ภิกขุปาติโมกข์ สยาม-สัชฌายะ
รายละเอียดการดำเนินการจัดทำต้นฉบับ
“ภิก์ขุปาติโมก์ขปาฬิ อักขะระสยาม-ปาฬิ ฉบับสัชฌายะ พ.ศ. ๒๕๕๗”
๑. เนื้อหาต้นฉบับที่ใช้อ้างอิงใน “ภิก์ขุปาติโมก์ขปาฬิ อักขะระสยาม-ปาฬิ ฉบับสัชฌายะ พ.ศ. ๒๕๕๗”
๑.๑ “พระไตรปิฎกปาฬิจุลจอมจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช “อักขะระสยาม-ปาฬิ” พ.ศ. ๒๔๓๖”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้จัดพิมพ์
๑.๒ “Mahāsaṁgīti Tipiṭaka Buddhavasse 2500”
(พระไตรปิฎกปาฬิ ฉบับสากล “อักขะระโรมัน” พ.ศ. ๒๕๔๘)
จัดพิมพ์โดย กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค
ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
๑.๓ “ปาฏิโมกฺข และ กงฺขาวิตรณีอฏฺฐกถา” พ.ศ. ๒๕๒๕
จัดพิมพ์โดย มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ
๑.๔ “ภิกฺขุปาติโมกฺขปาลิ” ที่ ๑๓/๒๕๓๓
จัดพิมพ์โดย มหามกุฏราชวิทยาลัย
๑.๕ “ภิกฺขุปาติโมกฺขปาลิ” พ.ศ. ๒๕๕๓
“ศึกษาวิเคราะห์การสวดพระปาฏิโมกข์ในพระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ไทย”
จัดพิมพ์โดย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๑.๖ Kaccāyanavyākaraṇa (Burmese & Roman script) 1870,
(กัจจายนวยากรณะ “อักขะระพม่า” และ “อักขะระโรมัน” พ.ศ. ๒๔๑๓)
Francis Mason. D. D. New York : Mukau at the Karen Institute Press.
๑.๗ “กัจ์จายนปาฬิ อักขะระสยาม-ปาฬิ” พ.ศ. ๒๕๕๖
จัดพิมพ์โดย กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค
๑.๘ “ปาติโมก์ขปาฬิ” และ “กํขาวิตรณีอัฏ์ถกถา อักขะระสยาม-ปาฬิ” พ.ศ. ๒๕๕๗
จัดพิมพ์โดย กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค
๒. หลักการในการจัดพิมพ์ใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๗
๒.๑ “อักขะระสยาม-ปาฬิ”ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒
กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ได้นำเนื้อหาในข้อ ๑ มาสรุปเรียงพิมพ์ใหม่ เป็น “ภิก์ขุปาติโมก์ขปาฬิ ฉบับ จ.ป.ร. อักขะระสยาม-ปาฬิ” ด้วยอักขรวิธี “ไม้อะ อักขะระสยาม-ปาฬิ” ตามที่ใช้พิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิ “จุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช พ.ศ. ๒๔๓๖ อักขะระสยาม-ปาฬิ ชุด ๓๙ เล่ม” โดยได้ทำการตรวจทานและปรับปรุงต้นฉบับใหม่ มีผู้เชี่ยวชาญในสถาบันต่างๆ อาทิ พระมหาศักดิ์ดา ธัม์มิโก ป.ธ. ๙, และคณะ; อาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. ๙, โครงการพระไตรปิฎกสากล; อาจารย์สังคม พวงราช ป.ธ. ๙, มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ; และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ภาณุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และราชบัณฑิตยสถาน เป็นต้น ในการนี้ได้กราบนมัสการเรียนสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และอุปนายกมหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อรับทราบ และได้จัดพิมพ์เผยแผ่เป็นปฐมฤกษ์ ณ วัดป่าบ้านตาด พ.ศ. ๒๕๕๔
การจัดพิมพ์ครั้งนี้ โครงการพระไตรปิฎกสากลฯ ได้เขียนทับศัพท์เสียงปาฬิในภาษาไทย ว่า “ปาฬิ” ตามการถอดเสียง (Transcription) ซึ่งเป็นรูปเขียนเดิมที่ได้พิมพ์ในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. “อักขะระสยาม-ปาฬิ” พ.ศ. ๒๔๓๖ และปัจจุบันวารสารราชบัณฑิตยถานได้เขียน “ปาฬิ” เป็นรูปศัพท์ได้อีกรูปหนึ่งด้วย ดังนั้นจึงเรียกต้นฉบับนี้ตามอักขรวิธีการเขียนปาฬิเป็น “อักขะระสยาม-ปาฬิ” ว่า “ภิก์ขุปาติโมก์ขปาฬิ” โดยแก้คำผิดที่มักพิมพ์กันในอดีต จาก ฏ ให้ถูกต้องเป็น ต ตามที่เขียนไว้ในคัมภีร์วินัยปิฎกที่ว่าด้วยปาติโมกขะปาฬิ กังขาวิตรณีอัฏฐกถา และพจนานุกรมราชบัณฑิตยถาน
๒.๒ จัดพิมพ์ระบบการถอดเสียง ด้วย อักขรวิธี “ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ”
อักขรวิธี “ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” (Thai Phonetic Alphabet-Pāḷi) เป็นการเขียนเสียงปาฬิ เพื่อแก้ปัญหาการแทรกแซงทางเสียงในทางวิชาการภาษาศาสตร์ด้วยรูป “อักขะระไทย” (Thai Alphabet) ที่พัฒนาจากการเขียนเสียงปาฬิ ด้วย “อักขะระสยาม-ปาฬิ” และ “สัททะอักขะระสยาม-ปาฬิ” เป็น “สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” (Thai Phonetic Alphabet-Pāḷi) พร้อมระบบสัททสัญลักษณ์ปาฬิ (Pāḷi Phonetic Symbol) ตามที่ได้นำเสนอในที่ประชุมสำนักศิลปกรรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เพื่อแสดงวิธีเขียนเสียงปาฬิให้แม่นตรงตามหลักไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ และเป็นการเขียนตามแนวอักขรวิธี “ไม้อะ อักขะระสยาม-ปาฬิ” ในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. พ.ศ. ๒๔๓๖ โดยไม่คำนึงถึงเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำในภาษาไทย
ภิก์ขุปาติโมก์ขปาฬิ ฉบับสัชฌายะ เป็นการพิมพ์ชุด “สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” ที่เสนอโดยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ได้เสนอในที่ประชุมสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๒ และ พ.ศ. ๒๕๕๕ ต่อมาโครงการพระไตรปิฎกสากลได้ปรับปรุงและจัดพิมพ์ใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๖ เรียกว่า พระไตรปิฎก ฉบับสัชฌายะ “สัชฌายะ-เตปิฏะกะ” คือ พระไตรปิฎกที่พิมพ์ด้วย “สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” นอกจากนี้ยังได้ยึดถือ อักขรวิธี “ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” ในโครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. ๒๕๕๖ (ดูรายละเอียดคำนำ สัชฌายะ-เตปิฏะกะ พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์ ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล)
“สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” (Thai Phonetic Alphabet-Pāḷi) เป็นการนำเสนอวิธีเขียนและอ่านออกเสียงปาฬิให้แม่นตรงยิ่งขึ้นตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหา “การแทรกแซงทางเสียง” ได้แก่ การแทรกแซงของเสียงในภาษาหนึ่งที่มีต่อเสียงในอีกภาษาหนึ่ง ซึ่งในทางภาษาศาสตร์เรียกว่า Linguistic Interference ในการเขียนเสียงสัททสัญลักษณ์ ละหุคะรุ ได้ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัล เสียงละหุ พิมพ์เบาโปร่ง เสียงคะรุ พิมพ์เข้มทึบ และเขียนรูป “สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” และสัททสัญลักษณ์ปาฬินี้ในเครื่องหมายวงเล็บ “สัททะอักขะระสากล” [ ] (ดู “ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” โดย วิจินตน์ ภาณุพงศ์ และ การสกัดสูตรทางคณิตศาสตร์ โดย ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ ในหนังสือ ๘๐ ปี ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๗-๒๕๕๘)
๒.๓ การตรวจทานเนื้อหาพระไตรปิฎกปาฬิกับไวยากรณ์ในคัมภีร์ระดับพระไตรปิฎกปาฬิ
ตรวจทานต้นฉบับพระไตรปิฎกปาฬิ “อักขะระสยาม-ปาฬิ” พ.ศ. ๒๔๓๖ กับ “อักขะระโรมัน” พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยปรับปรุงการพิมพ์ให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ตามต้นฉบับ “อักขะระสยาม-ปาฬิ” เช่น ในคำ สํฆํ ที่หมายถึงสงฆ์ ใช้ สํ (ส-นิคคหิต) ซึ่งอาเทสนิคคหิต เป็น สังฆํ ได้ตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อที่ ๓๑ วัค์คัน์ตํ วา วัค์เค อธิบายว่า พยัญชนะวัคค์ (วัคค์ ก) อาเทสนิคคหิตเป็นพยัญชนะที่สุดวัคค์ อาเทสเป็น ง ได้ แต่ให้ออกเสียงขึ้นจมูก [สังํ] และตรวจทานคำที่เขียนต่างกันในเชิงอัฏฐ์ พร้อมสอบทานกับไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ และแก้คำผิดให้ถูกต้องทั้งหมด และเพื่อให้การเขียนเสียงปาฬิแม่นตรงกับไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ จึงได้จัดพิมพ์เสียงปาฬิด้วยชุด “สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” ในข้อ ๒.๒ กำกับไว้ เช่น สํ ซึ่งเป็นการออกเสียงที่จมูกล้วนๆ เขียนเสียงปาฬิด้วย “สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” ว่า [สังํ]
ตัวอย่างการตรวจทานที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ กฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อที่ ๖๐๒ ระบุว่า สระเสียงสั้นที่นำหน้าเสียงกล้ำ ส๎ม เป็นเสียงคะรุ เช่น อายัส๎มัน์โต สังเกต ไม้อะ ที่นำหน้าเสียงกล้ำ (-สมัน) เสียง ยั (ย ไม้อะ) จะพิมพ์สระอะสีเข้มทึบ (ยะ) ต้องออกเสียงเป็นเสียงคะรุ ออกเสียงนานขึ้น ไม้อะ ( ั ) ใน “อักขะระสยาม-ปาฬิ” จึงต่างจากไม้หันอากาศใน อักขรวิธีภาษาไทย ซึ่งอาจอ่านเป็นเสียงสะกดและกล้ำด้วย (ดู รายละเอียดไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ“กัจ์จายนปาฬิ อักขะระสยาม-ปาฬิ พ.ศ. ๒๕๕๖”)
๒.๔ การตรวจทานชื่อสิกขาบทกับคัมภีร์อัฏฐกถา
ชื่อสิกขาบท และลำดับสิกขาบทในพระวินัยปิฎกทั้ง ๒๒๗ ข้อ ได้ตรวจทานตามอัฏฐกถาพระวินัย คือคัมภีร์กังขาวิตรณีอัฏฐกถา และได้ปรับปรุงเขียนใหม่ให้เป็นเอกภาพทั้งหมด
๒.๕ การอ้างอิงความหมายและการเขียนเสียงปาฬิในภาษาไทย
จัดทำระบบอ้างอิงจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของความหมายทุกพยางค์ของเสียงปาฬิในหน้าซ้าย โดยในหน้าขวาได้พิมพ์คำแปลเป็นภาษาไทย ที่มีอ้างอิงรากศัพท์ในคัมภีร์อธิธานัปปทีฏีกาอัฏฐกถา คำในภาษาไทยเขียนทับศัพท์เสียงปาฬิ โดยเฉพาะคำศัพท์ วิชชมานบัญญัติ ที่เขียนเป็น “อักขะระสยาม-ปาฬิ” ธัม์ม ภาษาไทยจะเขียนว่า ธัมมะ หรือ ธัมม์ (ไม่เขียนว่า ธรรมะ หรือ ธรรม ตามรูปศัพท์สันสกฤต) อาปัต์ติปาราชิก ภาษาไทยจะเขียนด้วยวิธีถอดเสียงว่า อาปัตติปาราชิกะ (ไม่เขียนว่า อาบัติปาราชิก)
การพิมพ์ “ภิก์ขุปาติโมก์ขปาฬิ” ชื่อภาษาไทยเรียกว่า “เสียงปาฬิ-ข้อปฏิบัติของภิกขุ” “อักขะระสยาม-ปาฬิ”ฉบับสัชฌายะ พ.ศ.๒๕๕๗ ได้จัดทำดัชนีอ้างอิงวิธีออกเสียงปาฬิกับไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ โดยได้ทำเลขอ้างอิงกำกับทุกพยางค์ และอ้างอิงกับข้อในไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ นอกจากนี้ยังได้จัดทำตัวอย่างการถอดความหมายของรากศัพท์เสียงปาฬิ ตามการอ้างอิงคำศัพท์ในคัมภีร์อภิธานัปปทีฏีกา โดยมีเลขอ้างอิงกำกับทุกพยางค์ เช่นกัน
ดัชนีเสียงปาฬิ ประมาณ ๓๐๐ หน้า ได้จัดพิมพ์แยกไว้อีกเล่มหนึ่ง
๒.๖ การสร้างระบบเลขอ้างอิงเป็นปทานุกรมพระไตรปิฎกศึกษาพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ปรับปรุงจากชุดปาฬิ ๔๐ เล่ม เป็นชุดปาฬิ ๘๖ เล่ม โดยแยกคัมภีร์ปาฬิ แต่ละเล่มเพื่อความสะดวกในการค้นคว้า และสร้างเลขข้อย่อหน้าใหม่ เพื่อให้สามารถอ้างอิงได้ละเอียดยิ่งขึ้น
๒.๗ การนำเสนอการพิมพ์ฉบับสัชฌายะ : การพิมพ์คู่ขนาน “อักขะระ” (Akkhara) ๒ ชุด
การจัดพิมพ์ฉบับสัชฌายะได้แสดงการพิมพ์คู่ขนานของ “อักขะระ” ต่างๆ ๒ ชุด เพื่อช่วยในการอ่านออกเสียงสัชฌายะ (เดิมเรียกสังวัธยาย) ให้สามารถออกเสียงชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น “อักขะระสยาม-ปาฬิ” พิมพ์คู่ขนานกับ “อักขะระโรมัน-ปาฬิ” และ “อักขะระสยาม-ปาฬิ” พิมพ์คู่ขนานกับ “สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” เป็นต้น นอกจากนี้ฉบับ “สัชฌายะ” ที่เขียนด้วย “สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” ได้เพิ่มรายละเอียดการพิมพ์ต่างๆ เช่น จุดแบ่งพยางค์ เพื่อเป็นจังหวะหยุดหายใจ เลขลำดับเล่ม ข้อ และย่อหน้า ในพระไตรปิฎก พร้อมทั้งเลขกำกับ แต่ละพยางค์ เป็นต้น
๓. การเฉลิมพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์พุทธมามกะ
ปัจจุบันเนื้อหาที่จัดพิมพ์ในโครงการพระไตรปิฎกสากล เป็นผลงานของกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ร่วมกับโครงการเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (พ.ศ. ๒๕๔๘-๒๕๕๕) และมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล (พ.ศ. ๒๕๕๖ ถึงปัจจุบัน) ทั้งนี้สมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้ทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์การพระราชทานและประดิษฐานพระไตรปิฎสากลในนานาประเทศ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตน้อมเกล้าฯ ถวายพระไตรปิฎกสากล “อักขะระโรมัน” ที่ได้ตรวจทานและจัดพิมพ์ใหม่ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๕๔๙ และต่อมา พ.ศ. ๒๕๕๑ โครงการพระไตรปิฎกสากลได้นำความกราบบังคมทูลเพิ่มเติมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง การดำเนินงานเผยแผ่พระไตรปิฎกสากลตามพระราชนโยบายในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ตามรายละเอียดหนังสือจากราชเลขาธิการ ที่ รล ๐๐๐๑.๔/๒๖๒๖๙ ลง วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๙ และ หนังสือสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ฯ ที่ 836/202.10/2547 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2547
พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๕๒ กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ได้ทำการอนุรักษ์และจัดพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช “อักขะระสยาม-ปาฬิ” พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๕๒ ชุด ๔๐ เล่ม (รวมเล่มประมวลเนื้อหา เล่มที่ ๔๐) ซึ่งเป็นต้นฉบับของพระไตรปิฎกสากล “อักขะระโรมัน” เพื่อ เฉลิมพระเกียรติเป็นพระราชศรัทธานุสรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๓ เนื่องในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งการสวรรคต และได้น้อมถวายแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเก็บรักษาไว้สำหรับคณะสงฆ์ฝ่ายคามวาสี ณ หอสมุดมหามกุฏราชวิทยาลัย และ สำหรับคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี โดยมอบผ่านมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในวันอาสาฬหบูชา พ.ศ. ๒๕๕๓ ณ วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์พุทธมามกะ พ.ศ. ๒๕๕๕ ท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์ ในนามกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ และ มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ได้นำรายละเอียดโครงการพระไตรปิฎกสากล ขึ้นกราบบังคมทูล พร้อมทั้งทูลเกล้าฯ ถวายตัวอย่างต้นฉบับการจัดพิมพ์ครั้งล่าสุด รวม ๓ เล่ม แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ตามรายละเอียดหนังสือสำนักกราชเลขาธิการที่ รล ๐๐๐๒.๒/๒๑๑๗๗ ลงวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
๔. การเผยแผ่ในโครงการพระไตรปิฎกสากล
กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ได้ร่วมกับโครงการพระไตรปิฎกสากล ในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประกอบด้วยยราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์และด้านพุทธศาสนาจากราชบัณฑิตยสถาน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยข้าราชการกระทรวงกลาโหม ได้จัดพิธีสมโภชและน้อมถวายพระไตรปิฎกปาฬิ ฉบับสากล “อักขะระโรมัน” และ “จุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช พ.ศ. ๒๔๓๖ : ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๕๒ “อักขะระสยาม-ปาฬิ” แด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยสมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นผู้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งเสด็จทรงเป็นประธานในพิธีสมโภชพระไตรปิฎก
พ.ศ. ๒๕๕๔ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงรับเป็นประธานการจัดพิมพ์ในโครงการพระไตรปิฎกสากล และได้เสด็จจาริกอัญเชิญพระไตรปิฎกสากล “อักขะระโรมัน-ปาฬิ” และ “อักขะระสยาม-ปาฬิ” ร่วมกับ สถาบันศาล กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุด ไปถวายสมเด็จพระสังฆราชสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ตามคำกราบทูลเชิญของผู้อุปถัมภ์พระไตรปิฎกชาวเมียนมาร์
๕. พระไตรปิฎกสัชฌายะ ภิก์ขุปาติโมก์ขปาฬิ “อักขะระชาติพันธุ์ไต”
ปัจจุบัน “ภิก์ขุปาติโมก์ขปาฬิ” ได้มี การถอดอักขะระ จาก “อักขะระสยาม-ปาฬิ” เป็น “อักขะระ” ต่างๆ ในกลุ่มชาติพันธุ์ไต เพื่อตรึงเสียงปาฬิให้แม่นตรงตามพระธัมมวินัยในพระไตรปิฎก อาทิ “อักขะระไตสยามปาฬิ” “อักขะระไตยวนปาฬิ” “อักขะระไตโหลงปาฬิ” “อักขะระไตล้านช้างปาฬิ” “อักขะระไตขืนปาฬิ” และ “อักขะระไตลื้อปาฬิ” เป็นต้น ซึ่งได้มีการจัดพิมพ์คู่ขนานระหว่าง “อักขะระชาติพันธุ์ไต” กับ “สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” เรียกว่า ฉบับสัชฌายะ ชุด “อักขะระชาติพันธุ์ไตปาฬิ” พ.ศ. ๒๕๕๗
พระไตรปิฎกสัชฌายะ “ภิก์ขุปาติโมก์ขปาฬิ” ชุด “อักขะระชาติพันธุ์ไตปาฬิ” ได้มีการสมโภช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้เสด็จทรงเป็นประธานในพิธี และได้ประทาน “ภิก์ขุปาติโมก์ขปาฬิ” ชุด “อักขะระชาติพันธุ์ไตปาฬิ” แก่ สถาบันศาลและสถาบันตุลาการ คณะสงฆ์นานาชาติ และองค์กรเอกชน ๙ องค์กร ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ในนามของผู้จัดทำต้นฉบับ ขออนุโมทนาทุกท่านที่ได้ร่วมกันจัดทำต้นฉบับนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีตลอดจนขอขอบพระคุณองค์กรต่างๆ ที่มีกุศลเจตนาอย่างแรงกล้าในการนำต้นฉบับนี้จัดพิมพ์เผยแผ่เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎก เพื่อให้แพร่หลายต่อไปเป็นพระธัมมทาน ตามพระประสงค์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์พระสังฆราชูปถัมภ์โครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๕๖
(สิริ เพ็ชรไชย, ป.ธ. ๙)
ประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
พระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ผู้ดำเนินการโครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. ๒๕๔๒-ปัจจุบัน
๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
(ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์)
ประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
พระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
และประธานคณะกรรมการจัดพิมพ์ “สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” โครงการพระไตรปิฎกสากล
ฉบับ สัชฌายะ-เตปิฏะกะ พ.ศ. ๒๕๕๖
๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗