โน้ตเสียงพระไตรปิฎก QR 2563

พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ส.ก.
พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2563
คู่มือ 1 เล่ม

คำนำการจัดพิมพ์
คู่มือโน้ตเสียงพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2563

โน้ตเสียงพระไตรปิฎกสากล (The World Tipiṭaka Notation) เป็นผลงานในรอบ 20 ปี ของโครงการพระไตรปิฎกสากล ซึ่งดำเนินงานในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร โดยอ้างอิงกับต้นฉบับที่สำคัญยิ่งสองชุด ชุดที่หนึ่ง อ้างอิงเนื้อหาตามฉบับ ปาฬิภาสา-อักขะระโรมัน ชื่อ Mahāsaṅgīti Tipiṭaka Buddhavasse 2500 (มหาสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. 2500) ซึ่งจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกสากลชุดสมบูรณ์ 40 เล่ม ชุดแรกของโลก พ.ศ. 2548

ชุดที่สอง อ้างอิงการออกเสียงละหุและเสียงคะรุ ตามฉบับ ปาฬิภาสา-อักขะระสยาม ในพระไตรปิฎก ฉบับ จ.ป.ร. พ.ศ. 2436 นอกจากนี้นวัตกรรมสัททสัญลักษณ์การแบ่งพยางค์ในฉบับนี้ยังทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากลสามารถพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์การแบ่งพยางค์เสียงละหุและเสียงคะรุอัตโนมัติ โดยได้รับสิทธิบัตร เลขที่ 46390 (Sajjhāya Syllabic Segmentation, 2016) ซึ่งใช้ในการเรียงพิมพ์โน้ตเสียงละหุ และเสียงคะรุในระบบดิจิทัลได้อย่างแม่นยำ

สัททสัญลักษณ์ปาฬิ (Pāḷi Phonetic Symbols) จำนวน 407 ตัว เป็นสัญลักษณ์ทางเสียงที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นใหม่เป็นพิเศษ เช่น เสียงพ่นลม เสียงก้อง และเสียงนิคคะหิต เพื่อถอดเสียงปาฬิดั้งเดิมในพระไตรปิฎกตามกฎไวยากรณ์ที่บันทึกไว้ในคัมภีร์กัจจายะนะ-ปาฬิ ซึ่งเป็นไวยากรณ์ที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท การบันทึกเสียงพระไตรปิฎกสากลเป็นโน้ตเสียงปาฬิจึงเป็นผลงานวิจัยทางสหวิชาการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2559-2560 และได้รับพระราชทานรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น พ.ศ. 2562

หวังว่าหนังสือคู่มือโน้ตเสียงปาฬิเล่มนี้ซึ่งจัดพิมพ์ด้วยรหัส QR Code เพื่อเชื่อมต่อกับเสียงสัชฌายะดิจิทัลในโน้ตเสียงปาฬิทั้งชุด 250 เล่ม รวมเวลา 3,052 ชั่วโมง หรือความจุ 1.6 เทราไบต์ จะส่งเสริมการออกเสียงปาฬิให้แม่นตรงตามกฎไวยากรณ์ในพระวินัยปิฎก และเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเสียงปาฬิในด้านสัททศาสตร์ปาฬิ ดุริยางคศาสตร์ประยุกต์ ตลอดจนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทางเสียงต่อไปในอนาคต

โครงการพระไตรปิฎกสากล
ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
พ.ศ. 2542-ปัจจุบัน

 

1. การพิมพ์เทคโนโลยีทางเสียง QR
    (QR Printing in Sound Technology)

ในหน้าแรกพิมพ์ QR Code เพื่อแสดงวิดีทัศน์การออกเสียงสัชฌายะตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านของคัมภีร์พระไตรปิฎกในทางศาสนาสู่การศึกษาปาฬิภาสาด้วยเทคโนโลยีทางเสียง

มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เทคโนโลยีทางเสียง QR ดูข้อ 1
(ดูรายละเอียด)

เสียงสัชฌายะดิจิทัล ดูข้อ 2
(ดูรายละเอียด)

การถอดอักษรปาฬิ ดูข้อ 3
(ดูรายละเอียด)

การพิมพ์เสียงละหุเสียงคะรุ ดูข้อ 4
(ดูรายละเอียด)

การถอดเสียงปาฬิ ดูข้อ 5
(ดูรายละเอียด)

ระบบอ้างอิงโน้ตเสียงปาฬิ ดูข้อ 6
(ดูรายละเอียด)

การบันทึกโน้ตเสียงระดับสามัญ ดูข้อ 7
(ดูรายละเอียด)

โน้ตเสียงเตนูโตในไวยากรณ์ปาฬิ ดูข้อ 8
(ดูรายละเอียด)

สิทธิบัตรการแบ่งพยางค์อัตโนมัติ ดูข้อ 9
(ดูรายละเอียด)

สัททสัญลักษณ์โน้ตเสียงปาฬิ ดูข้อ 10
(ดูรายละเอียด)

ดูรายละเอียด
เทคโนโลยีทางเสียง QR ข้อ 1

2. เสียงสัชฌายะดิจิทัล QR
    (QR Digital Sajjhāya Recitation Sound)

QR Code ที่จัดพิมพ์ในหน้าแรกแสดงเทคโนโลยีสื่อการพิมพ์ที่เชื่อมสู่เสียงสัชฌายะดิจิทัลในฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากล ซึ่งอ้างอิงการถอดเสียงจากโน้ตเสียงปาฬิในหน้า 1 เรียงตามลำดับเป็นต้นไป

การนำเสนอเสียงสัชฌายะดิจิทัลเป็นการส่งเสริมการออกเสียงปาฬิให้แม่นตรงตามไวยากรณ์ปาฬิในพระวินัยปิฎก เพราะการออกเสียงที่ไม่แม่นตรงทำให้สังฆกัมม์สำคัญของสงฆ์เป็นโมฆะ และภิกขุผู้เกี่ยวข้องย่อมมีความผิดเป็นอาบัติ (ฉบับสากล ปริวารวัคค์ ข้อ 455)

เสียงสัชฌายะดิจิทัลผลิตขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2559 สังเคราะห์ลงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2560 และโปรดให้จัดพระราชทานแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 

ดูรายละเอียด
เสียงสัชฌายะดิจิทัล ข้อ 2

3. การถอดอักษรปาฬิ
    (Pāḷi Transliteration) 

ลำดับชื่อตอนของโน้ตเสียงปาฬิจัดพิมพ์ด้วยการถอดอักษรในทางภาษาศาสตร์ จากอักษรโบราณสู่ ปาฬิ-อักษรสยาม จัดพิมพ์คู่ขนานกับ ปาฬิ-อักษรโรมัน (ดูการถอดอักษร)

อักขรวิธีอักษรสยาม ลดรูป สระ-อะ ถอดอักษรเขียนว่า วินยปิฎก อ่านว่า [วิ-นะ-ยะ-ปิ-ฎะ-กะ] ส่วนอักษรโรมัน ถอดอักษรเขียน สระ-อะ ทุกพยางค์ ว่า vinayapiṭaka อ่านว่า [vi-na-ya-pi-ṭa-ka]

การถอดอักษรในวัฒนธรรมการเขียนของบางประเทศไม่อาจรักษารูปเสียงปาฬิให้แม่นตรงตามไวยากรณ์ได้ เช่น อักษรโรมันไม่มีเครื่องหมายกำกับพยางค์เสียงสะกด ผู้อ่านต้องผ่านการศึกษาอักษรโรมัน จึงจะสามารถแบ่งพยางค์ได้ แต่การอ้างอิงการถอดอักษรสยามเป็นเรื่องง่ายเพราะเป็นฉบับที่มีนวัตกรรมการพิมพ์สัททสัญลักษณ์การแบ่งพยางค์เสียงสะกด ไม้วัญฌการ (ต์) และเสียงกล้ำ ไม้ยามักการ (ก๎ย) (ดูรูป สัก๎ยปุต์ตํ ด้านบน อ่านว่า สะ-กยะ-ปุต-ตัง) ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกของโลก

ดูรายละเอียด
การถอดอักษรปาฬิ ข้อ 3

4. ระบบการพิมพ์สีของเสียงละหุเสียงคะรุ
    (Lahu-Garu Sound Colour Coding)

เสียงละหุ (เสียงเร็ว) ที่พิมพ์สีเบาโปร่ง และเสียงคะรุ (เสียงที่ลากนานขึ้น) ที่พิมพ์สีเข้มทึบ

สังเกต นวัตกรรมการพิมพ์เสียงละหุ และเสียงคะรุในไวยากรณ์ "พยัญชะนะกุสะละ" ในพระวินัยปิฎก (ดูรูป พ๎ยัญ์ชนกุสโล ฉบับ จ.ป.ร. อักษรสยาม ด้านบน) ซึ่งมุ่งเน้นให้ออกเสียงทุกพยางค์ให้แม่นตรงเพื่อการสืบทอดเสียงปาฬิตามหลักการสังคายนา พ.ศ. 1 การพิมพ์เสียงละหุ และเสียงคะรุจึงเป็นการริเริ่มเป็นครั้งแรก ซึ่งใช้เป็นหลักการในการถอดเสียงเป็นโน้ตเสียงปาฬิที่จะได้กล่าวต่อไป

ดูรายละเอียด
การพิมพ์เสียงละหุเสียงคะรุ ข้อ 4

5. การถอดเสียงปาฬิ
    (Pāḷi Phonetic Transcription)

การถอดเสียงปาฬิ ในทางดุริยางคศาสตร์โดยพิมพ์ด้วยโน้ตเสียงปาฬิ พร้อมการพิมพ์คู่ขนานระหว่าง ปาฬิภาสา-สัททะอักขะระไทย กับ ปาฬิภาสา-สัททอักขะระโรมัน 

สังเกตข้อจำกัดของการถอดอักษร ซึ่งอาจไม่แม่นตรงตามรูปเสียงปาฬิดั้งเดิมในพระไตรปิฎก เนื่องจากปัญหาที่ทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์เรียกว่า การแทรกแซงทางเสียง (Linguistic Interference) เช่น  ta-Pāḷi ชาวอเมริกันมักออกเสียง [ทะ] ซึ่งเป็นเสียงพ่นลม (Aspirated) แทนที่จะออกเสียงดั้งเดิมว่า [ตะ] ซึ่งเป็นเสียงไม่พ่นลม (Unaspirated) เป็นต้น โน้ตเสียงปาฬิซึ่งมีสัททสัญลักษณ์ของเสียงพ่นลม และเสียงไม่พ่นลม จึงเป็นการนำเสนอเพื่อแก้ปัญหาการแทรกแซงทางเสียงอย่างมีประสิทธิภาพ

ดูรายละเอียด
การถอดเสียงปาฬิ ข้อ 5

6. ระบบอ้างอิงโน้ตเสียงปาฬิ
    (The World Tipiṭaka Notation Reference)

พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ปาฬิเล่มที่ 1 (1/86) พารากราฟที่ 2 (2/79) และ ห้องโน้ตเสียงปาฬิที่ 22 (22/20275)

การสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 มีมติให้แบ่งการจัดพิมพ์หนังสือเป็นชุด 40 และแบ่งชื่อแต่ละคัมภีร์ว่า ปาฬิ รวม 86 ปาฬิ ซึ่งแต่ละเล่มมีเลขข้อตามลำดับ เป็นระบบเรียงลำดับ 1-40 เล่ม ดังนั้นฉบับสากลจึงแบ่งชุดพระไตรปิฎกสากล เป็น 86 Pāḷi ในระบบดิจิทัล เพราะการแบ่งเล่มหนังสือเพราะความหนาบางไม่มีความหมายในระบบดิจิทัล นอกจากนี้ฉบับสากลยังได้แบ่งเนื้อหาย่อยลงไปเป็นพารากราฟต่างๆ เพื่อให้สะดวกในการสืบค้น ปัจจุบันโน้ตเสียงปาฬิได้ทำการแบ่งการออกเสียงเป็นทุกพยางค์ รวมทั้งสิ้น 9,442,442 พยางค์ ซึ่งสามารถอ้างอิงแต่ละพยางค์ดังกล่าวทุกพยางค์กับไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ซึ่งในการเขียนเป็นโน้ตเสียงได้สร้างระบบห้องเสียงของโน้ตเสียงปาฬิดังกล่าว เพื่อให้สามารถเขียนเสียงให้ต่อเนื่องทั้ง 40 เล่มในอดีต เพื่อการออกเสียงได้อย่างต่อเนื่อง รวม 3,052 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการบันทึกเสียงในระบบดิจิทัลของพระไตรปิฎกจากการสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ซึ่งไม่เคยมีการจัดทำมาก่อน

ดูรายละเอียด
ระบบอ้างอิงโน้ตเสียงปาฬิ ข้อ 6

7. การถอดเสียงบันทึกเป็นโน้ตเสียงปาฬิ
    (Pāḷi Notation Transcription)

การถอดเสียงปาฬิโดยบันทึกด้วยโน้ตเส้นเดี่ยวในทางดุริยางคศาสตร์ แสดงเสียงสามัญที่ไม่มีระดับสูงต่ำ (monotone)

สังเกตเสียงในระดับสามัญที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำเป็นการนำเสนอด้วยระบบดิจิทัลเป็นครั้งแรก ซึ่งจะเป็นเสียงมาตรฐานที่ประชาชนในวัฒนธรรมภาษาต่างๆ สามารถฟังเสียงและเลียนแบบการออกเสียงปาฬิได้ แม้ไม่มีความรู้ทางไวยากรณ์ปาฬิที่ลึกซึ้ง นอกจากนี้เสียงสวดมนต์ปัจจุบันได้มีการพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ว่ามีคุณสมบัติพิเศษ ดังนั้นการออกเสียงสัชฌายะที่เป็นเสียงสามัญซึ่งมีความเป็นเอกภาพ ย่อมต้องมีผลต่อชีวิตและสุขภาพซึ่งมาตรฐานทางเสียงสัชฌายะชุดนี้จะสามารถนำไปศึกษาได้

ดูรายละเอียด
การบันทึกโน้ตเสียงระดับสามัญ ข้อ 7

8. โน้ตเสียงเตนูโต
    (Tenuto Musical Symbol)

โน้ตเสียงเตนูโตหัวขาว 2 มาตรา แสดงเสียงสระสั้น ให้ลากนานขึ้น เป็นเสียงคะรุ หรือ โน้ตเสียงเตนูโตหัวดำ 1 มาตรา แสดงเสียงสระยาวที่มีตัวสะกด ให้ออกเสียงเร็ว เป็นเสียงละหุ ในตำแหน่งที่ไวยากรณ์ เรื่อง พยัญชนะกุสะละ ระบุไว้เป็นพิเศษในพระวินัยปิฎก

คำบางคำไวยากรณ์ระบุให้ออกเสียงพิเศษ เช่น สระเสียงยาว ต้องออกเสียงเร็ว เมื่อมีตัวสะกด เช่น [เต] หรือ [te] จะออกเสียงว่า [เต็ย] ทำนองเดียวกับ สระเสียงสั้น ต้องออกนาน เมื่ออยู่ต้นคำหรือต้นบท เช่น [นิ] หรือ [ni] ต้องออกเสียงสระสั้นลากนานขึ้นเป็นเสียงคะรุ เป็นต้น นอกจากนี้ ในคำที่มีเสียงกล้ำ เสียงสระสั้นที่นำหน้า ต้องออกเป็นเสียงคะรุ หรือเสียงที่ลากยาวขึ้น ทั้งนี้เพื่อมิให้พยางค์หลังเคลื่อนไปปนแทรกและกลายเป็นเสียงสะกด เช่น กัต๎วา อ่านว่า [กะ-ตวา] แต่มักอ่านกันว่า กัต-ตวา ซึ่งไม่ตรงกับกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602 ว่า [กะ-ตวา] [ka-tvā] โดย [กะ] [ka] ออกเป็นเสียงคะรุที่ลากนานขึ้น สังเกตการพิมพ์สีเข้มทึบ ดูข้อ 4

การนำเสนอเสียงปาฬิด้วยสัญลักษณ์โน้ตดนตรีสากล ทำให้ประชาชนทั่วไปที่มิใช่นักวิชาการ แม้ไม่รู้ไวยากรณ์เมื่ออ่านสัญลักษณ์ที่เป็นมาตรฐานทางเสียงที่เป็นสากลก็ย่อมออกเสียงแม่นตรงตามพระวินัยได้ 

ดูรายละเอียด
โน้ตเสียงเตนูโตในไวยากรณ์ปาฬิ ข้อ 8

9. การแบ่งพยางค์ & การหยุดเสียงเว้นวรรค
    (Syllabic Segmentations & Pauses)

โน้ตเสียงปาฬิมีการสร้างสรรค์การแบ่งพยางค์ในระบบโน้ตเสียงปาฬิ เช่น เสียง สะ โน้ตเตนูโต ที่นำหน้าเสียงกล้ำ กย (ดูรูปด้านบน)  ซึ่งอ้างอิงกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602 และตามสิทธิบัตรโปรแกรมอัตโนมัติเลขที่ 46390 นอกจากนี้ยังมีการหยุดวรรคตอนระหว่างคำอ้างอิงตามหนังสือพระไตรปิฎกฉบับสากล

สังเกต เสียงสัชฌายะดิจิทัลมีการแบ่งพยางค์เสียงสะกดและเสียงกล้ำที่แยกออกจากกันเด็ดขาด ตามหลักการในสิทธิบัตรการแบ่งพยางค์ที่กล่าวถึงในตอนต้น นอกจากนี้ยังมีการหยุดวรรคตอนระหว่างคำ เพื่อให้ได้ยินเสียงคำแต่ละคำแยกออกอย่างชัดเจน ทำให้ง่ายในการจำรูปเสียง และเข้าใจคำแปลของแต่ละรูปเสียง สัชฌายะ หรือ การออกเสียงสากลจึงเป็นการออกเสียงตามสัททะอักขะระ และการเว้นวรรคของการพิมพ์ในพระไตรปิฎกสากล ต่างจากการออกเสียงตามประเพณีที่มุ่งเน้นความเร็วโดยไม่หยุดวรรคตอน

ดูรายละเอียด
สิทธิบัตรการแบ่งพยางค์อัตโนมัติ ข้อ 9

10. สัททสัญลักษณ์ปาฬิ
     (Pāḷi Phonetic Symbol)

เสียงพิเศษในปาฬิภาสาที่เกิดจากลักษณะการออกเสียง เช่น เสียงก้องที่มีการออกเสียงไม่พ่นลม พ่นลม ขึ้นจมูก และลิ้นรัว แสดงด้วยสัททสัญลักษณ์ที่ปลายหางโน้ต (ดูรายละเอียด โน้ตเสียงปาฬิ ทั้ง 4 ชุด)

นวัตกรรมโน้ตเสียงสากลจึงเป็นการเปลี่ยนผ่านการศึกษาไวยากรณ์ปาฬิ ไปสู่สัญลักษณ์ทางเสียงที่เป็นสากล เพื่อส่งเสริมการอ่านออกเสียงจากสัททสัญลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันสามารถเปลี่ยนผ่านต่อไปเป็นเสียงสัชฌายะดิจิทัลได้สำเร็จสมบูรณ์ทั้งชุดพระไตรปิฎกสากล ชุด 40 เล่ม หรือ ถ้าจัดพิมพ์เป็นโน้ตเสียงพระไตรปิฎกสากล จะมีจำนวน 250 เล่ม รวมเวลา 3,052 ชั่วโมง หรือความจุในฐานข้อมูลเสียง 1.6 เทราไบต์ ซึ่งสามารถสังเคราะห์เสียงลงในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น แท็บเล็ตสัชฌายะ

ดูรายละเอียด
สัททสัญลักษณ์โน้ตเสียงปาฬิ ข้อ 10

คู่มือคำอธิบายโน้ต by Dhamma Society on Scribd