จาก ฉบับสากล สู่ ฉบับสัชฌายะ

โครงการพระไตรปิฎกสากล กับ กองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร

สถานที่สังคายนาพระไตรปิฎก
กรุงย่างกุ้ง พ.ศ. 2506

วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2542 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (พระสมณศักดิ์ในขณะนั้น) ผู้ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้มีพระบัญชาให้ พันเอก สุรธัช บุนนาค นายกกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ดำเนินการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับมหาสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 เป็นฉบับอักษรโรมัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งสองพระองค์ผู้ทรงมีพระราชศรัทธาเสด็จฯ ไปทรงอนุโมทนาสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกนานาชาติ ณ กรุงย่างกุ้ง สหภาพพม่า พ.ศ. 2506 (ดู พระสัมโมทนียกถาสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2542)

การจัดพิมพ์ใหม่สำหรับพระไตรปิฎกฉบับนี้ ใช้เวลาตรวจทานและปริวรรตอักษรเป็นอักษรโรมัน ระหว่าง พ.ศ. 2542-2548 จึงสำเร็จเป็นชุดปฐมฤกษ์  (ดู คำนำพระธรรมปิฎก ป.อ. ปยุตโต พ.ศ. 2545)

พ.ศ. 2542 และ 2545

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ได้ทรงมีพระราชศรัทธาเสด็จจาริกอัญเชิญพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ขุดปฐมฤกษ์ 40 เล่ม ไปพระราชทานแก่ประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา ณ กรุงโคลัมโบ ตามคำกราบบังคมทูลของประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2548 ซึ่งนับเป็นการพระราชทานพระไตรปิฎกเป็นพระธัมมทานตามรอยประวัติศาสตร์ ฉบับ จ.ป.ร. อักษรสยาม ซึ่งได้พระราชทานไปทั่วโลกในรัชกาลที่ 5 รวมทั้งวัดพระเขี้ยวแก้ว ณ กรุงแคนดี ศรีลังกา (ดู พระสัมโมทนียกถาในสมเด็จกรมหลวงฯ พ.ศ. 2548)

พ.ศ. 2548

ในการนี้ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งได้ตามเสด็จพระราชดำเนินไปสถานที่สังคายนานานาชาติดังกล่าวข้างต้นด้วย และได้ก่อตั้งกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข เป็นประเดิมในการดำเนินงาน ต่อมากองทุนสนทนาธัมม์นำสุขได้รับอยู่ในพระสังฆราชูปถัมภ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้ทรงมีพระบัญชาแต่งตั้ง พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) และอาจารย์ สุชีพ ปุณญานุภาพ ป.ธ. 9 เป็นที่ปรึกษา

พันเอก สุรธัช บุนนาค ได้ดำเนินงานโดยกราบเรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆ เป็นที่ปรึกษาในการตรวจทาน เรียงพิมพ์ในระบบดิจิทัล พร้อมทั้งสร้างฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากลเป็นครั้งแรก ในฐานะที่เป็นผู้รับพระบัญชา หัวหน้าบรรณาธิการชุดสัชฌายะ รวมพระไตรปิฎกทั้งสิ้น 120 ชุด และเป็นหัวหน้าผู้ประดิษฐ์สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ ประมาณ 2,000 ฉบับ พันเอก สุรธัช บุนนาค ได้มอบสิทธิประโยชน์ให้มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ในการประชุมมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 โดยท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล เป็นประธานที่ประชุม

ทรัพย์สินทางปัญญา
 

ผลงานที่สำคัญของโครงการพระไตรปิฎกสากล คือ  

1. พระไตรปิฎกสากล
ฉบับมหาสังคีติ ติปิฏะกะ พ.ศ. 2500 อักษรโรมัน พ.ศ. 2548 ชุด 40 เล่ม (ดู การดำเนินงานพระไตรปิฎกสากล)

2. พระไตรปิฎกสัชฌายะ
พระไตรปิฎกสัชฌายะเป็นฉบับที่จัดพิมพ์ด้วย การถอดเสียงในทางภาษาศาสตร์  (Phonetic Transciption) โดยเป็นการบูรณาการเนื้อหาปาฬิภาสาในพระไตรปิฎกฉบับสังคายนาสากล พ.ศ. 2500 กับ อักขรวิธีการเขียนเสียงปาฬิ ในพระไตรปิฎก ฉบับ จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ทำให้สามารถจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกใหม่อีกชุดหนึ่ง โดยได้รับพระบรมราชานุญาตในรัชกาลที่ 9 ให้จัดพิมพ์ปกด้วยภาพพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. และพระนามาภิไธย ส.ก. เรียกว่า พระไตรปิฎกสัชฌายะ (Sajjhāya Phonetic Edition) ซึ่งเป็นการเรียงพิมพ์ ปาฬิภาสา ด้วย สัททะอักขะระปาฬิ เรียกว่า ชุด ภ.ป.ร. (Pāḷi Phonetic Manuscript Edition) พ.ศ. 2559 และ ชุด ส.ก. (Pāḷi Notation Edition) พ.ศ. 2559 ซึ่งจัดพิมพ์ตามสิทธิบัตรโปรแกรมการแบ่งพยางค์อัตโนมัติ เลขที่ 46390 (The World Tipiṭaka Patent No. 46390 by Suradhaj Bunnag, et at.)

ทูลเกล้าฯ ถวายในรัชกาลปัจจุบัน พ.ศ. 2560 

4. พระไตรปิฎกเสียงสัชฌายะดิจิทัล
เสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation Sound) เป็นชุดที่บันทึกเสียงในทางดุริยางคศาสตร์ โดยออกเสียงตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะปาฬิ โดยเฉพาะ เสียงละหุ และเสียงคะรุ จากพระไตรปิฎกสัชฌายะ ชุด ส.ก. ชุดสมบูรณ์ 250 เล่ม รวมเวลา 3,052 ชั่วโมง หรือ ความจุ 1.6 เทราไบต์ (ดู กระบวนการบันทึกโน้ตเสียงปาฬิ)

เสียงสัชฌายะดิจิทัล

5. พระไตรปิฎกสากล ชุดอักขะระนานาชาติ
เป็นชุดซึ่งจัดพิมพ์คู่ขนานกับ สัททะอักขะระ ชุดละ 40 เล่ม พร้อมทั้งปทานุกรมพระไตรปิฎกศึกษา รวมทั้งสิ้นประมาณ 120 ชุด ซึ่งรวมถึง ชุดพินอินของจีน และ ชุดคิรีลลิซะของรัสเซีย ซึ่งสามารถนำเสนอได้ทั้งในระบบการพิมพ์ออฟเซ็ตและดิจิทัล ตลอดจนเสียงสัชฌายะดิจิทัล (ดู ชุดอักขะระนานาชาติ)
 

พ.ศ. 2561 

โครงการพระไตรปิฎกสากล ซึ่งปัจจุบันดำเนินงานโดยมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล มุ่งหวังว่าการศึกษาเสียงปาฬิ ตลอดจนการจัดพิมพ์เป็นอักษรและสัททสัญลักษณ์สากล รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านพระไตรปิฎกปาฬิภาสาเป็นเสียงสัชฌายะในระบบดิจิทัลที่ยังมิได้มีการจัดทำมาก่อนนี้ จะเป็นการอนุรักษ์เสียงปาฬิดั้งเดิมตามหลักการปฐมมหาสังคายนา พ.ศ. 1 ซึ่งเป็นพระปณิธานในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ผู้ทรงเข้าร่วมสังคายนานานาชาติ เมื่อ พ.ศ. 2500 ครั้งประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการศึกษาพระปริยัติธัมม์ และพระไตรปิฎกศึกษาในทางสหวิชาการสมัยใหม่ โดยเฉพาะวิชาการเทคโนโลยีทางเสียงปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะเผยแผ่พระธัมม์คำสอนในสากลโลกให้แพร่หลายยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ขอน้อมถวายบุญกิริยาในการสร้างพระไตรปิฎกสากล และฉบับสัชฌายะ เป็นพระราชกุศลในสถาบันพระมหากษัตริย์พุทธมามกะไทย ขอขอบคุณมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล และผู้อุปถัมภ์ในโครงการพระไตรปิฎกสากล ตลอดจนทุกท่านที่ได้มีส่วนในการดำเนินงาน จงเจริญด้วย อายุ วัณณะ สุขะ พละ  ยิ่งๆ ขึ้นเทอญ

nibbāna paccayo hotu


ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิจินตน์ ภาณุพงศ์
ประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค
ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิญาณสังวร
พ.ศ. 2563

 

 

 

 

 

ผลงานที่สำคัญของโครงการพระไ... by Dhamma Society on Scribd