เสียงสัชฌายะในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

พระไตรปิฎก เกิดจาก “เสียง” ซึ่งพระอรหันตสาวกได้ประชุมสวดทรงจำคำสอนในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งปฐมสังคายนา พ.ศ. 1 การออกเสียงสวดทรงจำเรียกเป็นศัพท์ในพระไตรปิฎกว่า “สัชฌายะ” (Saj-jhā-ya) เสียงคำสอนเรียกว่า “ปาฬิ” (เดิมเรียกว่า บาลี) ซึ่งสืบทอดมาโดยใช้อักขะระต่างๆ เรียงพิมพ์เป็นพระชุดหนังสือไตรปิฎกของชาติต่างๆ ในปัจจุบัน

โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ดำเนินตามพระบัญชาในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช องค์พระสังฆราชูปถัมภ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 เพื่อจัดพิมพ์เสียงปาฬิในพระไตรปิฎกสากล โดยได้จัดพิมพ์เป็น “ฉบับอักขะระโรมัน” (Roman Script) ชุด 40 เล่ม สำเร็จและเผยแผ่เป็นพระธัมมทานเป็นปฐมฤกษ์ พ.ศ. 2548

พระไตรปิฎกสากล “ฉบับเสียงสัชฌายะ” (Sajjhāya Phonetic Edition) เป็นการดำเนินงานต่อยอดจากฉบับอักขะระโรมันเพื่อส่งเสริมการออกเสียงปาฬิตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะปาฬิให้แม่นตรงยิ่งขึ้นในหมู่ประชาชนทั่วไป โดยได้ศึกษาอ้างอิงตามอักขรวิธีสยามปาฬิ ในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. พุทธศักราช 2436 กล่าวคือได้นำเนื้อหาพระไตรปิฎกสากลมาเรียงพิมพ์ใหม่ด้วย “สัททะอักขะระปาฬิ” (Pāḷi Phonetic Alphabet) และถอดเสียงเป็น “โน้ตเสียงปาฬิ” (Pāḷi Notation) ในทางดุริยางคศาสตร์เพื่อความแม่นตรงในด้านจังหวะและมาตรฐานในการออกเสียงที่สามารถศึกษาได้ในระดับนานาชาติ

จากนวัตกรรม “ฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากล” (World Tipiṭaka Database) ที่ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องประมาณ 20 ปี ทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากล มีศักยภาพทำการบันทึกเสียงสัชฌายะจากโน้ตเสียงปาฬิดังกล่าว และผลิตเป็นเสียงอ่านพระไตรปิฎก ตามต้นฉบับปาฬิภาสา สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยเน้นการออกเสียงละหุ เสียงคะรุ ตลอดจนการหยุดวรรคตอนตามกฎไวยากรณ์ เพื่อความชัดเจน และง่ายต่อการออกเสียง เรียกการออกเสียงที่เป็นสากลในระบบอิเล็กทรอนิกส์นี้ว่า “เสียงสัชฌายะดิจิทัล พ.ศ. 2560” (Digital Sajjhāya Recitation Sound 2017) มีความยาวประมาณ 3,000 ชั่วโมง

อาจกล่าวได้ว่า การออกเสียงสัชฌายะดิจิทัลเป็นการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและที่ได้รับสิทธิบัตรการสร้างสรรค์ ทำการสังเคราะห์ “รูปเขียนปาฬิ" เป็น “รูปเสียงสัชฌายะ” ที่อ้างอิงให้ใกล้เคียงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในปัจจุบันกับเสียงสัชฌายะของการสังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยพุทธกาล