากด้านบน)
3. ออกแบบสัญลักษณ์ใหม่เพิ่มเติม (Ornament)
ออกแบบสัญลักษณ์ใหม่เพิ่มเติมสำหรับเสียงพิเศษของเสียงปาฬิ 3 ตำแหน่ง คือ
1. ปลายหางโน้ต (Tail End) 2. หัวโน้ต (Head) 3. หางโน้ต (Tail) ตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ โดยอ้างอิงกับ อักขะระ-ปาฬิ (Pāḷi Alphabet) ที่มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้สร้างขึ้น (หนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา พ.ศ. 2557 เลขที่ 305129) การออกแบบสัญลักษณ์ดังนี้
3.1 ปลายหางโน้ต
ปลายหางโน้ต แสดงสัญลักษณ์ของลมที่เกิดจากลิ้นกระทบกับฐาน (Maner of Articulation) โดยกำหนด เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งอ้างอิงจาก อักขะระ-ปาฬิ (Pāḷi Alphabet)
3.2 หัวโน้ต
หัวโน้ต แสดงสัญลักษณ์ตำแหน่งฐานภายในปากเมื่อออกเสียงปาฬิ โดยกำหนดเป็นสัญลักษณ์ เลขโรมัน เช่น หมายเลข 1 เริ่มจากอวัยวะภายในปากที่ลึกที่สุด ได้แก่ เพดานอ่อน (Velar) เป็นต้น
3.3 หางโน้ต
หางโน้ต แสดงสัญลักษณ์สีต่างๆ ตามเสียงสระปาฬิ ทั้ง 8 เสียง โดยกำหนดแม่สี เหลือง แดง น้ำเงิน เป็นเสียงสระปาฬิ สระ-อะ สระ-อิ สระ-อุ ตามลำดับ พร้อมเลขที่กำหนดแทนตำแหน่งอวัยวะฐานกรณ์ในปาก เป็นต้น
4. ออกแบบการบันทึกโน้ตเสียงปาฬิตามมาตรฐานสากล เพื่อให้สอดคล้องกับกฎไวยากรณ์
4.1 “บรรทัดเส้นเดี่ยว”
เครื่องหมาย “บรรทัดเส้นเดี่ยว” (One-Staff Line) หรือเครื่องหมาย “เสียงที่ปราศจากกุญแจเสียง” (Neutral Clef) เพื่อแสดงสัญลักษณ์ทำนองเสียงระดับเดียว (Monotone) (ดู วิจินตน์ ภาณุพงศ์ อ้างอิง วินัยปิฎก จุลวัคคปาฬิ ...อายตเกน คีตัส์สเรน... ห้ามภิกขุทั้งหลายมิให้สวดธัมมะท่วงทำนองยาว เป็นเสียงเพลงขับ)
4.2 “อัตราจังหวะ”
เครื่องหมาย “อัตราจังหวะ” (Time Signature) ซึ่งมีเพียงสองอัตราจังหวะ คือ 2/4 และ 3/4 (ดู วิจินตน์ ภาณุพงศ์ อ้างอิง มุขมัต์ตทีปนี หรือ นยาส ข้อ 4 ลหุมัต์ตา ตโย รัส์สา)
4.3 “ตัวหยุด”
เครื่องหมาย “ตัวหยุด” (Half Rest) คือการหยุด ที่มีความยาว 2 จังหวะ (ดู วิจินตน์ ภาณุพงศ์ อ้างอิง สัท์ทนีติปทมาลา เรื่อง สมานสุติสัท์ทวินิจ์ฉยและ สัท์ทนีติสุต์ตมาลา ข้อ 19 ปรปเทน ...สัม์พัน์ธํ)
สรุปโน้ตเสียงปาฬิ จัดทำเป็น 4 ชุด
ผู้เขียนทั้งสองได้ร่วมสัมนาทางวิชาการ เรื่อง “โน้ตเสียงปาฬิ ในพระไตรปิฎกสัชฌายะ : จาก ฉบับจปร. อักษรสยาม สู่สิทธิบัตรภูมิปัญญาไทยและเสียงพระธัมม์สากล” เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
ณ โรงแรมอนันตราสยาม ร่วมกับคณะกรรมการมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลและผู้สนใจ ในการนี้ขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์ ดร. ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ศิลปินศิลปาธร ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้มาร่วมสัมมนาและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560 ผู้เขียน (ศศี พงศ์สรายุทธ) ได้นำเสนอโครงการวิจัยเรื่อง “นวัตกรรม การบันทึกโน้ตเสียงปาฬิ จากพระไตรปิฎกสัชฌายะ” ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ผู้เขียนทั้งสองได้ร่วมกับมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลเสนอบทความเรื่อง “The Innovation of World Tipiṭaka Project” ในการประชุม The 7th National and International Conference on Interdisciplinary Research and Development : Carrying on H.M. King Bhumibol Adulyadej Development Projects for Prosperity, Security and Sustainability of Thailand ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ทำการออกเสียงสัชฌายะ และบันทึกเสียงจากโน้ตเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก 40 เล่ม จำนวนทั้งสิ้น 2,767,074 คำปาฬิและทำการตัดต่อสำเร็จในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งมีความยาวของเสียงประมาณ 7,052 ชั่วโมง โดยปาฬิเล่มที่ 1 ใช้เวลา 82 ชั่วโมง 58 นาที 38 วินาที มีขนาดไฟล์จำนวน 43.08 GB ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นคลังข้อมูลเสียงปาฬิจากพระไตรปิฎกสัชฌายะตามเนื้อหาพระไตรปิฎกสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ที่มุ่งเน้นการออกเสียงปาฬิให้แม่นตรงกับกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ตัวอย่างเสียงสัชฌายะดิจิทัลสามารถสืบค้นได้ที่ https://sajjhaya.org
ท้ายที่สุดนี้ขอขอบพระคุณมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลที่ได้สนับสนุนการทำงานนี้เป็นอย่างยิ่ง
(รองศาสตราจารย์ดวงใจ ทิวทอง)
หัวหน้าภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศี พงศ์สรายุทธ)
ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คำนำพระไตรปิฎกสัชฌายะ ชุด ส.ก. by Dhamma Society on Scribd