พระไตรปิฎก ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา)
รายละเอียดการพิมพ์ สัช์ฌาย-เตปิฏก
พระไตรปิฎกสัชฌายะ พ.ศ. ๒๕๖๑
ต้นฉบับพระไตรปิฎกสัชฌายะ (Saj-jhā-ya : The Phonetic Edition) จัดทำตามพระบัญชาในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พระสัมโมทนียกถา พ.ศ. ๒๕๔๒) โดยนำเนื้อหาพระไตรปิฎกปาฬิจากฉบับสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. ๒๕๐๐ มา “ถอดอักขะระ” (Transliteration) พิมพ์เป็นอักขะระโรมัน-ปาฬิ และตรวจสอบทวนทานให้แม่นยำยิ่งขึ้น ดำเนินงานโดยอาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. ๙ และคณะ โดยมีพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) เป็นผู้เขียนคำนำ นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการ “ถอดเสียงปาฬิ” (Transcription) เป็น “สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” เป็นครั้งแรก จากอักขรวิธี “ไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ” ในฉบับ จ.ป.ร. พ.ศ. ๒๔๓๖ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชแห่งกรุงสยาม ได้ทรงสร้างไว้เป็นพระไตรปิฎกชุดหนังสือ และพระราชทานไปทั่วโลก ซึ่งสืบทอดมาจากต้นฉบับใบลาน อักขะระขอม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ. ๒๓๓๑
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กุลเชษฐ์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ในรัชกาลปัจจุบัน ทรงรับเป็นประธานกิตติมศักดิ์โครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. ๒๕๔๗ และพระราชทานแก่สถาบันสำคัญในนานาประเทศตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๘ จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งได้จัดพระราชทานตามรอยประวัติศาสตร์ ฉบับ จ.ป.ร. ไม่น้อยกว่า ๑๒๐ สถาบัน ใน ๒๐ ประเทศทั่วโลก
การจัดพิมพ์ฉบับสัชฌายะจึงเป็นการถอดเสียงเป็น “สัททะอักขะระ-ปาฬิ” (Phonetic Alphabet-Pāḷi) ในทางภาษาศาสตร์เป็นครั้งแรก ซึ่งได้พัฒนาต่อยอดเขียนเป็น “โน้ตเสียงปาฬิ” (Pāḷi Notation) ในทางดุริยางคศาสตร์ซึ่งยังไม่เคยมีการจัดทำมาก่อน ในการนี้เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จฯ มาทอดพระเนตรนิทรรศการพระไตรปิฎกสัชฌายะ จึงมีพระราชศรัทธาพระราชทานภาพพระนามาภิไธย ส.ก. จัดพิมพ์บนปก เรียกว่า พระไตรปิฎกสัชฌายะ โน้ตเสียงปาฬิ ฉบับ ส.ก. (คู่มือการออกเสียงปาฬิ) พ.ศ. ๒๕๕๙ ชุด ๔๐ เล่ม การจัดทำโน้ตเสียงปาฬิจึงทำให้สามารถอนุรักษ์ต้นฉบับปาฬิภาสาขึ้นใหม่อีกชุดหนึ่งให้แม่นตรงยิ่งขึ้น โดยถอดเสียงเป็น อักขรวิธีใหม่ เรียกว่า “ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” พิมพ์คู่ขนานกับต้นฉบับ อักขรวิธีไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานภาพพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. จัดพิมพ์ลงบนปกเรียกว่า พระไตรปิฎกสัชฌายะ ฉบับ ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา) พ.ศ. ๒๕๕๙ ชุด ๔๐ เล่ม
ชุด “สัททะอักขะระ-ปาฬิ” คัดเลือกโดยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอและตีพิมพ์โดยราชบัณฑิตยสถานตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน ในการนี้มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล นำโดย ท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์ ประธานมูลนิธิฯ ร่วมกับนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนายเกษม คมสัตย์ธรรม ผู้แทนประธานศาลปกครองสูงสุด ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสมโภชพระไตรปิฎกสัชฌายะฉบับดังกล่าว ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ณ วังศุโขทัย
การจัดพิมพ์อักขรวิธี ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ เป็นการจัดพิมพ์ด้วยระบบฐานข้อมูล ซึ่งศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สันทัด โรจนสุนทร นายกราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้ให้ข้อมูลยืนยันทางวิชาการว่าเป็นการเขียนเสียงละหุเสียงคะรุตามอักขรวิธีไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ ที่สามารถศึกษาและพิสูจน์ด้วยสูตรคณิตศาสตร์ ซึ่งสกัดโดยศาสตราจารย์ ดร.ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ แผนกวิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราชบัณฑิตสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน และได้ตีพิมพ์ในหนังสือราชบัณฑิตยสถาน ๘๐ ปี พ.ศ. ๒๕๕๗
จากข้อมูลต่างๆ เบื้องต้นโครงการพระไตรปิฎกสากลได้ริเริ่มสร้างโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อกระบวนการตัดพยางค์ดิจิทัลของข้อมูลปาฬิภาสาซึ่งนำไปประยุกต์ใช้กับระบบคอมพิวเตอร์ โดยแสดงรูปการพิมพ์ดังนี้ เสียงคะรุ (ออกเสียงนาน) ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลสีเข้มทึบ และเสียงละหุ (ออกเสียงเร็ว) ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลสีเบาโปร่ง
กล่าวโดยสรุป โครงการพระไตรปิฎกสัชฌายะได้ตรวจสอบกระบวนการแสดงผลดิจิทัลตามหลักการในทางวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์และภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากล และได้แจ้งผลงานเป็นทะเบียนเอกสาร ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้แก่
๑. โปรแกรมคอมพิวเตอร์สยาม-ปาฬิ (Syām Pāḷi Computer Source Code)
โปรแกรมคอมพิวเตอร์สยาม-ปาฬิ ลิขสิทธิ์เลขที่ ๓๐๘๗๖๙ มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ได้ประดิษฐ์เป็นอักขรวิธีไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ ด้้วยระบบคอมพิวเตอร์ จากแนวคิดสิทธิบัตร เลขที่ ๔๖๓๙๐ ซึ่งเป็นโปรแกรมการตัดคำปาฬิ-อักขะระสยาม เป็นพยางค์ (Syām Pāḷi Syllable e-Segmenting)
๒. โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไทย-ปาฬิ (Thai Pāḷi Computer Source Code)
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ไทย-ปาฬิ ลิขสิทธิ์เลขที่ ๓๐๕๑๒๙ มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้ประดิษฐ์ เป็น อักขรวิธี ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ถอดเสียงมาจากอักขรวิธีไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ ด้้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Syām Pāḷi to Thai Pāḷi Mapping) จากแนวคิดสิทธิบัตรเลขที่ ๔๖๓๙๐ ทำให้สามารถแสดงรูปเสียงคะรุด้วยสีเข้มทึบ และรูปเสียงละหุด้วยสีเบาโปร่ง ประดิษฐ์เป็นฟอนต์ (Font) หรือ อักขะระการพิมพ์ดิจิทัล (Digital Typography) เป็นครั้งแรก ซึ่งแม่นตรงตามกฎไวยากรณ์กัจจายนะ-ปาฬิ
๓. การตรวจทานอัตโนมัติ (Automated Pāḷi Unit Testing)
กระบวนการตรวจทานในข้อ ๑ และข้อ ๒ ข้างต้น ใช้วิธีอัตโนมัติระดับหน่วยซอร์สโค้ดทำให้สามารถยืนยันได้ว่าการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสัชฌายะ ซึ่งพิมพ์คู่ขนานระหว่างอักขรวิธีไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ กับอักขรวิธีละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ มีความถูกต้องแม่นตรงเป็นชุดสากล ๔๐ เล่ม พ.ศ. ๒๕๕๙ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิ ซึ่งสำเร็จได้ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับเป็นประธานการจัดพิมพ์ และได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพระนามาภิไธย ม.ว.ก. พร้อมพระกถาธัมม์ ลงพิมพ์ทุกเล่มพระคัมภีร์พระไตรปิฎกสัชฌายะ ชุด ๔๐ เล่ม เพื่อเป็นพุทธบูชาและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงมีพระราชศรัทธาในการอนุรักษ์พระไตรปิฎก จัดพิมพ์ในพระราชวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ ๗๐ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามหนังสือสำนักราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ พว ๐๐๐๕.๑/๑๕๖๒ ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
โครงการพระไตรปิฎกสากลหวังอย่างยิ่งว่า ข้อมูลพระไตรปิฎกปาฬิภาสาที่ได้ตรวจทานแล้วอย่างดีโดยการสังคายนานานาชาติและได้รับการอนุรักษ์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะเป็นประโยชน์ต่อไปต่อนักวิชาการในทางสหสาขาวิชา เพื่อการศึกษาและค้นคว้าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป
(นายสิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. ๙)
ประธานโครงการพระไตรปิฎกสากล
และ
ประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค
ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๕๑
ผู้จัดทำต้นฉบับ
(ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์)
ประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค
ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๕๕๑-ปัจจุบัน (๒๕๕๙)
ผู้จัดทำต้นฉบับ
(ท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์)
ผู้แทนผู้อุปถัมภ์โครงการพระไตรปิฎกสากล
และ
ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. ๒๕๕๑-ปัจจุบัน (๒๕๕๙)
ผู้เผยแผ่
Sajjhaya Tepitaka (Phonetic Edititon) by Dhamma Society on Scribd