การดำเนินงานในวาระครบรอบ 20 ปี
องค์พระสังฆราชูปภัมภ์โครงการพระไตรปิฎกสากล
ปัจจุบันชุดอักษรโรมันได้พัฒนาเป็นฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากลเพื่อสร้างเป็นนวัตกรรมการบันทึกพระไตรปิฎกสากลในทางวิชาการภาษาศาสตร์ที่ไม่เคยมีการจัดทำมาก่อน โดยปริวรรตการเขียนเสียงปาฬิด้วยวิธีการถอดเสียงอย่างละเอียด (Pāḷi Phonetic Transcription) เป็น สัททะอักขะระ-ปาฬิ (Pāḷi Phonetic Alphabet) เรียกว่า ฉบับสัชฌายะ (Sajjhāya Phonetic Edition) ชุด ภ.ป.ร.ต้นฉบับปาฬิภาสา (Pāḷi Manuscript) ชุด 40 เล่ม และชุด ส.ก. โน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi Notation) ชุด 40 เล่ม พ.ศ. 2559 ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณารับเป็นองค์ประธานการสร้างฉบับสัชฌายะ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในวาระทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี พ.ศ. 2559
โน้ตเสียงปาฬิ ชุด ส.ก. ปัจจุบันได้จัดพิมพ์เป็นชุดสมบูรณ์ ชุด 250 เล่ม รวม 4 เวอร์ชั่น และได้ใช้ในการบันทึกเสียงในระบบดิจิทัลโดยผู้เชี่ยวชาญทางดุริยางค์และไวยากรณ์การออกเสียงในพระไตรปิฎก เพื่อผลิตเป็น เสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation Sound) จากต้นฉบับพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ทั้งชุด 40 เล่ม รวมเวลาการออกเสียงสัชฌายะดิจิทัลทั้งสิ้น 3,052 ชั่วโมง หรือความจุ 1.6 เทราไบต์ในระบบอิเล็กทรอนิกส์
จากความสำเร็จในการสร้างพระไตรปิฎกเสียงสัชฌายะดิจิทัลดังกล่าว อันนับเป็นการถอดเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกสากลอย่างละเอียดพร้อมทั้งบูรณาการต่อยอดเป็นโน้ตเสียงปาฬิในทางดุริยางคศาสตร์ ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 ผลงานวิจัยโน้ตเสียงปาฬิชุดนี้ได้รับรางวัลพระราชทานผลงานวิจัยดีเด่นจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งระบุว่าเป็นการบันทึกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกด้วยโน้ตเสียงสากลเป็นครั้งแรกในโลก
ด้วยเหตุนี้ระหว่างปี พ.ศ. 2562-2563 เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี การดำเนินงานในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ โครงการพระไตรปิฎกสากลจึงได้ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากลในระบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ทั้งหมด โดยบูรณาการกับโปรแกรมสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาในพระไตรปิฎกสากล เรื่อง การแบ่งพยางค์คำปาฬิอัตโนมัติ World Tipiṭaka Patent No. 46390 ตลอดจนได้จดทะเบียนบันทึกเป็นลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ประเภทต่างๆ อันเป็นการสร้างความคุ้มครองในทางกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเพื่ออนุรักษ์มิให้มีการดัดแปลงต้นฉบับภูมิปัญญาไทยในพระไตรปิฎกให้ผิดเพี้ยนไปจากดั้งเดิม แต่จะให้สิทธิ์แก่ผู้ที่สามารถนำภูมิปัญญาพระไตรปิฎกสากลดังกล่าวต่อยอดบูรณาการกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในอนาคตได้ ปัจจุบันมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลสามารถจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล จากคลังฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ชุดนี้ (World Tipiṭaka Big Data) เป็นกลุ่มชุดอักขะระต่างๆ (Akkʰara) 5 กลุ่ม สำหรับชุดพระไตรปิฎกสากลที่สำคัญของโลก คือ
1. กลุ่มชุด อักขะระโรมัน (Pāḷi-Roman Script)
2. กลุ่มชุด อักขะระชาติพันธ์ุไต (Pāḷi-Tai Script)
3. กลุ่มชุด อักขะระปาฬิ-รัสเซีย (Pāḷi-Russian Script)
4. กลุ่มชุด อักขะระ ปาฬิ-พินอิน ของจีน (Pāḷi-Pinyin Script)
5. กลุ่มชุด โน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi Notation)
ชุดโน้ตเสียงปาฬิสามารถพิมพ์ประกอบกับอักขะระต่างๆ ในข้อ 1-4 ข้างต้น หรือพิมพ์เป็นชุดคู่ขนานสองชุดอักขะระ (Parallel Corpus) ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงเลือกพิมพ์ผสมระหว่างสองอักขะระใดๆ จากชุดต่างๆ ในข้อ 1-4 ได้ตามความต้องการ
รวมพระไตรปิฎกสากล ชุดต่างๆ เบื้องต้นจำนวน 120 ชุดๆ ละ 40 เล่ม ตามต้นฉบับการสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ที่แบ่งเป็นชุด 40 เล่ม ซึ่งหากจะพิมพ์แยกเป็นแต่ละคัมภีร์จะมีจำนวน 4,800 เล่มคัมภีร์ ในระบบชุดหนังสือ หรือ ชุดดิจิทัล
สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. 9
ประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค
ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
พ.ศ. 2543-2554
ประธานผู้ก่อตั้งมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล
พ.ศ. 2555
ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา
ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2560-ปัจจุบัน
พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค
นายกกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค
ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
พ.ศ. 2542-ปัจจุบัน