กัจ์จายนปาฬิ : ฉบับอักขะระสยาม

กัจ์จายนปาฬิ : ฉบับอักขะระสยาม

คัมภีร์​มหากัจจายะนะ-ปาฬิ พ.ศ. ๑
ถอดอักขะระเป็นอักขะระ​สยาม-ปาฬิ พ.ศ. ๒๕๕๖

โดย สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. ๙
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์
และคณะ

  

ก่อนที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพาน ได้ประทานหลักการที่สำคัญที่สุดไว้เป็นสถาบันในพระพุทธศาสนาเถรวาท คือ พระองค์ไม่ทรงตั้งผู้ใดเป็นศาสดา แต่ทรงมีพุทธบัญญัติให้ “พระธัมม์และพระวินัย” เป็นพระบรมศาสดา ซึ่งปัจจุบันเรียกพระธัมมวินัยนี้ว่า “ติปิฏะกะ หรือ พระไตรปิฎก”

พระไตรปิฎกคือคำสอนที่เป็น “เสียงปาฬิ” เรียกทับศัพท์ว่า “ปาฬิภาสา” หรือพระไตรปิฎกปาฬิ เดิมเรียกกันว่า (ภาษาบาลี) ในปี พ.ศ. ๑ พระอรหันตสาวก ๕๐๐ รูป ได้รวบรวมไว้ในการประชุมปฐมมหาสังคายนาเป็นครั้งแรก ต่อมาจึงได้มีการสังคายนาครั้งสำคัญของโลกเป็นระยะๆ เพื่อตรวจสอบ ทรงจำ และสืบทอดเสียงปาฬิให้แม่นตรงตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ปาฬิจึงเป็นข้อมูลคำสอนที่เป็น “รูปเสียง” และเนื่องจากเสียงปาฬิ เป็นสภาวนิรุตติ คือ เป็นเสียงที่มีสภาวธัมม์แท้จริงตามธรรมชาติ กล่าวคือ มีสภาวะที่เป็นปรมัตถสัจจะ เช่น เสียงปาฬิที่เขียนด้วยอักขะระสยามในพระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ว่า สัท์ท (สัดดะ) หมายถึงสภาวะที่สามารถได้ยินได้ หรือ เสียงว่า รูปํ (รูปัง) คือสภาวะของรูปที่สัมผัสได้ทางตา สัท์ท และ รูปํ  จึงแตกต่างจากสมมุติบัญญัติที่แปล  สัท์ท  ว่า “เสียง” หรือแปล รูปํ  ว่า “รูปร่าง” ซึ่งเป็นคำที่แปลกันในภาษาไทยและมิได้มีอยู่ในพระไตรปิฎกปาฬิ

ด้วยเหตุนี้ในการสืบทอดเสียงพระไตรปิฎกปาฬิ พระอรหันตสาวกจึงได้วางหลักการป้องกันการออกเสียงมิให้ผิดเพี้ยนไปด้วยการนำกฎไวยากรณ์ปาฬิกำกับวิธีออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกปาฬิให้แม่นตรงไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๑ เช่น คำว่า สัท์ท ให้ออกเสียงว่า (สัดดะ) ไม่ออกเสียง (ทะ) เหมือนในเสียงภาษาไทย (สัททะ) เป็นต้น หลักการดังกล่าว คือ ไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ

 

เสียงกล้ำสามารถเขียนได้ชัดเจนด้วยอักขะระสยาม และ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ

ไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ กฎข้อที่ ๓๒ ​ เอเห ญํ กล่าวว่าเพราะ เอ และอยู่ข้างหลังนิคคะหิต นิคคะหิตแปลงเป็น ญ ได้ (อธิบายเพิ่มเติมว่า ญห เป็นเสียงกล้ำ)

จุดประสงค์สำคัญของ กฎข้อที่ ๓๒ แสดงการกำเนิดของเสียงกล้ำ ซึ่งเป็นลักษณะการออกเสียงที่สำคัญ เป็นเอกลักษณ์ในปาฬิภาสา ส่วนข้อที่ ๖๐๒ ทุมหิ ครุ เน้นให้เกิดเสียงคะรุที่อยู่หน้าพยัญชนะสังโยค (เสียงกล้ำตาม ข้อที่ ๓๒) ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของกฎข้อนี้ดังนั้นจึงต้องการอักขรวิธีพิเศษในการเขียนปาฬิภาสาของคัมภีร์ ไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ

อักขรวิธีอักขะระพม่ามีความลักลั่นในการใช้สัญลักษณ์จุดบนพยัญชนะที่แสดงความหมายเป็นทั้งเสียงสะกด และเสียงกล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับอักขรวิธี อักขะระไทย-บาลี ซึ่งใช้สัญลักษณ์จุดใต้พยัญชนะเป็นทั้งเครื่องหมายแสดงทั้งเสียงสะกดและเสียงกล้ำ

ส่วนในปาฬิภาสา-อักขะระโรมัน ไม่มีอักขรวิธีการเขียนเสียงสะกดที่ชัดเจนในการแบ่งพยางค์ของคำปาฬิ ต้องใช้ยัติภังค์เป็นเครื่องหมายแบ่งพยางค์ ด้วยเหตุนี้อักขะระสยามจึงมี​ความ​แม่น​ตรง​ใน​การ​เขียน​เสียง​อ่านมาก​กว่า​อักขะระ​อื่นๆ และปัจจุบันได้มีการถอดเสียงจาก อักขะระสยาม เป็น สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ซึ่งทำให้สามารถเขียนเป็นเสียงอ่านที่ง่ายและแม่นตรงยิ่งขึ้น (ดู บทความอักขรวิธี ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยวิจินตน์ ภาณุพงศ์) โดยเฉพาะคำที่ยกข้างต้นตามกฎข้อ ๓๒ และ ๖๐๒ มีจำนวน ๗๕,๓๕๓ คำ และนับจำนวนคำกล้ำทั้งหมด ๑๕๙,๐๘๔ คำ

กัจจายะนะปาฬิ by Dhamma Society on Scribd