นวัตกรรมพระไตรปิฎกสากล
นวัตกรรมพระไตรปิฎกสากล
World Tipiṭaka Innovation
นวัตกรรมคือผลงานสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นใหม่ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางความคิด การผลิต และ กระบวนการต่างๆ สำหรับนวัตกรรมพระไตรปิฎกในที่นี้ มุ่งเน้นความคิดสร้างสรรค์ในการเขียนเสียงพระไตรปิฎกให้แม่นตรงกับกฎไวยากรณ์มากยิ่งขึ้น โดยผลิตเป็นสื่อสารสนเทศและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์สร้างเป็นฐานข้อมูล ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนอพระไตรปิฎกเป็นสากล แต่ยังคงรักษาเนื้อหาของเสียงดั้งเดิมในพระไตรปิฎกไว้มิให้เปลี่ยนแปลง สามารถศึกษาได้ง่ายในเชิงสหวิชาการ ตลอดจนเกิดประสิทธิภาพในการเผยแผ่ และพัฒนาต่อยอดในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
ในปี พ.ศ. 2542 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทรงรับเป็นองค์สังฆราชูปถัมภ์ในโครงการพระไตรปิฎกสากล พร้อมทั้งได้ประทานพระสัมโมทนียกถาในการจัดพิมพ์เป็นฉบับสากล นับเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินโครงการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล อักขะระโรมัน ชุดสมบูรณ์ชุดแรก
ในด้านเทคโนโลยีในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่โลกได้ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่เรียกกันว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 5 (The 5th Industrial Revolution) อันยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญต่างๆ ในทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล อักขะระโรมันชุดนี้ ให้สำเร็จลุล่วงเป็นครั้งแรกในเวลาอันรวดเร็ว
พ.ศ. 2548 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้ทรงเป็นกุลเชษฐแห่งพระราชวงศ์ในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จจาริกอัญเชิญพระไตรปิฎกสากล ฉบับปฐมฤกษ์ชุดนี้ ไปพระราชทานเป็นพระธัมมทานแก่ประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา ณ กรุงโคลัมโบ ตามรอยประวัติศาสตร์การพระราชทานพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม พ.ศ. 2436 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ในปี พ.ศ. 2552-2559 โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ถอดเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก จากอักขะระโรมัน เป็น สัททะอักขะระ-ปาฬิ (Phonetic Symbol) และโน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi Notaion) เรียกว่าพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ (World Phonetic Tipiṭaka : The Sajjhāya Recitation Edition) โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาพระราชทานภาพพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา ชุด 40 เล่ม) และพระนามาภิไธย ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ ชุด 40 เล่ม) พิมพ์บนปกฉบับสัชฌายะ รวมเป็นชุด 80 เล่ม ซึ่งมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้จัดพิมพ์สำเร็จเพื่อนำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นองค์ประธานการสร้าง พ.ศ. 2560
การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากลดังกล่าวทั้งสองฉบับ ทั้งฉบับอักขะระโรมัน และฉบับสัชฌายะ กล่าวได้ว่าเป็นนวัตกรรมการพิมพ์ดิจิทัล (Digital Press) เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การพิมพ์พระไตรปิฎก เพราะเป็นยุคที่คุณภาพของการพิมพ์ดิจิทัลพัฒนาได้เท่าเทียมกับการพิมพ์ระบบออฟเซ็ท (Offset Press) ด้วยเหตุนี้ระบบการพิมพ์ดิจิทัลจึงมีความคมชัดและมีรายละเอียดการเรียงพิมพ์ข้อมูลที่มีความซับซ้อนได้ นอกจากนั้นที่สำคัญคือเป็นระบบการพิมพ์พิเศษที่สามารถสั่งพิมพ์ตามต้องการ (Digital Printing on Demand) ซึ่งเป็นระบบเทคโนโลยีการจัดพิมพ์ที่เหมาะสมกับงานชุดหนังสือที่มีเนื้อหาต่างกันเป็นจำนวนมาก เช่น พระไตรปิฎกฉบับอักขะระโรมันชุดนี้ที่มีจำนวนถึง 40 เล่ม และพระไตรปิฎกสัชฌายะมีจำนวนถึง 80 เล่ม ซึ่งหากต้องจัดทำแท่นพิมพ์อย่างโบราณจะต้องใช้เวลาและต้นทุนสูงในการผลิตหลายเท่าทวีคูณ
การพิมพ์ดิจิทัลจึงเป็นเทคโนโลยีที่ประหยัดและพอเพียงสำหรับพระไตรปิฎกสากล สามารถจัดพิมพ์ได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพสูง และจัดพิมพ์ตามปริมาณที่เหมาะสมเมื่อต้องการ ไม่จำเป็นต้องพิมพ์เป็นจำนวนมากและเสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ (No Warehousing) ข้อเด่นประการนี้ทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากลสามารถจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากลเป็นชุดพิเศษเพื่อเผยแผ่เฉพาะแก่สถาบันสำคัญในนานาชาติทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยได้มีการจัดพระราชทานไปแล้วเป็นจำนวนมากกว่า 150 สถาบัน
นวัตกรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ไม่เป็นที่รู้กันในหมู่ประชาชนทั่วไป คือเทคโนโลยีและศักยภาพของระบบฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากลอิเล็กทรอนิกส์ชุดนี้ (World Tipiṭaka Database) ซึ่งได้อ้างอิงข้อมูลอันมหาศาลกับต้นฉบับพระไตรปิฎกฉบับต่างๆ ของโลกถึง 15 ฉบับ รวมหนังสืออ้างอิงทั้งสิ้นประมาณ 700 เล่ม (ดูรายละเอียดในหลักการสร้างพระไตรปิฎกสากล) ซึ่งนับเป็นการสร้างพระไตรปิฎกสากลที่เป็นฉบับอ้างอิงที่เป็นมาตรฐานเป็นครั้งแรกด้วย
ในทางเทคนิค ระบบฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากลชุดนี้ในเบื้องต้นสร้างขึ้นในรูปแบบของภาษา XML (Extensible Markup Language) อันเป็นภาษาใหม่ในทางอิเล็กทรอนิกส์ของยุคสารสนเทศที่นำมาใช้เขียนเป็นครั้งแรกในการบันทึกพระไตรปิฎก และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้สามารถจัดการเสริมต่อด้วยระบบบริหารฐานข้อมูลที่เพิ่มประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยระบบเทคโนโลยีที่เรียกว่า RDBMS (Relational Database Management System) โดยระบบบริหารข้อมูล MySQL และ Document-Oriented Database โดยระบบจัดการฐานข้อมูล MongoDB ทำการบริหารจัดการฐานข้อมูล เป็นต้น
ฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากล
ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานการสร้างฐานข้อมูลที่ทำให้ปัจจุบันสามารถนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) มาต่อยอดในการแสดงผล ได้แก่ ภาพอักขะระปาฬิและการอ่านเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกดิิจิทัล ซึ่งโครงการพระไตรปิฎกสากลได้รับสิทธิบัตรการแบ่งพยางค์ เลขที่ 46390 ซึ่งถือเป็นสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎกฉบับแรกของโลก และมีลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องเป็นทรัพย์สินทางปัญญา เรียกว่า “ฉบับสัชฌายะ” อันเป็นพัฒนาการการเขียนเสียงปาฬิจากสัททะอักขะระในทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์ สู่การเขียนเป็นโน้ตเสียงปาฬิในทางดุริยางคศาสตร์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมสำคัญในทางสหวิชาการที่ทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากลสังเคราะห์เสียงปาฬิในพระไตรปิฎกตามหลักไวยากรณ์ที่ซับซ้อนผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้หลากหลายในปัจจุบันและจะสามารถพัฒนาต่อไปโดยแทบไม่มีขีดจำกัดในอนาคต เรียกว่า เสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation Sound) ตัวอย่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ ลำโพงสัชฌายะ โทรศัพท์มือถือสัชฌายะ แท็บเล็ตสัชฌายะ และสัชฌายะแอพพลิเคชั่น
จากนวัตกรรมต่างๆ ที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้น อาจสรุปถึงความเปลี่ยนแปลงอันเป็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นรวม 5 ประการ คือ
1. นวัตกรรมการเรียงพิมพ์ปาฬิภาสาเป็นพระไตรปิฎกสากล เช่น ฉบับอักขะระโรมัน และฉบับสัททะอักขะระปาฬิ ทำให้เกิดความเป็นสากลของพระไตรปิฎกมากยิ่งขึ้น เพราะทำให้นานาประเทศทั่วโลกสามารถศึกษาต้นฉบับเสียงปาฬิ (Pāḷi Manuscript B.E. 2500) จากการสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ที่เดิมจำกัดอยู่ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญที่คุ้นเคยเฉพาะกับอักขะระโบราณ โดยปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นสัททสัญลักษณ์ ได้แก่ โน้ตเสียงปาฬิ ในฉบับสัชฌายะ เป็นต้น
2. นวัตกรรมการแสดงผลปาฬิภาสาทั้งรูปเสียงและรูปศัพท์ในระบบดิจิทัล ทำให้เกิดการศึกษาพระไตรปิฎกสากลที่สะดวกและง่ายขึ้นด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น การสืบค้นจากฐานข้อมูลสามารถช่วยให้เกิดการศึกษาพระไตรปิฎกในระดับนานาชาติ (International Tipiṭaka Studies) ซึ่งจะพัฒนาไปในระบบที่เรียกว่า Online Streaming ซึ่งสามารถสืบค้นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ตลอด 24 ชั่วโมง
3. นวัตกรรมการเขียนโน้ตเสียงปาฬิทางดุริยางคศาสตร์ในฉบับสัชฌายะ ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดในทางสหวิทยาการ (Integration of Interdisciplines) เช่น สัททะอักขะระในทางภาษาศาสตร์ และโน้ตเสียงปาฬิในทางดุริยางคศาสตร์ พร้อมทั้งการนำเสนอเสียงดิจิทัลสัชฌายะในทางวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่เดิมมุ่งเน้นแต่เฉพาะการแปลศัพท์ปาฬิในอดีต โดยเพิ่มเป็นการศึกษาเสียงปาฬิ และการออกเสียงปาฬิผ่านเทคโนโลยีทางเสียง ซึ่งกำลังพัฒนาขึ้นใหม่อย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
4. นวัตกรรมการสร้างฐานข้อมูลดิจิทัลของพระไตรปิฎกสากล ทำให้เกิดพัฒนาการต่อยอดในระดับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเฉพาะการสังเคราะห์พยางค์เสียงดิจิทัลสัชฌายะ ซึ่งกำลังเป็นแนวทางสำคัญของเทคโนโลยีทางเสียงในอนาคต ซึ่งจะพัฒนาต่อยอดสืบค้นเสียงสัชฌายะและสร้างระบบการถามตอบปัญหาธัมมะในพระไตรปิฎกโดยอัตโนมัติ
5. นวัตกรรมเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกฉบับสัชฌายะ ทำให้เกิดการผลิตและเผยแผ่พระไตรปิฎกในฐานะคลังอารยธรรมทางปัญญาในสื่อสารสนเทศใหม่ๆ ซึ่งทำให้ลดต้นทุนการแสวงหาข้อมูล และต้นทุนการผลิต (Information and Transaction Cost) ในทางเศรษฐกิจ และเปิดมิติใหม่ในการนำมาซึ่งประโยชน์สาธารณะอย่างมหาศาลที่มิอาจประเมินได้ เช่น ผลกระทบที่เป็นประโยชน์ในทางสุขภาพของประชากรมนุษย์ หรือที่ปัจจุบันมีการศึกษากันในเชิงวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า Quantum Biology เพื่อสร้างเสริมปัจจัยแห่งความสุขของมนุษยชาติ เป็นต้น
โครงการพระไตรปิฎกสากลหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเผยแผ่เนื้อหาเสียงพระธัมม์อันล้ำค่าในพระไตรปิฎก (Tipiṭaka Content Provider) จะมีการพัฒนาต่อไปเป็นสากลเพื่อกุศลประโยชน์แก่มนุษยชาติทั้งปวง
มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล
พ.ศ. 2562
นวัตกรรมพระไตรปิฎกสากล by Dhamma Society on Scribd