World Sajjhāya Phonetic Edition

พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา)

รายละเอียดการพิมพ์  สัช์ฌาย-เตปิฏก
พระไตรปิฎกสัชฌายะ พ.ศ. ๒๕๖๑

ต้นฉบับพระไตรปิฎกสัชฌายะ (Saj-jhā-ya : The Phonetic Edition) จัดทำตามพระบัญชาในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พระสัมโมทนียกถา พ.ศ. ๒๕๔๒) โดยนำเนื้อหาพระไตรปิฎกปาฬิจากฉบับสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. ๒๕๐๐ มา “ถอดอักขะระ” (Transliteration) พิมพ์เป็นอักขะระโรมัน-ปาฬิ และตรวจสอบทวนทานให้แม่นยำยิ่งขึ้น ดำเนินงานโดยอาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. ๙ และคณะ โดยมีพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) เป็นผู้เขียนคำนำ นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการ “ถอดเสียงปาฬิ” (Transcription) เป็น “สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” เป็นครั้งแรก จากอักขรวิธี “ไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ” ในฉบับ จ.ป.ร. พ.ศ. ๒๔๓๖ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชแห่งกรุงสยาม ได้ทรงสร้างไว้เป็นพระไตรปิฎกชุดหนังสือ และพระราชทานไปทั่วโลก ซึ่งสืบทอดมาจากต้นฉบับใบลาน อักขะระขอม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ. ๒๓๓๑

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กุลเชษฐ์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ในรัชกาลปัจจุบัน ทรงรับเป็นประธานกิตติมศักดิ์โครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. ๒๕๔๗ และพระราชทานแก่สถาบันสำคัญในนานาประเทศตั้งแต่ พ.ศ.​ ๒๕๔๘ จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งได้จัดพระราชทานตามรอยประวัติศาสตร์ ฉบับ จ.ป.ร. ไม่น้อยกว่า ๑๒๐ สถาบัน ใน ๒๐ ประเทศทั่วโลก

การจัดพิมพ์ฉบับสัชฌายะจึงเป็นการถอดเสียงเป็น “สัททะอักขะระ-ปาฬิ” (Phonetic Alphabet-Pāḷi) ในทางภาษาศาสตร์เป็นครั้งแรก ซึ่งได้พัฒนาต่อยอดเขียนเป็น “โน้ตเสียงปาฬิ” (Pāḷi Notation) ในทางดุริยางคศาสตร์ซึ่งยังไม่เคยมีการจัดทำมาก่อน ในการนี้เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ มาทอดพระเนตรนิทรรศการพระไตรปิฎกสัชฌายะ จึงมีพระราชศรัทธาพระราชทานภาพพระนามาภิไธย ส.ก. จัดพิมพ์บนปก เรียกว่า พระไตรปิฎกสัชฌายะ โน้ตเสียงปาฬิ ฉบับ ส.ก. (คู่มือการออกเสียงปาฬิ) พ.ศ. ๒๕๕๙ ชุด ๔๐ เล่ม การจัดทำโน้ตเสียงปาฬิจึงทำให้สามารถอนุรักษ์ต้นฉบับปาฬิภาสาขึ้นใหม่อีกชุดหนึ่งให้แม่นตรงยิ่งขึ้น โดยถอดเสียงเป็น อักขรวิธีใหม่ เรียกว่า “ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ” พิมพ์คู่ขนานกับต้นฉบับ อักขรวิธีไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานภาพพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. จัดพิมพ์ลงบนปกเรียกว่า พระไตรปิฎกสัชฌายะ ฉบับ ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา) พ.ศ. ๒๕๕๙ ชุด ๔๐ เล่ม

ชุด “สัททะอักขะระ-ปาฬิ” คัดเลือกโดยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอและตีพิมพ์โดยราชบัณฑิตยสถานตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน ในการนี้มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล นำโดย ท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์ ประธานมูลนิธิฯ ร่วมกับนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนายเกษม คมสัตย์ธรรม ผู้แทนประธานศาลปกครองสูงสุด ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสมโภชพระไตรปิฎกสัชฌายะฉบับดังกล่าว ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ณ วังศุโขทัย

การจัดพิมพ์อักขรวิธี ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ เป็นการจัดพิมพ์ด้วยระบบฐานข้อมูล ซึ่งศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สันทัด โรจนสุนทร นายกราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้ให้ข้อมูลยืนยันทางวิชาการว่าเป็นการเขียนเสียงละหุเสียงคะรุตามอักขรวิธีไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ ที่สามารถศึกษาและพิสูจน์ด้วยสูตรคณิตศาสตร์ ซึ่งสกัดโดยศาสตราจารย์ ดร.ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ แผนกวิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราชบัณฑิตสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน และได้ตีพิมพ์ในหนังสือราชบัณฑิตยสถาน ๘๐ ปี พ.ศ. ๒๕๕๗

จากข้อมูลต่างๆ เบื้องต้นโครงการพระไตรปิฎกสากลได้ริเริ่มสร้างโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อกระบวนการตัดพยางค์ดิจิทัลของข้อมูลปาฬิภาสาซึ่งนำไปประยุกต์ใช้กับระบบคอมพิวเตอร์ โดยแสดงรูปการพิมพ์ดังนี้ เสียงคะรุ (ออกเสียงนาน) ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลสีเข้มทึบ และเสียงละหุ (ออกเสียงเร็ว) ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลสีเบาโปร่ง

กล่าวโดยสรุป โครงการพระไตรปิฎกสัชฌายะได้ตรวจสอบกระบวนการแสดงผลดิจิทัลตามหลักการในทางวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์และภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากล และได้แจ้งผลงานเป็นทะเบียนเอกสาร ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้แก่

๑. โปรแกรมคอมพิวเตอร์สยาม-ปาฬิ (Syām Pāḷi Computer Source Code)   
โปรแกรมคอมพิวเตอร์สยาม-ปาฬิ ลิขสิทธิ์เลขที่ ๓๐๘๗๖๙ มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ได้ประดิษฐ์เป็นอักขรวิธีไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ ด้้วยระบบคอมพิวเตอร์ จากแนวคิดสิทธิบัตร เลขที่ ๔๖๓๙๐ ซึ่งเป็นโปรแกรมการตัดคำปาฬิ-อักขะระสยาม เป็นพยางค์ (Syām Pāḷi Syllable e-Segmenting)
 

๒. โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไทย-ปาฬิ (Thai Pāḷi Computer Source Code)
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ไทย-ปาฬิ ลิขสิทธิ์เลขที่ ๓๐๕๑๒๙ มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้ประดิษฐ์ เป็น อักขรวิธี ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ถอดเสียงมาจากอักขรวิธีไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ ด้้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Syām Pāḷi to Thai Pāḷi Mapping) จากแนวคิดสิทธิบัตรเลขที่ ๔๖๓๙๐ ทำให้สามารถแสดงรูปเสียงคะรุด้วยสีเข้มทึบ และรูปเสียงละหุด้วยสีเบาโปร่ง ประดิษฐ์เป็นฟอนต์ (Font) หรือ อักขะระการพิมพ์ดิจิทัล  (Digital Typography) เป็นครั้งแรก ซึ่งแม่นตรงตามกฎไวยากรณ์กัจจายนะ-ปาฬิ 

๓. การตรวจทานอัตโนมัติ (Automated Pāḷi Unit Testing)
กระบวนการตรวจทานในข้อ ๑ และข้อ ๒ ข้างต้น ใช้วิธีอัตโนมัติระดับหน่วยซอร์สโค้ดทำให้สามารถยืนยันได้ว่าการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสัชฌายะ ซึ่งพิมพ์คู่ขนานระหว่างอักขรวิธีไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ กับอักขรวิธีละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ มีความถูกต้องแม่นตรงเป็นชุดสากล ๔๐ เล่ม พ.ศ. ๒๕๕๙ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิ ซึ่งสำเร็จได้ในรัชกาลปัจจุบัน 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับเป็นประธานการจัดพิมพ์ และได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพระนามาภิไธย ม.ว.ก. พร้อมพระกถาธัมม์ ลงพิมพ์ทุกเล่มพระคัมภีร์พระไตรปิฎกสัชฌายะ ชุด ๔๐ เล่ม เพื่อเป็นพุทธบูชาและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ผู้ทรงมีพระราชศรัทธาในการอนุรักษ์พระไตรปิฎก จัดพิมพ์ในพระราชวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ ๗๐ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามหนังสือสำนักราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ พว ๐๐๐๕.๑/๑๕๖๒  ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

โครงการพระไตรปิฎกสากลหวังอย่างยิ่งว่า ข้อมูลพระไตรปิฎกปาฬิภาสาที่ได้ตรวจทานแล้วอย่างดีโดยการสังคายนานานาชาติและได้รับการอนุรักษ์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะเป็นประโยชน์ต่อไปต่อนักวิชาการในทางสหสาขาวิชา เพื่อการศึกษาและค้นคว้าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป

 

(นายสิริ  เพ็ชรไชย  ป.ธ. ๙)

ประธานโครงการพระไตรปิฎกสากล
และ
ประธานกองทุน​สน​ทนาธัมม์​นำ​สุข​ ท่านผู้หญิง​ ​ม​.​ล​.​ มณี​รัตน์​ ​บุนนาค​
ใน​พระ​สังฆ​ราชูปถัมภ์​สมเด็จ​พระ​ญาณ​สังวร​ ​สมเด็จ​พระ​สังฆราช​ ​สกล​มหา​สังฆ​ปริณายก​ พระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๕๑

ผู้จัดทำต้นฉบับ

 

(ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์  ภาณุพงศ์)

ประธานกองทุน​สน​ทนาธัมม์​นำ​สุข​ ท่านผู้หญิง​ ​ม​.​ล​.​ มณี​รัตน์​ ​บุนนาค​
ใน​พระ​สังฆ​ราชูปถัมภ์​สมเด็จ​พระ​ญาณ​สังวร​ ​สมเด็จ​พระ​สังฆราช​ ​สกล​มหา​สังฆ​ปริณายก​ พระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๕๕๑-ปัจจุบัน (๒๕๕๙)

ผู้จัดทำต้นฉบับ

 

(ท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์  บุณยคุปต์)

ผู้แทนผู้อุปถัมภ์โครงการพระไตรปิฎกสากล 
และ
ประธานมูลนิธิพระ​ไตรปิฎก​สากล พ.ศ. ๒๕๕๑-ปัจจุบัน (๒๕๕๙)

ผู้เผยแผ่

คำนำพระไตรปิฎกสัชฌายะ ชุด ภ... by Dhamma Society on Scribd