หลักการออกเสียงภาคแปลภาษาไทย
ต้นฉบับเสียงปาฬิ
การอ่านออกเสียงภาคแปลภาษาไทย
ปัญหาของการออกเสียงอ่านพระไตรปิฎกภาคแปลภาษาไทย
พ.ศ. 2563 โครงการพระไตรปิฎกสากล ได้ริเริ่มการจัดทำฐานข้อมูลเสียงในพระไตรปิฎกสากล ซึ่งรวมถึงเสียงอ่านภาคแปลภาษาไทยในพระไตรปิฎกสากล โดยมีข้อพิจารณาเบื้องต้น 6 ประการ ดังต่อไปนี้
มหาสังคีติ ติปิฏะกะ พ.ศ. 2500
1. พระไตรปิฎกภาคแปลภาษาไทยไม่สามารถอ้างอิงเลขข้อ และเลขเล่มกับพระไตรปิฎกสากลจากการสังคายนานานาชาติ
เนื่องด้วยพระไตรปิฎกภาคแปลภาษาไทยแบ่งเนื้อหาเป็นชุด 45 เล่ม ตามปีของการประกาศพระศาสนาในพุทธประวัติ จึงไม่ตรงกับฉบับสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. 2500 ที่ปัจจุบันแบ่งเนื้อหาปาฬิทั้ง 86 คัมภีร์ เป็นชุดหนังสือ 40 เล่ม ให้เป็นมาตรฐานของโลก ซึ่งพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน ที่จัดพิมพ์โดยโครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2548 พิมพ์เป็นชุด 40 เล่ม และอ้างอิงข้อตามต้นฉบับดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้หัวข้อเลข และชื่อเนื้อหาในฉบับแปลภาษาไทยจึงไม่ตรงกับฉบับสากล อักษรโรมัน ซึ่งเป็นฉบับมาตรฐาน ที่ประชาชนทั่วโลกสามารถสืบค้นอักษรโรมันได้
โครงการพระไตรปิฎกสากลจึงได้จัดทำพระไตรปิฎกฉบับเสียงอ่านภาคแปลภาษาไทยตามฉบับสากลขึ้นใหม่ พร้อมตัวอย่างเสียงอ่านภาษาไทยในระบบเสียงสังเคราะห์ดิจิทัล พ.ศ. 2563 โดยแบ่งเป็นชุดเล่มหนังสือ 40 เล่ม ซึ่งสามารถสืบค้นกับต้นฉบับปาฬิ ทั้ง 86 คัมภีร์ตามเลขข้อสากลในระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งเป็นการวางรากฐานเทคโนโลยีฐานข้อมูลคลังพระไตรปิฎกสากล (World Tipiṭaka Repository) ที่มีความสามารถรองรับการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI สู่ยุค 5G และเผยแผ่ให้แพร่หลายสู่สากลอย่างแทบจะไร้ข้อจำกัด
2. การออกเสียงปาฬิตามกฎไวยากรณ์
คนไทยมีปัญหาการออกเสียงปาฬิที่ไม่ตรงตามตำแหน่งที่เกิดเสียงของอวัยวะภายในปาก
อักขรวิธีในภาษาไทยที่ใช้เขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกมีปัญหาที่เรียกว่า การแทรกแซงทางเสียง (Linguistic Interference) คือ ปรากฎการณ์ที่คนไทยมักเอาเสียงท้องถิ่นในภาษาไทยไปปนแทรกกับเสียงปาฬิดั้งเดิมในพระไตรปิฎก ด้วยเหตุนี้การออกเสียงภาคแปลภาษาไทยในโครงการพระไตรปิฎกสากลจึงมุ่งหวังที่จะแก้ปัญหาการแทรกแซงทางเสียงดังกล่าว
อักขรวิธี คือ วิธีเขียนและวิธีออกเสียง ซึ่งแต่ละชาติมีลักษณะที่พิเศษแตกต่างกันตามวัฒนธรรมทางภาษาในท้องถิ่นของตน
ปาฬิ เป็นเสียงของภาษาที่เก่าแก่ในตระกูลอินโด-ยูโรเปียน เมื่อปาฬิภาสาในพระไตรปิฎกแพร่มาในท้องถิ่นสุวรรณภูมิ ชาวไทยก็ใช้อักษรไทยเขียนเสียงปาฬิเพื่อการศึกษา แต่บางกรณีคนไทยมักเอาเสียงท้องถิ่นไปปนแทรกกับเสียงปาฬิดั้งเดิมในพระไตรปิฎก เช่น เสียงปาฬิที่ไม่พ่นลม [บะ/ba] ไทยจะออกเสียงพ่นลมว่า [พะ/pha] ส่วน [ดะ/da] หรือ [ดุ/du] ที่เป็นเสียงไม่พ่นลม แต่ไทยจะออกเสียงพ่นลมว่า [ทะ/tha] หรือ [ทุ/thu] เช่น ทุติยัมปิ แทนที่จะออกให้แม่นตรงว่า [ดุ-ติ-ยัม-ปิ/du-ti-yam-pi] เป็นต้น ดังนั้นศัพท์ธัมมะสำคัญของปาฬิที่เขียนด้วยอักษรโรมันว่า dukkha หรือ dukkʰa คนไทยจึงออกเสียงเปลี่ยนเป็น "ทุกข์" ภาษาไทยปัจจุบันเขียนว่า "ความทุกข์"
ในกรณีดังกล่าวโครงการพระไตรปิฎกสากลออกเสียงตามที่บัญญัติเป็นทางการในภาษาไทยว่า ความทุกข์ แต่ในบางกรณี จะนำเสนอเสียงดั้งเดิมของปาฬิภาสา เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้รสของเสียงต้นฉบับดั้งเดิม ว่า dukkʰa ด้วย จึงทำการสังเคราะห์เสียงในระบบดิจิทัลว่า [ดุก-ขะ] หรือที่เขียนเป็นอักษรโรมันว่า [duk-kʰa] แต่ในบางกรณี อาจทับศัพท์ของเสียงดั้งเดิมเป็น [dukkʰaṁ-aniccaṁ-anattā] [ดุกขังํ-อะนิจจังํ-อะนัตตา] ตามต้นฉบับปาฬิภาสาเพื่อความกระชับในการอ้างอิงด้วย และทำให้ผู้ได้อ่านหรือได้ฟัง มีความคุ้นเคยกับเสียงปาฬิดั้งเดิม ซึ่งเป็นเสียงพระธัมม์ ที่อนุรักษ์ความบริสุทธิ์และคงความหมายเดิมทางนิรุตติศาสตร์ไว้มิให้ตีความเป็นอย่างอื่นได้
อักษรโรมัน อักษรสยาม สัททอักษร
3. อักขรวิธีการเขียนปาฬิภาสา และการออกเสียงปาฬิภาสา
ภาษาไทยมีปัญหาความลักลั่นของอักขรวิธีการเขียนและการอ่านคำที่ยืมมาจากปาฬิภาสา กล่าวคือ รูปเขียนของศัพท์ปาฬิในภาษาไทยมิได้ออกเสียงตรงกับเสียงปาฬิดั้งเดิมเสมอไป
ภาษาไทยแม้ยืมคำศัพท์มาจากปาฬิภาสาเป็นจำนวนมาก แต่ก็มิได้เขียนรูปศัพท์ในภาษาไทยเหมือนศัพท์ปาฬิเสมอไป เช่น ปาฬิมีอักขรวิธีที่เรียกว่า "ตัวนำตัวตาม" แต่เมื่อยืมมาใช้ในภาษาไทยได้มีกฎให้ตัดอักษรที่ซ้ำกันออกไป ทั้งนี้ในอดีตเข้าใจว่าเพื่อให้ง่ายในการเขียนรูปศัพท์เพราะไม่ต้องคำนึงถึงเสียงเดิม แต่ระบบนี้กลับสร้างความลักลั่นในการอ่านด้วย เพราะเป็นการเขียนเสียงที่ไม่ตรงกับเสียงอ่านในปาฬิภาสา ซึ่งปัจจุบันเป็นภาษาที่ชาวโลกสนใจศึกษาและต้องการรู้รากศัพท์ดั้งเดิม เช่น ปาฬิเดิม เขียนว่า สัททะ (sadda) แต่ภาษาไทยเขียนว่า สัทอักษร แต่ให้อ่านว่า สัททะ-อักษร ในขณะที่ สัทธัมม์ ไม่อ่านว่า สัททะธรรม เพราะ สัท ในบริบทนี้มิได้มีความหมายว่าเสียง แต่มีความหมายว่า ดีงาม
ตัวอย่างนี้แสดงว่าเสียงของคำว่า สัท.. ในภาคแปลภาษาไทยในอดีตที่มีความหมายว่า "เสียง" และ "ดีงาม" พ้องเสียงกันทั้งที่มีความหมายต่างกัน อันเป็นการยากที่จะเห็นรูปศัพท์ที่ต่างกันจากการฟังเสียงที่พ้องกันดังกล่าว
โครงการพระไตรปิฎกสากลแก้ปัญหาการเขียนพ้องรูปเสียงที่มีความหมายต่างกันดังกล่าว โดยเขียนรูปศัพท์ใหม่ในภาคแปลให้ต่างกัน เช่น ปาฬิเดิมที่มีตัวนำตัวตาม ทท ใน สัททะ และออกเสียงอ่านภาคแปลภาษาไทยว่า สัททะอักษร หรือ สัททะอักขะระ เพื่อให้ต่างจากคำว่า สัทธัมม์ เป็นต้น นอกจากนี้ส่วนที่ภาษาไทยเขียนว่า นิคหิต ซึ่งในพจนานุกรมให้อ่านว่า นิค-คะ-หิต โครงการพระไตรปิฎกสากลจะเขียนว่า นิคคะหิต ตามหลักตัวนำตัวตามในไวยากรณ์ปาฬิเช่นเดียวกัน ซึ่งต้องอ่านว่า [นิค-คะ-หิต] เท่านั้น ไม่มีทางที่จะอ่านว่า นิค-หิต ได้ ซึ่งมาจาก niggahīta ในปาฬิภาสา
4. การออกเสียงอ่านชื่อ หรือ คำวิสามานยนาม
ดังที่ทราบกันดีว่าการศึกษาพระไตรปิฎกในอดีตมักมุ่งเน้นเพื่อการแปลเป็นภาษาต่างๆ และยังอ้างอิงการแปลจากต้นฉบับการถอดอักษร (Pāḷi Transliteration Edition) มิได้เน้นรูปเสียง เพราะในอดีตไม่เคยมีพระไตรปิฎกปาฬิภาสาชุดใดในโลกที่จัดพิมพ์ด้วยการถอดเสียงปาฬิ (Pāḷi Phonetic Transcription) ดู ความแตกต่างระหว่าง การถอดอักษรกับการถอดเสียง โดยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์
ดังนั้นในฉบับภาคแปลภาษาไทยผู้แปลในอดีตจึงมักแปลงชื่อบุคคลเป็นภาษาไทยด้วย มิได้รักษารูปเสียงปาฬิดั้งเดิมไว้ เช่น Ānanda ซึ่งเป็นชื่อพระอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า แปลเป็นภาษาไทยว่า "อานนท์" ทั้งๆ ที่เสียงปาฬิดั้งเดิมใกล้เคียงกับ อานันท์ หรือถ้าจะออกเสียงให้ตรงกับเสียงดั้งเดิมก็ออกเสียงได้ว่า อานันดะ ตามรูปอักษรโรมันที่คนทั่วโลกรู้จัก ว่า Ānanda [ā-nan-da]
ปัจจุบันการศึกษาพระไตรปิฎกด้วยอักษรโรมันเป็นที่แพร่หลาย คนทั่วโลกรู้จักแต่ Ānanda จึงมีแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ออกเสียงชื่อพระเถระสำคัญนี้ไม่เหมือนกับประเทศใดในโลก รูปศัพท์อานนท์ แม้เป็นพัฒนาการทางภาษาของไทยที่น่าสนใจ แต่พัฒนาการเขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกสากลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรพิจารณาเพื่อการแปลด้วย และเนื่องด้วยโลกในอนาคตมีแนวโน้มการมุ่งเน้นฟื้นฟูเสียงปาฬิดั้งเดิม พร้อมทั้งปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางเสียงสามารถเปลี่ยนโลกได้ด้วยเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกด้วยปัญญาประดิษฐ์ การใช้รูปดั้งเดิมของเสียงปาฬิ ว่า อา-นัน-ดะ ย่อมจะเป็นประโยชน์ในด้านพระไตรปิฎกศึกษาในภาษาไทยสู่สากล ที่สำคัญจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Voice Activated Device และ Sound Technology AI เป็นต้น
โครงการพระไตรปิฎกสากลจึงเรียงพิมพ์ชื่อคำวิสามานยนามในฐานข้อมูลตามรูปเสียงปาฬิภาสา และจะกำกับการพิมพ์ด้วย สัททะอักขะระปาฬิ (Pāḷi Phonetic Alphabet) เพื่อการออกเสียง เช่น อานันดะ [อา-นัน-ดะ] หรือ [ā-nan-da] เป็นต้น ผู้ต้องการศึกษาการออกเสียงปาฬิสามารถสืบค้นได้ที่ Digital Sajjhāya Audio ที่จัดทำเป็นพจนานุกรมการออกเสียงปาฬิทุกคำในพระไตรปิฎกสากล จำนวน 154,677 คำ
5. เสียง สระ-อะ และการประวิสรรชนีย์ ( ะ ) ในการอ่านพระไตรปิฎกภาคแปลภาษาไทย
การแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ในอดีตมักเปลี่ยนรูปศัพท์ปาฬิดั้งเดิมที่มิใช่เป็นพยางค์เสียงสะกด (เสียง สระ-อะ) เป็นพยางค์เสียงสะกด เช่น ทะยะ ในคำว่า สมุทะยะ (samudaya) แต่ไทยเขียนว่า สมุทัย ซึ่งแม้ทำให้ปัจจุบันเกิดรูปศัพท์ที่หลากหลาย แต่เป็นระบบหัวมงกุฏท้ายมังกรในภาษาไทย ทำให้ประชาชนที่มิใช่นักวิชาการทางภาษา โดยเฉพาะยุวชนไทย ไม่สามารถหวนกลับไปสู่รากศัพท์ดั้งเดิมได้ ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้อักษรโรมันย่อมรู้ว่า samudaya เป็นเสียงดั้งเดิมของปาฬิภาสาในพระไตรปิฎก
นอกจากนี้ผู้ที่ไม่รู้ปาฬิภาสาและหลักการถอดอักษรอาจแปลต่อเป็นศัพท์ใหม่ในภาษาอังกฤษว่า samuthai เป็นต้น เพราะปัจจุบันเริ่มแปลจากคำศัพท์ไทยเป็น pratraipidok แทนที่จะยึดถือหลักการสากลของอักษรโรมันว่า Tipiṭaka ในภาษาอังกฤษ หรือ Tepiṭaka ตามไวยากรณ์ ปาฬิภาสา-อักษรโรมัน
อนึ่ง การเขียนเสียงปาฬิเป็นคำแปลในภาษาไทยใหม่ ทำให้ความหมายผิดไปด้วย เช่น สัชฌายะ (sajjhāya) ซึ่งในพระไตรปิฎกหมายถึงการออกเสียงท่องจำพระไตรปิฎก ปัจจุบันกลายเป็นคำไทยว่า สาธยาย ซึ่งในบริบทภาษาไทยปัจจุบันเป็นคำด้านลบ ที่แปลว่ายืดยาดน่าเบื่อก็ได้ ไม่สมควรจะใช้ว่า สาธยายพระไตรปิฎก หลักการนำเสนอเสียงปาฬิดั้งเดิมจึงเป็นทางออกในการส่งเสริมการแปลใหม่ว่า "สัชฌายะ" หรือ การออกเสียงสัชฌายะ ซึ่งมีทั้งเสียงและความหมายที่แม่นตรงในพระไตรปิฎกปาฬิดั้งเดิม
นอกจากนี้ในภาคแปลภาษาไทยยังมักลบเสียง สระ-อะ ทิ้งไป เช่น เสียงละหุ (lahu) และ เสียงคะรุ (garu) แต่ในภาษาไทยเขียนว่า ครุ ซึ่งปัจจุบันยุวชนไทยอาจเข้าใจผิดว่า ครุ เป็นเสียงกล้ำ เหมือนคำในภาษาไทยว่า กรุ เช่น กรุสมบัติ ซึ่งไม่ออกเสียงว่า กะรุสมบัติ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ในอักขรวิธีการเขียนคำอ่านในฉบับภาคแปลภาษาไทย โครงการพระไตรปิฎกสากลจึงเขียนประวิสรรชนีย์คำในไวยากรณ์ที่สำคัญว่า พยัญชะนะกุสะละ (byañjanakusala) ไม่เขียนว่า ..กุศล หรือ พยัญชนะกุศล เป็นต้น
พยัญชะนะกุสะละ รูปศัพท์ในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม
ส่วนคำที่คนไทยคุ้นเคยกัน เช่น สัญลักษณ์ ไม่จำเป็นต้องประวิสรรชนีย์ว่า สัททะสัญลักษณ์ โครงการพระไตรปิฎกสากลเขียนว่า สัททสัญลักษณ์ (Phonetic Symbol) ทั้งนี้ เสียง สระ-อะ ในพยางค์ ทะ ตัวหลัง และ ญะ เป็นเสียงละหุ ที่ออกเสียงเร็ว
การที่เขียนว่า สัชฌายะ ไม่เขียนว่า สาธยาย หรือ สังวัธยาย และเขียนว่า กุสะละ ไม่เขียนว่า กุศะละ จะกล่าวในข้อต่อไป
6. การเลือกเขียนเฉพาะคำอ่านภาคแปลภาษาไทยที่มีรากศัพท์มาจากปาฬิภาสา ไม่เขียนคำที่มาจากภาษาสันสกฤต
พระไตรปิฎกภาคแปลภาษาไทยมีคำศัพท์ที่มาจากภาษาสันสกฤตเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของความมั่งคั่งในวัฒนธรรมภาษาของไทย แต่เมื่อปัจจุบันชาวโลกมีการศึกษาพระไตรปิฎกในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นปาฬิภาสาที่มีเสียงแตกต่างจากภาษาสันสกฤต การแปลของไทยจึงควรปรับปรุงระบบการแปลเป็นภาษาไทยให้สอดคล้องกับปาฬิภาสาในต้นฉบับด้วย ซึ่งคำในภาษาไทยที่ถอดเสียงมาจากปาฬิภาสาก็มีมากมายและเป็นที่คุ้นเคยกับประชาชนทั่วไปเป็นเอกลักษณ์ เช่น ธัมมจักก์ แต่เดิมเขียนว่า ธรรมจักร หรือปาฬิว่า กัมมัฏฐาน แต่เดิมมักเขียนว่า กรรมฐาน
โครงการพระไตรปิฎกสากลจึงเสนอเขียนว่า ธัมมะ (dhamma) หรือ พระธัมม์ ไม่ใช่ ธรรม (dharma) และ กัมมะ หรือ กัมม์ แทน กรรม (karma) เป็นต้น ซึ่ง อักขรวิธี ร-หัน "รร" เป็นเสียงในภาษาสันสกฤต
การนำเสนออักขรวิธีเขียนและอ่านปาฬิภาสาดังกล่าว จึงดำเนินตามพระธัมมวินัย ที่ต้องการรักษารูปเสียงไว้ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ห้ามสอนเสียงพระธัมม์ด้วยเสียงสันสกฤต ภิกขุผู้ใดละเมิดย่อมมีความผิดเป็น อาปัตติ (āpatti) (ดูพระวินัยปิฎก ข้อ 285)
เพื่อให้เกิดเอกภาพในการแปลเป็นภาษาไทย โครงการพระไตรปิฎกสากลจึงเลือกคำในวัฒนธรรมปาฬิภาสา เช่น ธัมมบท แทนคำว่า ธรรมบท และ ภริยา แทนคำว่า ภรรยา ซึ่งเป็นรูปสันสกฤต เป็นต้น
ส่วนคำทั่วไป เช่น ธรรมดา วัฒนธรรม และ รัฐธรรมนูญ เป็นศัพท์ที่มิใช่ธัมมะโดยตรง ใช้อักขรวิธี รอ-หัน หรือ "รร" ก็เป็นหลักการที่แตกต่างกันในทางนิรุตติศาสตร์อย่างดีแล้ว
สรุป
โครงการพระไตรปิฎกสากลมีเป้าหมายเบื้องต้นเพื่ออนุรักษ์ต้นฉบับพระไตรปิฎกปาฬิภาสา ด้วยเทคโนโลยีฐานข้อมูลเพื่อให้สามารถจัดเก็บและสืบค้นได้ในระบบดิจิทัลทั้งรูปศัพท์และรูปเสียงอ่าน ที่สามารถอ้างอิงตามไวยากรณ์กัจจายะนะปาฬิที่แม่นตรง ซึ่งยังมิได้มีผู้ได้ได้ทำอย่างจริงจังหรือทำสำเร็จเป็นมาตรฐาน
ในการนี้โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ทำการตรวจทาน สร้างฐานข้อมูล และจัดพิมพ์ต้นฉบับพระไตรปิฎกสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. 2500 สำเร็จเป็นอักษรโรมัน ชุดสมบูรณ์ชุดแรก พ.ศ. 2548 โดยได้มอบให้นักวิชาการชาวศรีลังกาตรวจสอบ ซึ่งต่อมาได้เปิดตัวเป็นฉบับปฐมฤกษ์มอบเป็นพระธัมมทานจากสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระกุลเชษฐ์แห่งพระราชวงศ์ไทย แก่ประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา ประเทศที่ได้บันทึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกของโลก และต่อมาได้จัดเป็นพระธัมมทานอีกชุดหนึ่งน้อมถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชแห่งเมียนมาร์ ฉลองศรัทธาที่พม่าเป็นผู้จัดสังคายนาพระไตรปิฎกสากลนานาชาติชุดนี้ ปัจจุบันได้มีการเผยแผ่ฉบับสากลเป็นพระธัมมทานไปทั่วโลกแล้วไม่น้อยกว่า 150 ชุด
ในการใช้เทคโนโลยีฐานข้อมูลและเทคโนโลยีทางเสียงดังกล่าว ทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากลพบปัญหาของอักขรวิธีการเขียนและการออกเสียงปาฬิ ทั้งในต้นฉบับปาฬิภาสา และในภาคแปลภาษาต่างๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถปรับแก้ในเบื้องต้นได้ด้วยเทคโนโลยีการเรียงพิมพ์ด้วยสัททสัญลักษณ์ตามสิทธิบัตรการแบ่งพยางค์อัตโนมัติของมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล The World Tipiṭaka Patent No. 46390 และ พ.ศ. 2559 สามารถจัดพิมพ์เป็นโน้ตเสียงปาฬิ ฉบับสัชฌายะ อันเป็นผลงานวิจัยดีเด่น พ.ศ. 2562 ซึ่งแสดงผลการศึกษาจำนวนพยางค์เสียงปาฬิทั้งสิ้น 9,442,422 พยางค์ในพระไตรปิฎกสากลเพื่อบูรณาการสู่การบันทึกด้วยสัททสัญลักษณ์ในทางดุริยางคศาสตร์สากลสำเร็จเป็นครั้งแรก
นอกจากนี้เทคโนโลยีทางเสียงที่กำลังพัฒนาในระดับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากลสามารถบันทึกเสียงปาฬิต้นแบบในระบบดิจิทัล จากฉบับพระไตรปิฎกสากลทั้งชุด 40 เล่ม หรือ จากฉบับโน้ตเสียงพระไตรปิฎกสากลชุดสมบูรณ์ 250 เล่ม เรียกว่า เสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitaction Sound) รวมเวลา 3,052 ชั่วโมง หรือความจุ 1.6 เทระไบต์ ซึ่งจะทำให้การเผยแผ่ข้อมูลเสียงดิจิทัลปริมาณมหาศาลนี้สามารถเปลี่ยนวิถีการเผยแผ่ให้แพร่หลายสู่โลกอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีในยุค 5G อันใกล้นี้
การนำเสนอการเขียนและการอ่านภาคแปลภาษาไทยในโครงการพระไตรปิฎกสากล จึงเป็นความพยายามในการเผยแผ่ต้นฉบับปาฬิภาสา-อักษรโรมัน และ ฉบับสัชฌายะในการออกเสียงปาฬิ ในภาคแปลภาษาไทย ซึ่งประชาชนหมู่มากย่อมจะได้ประโยชน์ในการศึกษาพระไตรปิฎกสากลมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามการแปล และการอ่านภาคแปลเป็นงานใหญ่ระดับชาติ การนำเสนอในที่นี้เป็นเพียงข้อสังเกตเบื้องต้น ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้ร่วมพิจารณาศึกษาต่อไป
การออกเสียงอ่านภาคแปลภาษาไทยในโครงการพระไตรปิฎกสากลจึงมุ่งเน้นการแปลที่กระชับ แปลบรรทัดต่อบรรทัด มุ่งเน้นรูปเสียงปาฬิตามไวยากรณ์ ตลอดจนแปลและอ่านเพื่อรักษารูปเสียงปาฬิดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น อสัชฌายะ (asajjhāya) ซึ่งปัจจุบันโครงการพระไตรปิฎกสากลแปลว่า การไม่สวดสัชฌายะ ซึ่งมาจากรากศัพท์สำคัญ ว่า sajjhāya ที่ได้อนุรักษ์เสียงในพระไตรปิฎกปาฬิให้สืบทอดมาอย่างแม่นตรงจนถึงทุกวันนี้ และสามารถจัดพิมพ์เป็นฉบับสากล อักษรโรมัน :
asajjhāyamalā mantā,
anuṭṭhānamalā gharā;
malaṁ vaṇṇassa kosajjaṁ,
pamādo rakkhato malaṁ.
ความเสื่อมของคาถาอยู่ที่ไม่สวดสัชฌายะ,
ความเสื่อมของบ้านเรือนอยู่ที่ไม่ซ่อมแซม;
ความเสื่อมของความงามอยู่ที่เกียจคร้าน,
ความเสื่อมของนายยามอยู่ที่ความประมาท.
Mahāsaṅgīti Tipiṭaka
Buddhavasse 2500
Paragraph No. 18Dh:261,
Dhammapada No. 241, Pāḷi Vol. 29/40
โครงการพระไตรปิฎกสากล ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ขอขอบพระคุณทุกท่านที่มีส่วนในโครงการเป็นอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะท่านผู้ที่ได้ร่วมกันวางรากฐานการแปล และการออกเสียงพระไตรปิฎกภาคแปลภาษาไทย ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษวิสุทธิ์ บุษยกุล ราชบัณฑิตสาขาตันติภาสา ประธานก่อตั้งโครงการพระไตรปิฎกสากล อาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ.9 ประธานก่อตั้งมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลและดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางปาฬิภาสาคนแรกของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทย และผู้ก่อตั้งภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ผู้ดำเนินโครงการพระไตรปิฎกสากล
โครงการพระไตรปิฎกสากล
พ.ศ. 2563