พระไตรปิฎกอักขะระไต-ปาฬิ
อักขะระ-ปาฬิ และ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ สำหรับพระไตรปิฎกสากล
(Pāḷi Alphabet and Pāḷi Phonetic Alphabet for the World Tipiṭaka)
ภาพโดยพระบรมราชานุญาต
หนังสือ ที่ พว 0005.1/771
พิธีสมโภชพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต 18 ธันวาคม พ.ศ. 2557
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นประธานในพิธีพระราชทานต้นฉบับสัชฌายะ ซึ่งพิมพ์เป็นชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต (Tai Scripts) คู่ขนาน กับ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ (Thai Phonetic Alphabet-Pāḷi) ชุดต่างๆ รวม 9 ชุดอักขะระ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
สัททะอักขะระ (Phonetic Alphabet) ที่ใช้เขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกสากล อ้างอิงจากต้นฉบับ จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 และสร้างสรรค์สำเร็จขึ้นเป็นสัททะอักขะระ (Phonetic Alphabet) และได้รับการจดเป็นสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา The World Tipiṭaka Patent No. 46390 พ.ศ. 2557 (2014) ซึ่งนับเป็นการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยสัททะอักขะระเป็นครั้งแรกของโลก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9
สัททะอักขะระไต-ปาฬิ
(Tai Phonetic Alphabet-Pali)
โจทย์สำคัญในการอ่านออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกที่คนส่วนใหญ่ต้องศึกษาและแก้ไข คือ ปรากฏการณ์ในทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์ ที่เรียกว่า “การแทรกแซงทางเสียง” (Linguistic Interference) กล่าวคือการเอาเสียงท้องถิ่นของภาษาหนึ่งไปปนแทรกกับเสียงปาฬิดั้งเดิมในพระไตรปิฎก เช่น คนไทยมักออกเสียง พ-ปาฬิ ว่า [พะ] ซึ่งเป็นเสียงพ่นลม (Aspirated) ใน คำว่า พล / bala ที่แทนเสียง [บะ] ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่พ่นลม (Unaspirated) ตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ เป็นต้น
เรื่องนี้ในทางวิชาการภาษาศาสตร์เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาเพราะเป็นพัฒนาการของภาษา ที่ปัจจุบันอาจออกเสียงต่างจากเสียงดั้งเดิม แต่พระวินัยปิฎกในพุทธศาสนาเถรวาทถือว่าการออกเสียงไม่พ่นลมเป็นเสียงพ่นลมเป็นการผิดพระวินัยในสังฆกัมม์ เช่น กัมมวาจา เพราะในทางนิรุตติศาสตร์ ที่ว่าด้วยเรื่องเสียงและความหมายนั้น การออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกที่ผิดพลาดผิดเพี้ยนไป ย่อมทำให้ภิกขุผู้ออกเสียงต้องอาบัติตามความหมายที่นิยามไว้ในพระไตรปิฎก (ฉบับสากล พระวินัยปิฎก ปริวารวัคค์ ข้อ 455)
ด้วยเหตุนี้ ในพระไตรปิฎก ฉบับ จ.ป.ร. อักขะระสยาม พ.ศ. 2436 จึงได้จัดพิมพ์ตารางการถอดเสียง (Syām-Roman Transcription Table) เป็นคู่มือในการออกเสียงปาฬิเพื่อมิให้เอาเสียงในภาษาไทยมาปนแทรกกับเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก เช่น พ เทียบกับ b ออกเสียง [บะ] / [ba] และ ท เทียบกับ d ออกเสียงว่า [ดะ] / [da] เป็นต้น คู่มือนี้จึงแสดงว่าได้มีความพยายามแก้ปัญหาการแทรกแซงทางเสียงในการศึกษาพระไตรปิฎกในไทยมานานนับศตวรรษแล้ว ซึ่งการนำอักขะระโรมัน เช่น buddha และ vandāmi มาเทียบในระบบการพิมพ์ทำให้เกิดประสิทธิ์ภาพในทางการศึกษาเสียงปาฬิในระดับวิชาการ แต่ปัจจุบันประชาชนคนไทยทั่วไปก็ยังไม่เข้าใจ โดยยังออกเสียงในภาษาไทยปนแทรกกับเสียงปาฬิ ว่า [พะ..] แทน [บะ..] ในคำว่า bud.. และ [ทา..] แทน [ดา..] ในคำว่า vandā.. เป็นต้น
การใช้อักขะระสยามเขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก ฉบับ จ.ป.ร. จึงเป็นการริเริ่มการบันทึกพระไตรปิฎกเป็นครั้งแรกโดยใช้ สัทอักษร หรือ ที่โครงการพระไตรปิฎกสากลเขียนตามหลักการถอดเสียงใหม่ ว่า สัททะอักขะระ-ปาฬิ
ในบทความนี้ จะได้กล่าวถึงปัญหา 3 ประการของการเขียนเสียงปาฬิ ได้แก่
1. การเขียนรูปเสียงปาฬิ (Pāḷi) ด้วยรูปอักขะระสยาม และอักขะระไทย
2. การแบ่งพยางค์คำปาฬิในพระไตรปิฎก (Pāḷi Syllabic Segmentation)
3. การเขียนเสียงปาฬิด้วยสัททสัญลักษณ์ต่างๆ (Phonetic Symbols)
ในข้อ 3 เป็นการนำเสนอศักยภาพของความหลากหลายในรูปเขียนของอักขะระไทยในฐานะสัททะอักขะระเขียนเสียงปาฬิ และยังสามารถเขียนเป็นเสียงวรรณยุกต์สามัญได้ด้วย ซึ่งเป็นเสียงปาฬิดั้งเดิมของภาษาในตระกูลอินโด-อารยัน จากการศึกษาและเปรียบเทียบอักขรวิธีต่างๆ ข้างต้นทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากลสามารถนำเสนอรูปเขียนใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการเขียนเสียงปาฬิ โดยใช้เทคโนโลยีฐานข้อมูลจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกสากล ชุด อักขะระชาติพันธ์ุไต (World Tipiṭaka in Tai Scripts) ตลอดจนบูรณาการเขียนเป็นโน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi Notation) และบันทึกการอ่านออกเสียงในระบบดิจิทัล เรียกว่า เสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation Sound)
1. การเขียนรูปเขียนเสียงปาฬิ (Pāḷi) ด้วยรูปอักขะระสยาม และ อักขะระไทย
ในทางวิชาการภาษาศาสตร์ “การถอดอักษร” หรือ ที่โครงการพระไตรปิฎกสากลเรียกว่า “การถอดอักขะระ” (Transliteration) เป็นการแปลงอักขะระหนึ่งต่อหนึ่ง เพื่อรักษา “รูปศัพท์” เดิมไว้ แต่การถอดอักขะระของชาติต่างๆ เป็นปาฬิภาสา อาจไม่ตรงกับ “รูปเสียง” หรือ “การถอดเสียง” (Transcription) ในปาฬิภาสาเสมอไป นอกจากนี้ยังมีปัญหาการแทรกแซงทางเสียง คือ การปนแทรกของเสียงในภาษาหนึ่งที่มีต่ออีกภาษาหนึ่ง ที่ในทางภาษาศาสตร์เรียกว่า Linguistic Interference การออกเสียงและวิธีการเปล่งเสียงปาฬิภาสามีการกำหนดการออกเสียงพยัญชนะและเสียงสระไว้ในไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ อย่างชัดเจน
ตัวอย่างการแทรกแซงทางเสียงในหมู่คนไทย
เสียงไม่พ่นลม แต่ออกเป็นเสียงพ่นลม [ʰ]
ค-ปาฬิ สัททะอักขะระ คือ [g] ส่วนสัททะอักขะระของเสียงไทย คือ [kʰ]
ช-ปาฬิ สัททะอักขะระ คือ [j] ส่วนสัททะอักขะระของเสียงไทย คือ [tcʰ]
ท-ปาฬิ สัททะอักขะระ คือ [d] ส่วนสัททะอักขะระของเสียงไทย คือ [tʰ]
พ-ปาฬิ สัททะอักขะระ คือ [b] ส่วนสัททะอักขะระของเสียงไทย คือ [pʰ]
ฑ-ปาฬิ สัททะอักขะระ คือ [ḍ] ส่วนสัททะอักขะระของเสียงไทย คือ [tʰ]
เสียงพ่นลม แต่ออกเป็นเสียงผิดฐาน [ṭh] เป็น [th], [dh] เป็น [tʰ], [ḍh] เป็น [tʰ]
ฐ-ปาฬิ สัททะอักขะระ คือ [ṭh] ส่วนสัททะอักขะระของเสียงไทย คือ [tʰ]
ธ-ปาฬิ สัททะอักขะระ คือ [dh] ส่วนสัททะอักขะระของเสียงไทย คือ [tʰ]
ฒ-ปาฬิ สัททะอักขะระ คือ [ḍh] ส่วนสัททะอักขะระของเสียงไทย คือ [tʰ]
สังเกต : สัททะอักขะระเสียงพ่นลม แสดงด้วย h-ยก [ʰ] สำหรับเสียงปาฬิ ท ฑ ฐ ธ ฒ ใช้สัททะอักขะระรูปเขียนที่ต่างกัน ส่วนสัททะอักขะระของเสียงไทย ใช้รูปเสียงเดียวกันทั้งหมด คือ [tʰ] ส่วนเสียงปาฬิ ฐ ธ ฒ ซึ่งมีฐานเสียงที่ต่างกัน ใช้สัททะอักขะระที่ต่างกัน คือ [ṭh] [dh] [ḍh] แต่ในภาษาไทยออกเสียงเหมือนกันทั้ง 3 ตัว จึงใช้สัททะอักขะระเสียงไทยที่เหมือนกันหมด คือ [th] ดูเพิ่มเติมในตารางการถอดเสียงปาฬิของโครงการพระไตรปิฎกสากล
2. การแบ่งพยางค์คำปาฬิในพระไตรปิฎก (Pāḷi Syllabic Segmentation)
โครงการพระไตรปิฎกสากลได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิ (Pāḷi) เป็น อักษรโรมัน ซึ่งโครงการพระไตรปิฎกสากล เรียกว่า อักขะระโรมัน (Roman Script) และได้เผยแผ่ไปในสถาบันการศึกษานานาชาติ เป็นเวลา 6 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2548-2553 ในการนี้ได้พบว่า แม้อักขะระโรมันเป็นอักขรวิธีสากลที่รู้จักกันในนานาประเทศ แต่ผู้ที่สนใจศึกษาพระไตรปิฎกอักขะระโรมันก็ยังไม่มีความชำนาญในการอ่าน ปาฬิภาสา-อักขะระโรมัน อย่างแท้จริง เมื่อนำปัญหาในการอ่าน ฉบับอักขะระโรมัน มาศึกษาอย่างจริงจังก็พบว่า มีปัญหาในการแบ่งพยางค์อักขะระโรมัน โดยเฉพาะในคำศัพท์ที่มีพยางค์เป็นจำนวนมาก
ปัญหาพื้นฐานเบื้องต้นของอักขรวิธีโรมัน คือ พยัญชนะโรมันมีเสียงไม่ครบเมื่อเทียบกับเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก เช่น มีพยัญชนะเสียง ก์ k แต่ไม่มีพยัญชนะเสียง ข์ ดังนั้นจึงต้องใช้พยัญชนะสองตัวสร้างเสียงพยัญชนะ ข-ปาฬิ ได้แก่ kh โดย h เป็นสัญลักษณ์เสียงพ่นลม (Aspirated Sound) ดังนั้นเมื่อเขียนคำว่า “อักขะระ” เป็น อักขะระโรมัน ว่า akkhara จึงเป็นการยากในการแบ่งพยางค์ในการอ่านสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นกับศัพท์ปาฬิ ปัจจุบันแม้มีระบบการพิมพ์ยกตัวอักขะระ h ให้สูงขึ้น เช่น akkhara ได้แก่ kh แม้เป็นรูปเขียนสองอักขะระแต่สามารถเห็นเป็นหนึ่งรูปเสียงชัดเจนขึ้น ปัญหาการแบ่งพยางค์นี้จึงลดลง
ปัญหาของคนไทยที่อ่านอักขะระโรมันไม่แคล่วคล่องอาจเป็นเพราะชาติไทยมิได้มีประวัติศาสตร์เป็นชาติอาณานิคมของตะวันตก ดังนั้นปัจจุบันจึงมิได้ใช้ภาษาอังกฤษที่เขียนด้วยอักขะระโรมันเป็นอักขะระประจำชาติ เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย แต่ที่สำคัญคือ ปาฬิเป็นภาษาที่มีอักขรวิธีเป็นเอกลักษณ์ กล่าวคือ มีการเขียนและอ่านที่มีหลักการที่ชัดเจนเป็นของตน ได้แก่ มีเสียงสะกด (final-consonant sound) เสียงไม่สะกด คือ เสียง สระ-อะ (non-final consonant or a-vowel sound) และเสียงกล้ำ (cluster-consonant sound) แยกออกจากกันชัดเจน โดยมีกฎไวยากรณ์พระไตรปิฎกที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดคือ กัจจายะนะ-ปาฬิ เป็นหลักฐานยืนยัน
ผู้ที่คุ้นเคยกับอักขรวิธีของชาติตน เช่น ชาวไทยที่มีการออกเสียงสะกดและเสียงกล้ำที่ไม่แยกออกจากกันชัดเจน อาจออกเสียงปาฬิได้ไม่แม่นตรงตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ เช่น อาจออกเสียงสะกดและลากเสียงพยางค์ที่สะกดกลายเป็นพยัญชนะต้นของพยางค์เสียงกล้ำที่ตามมา เช่น คำว่า “กัลยา” ในภาษาไทยมักออกเสียงว่า [กัล-ละ-ยา] หรือ [กัน-ละ-ยา] ซึ่งต่างจากเสียงในปาฬิภาสา ที่อักขะระสยามปาฬิ เขียนว่า กัล๊ยา อ่านว่า [กะ-ลยา] โดยกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602 ระบุชัดเจนว่า สระเสียงสั้นที่นำหน้าพยางค์เสียงกล้ำ ให้ออกเสียงเป็น “เสียงคะรุ” คือ ออกเสียงให้นานขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทั้งสองพยางค์ของคำนี้แยกออกจากกันอย่างชัดเจน ไม่มีทางที่พยางค์หน้าที่เป็นเสียงสะกดจะกลายเป็นพยัญชนะต้นของเสียงกล้ำในพยางค์หลังที่ตามมาได้ ดังที่เกิดขึ้นในภาษาไทย
ปัญหานี้อาจเรียกให้ง่ายว่า “ปัญหาของการแบ่งพยางค์” ซึ่งปัจจุบันสามารถแก้ไขได้ กล่าวคือ สร้างระบบการเขียนเป็น 3 ประเภท เสียงสะกด เสียงไม่สะกด และเสียงกล้ำ ให้แยกออกจากกันให้ชัดเจน
ตารางการถอดเสียงพระไตรปิฎก จ.ป.ร. เทียบกับ ตารางการถอดเสียงในโครงการพระไตรปิฎกสากล ซึ่งพัฒนาจากต้นฉบับพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม พ.ศ. 2436 แสดงการอ้างอิงลำดับการออกเสียงปาฬิตามหลักไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 6 ซึ่งกล่าวถึง เสียงพยัญชนะทั้ง 33 เสียง และข้อ 7 ซึ่งกล่าวถึงตำแหน่งฐานที่เกิดเสียง ซึ่งโครงการพระไตรปิฎกสากลได้จัดทำตารางการถอดเสียงตามฐานกรณ์ที่อ้างอิงตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ เพื่ออ้างอิงเป็นสากล
กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 6.
sesā byanjanā
วัณณะที่เหลือจากสระ 8 ตัว ชื่อว่าพยัญชนะ
พยัญชนะมี 33 ตัว คือ
ก ข ค ฆ ง
จ ฉ ช ฌ ญ
ฏ ฐ ฑ ฒ ณ
ต ถ ท ธ น
ป ผ พ ภ ม
ย ร ล ว ส ห ฬ อํ
กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 7.
vaggā pañcapañcaso mantā
พยัญชนะ พวกละ 5 ตัว มี ม เป็นที่สุด ชื่อว่า วัคค์
พยัญชนะวัคค์ มี 25 ตัว คือ
ก ข ค ฆ ง เรียกว่า ก-วัคค์
จ ฉ ช ฌ ญ เรียกว่า จ-วัคค์
ฏ ฐ ฑ ฒ ณ เรียกว่า ฏ-วัคค์
ต ถ ท ธ น เรียกว่า ต-วัคค์
ป ผ พ ภ ม เรียกว่า ป-วัคค์
สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ อ้างอิง อักขะระสยาม-ปาฬิ
เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันอักขะระสยาม-ปาฬิ ในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. นี้ ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว เปลี่ยนมาเป็นระบบที่เรียกว่าพินทุบอด ซึ่งใช้เครื่องหมายจุดแทนทั้งเสียงสะกดและเสียงกล้ำ อย่างไรก็ตามได้เคยมีอักขรวิธีที่ใช้เครื่องหมายหางแซงแซวแทนเสียงกล้ำและจุดพินทุบอดแทนเสียงสะกด ได้แก่ พระไตรปิฎก ฉบับ มจร. พ.ศ. 2500 แต่ปัจจุบันไม่มีการใช้แพร่หลาย มีแต่อักขรวิธีที่ใช้พินทุบอดแทนทั้งเสียงสะกดและเสียงกล้ำ ทำให้เกิดความสับสนเรื่องการแบ่งพยางค์ระหว่างเสียงสะกดและเสียงกล้ำมากขึ้น ปัจจุบันคณะสงฆ์จึงไม่คุ้นเคยและไม่สามารถอ่านอักขรวิธีสยามปาฬิได้ การออกเสียงปาฬิในการสวดมนต์ของไทยจึงไม่มีมาตรฐานกลางและไม่แม่นตรงตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ที่รู้จักกันเป็นสากลทั่วโลก
หางแซงแซว (สีแดง) เสียงกล้ำ
จุดพินทุ (สีฟ้า) เสียงกล้ำ
ชุดสัททะอักขะระที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ผู้ก่อตั้งภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอไว้ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและจากการศึกษาเรื่องการแบ่งพยางค์ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากลสร้างเป็นตรรกะในทางคอมพิวเตอร์และสามารถจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิทธิบัตร เลขที่ 46390 (2557) และด้วยสิทธิบัตรนี้ โครงการพระไตรปิฎกสากลจึงสามารถจัดพิมพ์ชุดสัททะอักขะระใหม่ในระบบดิจิทัล โดยแสดงเสียงละหุ (เสียงเร็ว) ด้วยสีเบาโปร่ง และเสียงคะรุ (เสียงนาน) ด้วยสีเข้มทึบ โดยมีจุดแบ่งพยางค์ตามสิทธิบัตรที่แยกเสียงสะกด และเสียงกล้ำออกจากกันอย่างกันชัดเจน สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ แม้เป็นระบบการเขียนเสียงปาฬิที่ง่ายขึ้น แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำที่ติดมากับอักขะระในภาษาไทย ในการนี้ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ได้นำเสนออักขะระอีกชุดหนึ่งซึ่งสามารถเขียนเสียงปาฬิเป็นเสียงสามัญ โดยใช้พยัญชนะไทยที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำ ดูรายละเอียดหน้าต่อไป
อักขะระ-ปาฬิ อ้างอิงตาม กฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ
จากสัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ซึ่งต้องใช้อักขะระหลายตัวเขียนเสียงปาฬิ โครงการพระไตรปิฎกสากลจึงพัฒนาให้ง่ายขึ้นเป็นสัททสัญลักษณ์เรียกว่า อักขะระ-ปาฬิ อีกชุดหนึ่ง โดยแสดงรูปแบบการสร้างสรรค์อักขะระ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของเสียงปาฬิ เช่น เสียงพ่นลม เสียงไม่พ่นลม เสียงก้อง เสียงไม่ก้อง เพื่อเป็นทางเลือกในการเขียนเสียงปาฬิในการศึกษาการออกเสียงปาฬิตามกฎไวยากรณ์
นอกจากเสียงพ่นลมและเสียงไม่พ่นลมดังที่กล่าวมาแล้ว อักขะระ-ปาฬิ ยังยึดถือรูปลักษณ์เดิมของอักขะระสยาม-ปาฬิ เป็นหลัก เช่น อักขะระที่มีฐานที่เกิดเสียงจากลิ้นแตะหลังปุ่มเหงือก เช่น ฐ (เดิมอักขะระสยาม-ปาฬิ เขียนว่า ฐ เทียบกับ อักขะระโรมัน ว่า ṭh) เป็นต้น เนื่องจากมีความเป็นเอกลักษณ์แทนหน่วยเสียงปาฬิิ ที่เกิดจากปุ่มเหงือก ซึ่งอักขะระโรมันที่ใช้แพร่หลายในระดับสากลนานาชาติแต่ละตัวไม่สามารถแทนเสียงปาฬิทุกเสียงได้ครบ เช่น เสียงปาฬิบางเสียง ต้องใช้สัญลักษณ์โรมันถึงสามตัว (t . h) ในการแทนเสียงได้ อักขะระ-ปาฬิที่ออกแบบใหม่จึงตรงตามหลักไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิและสอดคล้องกับอักขรวิธีในทางภาษาศาสตร์ และมีประสิทธิภาพในทางใช้งานสำหรับประชาชนทั่วไป เพราะผู้อ่านที่คุ้นเคยกับอักขะระสยาม-ปาฬิ สามารถสังเกตรูปพยัญชนะเดิมและออกเสียงปาฬิได้
อักขะระ-ปาฬิจำนวนทั้งสิ้น 52 อักขะระชุดนี้ จะเป็นอักขะระชุดใหม่ของโลก ที่แสดงเสียงปาฬิได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วนตามกฎไวยากรณ์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการสร้างอักขะระที่เป็นสัญลักษณ์แสดงเสียงปาฬิได้อย่างครบถ้วนและเทียบเท่า จึงจัดได้ว่าอักขะระ-ปาฬินี้สามารถนำเสนอในมาตรฐานสากล ISO/IEC 10646 และ Unicode ได้อีกด้วย และปัจจุบันได้ทำการบันทึกเสียงปาฬิทั้ง 52 เสียง ด้วยระบบ MRI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์สากล เพื่อเป็นข้อมูลใหม่สำหรับอ้างอิงในการฝึกออกเสียงให้แม่นตรงกับกฎไวยากรณ์ปาฬิ ดังกล่าว
3. การเขียนเสียงปาฬิด้วยสัททสัญลักษณ์ต่างๆ (Phonetic Symbols)
การเขียนเสียงปาฬิด้วยอักขะระต่างๆ ทำให้อาจติดเสียงวรรณยุกต์ตามภาษาท้องถิ่นนั้นมาด้วย เช่น ส ในภาษาไทยเป็นพยัญชนะเสียงสูง เมื่อประกอบ สระ-โอ จะเกิดการแทรกแซงทางเสียงเป็นวรรณยุกต์เสียงจัตวา เช่น โส แต่ปาฬิเป็นเสียงในตระกูลภาษาอินโด-อารยัน ซึ่งเป็นภาษาที่ไม่มีเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ เช่น อักขะระโรมัน ว่า so (โซ) ในปาฬิบทว่า itipi so (อิติปิ โซ) หรือ สัททะอักษรสากล IPA ว่า [it̪ipi s̪o] ชาวตะวันตกจะไม่ออกเสียงวรรณยุกต์เลย ในกรณีนี้วัฒนธรรมการออกเสียงในทางตะวันตกที่เป็นสากลจึงมีส่วนป้องกันการแทรกแซงทางเสียงได้
จากปัญหาต่างๆ ดังกล่าว จึงเกิดความจำเป็นในการเขียนเสียงอ่านปาฬิ ซึ่งศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ได้ริเริ่มเสนอเป็นชุด “สัททะอักขะระ-ปาฬิ” (Pāḷi Phonetic Alphabet) ในที่ประชุมสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2552 และได้ตีพิมพ์ในโครงการพระไตรปิฎกสากล
ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 โครงการพระไตรปิฎกสากลได้พัฒนาชุดสัททะอักขะระ-ปาฬิ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอักขะระชาติพันธุ์ไต เรียกว่า สัททะอักขะระไต-ปาฬิ (Tai Phonetic Alphabet) อีกชุดหนึ่ง
สัททะอักขะระไต-ปาฬิ (Tai Phonetic Alphabet)
สัททะอักขะระไต-ปาฬิ อ้างอิง อักขะระสยาม-ปาฬิ
ตัวอย่างสัททะอักขะระที่ได้พัฒนาขึ้นใหม่และจัดพิมพ์ใน พ.ศ. 2562 มีลักษณะสำคัญดังนี้
1. พยางค์ที่ 1 [บห] ฐานที่เกิดเสียง คือ ลิ้นแตะริมฝีปาก สัททสัญลักษณ์แสดงเสียงพ่นลม
[ห] ที่พิมพ์ตัวเล็ก เปรียบได้กับ [h] ที่แสดงเสียงพ่นลม (Aspirated Sound)
สระ-โอ เสียงคะรุ พิมพ์สีเข้มทึบ (ดูโครงการพระไตรปิฎกสากล 2559)
2. พยางค์ที่ 2 [จ-พินทุโปร่ง] ฐานที่เกิดเสียง คือ ลิ้นแตะเพดานแข็ง สัททสัญลักษณ์แสดงเสียงไม่พ่นลม (Unaspirated Sound)
มีพินทุโปร่งกำกับแสดงเสียงก้อง
สระ-อะ เสียงละหุ พิมพ์สีเบาโปร่ง (ดูโครงการพระไตรปิฎกสากล 2559)
3. พยางค์ที่ 3 [น] ฐานที่เกิดเสียงคือ ลิ้นแตะฟันบน ประกอบกับสระเสียงสั้น
สระเสียงสั้น เมื่ออยู่หน้าพยางค์เสียงกล้ำ ไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602 ให้ออกเสียงคะรุ ออกเสียงนานขึ้น
สระ-อะ เสียงคะรุ พิมพ์สีเข้มทึบ (ดูโครงการพระไตรปิฎกสากล 2559)
4. พยางค์ที่ 4 [มฮ] เครื่องหมายโค้งกำกับใต้พยัญชนะเสียงกล้ำ
สระ-อิ เสียงคะรุ พิมพ์สีเข้มทึบ (ดูโครงการพระไตรปิฎกสากล 2559)
ส่วน ห ซึ่งเป็นรูปพยัญชนะปาฬิที่พ้องกับพยัญชนะอักษรสูงในภาษาไทย ที่คนไทยออกเสียงเป็น
วรรณยุกต์เสียงจัตวา แทนด้วย ฮ ซึ่งในภาษาไทยเป็นเสียงวรรณยุกต์สามัญ ทำให้ลดการแทรกแซงทางเสียง
วรรณยุกต์ของภาษาไทยในการเขียนปาฬิภาสา ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำ
สรุป
สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ และ อักขะระ-ปาฬิ เป็นนวัตกรรมการเรียงพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิด้วยสัททสัญลักษณ์เป็นครั้งแรก แต่ในการใช้รูปอักขะระต่างๆ ดังกล่าว ในทางวิชาการอักษรศาสตร์ยังมีขีดจำกัดหลายประการ เช่น สัททะอักขะระยังมิอาจแสดงจังหวะที่ซับซ้อนของเสียงปาฬิ ด้วยเหตุนี้โครงการฯ จึงได้เรียนเชิญรองศาสตราจารย์ ดร.ศศี พงศ์สรายุทธ ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ถอดเสียงสัททะอักขะระเป็นโน้ตเสียงปาฬิ และปัจจุบันโครงการพระไตรปิฎกสากลสามารถสังเคราะห์เสียงสัชฌายะจากโน้ตเสียงปาฬิดังกล่าว โดยทำการบันทึกในระบบดิจิทัล เป็นเสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation Sound) ซึ่งฝึกซ้อมและควบคุมการบันทึกเสียงในระบบดิจิทัลโดยศาสตราจารย์ ดวงใจ ทิวทอง ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจกล่าวได้ว่านวัตกรรมโน้ตเสียงปาฬิและเสียงสัชฌายะดิจิทัล เป็นการอนุรักษ์เสียงปาฬิที่ได้สืบทอดมาในพระไตรปิฎกตั้งแต่การสังคายนา พ.ศ. 1 โดยอ้างอิงตามหลักไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ซึ่งทำให้สามารถเผยแผ่ด้วยเทคโนโลยีทางเสียงที่ทันสมัยต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ
จากตัวอย่างของการถอดเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกเป็น สัททสัญลักษณ์ปาฬิ (Pāḷi Symbol) หรือที่เรียกว่า การถอดเสียงเป็นชุดสัททะอักขะระ-ปาฬิ ซึ่งเน้นเสียงวรรณยุกต์สามัญ โดย เลือกพยัญชนะเสียงวรรณยุกต์สามัญในภาษาไทยเป็นสัททสัญลักษณ์ กับ ชุดอักขะระ-ปาฬิ ซึ่งเน้นการออกเสียงพ่นลม ไม่พ่นลม ตลอดจนเสียงก้อง และไม่ก้อง
ขอขอบคุณ พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค นายกกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ และคณะ ที่ดำเนินการถอดเสียงและออกแบบสร้างสรรค์อักขะระไต-ปาฬิ ชุดนี้ เพื่อจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต พ.ศ. 2563
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์
ประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค
ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา
ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล
พ.ศ. 2563
ภาพโดยพระบรมราชานุญาต
หนังสือ ที่ พว 0005.1/771
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ผู้ทรงเป็นประธานการพิมพ์เพื่ออนุรักษ์ต้นฉบับ พระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 เสด็จเป็นประธานในพิธีพระราชทาน ต้นฉบับสัชฌายะ (Sajjhāya Phonetic Edition) ในพระไตรปิฎกสากล ซึ่งจัดพิมพ์เป็นชุด อักขะระชาติพันธุ์ไตชุดต่างๆ (Tai Scripts) คู่ขนาน กับ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ (Thai Phonetic Alphabet-Pāḷi) รวม 9 ชุดอักขะระ โดยได้พระราชทานต้นฉบับแก่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และ ศาลปกครองสูงสุด พ.ศ. 2557 ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
พิธีสมโภชพระไตรปิฎกสากลจัดขึ้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวาระที่ ชุดสัททะอักขะระในการพิมพ์พระไตรปิฎกสากลดังกล่าว สามารถสร้างสรรค์สำเร็จขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกในรัชกาลที่ 9 โดยได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาฉบับแรก The World Tipiṭaka Patent No. 46390 พ.ศ. 2557 (2014)
ต้นฉบับพระไตรปิฎกสากล ชุดสัททะอักขะระ-ปาฬิ (Pāḷi Phonetic Alphabet) ได้พระราชทานแก่สถาบันศาล ในฐานะที่พระไตรปิฎกเปรียบเป็นพระธรรมศาสตร์เก่าแก่ ซึ่งเป็นรากฐานทางกฎหมายของมนุษยชาติ ซึ่งศาลเป็นผู้ใช้อำนาจทางตุลาการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตรย์ไทย
หมายเหตุ : ในภาพคือต้นฉบับ ภิกขุปาติโมกขะปาฬิ อักขะระไตขืน-ปาฬิ (เชียงตุง) จากชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต-ปาฬิ 9 ชุดอักขะระ ปัจจุบัน พ.ศ. 2563 ได้มีการจัดเพิ่มเป็นพระไตรปิฎกสากล 18 ชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต ชุดละ 40 เล่ม เป็นทั้งชุดหนังสือและระบบดิจิทัลพร้อมเสียงสัชฌายะดิจิทัล รวม 3,052 ชั่วโมง ความจุ 1.6 เทระไบต์
Akkhara Pali Newroman 1V by Dhamma Society on Scribd