หลักการออกเสียงปาฬิด้วยวิธีสัชฌายะ

 

ปัญหาการออกเสียงปาฬิและการแก้ปัญหาด้วยกฎสัชฌายะ

เป็นที่รู้กันทั่วไปในทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์ว่า ชาวไทยมีปัญหาในการออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก (ปาฬิ เดิมออกเสียงกันว่า บาลี) ปัญหาดังกล่าว คือ Linguistic Interference หรือ การแทรกแซงทางเสียง คือ การนำเสียงท้องถิ่นในภาษาไทยไปปนแทรกกับเสียงปาฬิดั้งเดิมในพระไตรปิฎก (ดู วิจินตน์ ภาณุพงศ์ 80 ปี ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2557) เช่น

1. การเอาเสียงพยัญชนะในภาษาไทยไปปนแทรกกับเสียงปาฬิดั้งเดิมในพระไตรปิฎกปาฬิ เช่น ปาฬิ ว่า [บะ] ซึ่งเป็นเสียงไม่พ่นลม แต่ชาวไทยมักออกเสียงว่า [พะ] ซึ่งกลายเป็นเสียงพ่นลม ในคำว่า bud- หรือ พุท- ต้องออกเสียงว่า บุด- แต่ส่วนใหญ่ออกเสียงว่า พุท- เป็นต้น
 
2. คนไทยมักแบ่งพยางค์เสียงปาฬิ ในพระไตรปิฎกไม่ตรงกับหลักการแบ่งพยางค์ตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ เช่น katvā​ (กะ-ตวา) คนไทยออกเสียงเป็น กัต-ตวา เป็นต้น กล่าวคือ ไม่ตรงกับกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602 ที่ระบุว่า สระเสียงสั้นหน้าพยางค์กล้ำ ต้องออกเสียงคะรุ เพื่อให้แยกอย่างเด็ดขาดจากเสียงกล้ำในพยางค์ถัดไป
 
3. การออกเสียงสวดมนต์ตามประเพณีของไทยมักเน้นการออกเสียงสวดอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงไม่มุ่งเน้นการออกเสียงละหุและเสียงคะรุในแต่ละพยางค์ เช่น ไม่ออกเสียงสระสั้นในตอนจบของแต่ละบทเป็นเสียงคะรุ ตามที่ระบุในคัมภีร์วุตโตทัย ข้อ 7 เช่น mi หรือ มิ ใน gacchā​mi เป็นต้น นอกจากนี้ในกรณีที่พยางค์เป็นเสียง สระ-เอ และ สระ-โอ มีเสียงสะกด คนไทยมักออกเสียงพยางค์เป็นเสียงยาวตามเสียงสระ ซึ่งไม่ตรงตามกฎรูปะสิทธิ ข้อที่ 5 ที่ให้ออกเป็นเสียงเป็นพยางค์เสียงสั้น เพื่อให้รู้ว่ามีตัวสะกดตามมา เช่น met- หรือ เม็ต- ใน mettā หรือ เมตตา และ sot- หรือ โส็ต- ใน sotthi หรือ โสตถิ เป็นต้น

4. ชาวไทยมักนำเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำในภาษาไทยไปปนแทรกกับเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก เช่น [โส] ใน [อิติปิ โส] ชาวไทยมักออกเสียงเป็นวรรณยุกต์จัตวา ไม่ตรงตามหลักการที่ศึกษากันมาในทางภาษาศาสตร์ว่า ปาฬิ เป็นภาษาในตระกูลอินโด-ยูโรเปียน เป็นเสียงสามัญที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำ เช่น รูปเขียนว่า [โส] แต่ต้องออกเสียงว่า [so] หรือ [โซ] เป็นต้น

เพื่อแก้ปัญหาการแทรกแซงทางเสียงต่างๆ ข้างต้น โครงการพระไตรปิฎกสากลจึงมอบให้ผู้สร้างสรรค์สิทธิบัตร เลขที่ 46390 (สุรธัช บุนนาค และคณะ) ทำการสรุปหลักการเรียงพิมพ์เสียงปาฬิในฉบับสัชฌายะ และนำเสนอเป็นกฎการออกเสียงปาฬิ  เรียกว่า “กฎสัชฌายะ” หรือ “Rules of Sajjhāya Recitation” ซึ่งมีการสร้างสรรค์ที่นำเสนอเป็นทั้งรูปเขียน และเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้แยกจดเป็นลิขสิทธิ์ไว้ต่างหาก

กฎสัชฌายะ 15 ข้อ คือ :
กฎข้อที่ 1 การออกเสียงไม่พ่นลม (สิถิละ)
กฎข้อที่ 2 การออกเสียงพ่นลม (ธะนิตะ)
กฎข้อที่ 3 การออกเสียงสระเสียงสั้น
กฎข้อที่ 4 การออกเสียงสระเสียงยาว
กฎข้อที่ 5 การออกเสียงละหุ (เสียงเร็ว)
กฎข้อที่ 6 การออกเสียงคะรุ (เสียงนาน)
กฎข้อที่ 7 การออกเสียงนิคคะหิต (เสียงก้องในจมูก) ที่ต่างกับ การออกเสียงนาสิก (เสียงจากคอขึ้นจมูก)
กฎข้อที่ 8 การออกเสียงคําปาฬิที่ต้องติดกัน (เสียงสัมพันธะ)
กฎข้อที่ 9 การออกเสียงคําปาฬิที่ต้องแยกจากกัน (เสียงวะวัตถิตะ)
กฎข้อที่ 10 การออกเสียงที่เกิดจากอวัยวะในปาก (ฐาน) แตะกับลิ้น (กรณ)
กฎข้อที่ 11 การออกเสียงสระ [เอ] [โอ] เมื่อมีตัวสะกดตามมา
กฎข้อที่ 12 การออกเสียงปาฬิที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำ
กฎข้อที่ 13 การออกเสียงกล้ำ
กฎข้อที่ 14 การออกเสียงคะรุหน้าเสียงกล้ำ (กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602)
กฎข้อที่ 15 การออกเสียงปาฬิด้วยฟอนต์สัชฌายะ

ใน พ.ศ. 2566 ได้มีข้อสรุปว่า ระบบการพิมพ์เสียงปาฬิ ด้วย สัททสัญลักษณ์ (International Phonetic Symbol) ในโครงการพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ สามารถแก้ปัญหาการออกเสียงปาฬิภาสา โดยเฉพาะ การแทรกแซงทางเสียง (Linguistic Interference) ที่เกิดจากอักขรวิธีของอักษรชาติต่างๆ เช่นอักขรวิธี พินทุบอด บาลี-อักษรไทยในอดีต โดยเบื้องต้นแบ่งการแก้ปัญหาเป็น ๔ ประเด็น เรียกว่า สัชฌายะแมทริกซ์ (Fourfold Saj-jhā-ya Matrix)

คู่มือการออกเสียงปาฬิ by Dhamma Society on Scribd