โทรศัพท์สัชฌายะ AI พ.ศ. 2562
โทรศัพท์สัชฌายะ AI พ.ศ. 2562 (Sajjhāya Smart Phone AI 2019) ได้รับการพัฒนาขึ้น โดยโครงการพระไตรปิฎกสากล ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2542-2562
มีนวัตกรรมที่สำคัญ 4 ประเภท คือ :
1. สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ
(Thai Phonetitc Alphabet-Pāḷi)
ถอดเสียงปาฬิเป็นชุดสัททะอักขะระเป็นชุดแรก โดยอ้างอิงกับต้นฉบับพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม-ปาฬิ พ.ศ. 2436 และไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ สำหรับการพิมพ์พระไตรปิฎกสากล ซึ่งเป็นนวัตกรรมการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยสัททะอักขะระเป็นครั้งแรก
(ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตในรัชกาลที่ 9 ให้เชิญภาพตราพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. จัดพิมพ์บนปกพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. พ.ศ. 2559 ชุด 40 เล่ม, ISBN 978-616-92449-7-4)
2. โน้ตเสียงปาฬิ
(Pāḷi Notation)
การถอดเสียงปาฬิเป็นสัททสัญลักษณ์ทางดุริยางคศาสตร์เป็นครั้งแรกสำหรับการพิมพ์พระไตรปิฎกสากล ซึ่งเป็นนวัตกรรมการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยโน้ตเสียงในทางดุริยางคศาสตร์สากลเป็นครั้งแรก
(ได้รับพระราชานุญาตให้เชิญภาพตราพระนามาภิไธย ส.ก. จัดพิมพ์บนปกพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ส.ก. พ.ศ. 2559 ชุด 40 เล่มISBN 978-616-92449-7-4, รางวัลนักวิจัยยอดเยี่ยมจากกองทุนรัชดาภิเษก พ.ศ. 2562 โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับผู้สร้างสรรค์ ในภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์)
3. เสียงปาฬิดิจิทัล
(Digitatal Pāḷi Sound)
การออกเสียงอ่านพระไตรปิฎกปาฬิภาสาที่มีการเปลี่ยนผ่านอย่างสมบูรณ์ในระบบดิจิทัล ซึ่งเป็นนวัตกรรมการอนุรักษ์เสียงปาฬิในพระไตรปิฎกทั้งชุดสำหรับการกระจายเสียงในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นครั้งแรก
(สิทธิบัตรในมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล เลขที่ 46390 ที่ว่าด้วยโปรแกรมการแบ่งพยางค์อัตโนมัติในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และลิขสิทธิ์ AI และลิขสิทธิ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง)
4. สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ
(Phonetic Alphabet Pinyin-Pāḷi)
การถอดเสียงเป็นชุดอักขะระพินอินเป็นครั้งแรกสำหรับการพิมพ์พระไตรปิฎกสากล โดยอ้างอิงจากข้อ 1 ซึ่งเป็นนวัตกรรมการประดิษฐ์ชุดพินอิน สำหรับเขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกเป็นชุดแรก
(ลิขสิทธิ์การพิมพ์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2562)
ในอดีตพระไตรปิฎกเป็นการบันทึกเสียงปาฬิ (Pāḷi) ด้วย "การถอดอักขะระ" ที่ทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์เรียกว่า Alphabetic Transliteration ซึ่งโครงการพระไตรปิฎกสากลได้อ้างอิงกับต้นฉบับสำคัญ 2 ชุด ได้แก่ อักขรวิธีสยาม-ปาฬิ ในพระไตรปิฎก ฉบับ จปร. พ.ศ. 2436 และ เนื้อหาปาฬิภาสา จำนวน 40 เล่ม ในพระไตรปิฎกฉบับสังคายนานานาชาติ อักษรพม่า พ.ศ. 2500 ซึ่งต่อมาโครงการพระไตรปิฎกสากลได้บูรณาการข้อมูลทั้งสองชุด โดยปริวรรติเป็นอักษรโรมัน และจัดพิมพ์เป็น ฉบับสากล พ.ศ. 2548 เป็นชุดสมบูรณ์ชุดแรก (The World Tipiṭaka in Roman-Script Edition)
พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ได้มีการมอบเป็นพระธัมมทานจากประเทศไทยแก่นานาประเทศทั่วโลก จำนวนไม่น้อยกว่า 150 ชุด โดยประชาชาชนทั่วไปสามารถสืบค้นและอ้างอิงในมหาวิทยาลัยและหอสมุดนานาชาติ อาทิ มหาวิทยาลัยอุปซาลา ประเทศสวีเดน, มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น, สมาคมมหาโพธิ์ พุทธคยา ประเทศอินเดีย, มหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์, มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย, มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา, หอสมุดแห่งชาติ ประเทศอังกฤษ และศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ระหว่าง พ.ศ. 2548-2559 โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ริเริ่มและทำการศึกษา "การถอดเสียงปาฬิ" ให้แม่นตรงยิ่งขึ้น เรียกว่า Phonetic Transcription โดยจัดพิมพ์เสียงปาฬิด้วยชุดสัททะอักขะระสำเร็จเป็นครั้งแรก เรียกว่า ละหุ/คะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ดังที่กล่าวไว้ในข้อ 1
โน้ตเสียงปาฬิ ทางดูริยางคศาสตร์ ในข้อ 2 เป็นการบูรณาการต่อยอดจาก สัททะอักขะระทางภาษาศาสตร์ในข้อ 1 เพื่อการเขียนเสียงปาฬิให้มีจังหวะแม่นตรงยิ่งขึ้น และเป็นระดับเสียงสามัญที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำ ตามสิทธิบัตรในมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล เลขที่ 46390 ที่ว่าด้วยโปรแกรมการแบ่งพยางค์อัตโนมัติในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
เสียงปาฬิดิจิทัล ในข้อ 3 เป็นผลจากการอ่านโน้ตเสียงปาฬิ หรือที่เรียกว่า การออกเสียงสัชฌายะ (Sajjhāya Recitation) โดยได้บันทึกเสียงในระบบดิจิทัลลงฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากล พร้อมทั้งได้สังเคราะห์ด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อให้สามารถติดตั้งข้อมูลดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้
ชุดสัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ ชุดแรก ในข้อ 4 เป็นการถอดเสียงปาฬิจากชุดสัททะอักขะระในข้อ 1 ซึ่งเป็นการนำเสนอใหม่สำหรับเผยแผ่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ได้รับการสนับสนุนทางวิชาการ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ในปี พ.ศ. 2562