พระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2542-2565

ปฐมบทพระไตรปิฎกสากล

องค์ประธานกิตติมศักดิ์พระไตรปิฎกสากล พ.ศ.​2547-2551

พระไตรปิฎกที่บันทึกด้วยปาฬิภาสา-Pāḷi Bhāsā (เดิมเรียกว่า บาลี) เป็นคำสั่งสอนในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจุบันมีการจัดพิมพ์เป็นชุดด้วยอักษรของชาติต่างๆ มากมาย แต่ชุดที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นฉบับสากลที่พิมพ์เป็นอักษรโรมันชุดสมบูรณ์ชุดแรกของโลก ชุด 40 เล่ม จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2548 โดยโครงการพระไตรปิฎกสากล ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร  และได้เผยแผ่เป็นพระธัมมทานในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้ทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์การเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล ตามรอยประวัติศาสตร์พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ซึ่งโครงการพระไตรปิฎกสากลได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ พ.ศ. 2548-ปัจจุบัน

ทรงตรวจต้นฉบับ พ.ศ. 2545
พระสัมโมทนียกถา พ.ศ. 2542

จากการเผยแผ่ฉบับสากลตลอดมาเป็นเวลายาวนาน ทำให้พบว่าแม้อักษรโรมันจะเป็นอักษรสากลที่รู้จักกันทั่วโลก แต่ประชาชนทั่วไปก็ยังไม่สามารถอ่านออกเสียง ปาฬิภาสา-อักษรโรมัน ได้อย่างคล่องแคล่วและแม่นตรงตามต้นฉบับสากลได้ และแม้คณะสงฆ์นานาชาติทั่วโลกจะพยายามออกเสียงปาฬิภาสาให้แม่นตรงตามที่พระวินัยกำหนด โดยเฉพาะปริวารวัคค์ ข้อ 455 ฉบับสากล และมีอ้างอิงในไวยากรณ์เรื่อง พยัญชนะกุสะละ 10 ประการ แต่ปัจจุบันก็พบว่าการออกเสียงสวดมนต์ตามท้องถิ่นต่างๆ ยังออกเสียงไม่แม่นตรงตามที่อ้างอิงไว้ในไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ เป็นปัญหาที่เรียกว่า การแทรกแซงทางเสียง (Linguistic Interference) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์อธิบายว่าเกิดจากสำเนียงท้องถิ่นไปปนแทรกกับเสียงดั้งเดิมของปาฬิภาสาในพระไตรปิฎก เช่น ในประเทศไทยมักออกเสียงในพระไตรปิฎกเป็นสำเนียงในภาษาไทย ว่า [พุท] แทน [บุด] / bud ในปาฬิภาสา กล่าวคือเอาเสียงพ่นลม (Aspirated Sound) ไปปนแทรกกับเสียงไม่พ่นลม (Unaspirated Sound) ซึ่งเป็นเสียงพยัญชนะกุสะละ ข้อที่ 1 และข้อที่ 2 เรียกว่า สิถิละ (ไม่พ่นลม) และ ธะนิตะ (พ่นลม) เป็นต้น

ในปัจจุบันที่มีการบันทึกเสียงสวดมนต์ต่างๆ อย่างแพร่หลายในระบบอินเทอร์เน็ต แต่ยังไม่มีโครงการใดที่สามารถบันทึกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกได้ในระบบดิจิทัลทั้งชุด เพื่อการค้นคว้า ศึกษา และฝึกซ้อมการออกเสียงให้ถูกต้อง

ด้วยเหตุนี้โครงการพระไตรปิฎกสากลจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเติมเต็มช่องว่างของการศึกษาเสียงปาฬิต่างๆ ดังกล่าว แทนการศึกษาที่มุ่งเน้นแต่เฉพาะการแปลศัพท์ในพระไตรปิฎกเป็นภาษาต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงการออกเสียงปาฬิดั้งเดิม 

โครงการพระไตรปิฎกสากลมีเจตนารมณ์เพื่อสร้างต้นฉบับการเขียนเสียงปาฬิให้แพร่หลายมากขึ้นโดยเฉพาะการเรียงพิมพ์เป็นอักษรโรมัน (Roman Script) ที่ยังไม่เคยมีการจัดพิมพ์มาก่อน และต่อยอดการสืบทอดการอ่านออกเสียงปาฬิ เพื่อบันทึกไว้ในระบบดิจิทัลให้สมบูรณ์เป็นมาตรฐานในระดับนานาชาติ มีรายละเอียดดังนี้

1. ปาฬิภาสา อักษรโรมัน ชุดแรก
จัดพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิภาสา ที่เป็นผลจากการสังคายนาพระไตรปิฎกนานาชาติ พ.ศ. 2500  ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระโศภณคณาภรณ์ (พ.ศ. 2498) ได้ทรงเป็นผู้แทนคณะสงฆ์ไทยไปประชุมสังคายนา เพื่อจัดพิมพ์เป็นชุดสมบูรณ์ 40 เล่ม ด้วยนวัตกรรมการเรียงพิมพ์เป็นอักขะระโรมัน (Roman Script) ซึ่งเป็นอักขะระสากลที่รู้จักกันแพร่หลายในนานาชาติ เรียกว่า ฉบับสากล หรือ พระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2548 (ดูนวัตกรรมพระไตรปิฎกสากล ลิขสิทธิ์เลขที่ 171156)

2. จากฉบับสากล สู่ ฉบับสัชฌายะ
ส่งเสริมการเขียนเสียงปาฬิภาสา โดยจัดพิมพ์ต่อยอดจากการเรียงพิมพ์ในอดีตด้วยระบบการถอดอักขะระ (Transliteration) ซึ่งเป็นการเขียนเสียงปาฬิอย่างกว้างๆ (Broad Transcription)  เป็นระบบ การถอดเสียงเป็นสัททสัญลักษณ์ (Phonetic Transcription) ซึ่งเป็นการเขียนเสียงที่ละเอียดแม่นตรง (Narrow Transcription) ซึ่งจัดพิมพ์ด้วยนวัตกรรมสัททะอักขะระ-ปาฬิ (Pāḷi Phonetic Alphabet) ในทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์ เรียกพระไตรปิฎกชุดนี้ว่า พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา-สัททะอักขะระปาฬิ) พ.ศ. 2559 เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า The Sajjhāya Tepiṭaka : The Pāḷi Phonetic Recitation Edition หรือ Sajjhāya Tepiṭaka : The King Edition - Pāḷi Manuscript (ดูนวัตกรรมพระไตรปิฎกสากล สิทธิบัตร เลขที่ 46390 และลิขสิทธิ์เลขที่ 352479 และ 351226)

3. จากสัททะอักขะระ-ปาฬิ สู่ โน้ตเสียงปาฬิ และสัททสัญลักษณ์ปาฬิ
ส่งเสริมการออกเสียงปาฬิให้แม่นตรงกับกฎไวยากรณ์ปาฬิยิ่งขึ้น โดยบูรณาการต่อยอดจากอักขะระปาฬิของชาติต่างๆ เพื่อเป็นชุดสัททสัญลักษณ์ที่เป็นสากล (International Phonetic Symbol) ในทางดุริยางคศาสตร์ ที่สามารถกำหนดจังหวะการแบ่งพยางค์ และระดับเสียงที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น จัดสร้างเป็นนวัตกรรมโน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi Notation) เรียกพระไตรปิฎกชุดนี้ว่า พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ) เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า The Sajjhāya Tepiṭaka : Pāḷi Notation Edition หรือ Sajjhāya Tepiṭaka : The Queen Edition - Pāḷi Notation และนวัตกรรมการบันทึกเสียงปาฬิ รูปแบบนี้ว่า เสียงสัชฌายะดิจิทัล พ.ศ. 2560 เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Digital Sajjhāya Recitation Sound (ดูนวัตกรรมพระไตรปิฎกสากล ลิขสิทธิ์เลขที่ 336570 และ 351225)

4. ฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากล
รวบรวมข้อมูลพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ทั้งชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. เพื่อจัดเก็บในรูปฐานข้อมูลพระไตรปิฎกอิเล็กทรอนิกส์ (World Tipiṭaka Database พ.ศ. 2542-ปัจจุบัน) (ดูนวัตกรรมพระไตรปิฎกสากล ลิขสิทธิ์เลขที่ 35247)

โครงการพระไตรปิฎกสากลใช้เวลาดำเนินงานประมาณ 20 ปี โดยได้รับคำปรึกษาจากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถจดสิทธิบัตรโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นทรัพย์สินทางปัญญา เลขที่ 46390 เรื่อง การแบ่งพยางค์อัตโนมัติได้สำเร็จในระบบดิจิทัล นับเป็นสิทธิบัตรทางพระไตรปิฎกฉบับแรก ทำให้สามารถจัดพิมพ์ต้นฉบับสัชฌายะดังกล่าวได้อย่างแม่นยำในระบบเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัล เป็นชุดปฐมฤกษ์ ชุด 80 เล่ม จำนวน 10 ชุด พร้อมตัวอย่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สัชฌายะดิจิทัล เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นองค์พระราชูปถัมภ์ และทรงเป็นองค์ประธานการสร้างพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. ในปี พ.ศ. 2560

พ.ศ. 2560

จากจุดกำเนิดโครงการพระไตรปิฎกสากลที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ฉบับสัชฌายะจึงเป็นนวัตกรรมทางสหวิชาการเพื่อการออกเสียงปาฬิให้แม่นตรง การจัดพิมพ์และการออกเสียงจึงอาจแตกต่างจากการออกเสียงในอดีต ที่เรียกว่า การออกเสียงตามประเพณี (Traditional Chanting) (ดูข้อแตกต่างการออกเสียงสัชฌายะ กับ การออกเสียงตามประเพณี) โดยการออกเสียงสัชฌายะนี้เรียกว่า การออกเสียงสัชฌายะที่เป็นสากล (International Sajjhāya Recitation) เป็นพระไตรปิฎกทางเลือกฉบับใหม่ของประชาชนทั่วไปผู้ที่มิได้ศึกษามาทางไวยากรณ์ปาฬิ  ในการนี้ได้ปรับปรุงการเขียนเสียงปาฬิเป็นสัญลักษณ์สากลทางเสียง หรือ สัททสัญลักษณ์ ที่สามารถอ้างอิงตามต้นฉบับพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน และกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ที่รู้จักกันเป็นมาตรฐานทั่วโลก

ในการจัดพิมพ์การออกเสียงสัชฌายะ และจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลโครงการพระไตรปิฎกสากลได้สร้างเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งได้จดเป็นสิทธิบัตร เลขที่ 46390 และลิขสิทธิ์ต่างๆ เพื่อเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่สามารถสืบค้นได้สาธารณะ ทั้งนี้มิใช่เป็นการหวงแหนหรือปิดบัง แต่เพื่อแสดงนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์โดยคนไทยที่สืบทอดอักขรวิธีอันเป็นเลิศจากต้นฉบับ จ.ป.ร. ในอดีต นอกจากนี้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาสากลดังกล่าวยังป้องกันการดัดแปลงแก้ไขมิให้พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ถูกแก้ไขให้ผิดเพี้ยนเปลี่ยนเสียงไป ตามสนธิสัญญาลิขสิทธิ์ขององค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก พ.ศ. 2539 (1996) ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 คาดว่าจะมีจำนวนลิขสิทธิ์การสร้างสรรค์รวมทั้งสิ้นประมาณ 2,400 ฉบับ

หนังสือเล่มนี้อ้างอิงความสำคัญของประวัติศาสตร์พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยาม ได้ทรงริเริ่มเป็นภูมิปัญญาไทยสากลไว้ในโลกและที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา คือได้ทรงโปรดให้เปลี่ยนจากการบันทึก “ปาฬิภาสา-อักษรขอมโบราณ” ที่จารด้วยมือลงบนใบลาน เป็นการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทันสมัยของยุค ตีพิมพ์เป็นชุดหนังสือพระไตรปิฎกปาฬิชุดแรกของโลก ซึ่งครั้งนั้นพิมพ์เป็นชุดอักขะระสยาม ชุด 39 เล่ม อันเป็นการปฏิวัติวิสัยทัศน์ (Paradigm Shift) และค่านิยมต่างๆ (Values) ในการอนุรักษ์และสืบทอดพระพุทธศาสนาในระยะเวลาสองพันปีของการใช้ใบลานเป็นสื่อบันทึกพระไตรปิฎก

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการริเริ่มการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Disruption Technology) ของยุคนั้นด้วย กล่าวคือเป็นการล้มเลิกการใช้อักขะระโบราณซึ่งมิใช่อักขะระไทยในการเขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกของชนชาติไทย และเป็นการล้มเลิกค่านิยมของเสียงปาฬิบนใบลานซึ่งกำลังล้าสมัยให้หมดสิ้นไปในยุคอุตสาหกรรมการพิมพ์หนังสือที่กำลังเจริญอย่างรวดเร็ว เป็นการประกาศเอกลักษณ์และศักยภาพของรูปอักขะระไทยในการรักษาเสียงปาฬิ ซึ่งได้จัดพิมพ์พระราชทานเป็นชุดไปทั่วโลกและเป็นที่ยกย่องในทางวิชาการในระดับนานาชาติ (Chalmer, J., 1896)

บทที่ 1 : กล่าวถึงการค้นคว้าของ อาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. 9 และคณะ ซึ่งวิเคราะห์ความสำคัญของอักขรวิธีในพระไตรปิฎก ฉบับ จ.ป.ร. พ.ศ. 2436 ที่ปัจจุบันเรียกว่า อักขรวิธี “ไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ” และได้ถอดเสียง (Transcription) เป็น อักขรวิธี “ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” (Lahu Garu Thai Phonetic Alphabet-Pāḷi) ในทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์  (วิจินตน์ ภาณุพงศ์, 2554) จนสามารถสกัดเป็นสูตรคณิตศาสตร์ตีพิมพ์ในวารสารราชบัณฑิตยสถาน (ชิดชนก เหลือสินทรัพย์, 2557) และต่อมามูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้พัฒนาเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จดเป็นสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา เลขที่ 46390 เรื่อง การแบ่งพยางค์ปาฬิอัตโนมัติดิจิทัลในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (สุรธัช บุนนาค และคณะ, 2556)

บทที่ 2 : กล่าวถึงข้อจำกัดของสัททะอักขะระในการเขียนเสียงปาฬิในทางภาษาศาสตร์ ซึ่งไม่สามารถกำหนดเป็นจังหวะได้อย่างละเอียดและซับซ้อนได้ โครงการพระไตรปิฎกสากลจึงได้บูรณาการต่อยอดการเขียนเสียงปาฬิเป็นสัททสัญลักษณ์สากลในทางดุริยางคศาสตร์ เรียกว่า โน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi Notation) ซึ่งสร้างสรรค์โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ศศี พงศ์สรายุทธ (ศศี พงศ์สรายุทธ, 2558) 

บทที่ 3 : กล่าวถึงการเปล่งเสียงตามโน้ตเสียงปาฬิ ในบทที่ 2 โดยรองศาสตราจารย์ดวงใจ ทิวทอง (ดวงใจ ทิวทอง, 2558) ให้สามารถออกเสียงปาฬิได้ชัดเจนตามอักขรวิธีและจังหวะตามโน้ตเสียงปาฬิ ตลอดจนบันทึกการออกเสียงปาฬินี้ในระบบดิจิทัล โดยออกเสียงสามัญที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำ เรียกว่า เสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation Sound)

บทที่ 4 : กล่าวถึงการจัดทำฐานข้อมูลเสียงสัชฌายะดิจิทัล ในบทที่ 3 โดยนายปิยะพงษ์ รักพงษ์ไทย หนึ่งในผู้สร้างสรรค์สิทธิบัตรของมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล เลขที่ 46390 และคณะ ซึ่งเป็นสิทธิบัตรที่ได้รับการคุ้มครองเป็นทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อความยั่งยืนของการสร้างสรรค์โดยคนไทยมิให้ถูกดัดแปลง หรือแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ที่มิใช่ต้นฉบับ  นอกจากนี้ยังได้มีการจดเป็นลิขสิทธิ์โปรแกรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิบัตรที่มูลนิธิฯ เป็นเจ้าของ โปรแกรมลิขสิทธิ์นี้เรียกว่า Sajjhāya e-Transcription ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ลดขั้นตอนการสังเคราะห์เสียงสัชฌายะดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย และจะต่อยอดไปสู่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสำคัญยิ่งในอนาคต อันจะเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์และเผยแผ่เสียงปาฬิในพระไตรปิฎกทั้งชุด ประมาณ 3,052 ชั่วโมง ให้แพร่หลายไปอย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) และประเทศไทย 4.0

บทที่ 5 : เป็นบทสรุปในการสร้างเป็นชุดพระไตรปิฎกเฉลิมพระเกียรติ ชุด ภ.ป.ร. และชุด ส.ก. รวม 80 เล่ม ซึ่งได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์ ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2555-2559 

พ.ศ. 2560

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นองค์พระราชูปถัมภ์โครงการพระไตรปิฎกสากล (พ.ศ. 2545-ปัจจุบัน) และองค์ประธานการสร้างพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ (พ.ศ. 2559) ชุด ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา 40 เล่ม) และ ชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ 40 เล่ม) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชวโรกาสให้ ท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์ ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล (พ.ศ. 2555-2559) นำคณะกรรมการผู้ดำเนินโครงการพระไตรปิฎกสากล พร้อมผู้อุปถัมภ์ และที่ปรึกษาราชบัณฑิต เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด 80 เล่ม ชุดปฐมฤกษ์ 10 ชุด ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร ในการนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลคนปัจจุบันเป็นผู้อัญเชิญพระไตรปิฎกสากลไปจัดเป็นพระธัมมทานแก่สถาบันที่เหมาะสมต่อไป

พระธัมมทานในรัชกาลที่ 10 พ.ศ. 2561
 

นิทรรศการพระไตรปิฎกสากล
ณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงลอนดอน พ.ศ. 2562-2563

 

แผนผังแสดงการพัฒนาโครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2542 - 2565

Slide1

 The Centenary Celebration in 2023 in honour

of

H.R.H. Princess Galyani Vadhana of Thailand,

the Honourary President of the World Tipiṭaka Project since 2003

and UNESCO Eminent Personality of the World

126999

The World Tipiṭaka Project 1999 - 2024 :
From the Roman-Script Transliteration in Pāḷi Language
to
The Sajjhāya Phonetic
and
The Monotone Music Notation Transcription

มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล  พ.ศ. 2563

โครงการพระไตรปิฎกสากล 2542-... by Dhamma Society on Scribd