จปร. อนุรักษ์ดิจิทัล ปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2563
โครงการพระไตรปิฎกสากล ได้ทำการอนุรักษ์ต้นฉบับพระไตรปิฎก ร.ศ. 112 อักษรสยาม เป็นสื่อดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีทางภาพ แต่ละหน้าเก็บเป็นจดหมายเหตุอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างปี พ.ศ. 2546-2547 และได้เผยแผ่เป็นข้อมูลเบื้องต้นในระบบอินเทอร์เน็ต www.sajjhaya.org ซึ่งปัจจุบันดำเนินการโดยมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548
ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์แพร่หลายยิ่งขึ้น กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ จึงได้จัดทำโครงการต่อเนื่องขึ้นในปี พ.ศ. 2550 และจัดพิมพ์ “ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล” ชุดนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งนอกจากได้พิมพ์ภาพถ่ายจดหมายเหตุดิจิทัลพระไตรปิฎกอักษรสยามรวมทั้งสิ้น 16,248 หน้าแล้ว ยังได้มีการนำข้อมูลพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน (World Tipiṭaka Data Centric) มาจัดพิมพ์ประกอบ เป็นครั้งแรก รวม 7 รายการ คือ
1. การปริวรรตอักษร และการถอดเสียงเป็นสัททอักษร-ปาฬิ (Transliteration & Transcription) แสดงการปริวรรตอักษรในพระไตรปิฎกปาฬิ : จากอักษรสยาม-ปาฬิ เป็นอักษรโรมัน-ปาฬิ (Transliteration of Pāḷi Script from Syām-script to Roman-script) และการถอดเสียงปาฬิภาสาเป็นสัททอักษรสากล-ปาฬิ (Transcription of Pāḷi Sound in International Phonetic Alphabet-Pāḷi) มี สระ 8 เสียง และพยัญชนะ 33 เสียง รวม 41 เสียง โดยจัดพิมพ์ทุกหน้ารวม 16,248 หน้า ซึ่งพิมพ์เป็นแถวคู่กันทั้งหน้าซ้ายและขวาตามลำดับ
2. ข้อมูลโครงสร้างพระไตรปิฎกและชื่อตอน (The World Tipiṭaka Structures and Titles in Roman Script) แสดงภาพรวมที่มาของข้อมูลฉบับอักษรสยามเปรียบเทียบกับโครงสร้างฉบับสากลอักษรโรมัน โดยจัดพิมพ์ใต้ภาพถ่ายพระไตรปิฎกอักษรสยามในด้านซ้ายทุกหน้า รวม 16,248 หน้า
3. ระบบรหัสอ้างอิงพระไตรปิฎกอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tipiṭaka Quotation Number for Reference) แสดงระบบการสืบค้นข้อมูลจากพระไตรปิฎกอักษรสยามสู่ฉบับสากลอักษรโรมันในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยอ้างอิงข้อมูลในพระไตรปิฎกสากล รวม 118,280 ย่อหน้า ซึ่งสามารถนำไปจัดพิมพ์เผยแผ่ในสื่อผสมต่างๆ ได้
4. ตัวอย่างข้อมูลปาฬิ 2 ฉบับ และเทียบหน้าระหว่างอักษรโรมันกับอักษรสยาม (Example of Pāḷi Tipiṭaka Parallel Corpus in Siam-script and Roman-script) แสดงการพิมพ์เสียงปาฬิภาสา โดยเปรียบเทียบกันระหว่างพระไตรปิฎกอักษรสยามกับอักษรโรมัน ทุกหน้า 16,248 หน้า โดยพิมพ์ข้อมูลใต้ภาพถ่ายในด้านขวาของภาพถ่ายพระไตรปิฎกอักษรสยาม
5. จดหมายเหตุภาพถ่ายดิจิทัลพระไตรปิฎกอักษรสยาม ฉบับอนุรักษ์ (Digital Preservation Edition) แสดงความสามารถในการสืบค้นจดหมายเหตุภาพดิจิทัล “พระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรม ธัมมิกมหาราช อักษรสยาม ฉบับอนุรักษ์” ด้วยเทคโนโลยีทางภาพแต่ละหน้า จำนวน 16,248 หน้า ซึ่งจัดเก็บเป็นจดหมายเหตุในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
6. ข้อมูลท้ายอรรถ (Endnotes) แสดงรายละเอียดคำศัพท์และรูปคำที่พิมพ์ต่างกัน (Variant Readings) ระหว่างพระไตรปิฎกอักษรสยามกับอักษรโรมัน ทั้งหมดจำนวน 7,414 รายการ ซึ่งเดิมได้จัดพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งในเชิงอรรถพระไตรปิฎกสากล ซึ่งในฉบับอนุรักษ์นี้ได้จัดพิมพ์รวมกันไว้ในตอนท้ายของหนังสือ
7. ดัชนีศัพท์ ปาฬิภาสา-อักษรโรมัน (Index of Pāḷi Words in Roman script) แสดงจำนวนคำศัพท์ ปาฬิภาสา-อักษรโรมัน ในพระไตรปิฎกสากล และชี้ตำแหน่งของศัพท์เหล่านั้นในพระไตรปิฎก ปาฬิภาสา-อักษรสยาม ฉบับ จปร. รวม 109,629 คำ เพื่อสะดวกในการค้นหาศัพท์ในฉบับ จปร. โดยจัดพิมพ์ไว้ในตอนท้ายของหนังสือ และสามารถสืบค้นที่ Tipitaka Studies Reference
ตัวอย่างการพิมพ์ฉบับอนุรักษ์ครั้งนี้ นอกจากเป็นการเปิดมิติใหม่ของสื่อผสมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการจัดพิมพ์ที่ทันสมัยแล้ว ยังได้บูรณาการวิธีนำเสนอข้อมูลของพระไตรปิฎกอักษรสยามและอักษรโรมันทั้งสองฉบับ ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงในวงการวิชาการ โดยเฉพาะในสถาบันนานาชาติจำนวนไม่น้อยกว่า 260 สถาบัน ใน 30 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับพระราชทานพระไตรปิฎกอักษรสยามเมื่อศตวรรษที่แล้ว
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นประธานการพิมพ์พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล พ.ศ. 2554 ชุด 40 เล่ม และได้เสด็จจาริกอัญเชิญไปพระราชทานถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชแห่งเมียนมาร์ พร้อมกับพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน พ.ศ. 2548 ซึ่งได้จัดพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นชุดสมบูรณ์ชุดแรก โดยมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ตามคำกราบบังคมทูลเชิญจากฝ่ายพม่า ในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554