บทสัมภาษณ์ : พระไตรปิฎกสากล

บทสัมภาษณ์

โครงการพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ... และชุด ส..

สารคดีเรื่อง ไตรปิฎก : คำสอนมีชีวิต
ตอน การกลับมาของเสียงพระพุทธเจ้า

3 สิงหาคม พ..​ 2562

สัมภาษณ์โดย ลักขณา เพ็ญถนอม

ทำไมจึงคิดที่จะทำโครงการพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ? เริ่มแรกได้ค้นพบอะไรจึงเกิดการทำงานนี้ขึ้น ?
จากการดำเนินงานจัดพิมพ์เผยแผ่พระไตรปิฎกสากล (World Tipiṭaka) เป็นอักษรโรมัน (Roman Script) เป็นชุดสมบูรณ์ 40 เล่ม นั้น โครงการฯ ได้เดินทางไปยังสถาบันในประเทศต่างๆ ทั้งสถาบันสงฆ์และสถาบันฆราวาส พบว่า แม้อักษรโรมันเป็นอักษรสากลที่นานาชาติรู้จัก แต่นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญพระไตรปิฎกส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถอ่านออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกได้อย่างคล่องแคล่ว รู้จักแต่ "รูปศัพท์" ไม่รู้จัก "รูปเสียง" ส่วนในการสวดตามประเพณีก็เป็นเสียงที่ไม่ตรงกับไวยากรณ์ เช่น ศรีลังกา ออกเสียง a [อะ] เป็น [เออะ], พม่า ออกเสียง ca [จะ] เป็น [สะ], ชาวตะวันตกออกเสียง ta [ตะ] เป็น ทะ, ส่วนไทยออกเสียง bud [บุด] เป็น พุท

นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัญหาในการแบ่งพยางค์ของคำปาฬิที่ไม่ตรงกับกฎไวยากรณ์กัจจายนะอีกด้วย เช่น katvā [กะ-ตวา] แต่แบ่งพยางค์ผิดเป็น [กัต-ตวา] และ tumhe [ตุ-มเห] แต่แบ่งพยางค์ผิดเป็น [ตุม-เห] ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัญหาของการศึกษาขั้นสูงหรือซับซ้อน แต่ปัจจุบันผู้ออกเสียงมิได้นำความรู้ทางไวยากรณ์มาปฏิบัติในการออกเสียงอย่างจริงจัง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ในทางภาษาศาสตร์ที่เรียกว่า การแทรกแซงทางเสียง (Linguistic Interference) คือการนำเสียงในภาษาท้องถิ่นไปปนแทรกกับเสียงดั้งเดิมคือเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก

ท้ายที่สุดเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก เป็นเสียงสามัญที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำ ดังนั้นโครงการพระไตรปิฎกสากลจึงเกิดความคิดที่จะจัดพิมพ์พระไตรปิฎก ด้วยสัญลักษณ์ทางเสียงที่เป็นสากลและแม่นตรงตามกฎไวยากรณ์ เรียกว่า ฉบับสัชฌายะ (Sajjhāya Phonetic Edititon) สัชฌายะเป็นศัพท์ที่มีในพระไตรปิฎก มีความหมายว่าการศึกษาเพื่อการออกเสียง หรือ สาธยาย ซึ่งเป็นศัพท์ในภาษาไทยที่ปัจจุบันมีความหมายไม่ตรงกับศัพท์ปาฬิดั้งเดิม

การออกเสียงสัชฌายะคืออะไร?
1. การออกเสียงสัชฌายะ (Sajjhāya) เป็นการออกเสียงตาม สัททะอักขะระปาฬิ (Pāḷi Phonetic Alphabet) โดยอ้างอิงหลักพยัญชะนะกุสะละ 10 ข้อ ในพระวินัยปิฎก ฉบับสากล ปริวารวัคค์ ข้อ 455 มี เสียงพ่นลม เสียงไม่พ่นลม เสียงสระสั้น และเสียงสระยาว เป็นต้น ซึ่งโครงการพระไตรปิฎกสากลได้จัดพิมพ์เป็นฉบับสัชฌายะ

2. การออกเสียงสัชฌายะ เป็นการออกเสียงตามการแบ่งพยางค์ ในกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ ซึ่งจัดพิมพ์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ตามสิทธิบัตรการแบ่งพยางค์อัตโนมัติในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ Patent No. 46390

3. การออกเสียงสัชฌายะ เป็นการออกเสียงที่มุ่งเน้นจังหวะของเสียงละหุ และเสียงคะรุ โดยจัดพิมพ์พยางค์เสียงละหุ (เสียงเร็ว) ด้วยสีเบาโปร่ง และพยางค์เสียงคะรุ (เสียงนานขึ้น) ด้วยสีเข้มทึบ

4. การออกเสียงสัชฌายะ เป็นการออกเสียงที่เป็นเสียงสามัญ ไม่มีเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ ตามการเขียนเสียงปาฬิด้วยโน้ตเสียงเดี่ยวในทางดุริยางคศาสตร์