อักขรวิธีวิจินตน์ ในพระไตรปิฎกสัชฌายะ
อักขรวิธี “ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ”
โดย ศ.กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทความโดย วิจินตน์ ภาณุพงศ์
เกริ่นนำ
เสียงกล้ำ ในคำปาฬิที่ อักขะระสยาม-ปาฬิ ในพระไตรปิฎกปาฬิ พ.ศ. ๒๔๓๖ เขียนว่า ตัส๎มา (ปัจจุบันรูปเขียนเป็น ตสฺมา) เป็นคำที่มีเป็นจำนวนมาก เมื่อยกขึ้นสวดมักได้ยินออกเสียงกันว่า (ตัส-สมา) ซึ่งออกเสียง เสียงสะกด ต่อเนื่องเป็น เสียงกล้ำ แม้คำเสียงกล้ำอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น ตุเม๎ห (ตุมฺเห) ก็มักอ่านออกเสียงเป็นเสียงสะกดที่เป็นเสียงกล้ำว่า (ตุม-มเห) เป็นต้น แต่เมื่อผู้เขียนได้ศึกษารูปศัพท์เหล่านี้จากคัมภีร์กัจจายะนะไวยากรณ์ปาฬิ โดยเฉพาะกฎข้อที่ ๖๐๒ พบว่า พยัญชนะเสีียงกล้ำ จะปรากฏอยู่หลังสระเสียงสั้นของพยางค์หลังเสมอ กล่าวคือพยางค์หลังจะออกเป็นเสียงกล้ำเท่านั้น ไม่ออกเป็นเสียงสะกด และต่อเนื่องเป็นเสียงกล้ำ นอกจากนี้ กฎข้อที่ ๖๐๒ ได้กำหนดอีกว่า การออกเสียง สระเสียงสั้น ที่นำหน้าพยัญชนะเสียงกล้ำต้องเป็น เสียงคะรุ (เดิมเขียนว่า ครุ) ดังนั้นการเขียนเสียงอ่านคำเหล่านี้จึงต้องเขียนว่า (ตะ-สมา) (ตุ-มเห) โดย สระ-อะ และ สระ-อุ ต้องออกเสียงให้นานขึ้น เป็น เสียงคะรุ ซึ่งปัจจุบันบทความนี้ได้นำเสนอเป็น ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทยปาฬิ ว่า [ตะ-สมา] [ตุ-มเห]
บทความนี้มุ่งหาคำตอบของปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างการออกเสียงปาฬิในปัจจุบันกับหลักไวยากรณ์ปาฬิในวัฒนธรรมพระไตรปิฎก ในเบื้องต้นได้ศึกษาอักขรวิธี อักขะระสยาม เทียบกับหลักคัมภีร์ไวยากรณ์ปาฬิที่สำคัญที่สุดคือกัจจายะนะไวยากรณ์ และนำหลักไวยากรณ์มากำกับในการนำเสนออักขรวิธี สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ตามหลักภาษาศาสตร์ โดยเฉพาะการนำหลักการออกเสียง ละหุคะรุ มาเป็นหลักสำคัญในอักขรวิธี สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ทำให้สามารถเขียนเสียงอ่านเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกได้้แม่นตรงตามคัมภีร์ไวยากรณ์มากที่สุด เพราะการออกเสียงปาฬิที่ผิดพลาดในทางนิรุตติศาสตร์ทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนไป ถือเป็น ìอักขะระวิบัติî ซึ่งเป็นการล่วงละเมิดพระธัมมวินัย พระภิกษุย่อมต้องอาบัติ และเป็นการเปลี่ยนแปลง ข้อมูลเสียงปาฬิ หรือเสียงพระธัมม์ให้ผิดไปจากการสังคายนาพระไตรปิฎกที่สืบทอดกันมา
วิธีการศึกษาใช้หลักการทางภาษาศาสตร์วิเคราะห์ตัวอย่างเสียงปาฬิของผู้เชี่ยวชาญในทางพระไตรปิฎกปาฬิโดยเฉพาะคณะสงฆ์ผู้ทรงพระปาติโมกข์ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสูงสุดทางเปรียญธัมม์ โดยอ้างอิงกับฐานข้อมูลพระไตรปิฎกในโครงการพระไตรปิฎกสากล ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ผลการศึกษาได้นำเสนอเป็นอักขรวิธี ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ โดยโครงการ พระไตรปิฎกสากล ได้ใช้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกเสียงอ่าน สัชฌายะ-เตปิตะกะ เป็นครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๕๖
ปาฬิ (เดิมเรียกกันว่า ปาลิ หรือ บาลี) เป็นภาษาที่ใช้บันทึกคำสอนในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวบรวมอยู่ในพระไตรปิฎกภาษาปาฬิ ซึ่งที่นี้จะเขียนทับศัพท์ว่า ปาฬิภาสา หรือ เสียงปาฬิ เมื่อพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิ อาณาจักรสุโขทัยและอยุธยา บรรพบุรุษไทยได้ใช้ อักขะระขอม เป็น อักขะระ สำคัญบันทึกเสียงปาฬิเป็นเวลาร่วมพันปี จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้ากรุงสยาม มีพระบรมราชโองการให้สร้างพระไตรปิฎกปาฬิโดยตีพิมพ์เป็นหนังสือ และพิมพ์สำเร็จเป็นชุดแรกของโลกในปีพ.ศ. ๒๔๓๖ ที่สำคัญคือได้โปรดให้มีการ ปริวรรตอักษร หรือปัจจุบันเรียกว่า ถอดอักขะระ จาก อักขะระขอม เป็น อักขะระ ของชาติไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งในอารัมภกถาคำนำ เรียกว่า อักษรสยาม หรือ อักษรสยาม-ปาฬิ โครงการพระไตรปิฎกสากลเรียกว่า อักขะระสยาม-ปาฬิ
ไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602
อ้างอิงโดยอักขรวิธีวิจินตน์
ตัวอย่างอักขรวิธีวิจินตน์ ซึ่งช่วยให้อ่านเสียงกล้ำในพระไตรปิฎกได้แม่นตรงกับไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ
2016 LahuGaru Thai Phonetic... by Dhamma Society on Scribd