หอสมุดพระไตรปิฎกนานาชาติ

เนื่องในโอกาสที่มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้จัดพิมพ์และมอบพระไตรปิฎกสากล ชุดสำคัญ 3 ชุด ในวันที่ 23-24 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ณ สหราชอาณาจักร จึงถือโอกาสกล่าวถึงความเป็นมาของหอสมุดพระไตรปิฎกนานาชาติ ซึ่งโครงการพระไตรปิฎกสากลในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง สร้างเป็นเครือข่ายและร่วมดำเนินกิจกรรมจนถึงปัจจุบัน มีรายละเอียดรวม 5 ตอน 

บทความนี้ โครงการพระไตรปิฎกสากลเขียนขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในสมเด็จพระปิยมหาราช  ผู้ทรงมีพระราชศรัทธาอุปถัมภ์พระไตรปิฎก และปัจจุบันพบว่า ฉบับ จปร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 มีนวัตกรรมที่สำคัญอันทรงคุณค่า ซึ่งจะได้พิจารณาแนวคิดในการเก็บรักษาพระไตรปิฎกในอดีต โดยมีการปฎิวัติความคิดในสมัยรัชกาลที่ 5 และต่อมาในปัจจุบัน ที่ได้ดำเนินตามรอยการอนุรักษ์ พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม ตลอดจน พัฒนาต่อยอดเป็น ฉบับสัชฌายะ (Sajjhāya Phonetic Edition) รวมทั้ง ฉบับโน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi Notation Edition) และชุดเสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation Edition) ชุดสมบูรณ์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทรงเป็นประธานอุปถัมภ์สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ตอนที่ 1 : หอสมุดพระไตรปิฎกนานาชาติแห่งแรก เพื่อการศึกษาธัมมะของฆราวาส มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก

พ.ศ. 2542 เมื่อ 20 ปีมาแล้ว ในวันที่ 3 เดือนพฤษภาคม โครงการพระไตรปิฎกสากล ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวังวร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 ได้มอบคลังพระไตรปิฎกให้แก่หอสมุดมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งรวมถึงพระไตรปิฎก ปาฬิภาสาอักขะระของชาติต่างๆ ตลอดจนคัมภีร์บริวารอักขะระต่างๆ จำนวน 15 ชุด ประมาณ 600 เล่ม เพื่อก่อตั้งเป็น หอพระไตรปิฎกนานาชาติ ขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องจากเดิมพระไตรปิฎกเก็บอยู่ในวัด แม้ในหอสมุดทั่วไปก็มักเก็บรักษาอยู่ในหมวดต่างๆ แต่ละภาษา ไม่อยู่รวมในที่เดียวกัน ทำให้ทำการสืบค้น และเปรียบเทียบเนื้อหาพระไตรปิฎกเรื่องเดียวกันแต่ละฉบับเป็นไปได้ยาก การจัดเก็บอยู่ในห้องเดียวกันพร้อมกับคู่มือการศึกษาต่างๆ ทำให้เกิดการศึกษาพระไตรปิฎกได้ง่ายและมีความเป็นบูรณาการยิ่งขึ้น

หอสมุดพระไตรปิฎกนานาชาติ ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร มีมิติใหม่ของการรวบรวมเนื้อหาในพระไตรปิฎก นั่นคือ มีเทปบันทึกเสียงการบรรยายพระไตรปิฎกในมิติต่างๆ ประมาณ 1,000 ม้วน ซึ่งเป็นเนื้อหาการบรรยายใหม่ที่ร่วมสมัยระหว่าง พ.ศ. 2530-2540 เรียกว่า สนทนาธัมม์นำสุข เช่นการบรรยาย โดย อ.นิศา เชนะกุล บรรยายพระไตรปิฎกในด้านโครงสร้างพระสัทธัมม์ และต่อมามีพระเถระมาร่วมบรรยายด้วยได้แก่ พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธัมโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี บรรยายพระไตรปิฎกในด้านการปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐาน พระราชปฏิภาณโสภณ (มานพ ติกขญาโณ ป.ธ. 9) วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร บรรยายพระไตรปิฎกในด้านพระอภิธัมม์ ซึ่งรวมถึงเทปบรรยายของ อ.แนบ มหานีรานนท์ มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก กล่าวได้ว่าเป็นการรวบรวมและจัดตั้งหอสมุดพระไตรปิฎกนานาชาติเป็นครั้งแรก และปัจจุบันมีการปรับปรุงโดยมอบเทปเนื้อหาพระไตรปิฎกในด้านจดหมายเหตุโครงการพระไตรปิฎกสากล อีกประมาณ 300 ม้วน รวมเวลาประมาณ 10,000 ชั่วโมง ซึ่งรวมทั้งตัวอย่างการออกเสียงพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ พ.ศ. 2559 ซึ่งจัดทำเป็นระบบดิจิทัลที่สมบูรณ์จากหนังสือทั้งชุด 40 เล่ม 

หอสมุดมหาวิทยาลัยนเรศวร จึงนับว่าเป็นต้นแบบของการจัดตั้งหอสมุดพระไตรปิฎกนานาชาติ ใน โครงการพระไตรปิฎกสากล

กิจกรรมสำคัญที่โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ในปี พ.ศ. 2562 คือ การนำอักขะระพินอินของจีนมาพัฒนาเป็น สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ เพื่อพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกสากล  ฉบับสัชฌายะ ชุดแรก เรียกว่า พระไตรปิฎกสากล ชุด สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ หรือ ชุด ปาฬิ-พินอิน ในการนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์กับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมมือกันสังเคราะห์สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ ลงในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย

ตอนที่ 2 : หอพระไตรปิฎกนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับอ้างอิงฉบับสากล

พ.ศ. 2543 โครงการพระไตรปิฎกสากล ซึ่งดำเนินการโดยกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ได้มอบคลังพระไตรปิฎกนานาชาติเป็นธัมมบัณณาการแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ก่อตั้งเป็น หอพระไตรปิฎกนานาชาติ ตั้งอยู่ ณ อาคารเก่าแก่ที่สุดของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันเรียกว่า อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ โดย สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิด และพระราชทานพระไตรปิฎกนานาชาติแก่อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8

จุดมุ่งหมายสำคัญในการรวบรวมพระไตรปิฎก ปาฬิภาสา-อักขะระนานาชาติ ไว้ในแหล่งเดียวกันคือ เพื่อให้นักวิชาการในคณะต่างๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถตรวจสอบและศึกษาต้นฉบับพระไตรปิฎกเหล่านี้ได้ว่ามีความแม่นตรงเพียงไรกับฉบับ ปาฬิภาสา-อักขะระโรมัน ซึ่งโครงการพระไตรปิฎกสากล กำลังจัดพิมพ์เป็นชุดที่สมบูรณ์ 40 เล่ม ตามพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร จากต้นฉบับการสังคายนานานาชาติ ฉัฏฐสังคีติ พ.ศ. 2500 ซึ่งยังไม่มีผู้ใดจัดพิมพ์มาก่อน

คลังพระไตรปิฎกนานาชาติ ซึ่งแบ่งเก็บในตู้พระไตรปิฎกจำนวน 12 ตู้ ในหอพระไตรปิฎกนานาชาติแห่งนี้ จึงเป็นหลักฐานที่มาของต้นฉบับอักขะระพม่า ที่โครงการพระไตรปิฎกสากล อักขะระโรมัน ใช้ตรวจทานและอ้างอิงกับฉบับอักขะระอื่นๆ ที่จัดพิมพ์ต่อมาภายหลัง พ.ศ. 2500 ซึ่งฉบับอักขะระโรมันดังกล่าวได้ทำการถอดอักขะระต่างๆ ในทางภาษาศาสตร์ (Transliteration) และได้จัดทำการอ้างอิงบรรทัดต่อบรรทัด โดยจัดพิมพ์เลขหน้าในฉบับต่างๆ ทั้ง 12 อักขะระไว้ที่ริมกระดาษของฉบับสากล อักขะระโรมัน

ตู้พระไตรปิฎกนานาชาติ ทั้ง 12 ตู้ ณ หอพระไตรปิฎกนานาชาติ จึงเป็นตัวอย่างทางกายภาพที่สำคัญในกระบวนการเรียนรู้ทางการศึกษาพระไตรปิฎกว่า คำสอนในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเสียง ที่เรียกว่า เสียงปาฬิ (ไทย เรียกว่า บาลี) แต่สามารถใช้อักษร หรือ ที่โครงการพระไตรปิฎกสากล เรียกว่า อักขะระปาฬิ ของแต่ละชาติเขียนเสียงปาฬินี้ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความหลากหลายของพระไตรปิฎกฉบับต่างๆ ใน พ.ศ. 2548 เมื่อจัดพิมพ์เป็น ฉบับสากล อักขะระโรมัน-ปาฬิ จึงถือได้ว่าสำเร็จสมบูรณ์ ข้อแตกต่างระหว่างต้นฉบับต่างๆ ที่พิมพ์อ้างอิงไว้เป็นอักขะระโรมันที่เป็นมาตรฐาน ย่อมเป็นหลักฐานถึงความถูกต้อง และความบกพร่องในการจัดพิมพ์ฉบับต่างๆ ที่นักวิชาการสามารถศึกษาและเปรียบเทียบได้

ที่สำคัญความคิดในการรวบรวมคลังพระไตรปิฎกนานาชาติในโครงการพระไตรปิฎกสากล ณ หอพระไตรปิฎกนานาชาติ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของฆราวาสนี้ ก็เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไป ว่า การรวบรวมพระไตรปิฎกไว้ในหอไตรในอดีตนั้น แม้เป็นกุศลประโยชน์ แต่จะเกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น หากทำให้ประชาชนเข้าใจด้วยว่า พระไตรปิฎกเหล่านั้นเป็นต้นฉบับใด สังคายนาเมื่อใด และการจัดพิมพ์ในฉบับนั้นมีข้อดีและข้อบกพร่องเพียงใด ซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างพระไตรปิฎกสากลซึ่งอนุรักษ์เสียงที่แม่นตรงที่สุดสำหรับอนาคต

เพื่อให้เกิดความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไปที่มิใช่เป็นนักวิทยากร ใน พ.ศ. 2552 โครงการพระไตรปิฎกสากลได้อนุญาตให้องค์กรต่างประเทศองค์กรหนึ่งทำการเผยแผ่ข้อมูลพระไตรปิฎกสากล อักขะระโรมัน พ.ศ. 2548 ในระบบอินเทอร์เน็ต ชื่อว่า suttacentral.net โดยประชาชนทั่วไปสามารถศึกษาคำแปลเป็นภาษาต่างๆ และรายละเอียดของเชิงอัฏฐ์คำที่พิมพ์ต่างกันในพระไตรปิฎกสากล อักขะระโรมัน กับ พระไตรปิฎก อักขะระของชาติต่างๆ ได้

กิจกรรมสำคัญที่โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ร่วมกับศูนย์รัสเซียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2562 คือ การนำอักษรรัสเซียมาพัฒนาเป็น สัททะอักขะระรัสเซีย-ปาฬิ เพื่อพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ สำหรับผู้ที่สามารถอ่านอักขะระรัสเซีย เรียกว่า พระไตรปิฎกสากล ชุด สัททะอักขะระรัสเซีย-ปาฬิ หรือ ชุด ปาฬิ-รัสเซีย

ตอนที่ 3 : เครือข่ายหอพระไตรปิฎกนานาชาติ  เพื่ออนุรักษ์เสียงปาฬิ ในฉบับ จ.ป.ร.

พ.ศ. 2548 โครงการพระไตรปิฎกสากล อักขะระโรมัน ประสบความสำเร็จในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกจากการสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 เป็นฉบับอักขะระโรมัน ชุดสมบูรณ์เป็นชุดแรก โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  เสด็จจาริกอัญเชิญพระไตรปิฎกสากลไปพระราชทานเป็นพระธัมมทานแก่ประธานาธิบดีแห่งศรีลังกาเป็นชุดปฐมฤกษ์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานาธิบดีศรีลังกา และต่อมาอีก 6 ปี ในพ.ศ. 2554 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ก็ได้เสด็จจาริกอัญเชิญพระไตรปิฎกสากล อักขะระโรมัน และพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล ไปพระราชทานถวายแก่สมเด็จพระสังฆราชแห่งเมียนมาร์ ตามที่ทางประเทศเมียนม่าร์ได้กราบบังคมทูลเชิญมา

การพระราชทานพระไตรปิฎกสากลแก่ศรีลังกาและพม่าล้วนมีนัยที่สำคัญในการสร้างเครือข่ายหอสมุดพระไตรปิฎกนานาชาติในประเทศต่างๆ กล่าวคือ ศรีลังกาแม้มีพระไตรปิฎกอักขะระสิงหฬของชาติตนอยู่แล้ว แต่ก็ยินดียกย่องพระไตรปิฎกสากล อักขะระโรมัน ซึ่งจัดพิมพ์ในประเทศไทย โดยศรีลังกาเข้าใจในเจตนารมย์ในการอนุรักษ์พระไตรปิฎกที่เป็นสากล ส่วนคณะสงฆ์ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก และพุทธศาสนิกชนพม่าผู้มาร่วมอนุโมทนาต่างตระหนักในความสำเร็จในการที่ชาติไทยสามารถใช้อักขะระโรมัน ซึ่งเป็น อักขะระสากลนานาชาติ มาบันทึกพระไตรปิฎกจากการสังคายนาของพม่า พ.ศ. 2500 ณ กรุงย่างกุ้ง สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะมีการจัดแบ่งเล่มเป็นชุด 40 เล่ม ตามต้นฉบับสังคายนานาชาติ ต่างจากการจัดพิมพ์ด้วยอักษรโรมันในอดีต ซึ่งเป็นผลงานของนักวิชาการชาวตะวันตก มิใช่เป็นการจัดพิมพ์จากฉบับสังคายนาของคณะสงฆ์เถรวาทนานาชาติทั่วโลก

การจัดพิมพ์และพระราชทานพระไตรปิฎกสากล เป็นการตามรอยประวัติศาสตร์การจัดพิมพ์พระไตรปิฎก ฉบับ จ.ป.ร. อักขะระสยาม พ.ศ. 2436 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชแห่งกรุงสยาม ได้พระราชทานแก่หอสมุดต่างๆ ในนานาประเทศ หลังจากได้พระราชทานแล้วแก่พระอารามต่างๆ ในสยามประเทศ ซึ่งรวมทั้งศรีลังกา และพม่า เมื่อศตวรรษที่แล้ว

การพระราชทานพระไตรปิฎกสากล อักขะระโรมัน ชุดปฐมฤกษ์ แก่ประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา ซึ่งปรากฏว่าได้เก็บรักษา ณ ทำเนียบประธานาธิบดี กรุงโคลัมโบ และมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ นครย่างกุ้ง จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างเครือข่ายหอพระไตรปิฎกสากล ระดับนานาชาติ ทั้งในมิติของคณะสงฆ์และฆราวาสชาวต่างประเทศครั้งสำคัญ

ตอนที่ 4 : หอสมุดพระไตรปิฎกนานาชาติ เพื่อเก็บต้นฉบับที่สำคัญในประเทศไทย

ภาพพระราชทาน

แนวความคิดเรื่องหอพระไตรปิฎกนานาชาติในโครงการพระไตรปิฎกสากล เป็นแนวความคิดในการใช้เทคโนโลยีมาดำเนินการอนุรักษ์เสียงปาฬิในพระไตรปิฎกที่ดำเนินการตามหลักความพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กล่าวคือ การนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในด้านสารสนเทศมาบันทึกและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นต้นฉบับที่ว่าด้วยการถอดเสียงปาฬิ (Pāḷi Phonetic Transcription) ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นในทางวิชาการด้านสัททศาสตร์ที่ยังมิได้มีการศึกษาและจัดทำอย่างแพร่หลาย ต่างจากการศึกษาพระไตรปิฎกในอดีตซึ่งมุ่งเน้นแต่การพิมพ์รูปศัพท์เพื่อการแปล โดยมิได้คำนึงถึงรูปเสียงเพื่อส่งเสริมการอ่านออกเสียงแก่ประชาชนทั่วไป ด้วยเหตุนี้โครงการพระไตรปิฎกสากลจึงเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพิมพ์เพื่อสร้างเป็นต้นฉบับสำคัญสำหรับสถาบันที่สำคัญของชาติ มิใช่เป็นการจัดพิมพ์เพื่อเผยแผ่ทั่วไปในระบบออฟเซ็ทที่มีต้นทุนสูงและยากลำบากในการเก็บรักษาเป็นจำนวนมาก การใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ในระบบดิจิทัลทำให้องค์กรสาธารณประโยชน์ในภาคเอกชนสามารถสร้างพระไตรปิฎกที่มีนวัตกรรมใหม่ได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ เพราะหลักการสำคัญอยู่ที่นวัตกรรมการสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ของโลก มิใช่ปริมาณในการจัดพิมพ์ 

ในประเทศไทยได้มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล สำหรับสถาบันสำคัญ ดังต่อไปนี้ 

1. พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน พ.ศ. 2548 : ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

2. พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน พ.ศ. 2549 และ พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล พ.ศ. 2558 : น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

3. พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน พ.ศ. 2551 : ศาลฎีกา 

4. พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน พ.ศ. 2552 : สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร

5. พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. พ.ศ. 2560 : น้อมเกล้าฯ ถวาย
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

6. พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล พ.ศ. 2554 และ พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ พ.ศ. 2560 : สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

7. พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. พ.ศ. 2561 : วัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นผู้แทนเครือข่ายวัดป่านานาชาติทั่วโลก และวัดนาถกรณธรรม จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพระอารามสุดท้ายที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ได้ประทานนามแก่พระอารามแห่งนี้ ในโอกาสเดียวกันนี้ยังมอบแก่สถาบันสำคัญ คือ ราชบัณฑิตยสภา กระทรวงพาณิชย์ และวชิราวุธวิทยาลัย เป็นต้น

ตอนที่ 5 : หอสมุดพระไตรปิฎกนานาชาติ ณ กรุงลอนดอน เพื่อเป็นมาตรฐานอ้างอิงฉบับสากล

 

พ.ศ. 2562 มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศไทยว่า หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ (British Library) ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน ขอความอนุเคราะห์พระไตรปิฎกเพื่อเป็นชุดสำคัญที่จะจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ เรื่อง พระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นครั้งแรก ณ หอสมุดแห่งชาติอังกฤษแห่งนี้ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ชุดที่จะมอบประกอบด้วยพระไตรปิฎกสากล ฉบับอักขะระโรมัน พ.ศ. 2548 ปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2562 ชุด 40 เล่ม พร้อมด้วยฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. พ.ศ. 2562 ชุด 80 เล่ม รวมทั้งสิ้น 3 ชุด 120 เล่ม

นิทรรศการพิเศษ ณ หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลจะได้เปิดตัวพระไตรปิฎกฉบับอักขะระโรมัน และฉบับสัชฌายะ (Sajjhāya Phonetic Edition) ซึ่งจัดพิมพ์อ้างอิงตามรอยฉบับ จ.ป.ร. อักขะระสยาม ในรอบ 126 ปี

เนื่องจากหอสมุดแห่งชาติอังกฤษมีความสำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปยุโรป ชาวตะวันตกโดยเฉพาะประชาชนทั่วไปที่มิใช่นักวิชาการย่อมได้ประโยชน์จากฉบับอักขะระโรมันชุดนี้ เนื่องด้วยเป็นพระไตรปิฎก ฉบับอักขะระโรมัน ชุดสมบูรณ์ชุดแรก ซึ่งจัดพิมพ์ตามมติของการสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ต่างจากการจัดพิมพ์เป็นอักษรโรมัน โดยองค์กรต่างๆ เช่น เช่น สมาคมบาลีปกรณ์ (Pali Text Society) ซึ่งอ้างอิงจากต้นฉบับอื่นๆ ก่อนการสังคายนานานาชาติดังกล่าว 

ดังนั้นการเปิดตัวพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ในประเทศอังกฤษ จึงเป็นการเผยแผ่การออกเสียงสัชฌายะ (Sajjhāya Recitation) ในพระไตรปิฎก ให้กว้างขวางในหมู่ประชาชนทั่วไปมิใช่จำกัดอยู่แต่ในหมู่วิชาการหรือรู้จักแต่เฉพาะฉบับ Pali Text Society ที่พิมพ์ในประเทศอังกฤษเมื่อต้นศตวรรษที่แล้วเท่านั้น

การเปิดตัวพระไตรปิฎกสากล ณ หอสมุดแห่งชาติอังกฤษในวันที่ 24 ตรงกับวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรณาณาณสังวร องค์พระสังฆราชูปถัมภ์โครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2542 ซึ่งบัดนี้โครงการฯ ได้ดำเนินงานมาครบ 20 ปี พอดี

ปัจจุบันโครงการพระไตรปิฎกสากลได้มอบพระไตรปิฎกสากลเป็นพระธัมมทานเพื่อประดิษฐาน ณ สถาบันสำคัญในนานาประเทศทั่วโลก จำนวนไม่น้อยกว่า 150 สถาบัน ใน 25 ประเทศ หอสมุดแห่งชาติอังกฤษจึงเป็นสถาบันล่าสุดที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกสากล ใน พ.ศ. 2562 นี้

หอพระไตรปิฎกนานาชาติ by Dhamma Society on Scribd