โครงการอักขะระชาติพันธุ์ไต
ภาพโดยพระบรมราชานุญาต
หนังสือ ที่ พว 0005.1/771
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ผู้ทรงเป็นประธานการพิมพ์เพื่ออนุรักษ์ต้นฉบับ พระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 เสด็จเป็นประธานในพิธีพระราชทาน ต้นฉบับสัชฌายะ (Sajjhāya Phonetic Edition) ในพระไตรปิฎกสากล ซึ่งจัดพิมพ์เป็นชุด อักขะระชาติพันธุ์ไตชุดต่างๆ (Tai Scripts) คู่ขนาน กับ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ (Thai Phonetic Alphabet) รวม 9 ชุดอักขะระ โดยได้พระราชทานต้นฉบับแก่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และ ศาลปกครองสูงสุด พ.ศ. 2557 ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
พิธีสมโภชพระไตรปิฎกจัดขึ้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวาระที่ ชุดสัททะอักขะระในการพิมพ์พระไตรปิฎกสากลดังกล่าว สามารถสร้างสรรค์สำเร็จขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกในรัชกาลที่ 9 โดยได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาฉบับแรก The World Tipiṭaka Patent No. 46390
หมายเหตุ : ในภาพคือต้นฉบับ ภิกขุปาติโมกขะปาฬิ อักขะระไตขืน-ปาฬิ (เชียงตุง) จากชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต-ปาฬิ 9 ชุดอักขะระ ปัจจุบัน พ.ศ. 2563 ได้มีการจัดเพิ่มเป็นพระไตรปิฎกสากล 18 ชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต ชุดละ 40 เล่ม เป็นทั้งชุดหนังสือและระบบดิจิทัลพร้อมเสียงสัชฌายะดิจิทัล รวม 3,052 ชั่วโมง ความจุ 1.6 เทระไบต์
โครงการพระไตรปิฎกสากล
ชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต พ.ศ. 2563
โครงการพระไตรปิฎกสากลกำเนิดขึ้นโดยพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร พ.ศ. 2542 เพื่อจัดพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิ (Pāḷi) เป็นอักขะระโรมัน (Roman Alphabet) เรียกว่าพระไตรปิฎกสากล อักขะระโรมัน (World Tipiṭaka in Roman-Script Edition) ชุด 40 เล่ม จากต้นฉบับการสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ซึ่งกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร จัดพิมพ์สำเร็จในปี พ.ศ. 2548 และปัจจุบัน พ.ศ. 2563 มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้เผยแผ่เป็นพระธัมมทานแก่สถาบันสำคัญไม่น้อยกว่า 150 สถาบันในนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นการดำเนินตามรอยประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม พ.ศ. 2436 และพระราชทานเผยแผ่เป็นพระธัมมทานไปทั่วโลกเมื่อศตวรรษที่แล้ว (ดูคู่มือพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ เรื่อง การอ่านอักขะระสยาม-ปาฬิ โดย อาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. 9 ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2555)
พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม พ.ศ. 2436 เป็นพระไตรปิฎกที่ตีพิมพ์เป็นชุดหนังสือชุดแรกของโลก และจากการศึกษาค้นคว้าในโครงการพระไตรปิฎกสากลนำโดยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ผู้ก่อตั้งภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าอักขรวิธีที่อาจารย์เรียกว่า ไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ ในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. เป็นทั้ง “การถอดอักขะระ” (Alphabetic Transliteration) และ “การถอดเสียง” (Phonetic Transcription) ควบคู่กันไป โดยได้ตีพิมพ์ อักขะระสยาม เทียบทั้งรูปเขียนพยัญชนะและรูปเสียงปาฬิกับ อักขะระโรมัน ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมในทางนิรุตติศาสตร์ที่ก้าวล้ำนำยุค (ดูหนังสือราชบัณฑิตยสถาน 80 ปี เรื่อง อักขรวิธี ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ พ.ศ. 2557 ปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2559)
วิสัยทัศน์และเจตนารมย์ที่มุ่งเน้นการเขียนเสียงปาฬิในฉบับ จ.ป.ร. จึงกล่าวได้ว่าเป็นการริเริ่มการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วย สัททะอักขะระ-ปาฬิ (Pāḷi Phonetic Alphabet) เป็นครั้งแรกของโลก เพราะเป็นการมุ่งเน้นการเขียนรูปเสียงปาฬิที่ไม่เคยมีการจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกทั้งชุดมาก่อน แตกต่างจากพระไตรปิฎกอักขะระนานาชาติชุดอื่นๆ ที่จัดพิมพ์ภายหลัง ที่ต่างมุ่งเน้นการพิมพ์แต่รูปศัพท์ (Transliteration) ไม่มีรูปเสียงปาฬิ (Transcription) ด้วยเหตุนี้ฉบับ จ.ป.ร. จึงเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญให้โครงการพระไตรปิฎกสากลทำการถอดเสียงปาฬิให้ละเอียดยิ่งขึ้น (Narrow Phonetic Transcription) โดยอ้างอิงกับกฎไวยากรณ์ที่ว่าด้วยการออกเสียง โดยเฉพาะคัมภีร์กัจจายะนะ-ปาฬิที่สำคัญและเก่าแก่ จนสามารถสร้างสรรค์การเรียงพิมพ์รูปเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกเป็น ฉบับเพื่อการออกเสียงสัชฌายะ (Sajjhāya Phonetic Edition) ที่เรียงพิมพ์ด้วย สัททะอักขะระ-ปาฬิ เป็นชุดแรก พ.ศ. 2557
อักขรวิธี ไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ
สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ
การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยสัททะอักขะระ หรือ สัททสัญลักษณ์สากล (International Phonetic Symbol) ที่สืบค้นได้ง่ายในระบบดิจิทัลจึงเปิดมิติใหม่ในทางสหวิชาการ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญในทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ทำการตรวจสอบความแม่นตรงของการปริวรรติด้านการพิมพ์อักขะระและเปลี่ยนผ่านในทางภาษาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันได้รับการรับรองความถูกต้องในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ (ดู สูตรสกัดชิดชนก ในหนังสือราชบัณฑิตยสถาน 80 ปี เรื่อง การสกัดอักขรวิธี ไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ เป็นสูตรคณิตศาสตร์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.ชิดชนก เหลือสินทรัพย์, ราชบัณฑิตสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2557 ปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2559)
สัททะอักขะระ-ปาฬิ สามารถเขียนเสียงสะกดและเสียงกล้ำได้ชัดเจน
มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้จดทะเบียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เรื่อง การแบ่งพยางค์อัตโนมัติเพื่อเขียนเสียงละหุและเสียงคะรุตามที่ไวยากรณ์ระบุไว้ได้สำเร็จ และได้รับสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา เลขที่ 46390 (พ.ศ. 2557) ซึ่งนับเป็นสิทธิบัตรฉบับแรกที่ว่าด้วยเรื่องพระไตรปิฎก เรียกพระไตรปิฎกเพื่อการออกเสียงฉบับนี้ว่า พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ (World Tipiṭaka Sajjhāya Phonetic Edition) พ.ศ. 2559 (ดูเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ รายละเอียดสิทธิบัตร เลขที่ 46390 โดย พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค และคณะ เป็นผู้ประดิษฐ์ พ.ศ. 2557)
ความรู้ในโครงสร้างของพระไตรปิฎกทั้งชุด โดยเฉพาะสิทธิบัตรการแบ่งพยางค์ ซึ่งรวมทั้งสิ้น 9,442,442 พยางค์ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ในโครงการพระไตรปิฎกสากลสามารถสร้างเป็นฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากลที่สมบูรณ์ที่สุดชุดหนึ่ง กล่าวคือมีศักยภาพที่สามารถปริวรรตข้อมูลเป็นอักขะระต่างๆ เพื่อเขียนพระไตรปิฎกในสื่อดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น อักขะระธัมมะต่างๆ ในคัมภีร์ใบลานและหนังสือพระไตรปิฎกโบราณ
คณะทำงานในโครงการพระไตรปิฎกสากลเมื่อเดินทางไปเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล อักขะระโรมัน ในประเทศต่างๆ ระหว่าง พ.ศ. 2548-ปัจจุบัน ได้พบว่า แม้อักขะระโรมันเป็นชุดอักขะระสากลที่รู้จักกันทั่วโลก แต่ความสามารถในการแบ่งพยางค์และอ่านออกเสียงปาฬิด้วยอักขะระโรมันยังคงจำกัดอยู่แต่ในหมู่นักวิชาการจำนวนน้อยที่ผ่านการศึกษาในประเทศตะวันตก ประชาชนชาวพุทธทั่วโลกยังคงคุ้นเคยกับอักขะระธัมมะในวัฒนธรรมอักษรท้องถิ่นของตน ไม่คุ้นเคยกับอักขะระโรมัน โดยเฉพาะประชากรที่ใช้อักขะระชาติพันธุ์ไต หรือ ชนชาติในตระกูลภาษาไต-กะได ที่มีเอกลักษณ์นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทตลอดมาเป็นเวลายาวนาน เมื่อได้รู้จักโครงการพระไตรปิฎกสากลก็ได้ขอความอนุเคราะห์ “ฉบับสากล” จากการสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ที่พิมพ์ด้วย "อักขะระไต" แทน "อักขะระโรมัน" เป็นธัมมทาน อันเป็นเหตุให้เกิดโครงการพระไตรปิฎกอักขะระชาติพันธุ์ไตขึ้น
โครงการพระไตรปิฎกสากล อักขะระชาติพันธุ์ไต (World Tipiṭaka in Various Tai Scripts) ได้ทำการค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฎกในท้องถิ่นชาวไตในดินแดนต่างๆ ได้แก่ รัฐฉานในพม่า ล้านช้างหรือลาวในปัจจุบัน ตลอดจนรัฐอรุณาจาล และรัฐอัสสัมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และมณฑลยูนานหรือแคว้นสิบสองปันนาในตอนใต้ของจีน ซึ่งได้พบว่าปัจจุบันต้นฉบับพระไตรปิฎกอักขะระไตในท้องถิ่นดังกล่าวได้สูญหายไปหมดแล้ว ทำให้ยุวชนชาวไตในปัจจุบันไม่สามารถอ่านอักขะระธัมมะไตโบราณของตนในอดีตที่ใช้เขียนบนใบลานได้ นอกจากนี้การออกเสียงปาฬิตามพระไตรปิฎกของชาวไตในท้องถิ่นต่างๆ ก็ผิดเพี้ยนไปตามกาลเวลา ไม่ตรงกับเสียงที่ระบุไว้ในไวยากรณ์พระไตรปิฎก
ในเบื้องต้นโครงการพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไต ได้นำเสนอการเรียงพิมพ์อักขะระไตชุดต่างๆ ตามต้นฉบับพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ พ.ศ. 2559 ซึ่งมุ่งเน้นการเรียงพิมพ์คู่ขนานระหว่างอักขะระไตชุดต่างๆ กับ กับสัททะอักขะระไทยในปัจจุบันชุดหนึ่ง และ อักขะระไตกับสัททะอักขะระโรมันที่เป็นสากลอีกชุดหนึ่ง (ดู ภาพอักขะระไตโหลง-ปาฬิ ด้านล่าง)
ชุดอักขะระแรกเหมาะกับชาวไตในรัฐฉาน และแคว้นสิบสองปันนา ที่มีดินแดนและปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวไทยและคุ้นเคยกับภาษาไทยทำให้สามารถอ่านสัททะอักขะระไทยที่ใช้เขียนเสียงปาฬิได้ ส่วนอักขะระชุดที่สองเหมาะสำหรับชาวไตในรัฐอรุณาจาลและรัฐอัสสัมผู้ที่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษทำให้สามารถอ่านสัททะอักขะระโรมันได้โดยง่าย การเรียงพิมพ์ทั้งสองชุดพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตจึงช่วยให้ง่ายในการศึกษาทั้งการเขียนและการออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกในหมู่ชาวไต
ชื่ออักขะระไตที่ได้จัดพิมพ์ในโครงการพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตนี้ เป็นศัพท์บัญญัติในโครงการพระไตรปิฎกสากลที่มุ่งเน้นเขียนเสียงของชาวไตในท้องถิ่นต่างๆ อ้างอิงประกอบกับข้อมูลจาก รองศาสตรจารย์ ดร.อนาโต เปลติเยร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์สมหมาย เปรมจิตต์ ป.ธ. 9 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวคือ ใช้คำศัพท์ดั้งเดิมว่า “ไต” ตามภาษาในตระกูล ไต-กะได (Tai-Kadai) ไม่เรียกว่า ไท-กะได หรือ ไทย-กะได ด้วยเหตุนี้โครงการพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไต จึงเรียกว่า อักขะระไตยวน-ปาฬิ (Tai Yuan-Pāḷi) ไม่เรียกว่า อักษรไทยล้านนา, อักขะระไตโหลง-ปาฬิ (Tai Lōng-Pāḷi) ไม่เรียกว่า อักษรไทยใหญ่, อักขะระไตขืน-ปาฬิ (Tai Khün-Pāḷi) ไม่เรียกว่า อักษรไทยขึน, อักขะระไตลื้อ-ปาฬิ (Tai Lü-Pāḷi) ไม่เรียกว่า อักษรไทยสิบสองปันนา และยังได้รวมถึงประชาการในชาติไทยปัจจุบันที่โครงการพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตเรียกว่า ไตสยาม (Tai Syām) ซึ่งเป็นผู้นำชาติพันธุ์ไตในการจัดพิมพ์ อักขะระไตสยาม-ปาฬิ (Tai Syām-Pāḷi) ที่ตีพิมพ์เป็นชุดหนังสือพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม ชุดแรกของโลก ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
พระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตรวมชุดอักขะระชาติพันธุ์ไตต่างๆ ที่สำคัญและจัดพิมพ์เป็นชุดปฐมฤกษ์ พ.ศ. 2563 รวม 18 ชุด แบ่งเป็นชุดหนังสือชุดละ 40 เล่ม ตามการแบ่งเล่มของสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ซึ่งมีระบบอ้างอิงระหว่างเล่มกับข้อในแต่ละเล่มที่เป็นสากล ทำให้สามารถสืบค้นเนื้อหาในพระไตรปิฎกได้โดยง่าย
นอกจากชุดพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตอักขะระต่างๆ จำนวน 15 ชุดดังกล่าวแล้ว โครงการฯ ยังได้รวบรวมดัชนีจากชุดอักขะระไตต่างๆ จัดทำเป็นปทานุกรมพระไตรปิฎกอักขะระชาติพันธุ์ไต ชุด 100 เล่ม เพื่อใช้ศึกษาอ้างอิงเป็นสากลอีกด้วย สำหรับนักวิชาการในระดับนานาชาติ และสื่อดิจิทัลสามารถสืบค้นที่ sajjhaya.org
จากการรวบรวมเป็นชุดพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตดังกล่าวข้างต้น ทำให้วิเคราะห์ได้ว่า อักขรวิธีในชาติพันธุ์ไตสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. อักขรวิธีซ้อนอักขะระแสดงทั้งเสียงสะกดและเสียงกล้ำ
2. อักขรวิธีกำกับเสียงสะกดและเสียงกล้ำด้วยไม้แพ้ด
3. อักขรวิธีที่ใช้สัททสัญลักษณ์กำกับเสียงสะกดแยกจากเสียงกล้ำ
อักขรวิธีประเภทที่ 1 พบในการเขียนเสียงปาฬิด้วย อักขะระไตยวน-ปาฬิ ในดินแดนล้านนา อักขะระไตขืน-ปาฬิ ในเมืองเชียงตุง อักขะระธัมม์ลาวล้านช้าง ซึ่งโครงการพระไตรปิฎกสากลได้จัดทำเป็น อักขะระไตลาว-ปาฬิ ในภาคอิสานและประเทศลาว รวมทั้ง อักขะระไตลื้อ-ปาฬิ ของแคว้นสิบสองปันนาในตอนใต้ของจีน
อักขรวิธีประเภทที่ 2 พบในการเขียนเสียงปาฬิด้วย อักขะระไตโหลง-ปาฬิ (Tai Lōng-Pāḷi) ในรัฐฉาน ตลอดจน อักขะระไตคำตี่-ปาฬิ (Tai Khamti-Pāḷi) อักขะระไตพ่าเก-ปาฬิ (Tai Phāke-Pāḷi) ของรัฐอรุณาจาล และ อักขะระไตอาหม-ปาฬิ (Tai Āhom-Pāḷi) ของรัฐอัสสัมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
อักขรวิธีประเภทที่ 3 พบว่าริเริ่มการเขียนด้วย อักขะระไตสยาม และปัจจุบันได้พัฒนาเป็น สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ (Thai Phonetic Alphabet-Pāḷi) และ สัททะอักขะระโรมัน-ปาฬิ (Roman Phonetic Alphabet-Pāḷi) รวมทั้ง อักขะระปาฬิ (Pāḷi Alphabet) ในโครงการพระไตรปิฎกสากล
สำหรับอักขะระไตดำในเวียดนาม และอักขะระไตจ้วงในจีน มิได้นำมาจัดรวมด้วยในชุดพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไต เพราะมิได้มีความโดดเด่นในวัฒนธรรมพระพุทธศาสนา และมิได้มีประวัติรูปอักขะระโบราณที่ใช้เขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก
จากการเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างของอักขรวิธีต่างๆ ข้างต้น จะเห็นว่า อักขะระไตสยาม-ปาฬิ มีลักษณะที่โดดเด่นที่เป็นสัททะอักขะระในทางวิชาการภาษาศาสตร์ เพราะมีพัฒนาการเป็นสัททสัญลักษณ์ที่เป็นสากล ทำให้สามารถเรียงพิมพ์พยัญชนะบนบรรทัดเดียวกันได้ (ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้สามารถแบ่งพยางค์ต่อยอดเขียนด้วย โน้ตเสียงปาฬิ ในทางดุริยางคศาสตร์ และทำการเปลี่ยนผ่านบันทึกเป็น โน้ตเสียงปาฬิดิจิทัล ได้สำเร็จ)
นอกจากนี้ยังมีสัททสัญลักษณ์ที่ใช้กำกับเสียงสะกดและเสียงกล้ำที่แยกออกจากกันโดยเด็ดขาด ดังนั้นอักขรวิธีสัททสัญลักษณ์ของไตจะทำให้ผู้อ่านเห็นแต่ละพยางค์แยกกันอย่างชัดเจนและทำให้ง่ายในการอ่านออกเสียงสัชฌายะที่แม่นตรงตามกฎไวยากรณ์ที่สืบทอดเสียงปาฬิมาจากการสังคายนาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ในกรณีนี้จึงกล่าวได้ว่าอักขะระไตมีประสิทธิภาพมากกว่าอักขะระโรมันซึ่งเขียนติดต่อกันทำให้แบ่งพยางค์ได้ยาก
การรวบรวมเป็นชุดอักขะระชาติพันธุ์ไตที่หลากหลายจึงทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากลมั่นใจได้ว่าองค์ความรู้เรื่องอักขรวิธีในพระไตรปิฎกสากลย่อมมีความใกล้เคียงกับเสียงปาฬิที่สวดสืบทอดในการสังคายนามาแต่อดีต ซึ่งปัจจุบันสามารถทำการเปลี่ยนผ่านด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ล้ำสมัยเป็น โน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi Notation) ชุดสมบูรณ์ 250 เล่ม รวมทั้งสิ้น 4 เวอร์ชั่น ซึ่งได้บันทึกสำเร็จเป็น เสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation Sound) จำนวนความจุ 1.6 เทระไบต์ โดยจะสามารถส่งเสียงพระธัมม์ดังกล่าวในทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวไตทั่วโลก รวมทั้งเชื้อสายชาวไตที่อาศัยอยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกา ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรไม่น้อยกว่า 200-300 ล้านคน
กล่าวโดยสรุป พระไตรปิฎกอักขะระชาติพันธุ์ไตเป็นการบูรณาการการดำเนินงานในโครงการพระไตรปิฎกสากลที่ผ่านมาตลอด 20 ปี โดยเฉพาะการอ้างอิงหลักการถอดเสียงตามฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. (ต้นปาฬิภาสา) และ ชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ) ชุด 80 เล่ม พ.ศ. 2559 ซึ่งอ้างอิงกับอักขรวิธีไตสยาม-ปาฬิ โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับโครงการพระไตรปิฎกสากลอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 และทรงเป็นองค์ประธานการสร้าง พ.ศ. 2559 (ดูเอกสารสำคัญ)
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์พระสังฆราชูปถัมภ์โครงการพระไตรปิฎกสากล ปัจจุบันได้รับการโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอัฐิเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินงานจัดพิมพ์และเผยแผ่พระไตรปิฎกสากลจะมีการศึกษา จัดพิมพ์ เผยแผ่ และพัฒนาต่อยอดในทางวิชาการที่ละเอียดและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อเผยแผ่ให้กว้างไกลมิใช่แต่ในหมู่คณะสงฆ์และนักวิชาการ แต่แพร่หลายไปในประชาชนชาวโลกผู้มีปัญญา ดังที่ได้มีการรักษาและสืบทอดตลอดเวลาอันยาวนานในหมู่ชาติพันธุ์ไตผู้นับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลก อันเป็นการตามรอยพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราชของชาวไทย ผู้ทรงเป็นพระบรมธัมมิกมหาราชของชาวโลก
ขอขอบคุณ พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค นายกกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ และคณะ ที่ดำเนินการออกแบบสร้างสรรค์ บันทึก และสร้างฐานข้อมูลต้นฉบับอักขะระไต-ปาฬิ ชุดนี้ เพื่อมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกสากล ชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต พ.ศ. 2563
ขอน้อมเกล้าฯ ถวายอนุโมทนาสาธุการ และขอบพระคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงที่ได้มีส่วนในโครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2542-ปัจจุบัน พ.ศ. 2563
ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา
ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์
ประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค
ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
และ ที่ปรึกษามูลนิธิพระไตรปิฎกสากล
พ.ศ. 2563
Tai Long Script Pali by Dhamma Society on Scribd