20 ปี โครงการพระไตรปิฎกสากล

โครงการ​พระ​ไตรปิฎก​สากล​ พ.ศ. 2542-2562 :​ ​

กำเนิด​

กองทุน​สน​ทนาธัมม์​นำ​สุข​ ​ท่านผู้หญิง​ ​ม.ล​.​ ​มณี​รัตน์​ ​บุนนาค​ ​ใน​พระ​สังฆ​ราชูปถัมภ์​สมเด็จ​พระ​สังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ​(ปัจจุบันดำเนินงานโดยมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ตั้งแต่ พ.ศ. 2555) ได้​ริเริ่ม​โครงการ​พระ​ไตรปิฎก​สากล​ ​ใน​ ​พ.ศ​.​ ​2542​ ​เนื่องจาก​ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้​รับ​การ​บอกบุญ​จาก​ต่าง​ประเทศ​ให้​อุปถัมภ์​การพิมพ์พระไตรปิฎกซึ่ง​บันทึก​พระพุทธ​พจน์​ของ​พระ​สัมมา​สัม​พุทธ​เจ้า​โดย​จัด​พิมพ์​เป็น​อักษร​โรมัน​ (Roman Script) ​

พระ​ไตร​ปิฎก​ปาฬิ​ ​ชุด​สมบูรณ์​ ​40​ ​เล่ม​ ​ที่จัด​พิมพ์​ด้วย​อักษร​โรมัน​ จากต้นฉบับการสังคายนานานาชาติโดยคณะสงฆ์เป็น "ปาฬิ​ภาสา" (Pāḷi Bhāsā หรือเดิมเรียกกันว่า ภาษาบาลี) ​ใน​พระพุทธ​ศาสนา​เถรวาท​ตลอด​ระยะ​เวลา​กว่า​ ​25​ ​พุทธ​ศตวรรษ​ ซึ่งยัง​มิ​เคย​มี​การ​จัด​พิมพ์​เป็น​อักษร​โรมัน​ ชุด​สมบูรณ์​มา​ก่อน​ ​ณ​ ​ที่​ใด​ใน​โลก

ต้นฉบับ​ปาฬิ​

ต้นฉบับ​พระ​ไตร​ปิฎก​ปาฬิ​ฉบับ​นี้​ ​รู้จัก​กัน​โดย​ทั่วไป​ว่า​ ​พระ​ไตร​ปิฎก​ปาฬิ​ ​ฉบับ​ฉัฏฐ​สังคีติ​ ​(Chaṭṭhasaṅgīti​ Tipiṭaka Edition) พิมพ์​เสียงปาฬิด้วย​อักษร​พม่า​ ​เป็น​ผล​งานการ​ประชุม​สังคายนา​ระดับ​นานาชาติ​ครั้ง​เดียว​ของ​โลก​ ​ซึ่ง​พระ​สงฆ์​ใน​พระพุทธ​ศาสนา​เถรวาท​ผู้ทรง​ความ​รู้​พระ​ไตร​ปิฎก​ปาฬิ​จาก​นานาชาติทั่ว​โลก​ได้​ประชุม​ออกเสียงสวดเป็นปาฬิภาสา และบันทึกเป็นพระไตรปิฎก อักษรพม่า ​ณ​ ​นคร​ย่างกุ้ง ระหว่าง​ ​พ.ศ​.​ ​2496​-​2500


ฉบับอักษรพม่า พ.ศ. 2500 อ้างอิงฉบับอักษรสยาม พ.ศ. 2436
ปัจจุบันจัดพิมพ์เป็นฉบับอักษรโรมัน พ.ศ. 2548

ประมุข​พุทธมามกะ​และ​ผู้​แทน​รัฐบาล​ต่างๆ​ ​ได้​แสดง​ความ​ยินดี​ใน​การ​ประชุม​สังคายนานานาชาติ​ดัง​กล่าว​ ​ซึ่ง​พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ​และ​สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ​ได้​เสด็จฯ​ ​ไป​ทรง​ร่วม​อนุโมทนา​ ​ณ​ ​สถาน​ที่​สังคายนา​ ​ใน​วโรกาส​ที่​เสด็จฯ ​เยือน​ประเทศ​พม่าอย่างเป็นทางการ​เมื่อ​ พ.ศ. 2503 ในการนี้ประธานาธิบดีพม่าได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระไตรปิฎก ฉบับฉัฏฐสังคีติชุด 40 เล่ม แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปัจจุบัน​พระ​ไตร​ปิฎก​ปาฬิ​ฉบับ​นี้​ ​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​ว่า​เป็น​พระ​ไตรปิฎก​ที่​เป็น​มาตรฐาน​ใน​ระดับ​นานาชาติ​ของ​พระพุทธ​ศาสนา​เถรวาท​ทั่ว​โลก

สมเด็จ​พระ​สังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช​พระองค์ที่ 19 ผู้ทรง​เป็น​ผู้​แทน​ผู้​เชี่ยวชาญ​พระ​ไตร​ปิฎก​ปาฬิ​จากประเทศไทย​ ได้ทรง​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​สังคายนา​นานาชาติ ​พ.ศ​.​ ​2500​ ​และ​ใน​การ​ตรวจ​ทาน​เพื่อ​จัด​พิมพ์​ใหม่ใน​ ​พ.ศ​.​ ​2542​ ​ได้​ทรง​มี​พระ​บัญชา​ประกาศ​แต่ง​ตั้ง​คณะ​กรรมการ​ตรวจ​ทาน​และ​จัดพิมพ์​ในโครงการพระไตรปิฎกสากล ​โดย​ได้​ประทาน​ชื่อ​พระ​ไตรปิฎก​ชุดที่จัดพิมพ์ใหม่เป็น​อักษรโรมัน ว่า​ ​Mahāsaṅgīti​ ​Tipiṭaka​ ​Buddhavasse​ ​2500​ ​และ​ชื่อ​เป็น​ภาษา​ไทย​ว่า​ ​พระ​ไตร​ปิฎก​ปาฬิ​ ​ฉบับ​มหา​สังคายนา​สากล​นานาชาติ​ ​พ.ศ​.​ ​2500​ ​พิมพ์​อักษร​โรมัน​ ​พ.ศ​.​ 2548​ ​(​The​ ​Buddhist​ ​Era​ ​2500​ ​Great​ ​International​  Council​ ​Pāḷi​ ​Tipiṭaka​,​ ​Roman​ ​Script​ ​2005​)​

ใน​การ​จัด​เตรียม​ต้นฉบับ​อักษร​โรมัน​ ​โครงการ​พระ​ไตรปิฎก​สากล​ ​ได้​ทำการค้นคว้าหาต้นฉบับชุดเดียวกับที่ประธานาธิบดีพม่าได้ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งคาดว่าพิมพ์หลังการสังคายนา พ.ศ. ​2500 พร้อมทั้งเปรียบเทียบกับต้นฉบับยกร่างที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงนำกลับมาจากประเทศพม่า พิมพ์ พ.ศ. 2498 และอีกฉบับหนึ่งจากมูลนิธิภูมิพโลภิกขุซึ่งทำสำเนามาจากพระธัมมานันทะมหาเถระ เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง สันนิษฐานว่าพม่าจัดพิมพ์ในปีที่จบการสังคายนา พ.ศ. 2500 เพื่อเป็นหลักฐานของการจบงานสังคายนา

(​ดูรายละเอียดต้นฉบับอักษรพม่า ในคำนำพระไตรปิฎกสากล โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (​ป.อ. ปยุตโต)​)​

นอกจากนี้ยังได้ใช้​ข้อมูล​บาง​ส่วน​ของ​ต้นฉบับ​อิเล็กทรอนิกส์​ ​2 ​แหล่ง​ ซึ่ง​รวมฉบับอิเล็กทรอนิกส์จากสถาบันวิจัยวิปัสสนา VRI ซึ่งโครงการพระไตรปิฎกสากลได้​รับ​มอบ​เป็น​ธัมม​ทาน​จากท่าน เอส เอ็น โกเอ็นก้า​ เป็น​ฐาน​ข้อมูล​เบื้อง​ต้น​ ​

การตรวจทาน

ในการดำเนินงานคณะ​กรรมการ​ตรวจ​ทาน​​ได้​พบ​ว่า​ทั้งข้อมูลฉบับพิมพ์และข้อมูล​อิเล็กทรอนิกส์ดัง​กล่าว​ยัง​มี​ข้อ​บกพร่อง​และ​มี​การ​พิมพ์​ผิด​พลาด​ ซึ่งได้ทำเครื่องหมายข้อแตกต่างที่สำคัญรวมจำนวนประมาณ 40,000 ตำแหน่ง เพื่อแก้ไข นอกจากนี้ในต้นฉบับอักษรพม่าเล่มที่ 39-40 คณะ​กรรมการ​ตรวจ​ทาน​​ยังพบว่าพระไตรปิฎก อักษรพม่า ที่พิมพ์ขึ้นภายหลังการสังคายนา มิได้พิมพ์ตามมติของคณะสงฆ์ เพราะในบทหมายเหตุ หรือ วิญญาปนัง ​(​viññāpanaṁ) กล่าวไว้ว่ามิได้จัดพิมพ์รายละเอียดที่เรียกว่า สังขยาวาระ (​saṅkhyāvāra) (เลขจำนวนองค์ธัมม์) ดังนั้นโครงการพระไตรปิฎกสากล​จึง​ต้อง​ดำเนิน​การ​ตรวจ​ทาน​ต้นฉบับ​ใหม่​ทั้งหมด​ ​3 ​ครั้ง​ ​โดยตรวจสอบกับฉบับอื่นๆ (ดูการอ้างอิงเลขหน้ากับฉบับอื่นๆ ที่สำคัญของโลก 12 ฉบับ) ด้วย​วิธี​พิเศษ​ ​คือ​ ​การออก​เสียง​ปาฬิ​ด้วยการ​อ่าน​สัชฌายะ ​(​Pāḷi​ Recitation​)​ ​โดย​ผู้​เชี่ยวชาญ​พระ​ไตรปิฎก​จากมูลนิธิภูมิพโลภิกขุและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ​ ​เพื่อ​ตรวจ​สอบ​การ​พิมพ์​เสียง​ปาฬิ​ตาม​ต้นฉบับ​ ​และ​แก้ไข​คำ​พิมพ์​ผิด​ให้ถูกต้อง พร้อมทั้งเพิ่มเติมข้อมูลต่างๆ รวมทั้งสังขยาวาระดังกล่าวด้วย ​พระ​ไตร​ปิฎก​ปาฬิ​ทั้ง​ชุด​ ​40​ ​เล่ม​ ที่ตรวจทานแล้ว ​มี​จำนวน​คำทั้งสิ้น ​​2,708,706 ​คำ​ ​หรือ​ 9,442,442 พยางค์ หรือ ​20,606,104 อักษร​โรมัน​ ใช้เวลาดำเนินการรวม 6 ปี

กล่าวโดยสรุป จากการตรวจทานต้นฉบับฉัฏฐสังคีติ อักษรพม่า พ.ศ. 2500 และต้นฉบับอิเล็กทรอนิกส์ที่องค์กรต่างๆ ได้ปริวรรตจาก อักษรพม่า เป็น อักษรโรมัน และ อักษรไทย โดยเผยแผ่ในระบบอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน เช่น สถาบัน VRI ที่อ้างอิงกับ ฉบับฉัฏฐสังคีติ พ.ศ. 2500 และ เว็บไซต์พระไตรปิฎก 84000.org ที่อ้างอิงกับฉบับสยามรัฐ พ.ศ. 2470 นั้น ก็ยังมีเนื้อหาไม่แม่นตรงกับ ฉบับฉัฏฐสังคีติ พ.ศ. 2500 หรือ ฉบับสังคายนานานาชาติที่เป็นมาตรฐานของโลก ซึ่งปัจจุบันได้ตรวจทานใหม่และจัดพิมพ์เป็นฉบับอักษรโรมันชุดสมบูรณ์เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2548 และปรับปรุงเป็น สัททะอักขะระ (Phonetic Alphabet) พ.ศ. 2562 มีชื่อว่า พระไตรปิฎกฉบับมหาสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. 2500 ซึ่งโครงการพระไตรปิฎกสากลจัดพิมพ์ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร 

ข้อสรุปนี้มิได้หมายว่าพระไตรปิฎกฉบับอื่นๆ ไม่ถูกต้อง แต่หมายถึงการเรียงพิมพ์ในบางส่วนยังมีความบกพร่อง ซึ่งปัจจุบันการใช้หลักวิชาการทางเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถพิสูจน์ได้ในรายละเอียด และแก้ไขการพิมพ์ให้สมบูรณ์ได้ ด้วยเหตุนี้ การสืบค้นต้นฉบับพระไตรปิฎก ประวัติการสังคายนา สำนักพิมพ์ และปีที่จัดพิมพ์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการอ้างอิง


ส่วนหนึ่งของต้นฉบับการตรวจทาน ซึ่งพบข้อแตกต่างจากต้นฉบับสังคายนานานาชาติ

ผลการ​ตรวจ​ทาน​และ​จัด​พิมพ์​เป็น​อักษร​โรมัน​

โครงการ​พระ​ไตรปิฎก​สากล​ ​ได้​เพิ่ม​ข้อมูล​อ้างอิง​เลขหน้ากับพระ​ไตร​ปิฎก​ปาฬิ​ ​อักษร​ต่างๆ​ ​ไม่น้อยกว่า​ 12​ ​ฉบับ​ของ​โลกจากการตรวจทานที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น​ ซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ในคลังพระ​ไตรปิฎก​อักษร​นานาชาติ​กว่า​ ​2,000​ ​เล่ม ​โดย​ได้​มอบ​เป็น​ธัมม​บรรณาการ​แก่​จุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย​ ​ปัจจุบัน​ประดิษฐาน​ ​ณ​ ​หอ​พระ​ไตรปิฎก​นานาชาติ​ ​อาคาร​มหาจุฬาลงกรณ์ซึ่งเป็นอาคารเก่า​แก่​แห่ง​แรก​ของ​มหาวิทยาลัย​ 

เพื่อสรุปผลการตรวจทานสำหรับนักวิชาการที่จะทำการศึกษาต่อไป (World Tipiṭaka Critical Apparatus) โครงการพระไตรปิฎกสากลจึงได้จัดทำเป็นข้อมูลพระไตรปิฎกศึกษาอ้างอิง โดยเฉพาะคำที่พิมพ์ต่างกัน (Variant Readings) แบ่งเป็นรายละเอียดต่างๆ จำนวน 6 เล่ม ซึ่งจัดพิมพ์เป็นชุด พระไตรปิฎกอ้างอิงสากล ชุด 40 เล่ม พ.ศ. 2551

ศาสตราจารย์วิสุทธิ์ บุษยกุล ประธานโครงการพระไตรปิฎกสากล และราชบัณฑิต ร่วมกับอาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. 9 ประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ได้เชิญท่าน เอส เอ็น โกเอ็นก้า ประธานสภาบันวิจัยวิปัสสนา มาร่วมประชุมและแจ้งผลการตรวจทานดังกล่าวในโอกาสที่โครงการพระไตรปิฎกสากลเชิญท่านมาแสดงปาฐกถาเรื่อง พระไตรปิฎกกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เนื่องในวาระ 100 ปี พระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.​ 2546 ต่อมาศาสตราจารย์วิสุทธิ์ บุษยกุล ได้เปิดเผยข้อมูลการตรวจทานของโครงการพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน โดยแสดงปาฐกถาพิเศษในที่ประชุมทางวิชาการของสมาคมพระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติ ครั้งที่ 13 (International Association of Buddhist Studies XIII) ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2546


ศาสตราจารย์วิสุทธิ์ บุษยกุล (ขวา) 
ปาฐกถาพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2545

งาน​ตรวจ​ทาน​ที่​ละเอียด​ประณีต​นี้​สำเร็จ​ได้​ด้วย​ ​เทคโนโลยี​ธัมมะ​ ​คือ​ ​การ​ใช้​เทคโนโลยี​ที่​เหมาะ​สม​และ​พอ​เพียง​ใน​ทาง​ธัมมะ​ ​โดย​เฉพาะ​การ​ประยุกต์​ใช้​เทคโนโลยี​สารสนเทศ​ที่​ทัน​สมัย​ที่สุด​ใน​ยุคนั้น ภาย​ใต้​การ​ดำเนิน​งาน​ทาง​วิศวกรรมศาสตร์​คอมพิวเตอร์​ ซึ่ง​ควบคุม​โดย​ผู้​เชี่ยวชาญ​ที่​เป็น​ผู้​มี​ศรัทธา​และ​มี​ความ​รู้​ใน​พระพุทธ​ศาสนา​เถรวาท​ ​โครงการ​พระ​ไตรปิฎก​สากล​ระหว่าง​ ​พ.ศ​.​ ​2543​-​2548​ ​ได้​ใช้​เวลาตรวจ​ทาน​ 3​ ​ปี​ ​ประมาณ​ 80,000​ ​ชั่วโมง​ ​และ​ต่อ​มา​อีก​ ​2​ ​ปี​ ​จำนวน​กว่า​ ​20,000 ​ชั่วโมง​ ​ใน​การ​บันทึก​ข้อมูล​อิเล็กทรอนิกส์​เพื่อ​วาง​รูป​แบบ​ต้นฉบับ​และ​จัดการ​พิมพ์​ ​

นอกจากนี้ระหว่าง พ.ศ. 2549-2562 โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ทำการศึกษาอักขรวิธีอักษรสยามในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. พ.ศ. 2436 และสร้างเป็นโปรแกรมตัดพยางค์สัชฌายะอัตโนมัติ สิทธิบัตรเลขที่ 46390 ตลอดจนพัฒนาเป็นฐานข้อมูลสัททะอักขะระปาฬิ (Pāḷi​ Phonetic Alphabet)

การ​ควบคุม​คุณภาพ​ของ​การ​ตรวจ​ทาน​สัมฤ​ทธิ​ผล​ได้​ด้วย​กา​รบู​รณา​การ​ระหว่าง​ผู้​เชี่ยวชาญ​สห​วิชาการ​ ​ซึ่ง​โครงการ​พระ​ไตรปิฎก​สากล​ได้​รับ​ความ​ร่วม​มือ​อย่าง​เต็ม​ที่​จาก​คณะสงฆ์​​ ​ตลอด​จน​ผู้ทรง​ความ​รู้​ใน​วิชาการ​ต่างๆ​ ​จาก​สถาบัน​ใน​ประเทศ​ต่างๆ​ ​มีน​วัต​กรรม​ที่​สำคัญ​ ​คือ​ ​รูป​แบบ​ใหม่​ของ​การ​จัด​เก็บ​ข้อมูล​พระ​ไตรปิฎก​​เป็น​ฐาน​ข้อมูล​อิเล็กทรอนิกส์​ ​ซึ่ง​อาสา​สมัคร​จาก​จุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย​​และ​สมาชิก​กองทุน​สน​ทนาธัมม์​นำ​สุขฯ​ ​ได้​พัฒนา​เป็นมาตรฐานสากล​ขึ้น​เป็น​ครั้ง​แรก


ฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน


สมเด็จพระญาณสังวรฯ องค์พระสังฆราชูปถัมภ์
ทรงตรวจต้นฉบับอักษรโรมัน พ.ศ. 2545

มาตรฐานการเรียงพิมพ์

มาตรฐาน​แรก​ ​มาตรฐาน​การ​พิมพ์​พระ​ไตรปิฎก​สากล​ ​ ​(​Publication​ ​Standard​)​ ​ได้แก่​ ​การ​ใช้​ระบบ​เรียง​พิมพ์​ที่​ทัน​สมัย​ ​(​Latex​ ​Digital​ ​Typesetting​)​ ​จัด​พิมพ์​พระ​ไตรปิฎก​สากล​ด้วย​อักษร​โรมัน​ ​ซึ่ง​เป็น​อักษร​สากล​ของ​โลก​ที่​นานาชาติ​สามารถ​อ่าน​ออก​เสียง​ปาฬิ​ได้​ ​

​ มาตรฐาน​ที่​สอง​ ​คือ​ ​มาตรฐาน​อิเล็กทรอนิกส์​แบบ​เปิด​ที่​เป็น​สากล​ของ​ฐาน​ข้อมูล​พระ​ไตร​ปิฎก​ปาฬิ​ ​(​Electronic​ ​Open​ ​Standard​ ​of​ ​Pāḷi​ ​Tipiṭaka​ ​Database​)​ ​ซึ่ง​สามารถ​นำ​ไป​พัฒนา​ใน​เทคโนโลยี​สารสนเทศ​ใน​ระบบ​สากล​ต่อ​ไป​ได้​ ​

มาตรฐาน​ที่​สาม​ ​คือ​ ​มาตรฐาน​การ​ศึกษา​พระ​ไตร​ปิฎก​ปาฬิ​ใน​พระพุทธ​ศาสนา​เถรวาท​ ​ได้แก่​ ​ระบบ​การ​ศึกษา​พระ​ไตรปิฎก​อ้างอิง​ระดับ​นานาชาติ​ ​(​International​ ​Tipiṭaka​ ​Studies​ ​Reference​)​ ​ซึ่ง​ได้​นำ​เสนอ​ด้วย​กระบวน​วิธี​ที่​สืบทอด​มา​ใน​พระพุทธ​ศาสนา​เถรวาท​ ​อาทิ​การ​สังคายนา​ ​และ​การ​สัชฌายะการ​ออก​เสียง​ปาฬิ​ ​เป็นต้น​ ​พร้อม​ทั้ง​ระบบ​พระ​ไตรปิฎก​ศึกษา​ ที่เรียกว่า ชุดพระไตรปิฎกอ้างอิง​สากล อักษร​โรมัน​ ซึ่งจัดพิมพ์เป็นชุด 40 เล่ม ครั้งแรกใน พ.ศ. 2551


พระไตรปิฎกอ้างอิงสากล ชุด 40 เล่ม พ.ศ. 2551

การ​เผยแผ่​ชุด​ปฐมฤกษ์​เป็น​พระ​ธัมม​ทาน​

การ​ประกาศ​การ​ดำเนิน​งาน​โครงการ​พระ​ไตรปิฎก​สากล​อักษร​โรมัน​ ​ได้​จัด​ขึ้น​เป็น​พิเศษ​ทั้ง​ใน​การ​ประชุม​ทาง​พระพุทธ​ศาสนา​ ​และ​ใน​การ​ประชุม​วิชาการ​ระดับ​นานาชาติ​ทั้ง​ใน​ประเทศ​และ​ต่าง​ประเทศ​ระหว่าง​ ​พ.ศ​.​ 2545​-​2546​ ​และ​ใน​ปี​ ​พ.ศ​.​ ​2547​ ​ได้​ประกาศ​การ​ดำเนิน​งาน​ครั้ง​สุดท้าย​อย่าง​เป็น​ทางการ​ใน​งาน​ปาฐกถา​พิเศษ​หน้า​พระที่นั่ง​สมเด็จ​พระเจ้า​พี่​นาง​เธอ​ ​เจ้า​ฟ้า​กัลยาณิ​วัฒนา​ ​กรม​หลวง​นราธิวาส​ราช​นครินทร์​ ​ณ​ ​หอ​ประชุม​ใหญ่​กระทรวง​เทคโนโลยี​สารสนเทศ​และ​การ​สื่อสาร​ ​กรุงเทพฯ​ ​เรื่อง​ ​112​ ​ปี​ ​พระ​ไตร​ปิฎก​ปาฬิ​ ​ฉบับ​จุลจอม​เก​ล้า​บรม​ธัม​มิ​กม​หา​ราช​ ​ร.ศ​.​ ​112​ ​:​ ​พระ​ไตร​ปิฎก​ปาฬิ​ ​ฉบับ​พิมพ์​ชุด​แรก​ของ​โลก​ ​เทคโนโลยี​ธัมมะ​สู่​โลก​โดย​คน​ไทย​î​ ​(ดู สูจิบัตร ​112​ ปี พระ​ไตร​ปิฎก​ปาฬิ​ ​ฉบับ​จุลจอม​เก​ล้า​บรม​ธัม​มิ​กม​หา​ราช​ ​ร.ศ​.​ ​112​ ​:​ ​พระ​ไตร​ปิฎก​ปาฬิ​ ​ฉบับ​พิมพ์​ชุด​แรก​ของ​โลก​ ​เทคโนโลยี​ธัมมะ​สู่​โลก​โดย​คน​ไทย)

พ.ศ​.​ ​2548​ ​โครงการพระไตรปิฎกสากล ​ได้​เริ่ม​ดำเนิน​การ​พิมพ์​พระ​ไตรปิฎก​สากล​ ​ชุด​ ​40​ ​เล่ม​ ​เพื่อ​เป็นพระ​ธัมม​ทาน​จาก​ชาว​ไทย​แก่​สถาบัน​ใน​ประเทศ​ต่างๆ​ ​ทั่ว​โลก​ ​ใน​การ​นี้​ ​สมเด็จ​พระเจ้า​พี่​นาง​เธอ​ ​เจ้า​ฟ้า​กัลยาณิ​วัฒนา​ ​กรม​หลวง​นราธิวาส​ราช​นครินทร์​ ​ผู้ทรง​เป็น​กุล​เชษฐ์​พระ​ราช​นัดดา​ใน​พระบาท​สมเด็จ​พระ​จุลจอมเกล้า​เจ้า​อยู่​หัว​ ​ได้​ทรง​มี​พระ​กรุณาธิคุณ​รับ​เป็น​ประธาน​กิตติมศักดิ์​การ​พระราชทาน​และ​ประดิษฐาน​พระ​ไตรปิฎก​สากล​ใน​นานา​ประเทศ​ ​และ​ต่อ​มา​ได้​พระราชทาน​พระ​ไตรปิฎก​สากล​ชุด​ปฐมฤกษ์​ ​3​ ​ชุด​ ​ตาม​รอย​ประวัติศาสตร์​ที่​พระบาท​สมเด็จ​พระ​จุลจอมเกล้า​เจ้า​อยู่​หัว​ได้​โปรด​ให้​จัด​พิมพ์​พระ​ไตร​ปิฎก​ปาฬิ​ ​เป็น​ฉบับ​อักษร​สยาม​ ​ชื่อ​ว่า​ ​ì​พระ​ไตรปิฎก​จุลจอม​เก​ล้า​บรม​ธัม​มิ​กม​หา​ราช​ ​ร.ศ​.​ ​112​ ​(​2436​)​ ​อักษร​สยาม​ ​โดย​ได้​พระราชทาน​แก่​นานา​ประเทศ​ทั่ว​โลก​เมื่อ​ศตวรรษ​ที่​แล้ว​ ​

การ​จัด​พิมพ์​ต้นฉบับ​พระ​ไตร​ปิฎก​ปาฬิ​ ​อักษร​โรมัน​ ​ฉบับ​มหา​สังคายนา​สากล​นานาชาติ​ ​พ.ศ​.​ 2500​ ​ชุด​ต้นแบบ​ ​ขนาด​ใหญ่​พิเศษ​ ​ได้​พิมพ์​เป็น​ครั้ง​แรก​โดย​โครงการพระไตรปิฎกสากล ​เมื่อ​ ​พ.ศ​.​ ​2545​ ​พร้อม​ด้วย​ราย​ละเอียด​การ​ทำงาน 35​ ​รายการ​เป็น​นวัตกรรม​ต่างๆ​ ​ใน​โครงการ​ ​เป็น​คู่มือ​ประกอบ​เพื่อ​การ​ศึกษา​วิจัย​ต่อ​ไป​ นอกจาก​นี้​ยัง​มี​จดหมายเหตุ​ต่างๆ​  ​ได้แก่​ ​ต้นฉบับ​เอกสาร​การ​ตรวจ​ทาน​ ​4​ ​ชุด​ ​หรือ​จำนวน​ ​160​ ​เล่ม​ ​ประมาณ​ ​80,000 ​หน้า​ ​จดหมายเหตุ​​พระ​ไตรปิฎก​อิเล็กทรอนิกส์​ ​220​ ​เม​กะไบต์ ​คลัง​วีดีทัศน์​จดหมายเหตุ​ดิจิทัล​กว่า​ ​500 ​ชั่วโมง​ ​หรือ​ ​6,500 กิกะ​ไบต์ ​ซึ่ง​ได้​บันทึก​งาน​โครงการ​ระหว่าง​ ​พ.ศ​.​ ​2542​-​2548 นอกจากนี้ระหว่าง พ.ศ. 2558-2560 ได้มีการบันทึกการออกเสียงปาฬิในระบบดิจิทัลรวมความยาว 3,052 ชั่วโมง หรือ 1.6 เทระไบต์ และบางส่วนได้จัดทำเป็นสารคดี พระไตรปิฎกคำสอนมีชีวิต ใน พ.ศ.​ 2562​

ดู สถาบัน​สำคัญ​นานาชาติที่ได้รับพระราชทาน ​


พระราชทานเป็นปฐมฤกษ์ กรุงโคลัมโบ ศรีลังกา
6 มีนาคม พ.ศ. 2548

​ สมเด็จ​พระเจ้า​พี่​นาง​เธอ​ ​เจ้า​ฟ้า​กัลยาณิ​วัฒนา​ ​กรม​หลวง​นราธิวาส​ราช​นครินทร์​ได้​เสด็จ​จาริก​ทรงอัญเชิญ​พระ​ไตรปิฎก​สากล​ชุด​ปฐมฤกษ์​ไป​พระราชทาน​แก่​สถาบัน​สำคัญ​นานาชาติ​ ​ดังนี้​

​ พระราชทาน​แก่​ประธานาธิบดี​แห่ง​สาธารณรัฐ​สังคมนิยม​ประชาธิปไตย​ศรี​ลังกา​ ​(​ฯพณฯ​ ​จัน​ทริ​กา​ ​บันดา​รา​ไนย​เก​ ​กุมารา​ตุง​คะ​)​ ​ใน​ฐานะ​ที่​ศรีลังกา​เป็น​ประเทศ​ที่​จาร​พระ​ไตรปิฎก​เป็น​ลาย​ลักษณ์​อักษร​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​โลก​ ​ประดิษฐาน​ ​ณ​ ​ทำเนียบ​ประธานาธิบดี​แห่ง​ศรี​ลังกา​ ​นคร​โคลัมโบ​ ​วัน​ที่​ ​6​ ​มีนาคม​ ​พ.ศ​.​ ​2548

​ พระราชทาน​แก่​ประธานตุลาการ​ศาล​รัฐธรรมนูญ​ ​​(​นาย​ผัน​ ​จันทร​ปาน​)​ ​สำหรับ​ประชาชน​ชาว​ไทย​ ​ประดิษฐาน​ ​ณ​ ​ศาล​รัฐธรรมนูญ​แห่ง​ราช​อาณาจักร​ไทย​ ​กรุงเทพมหานคร​ ​วัน​ที่​ ​15​ ​สิงหาคม​ ​พ.ศ​.​ ​2548​

​ พระราชทาน​แก่​อธิการบดี​มหาวิทยาลัย​อุป​ซา​ลา​ ​(​ศาสตราจารย์​ ​ซุน​ด์ค​วิสต์​)​ ​สำหรับ​ราช​อาณาจักร​สวีเดน​ ​ผู้​แทน​สถาบัน​ใน​โลก​ตะวัน​ตก​ ​ประดิษฐาน​ ​ณ​ ​หอ​แห่ง​หนังสือ​ ​ห้อง​สมุด​คา​โร​ลี​นา​ ​เรดิ​วี​ว่า​ ​ราช​อาณาจักร​สวีเดน​ ​วัน​ที่​ ​13​ ​กันยายน​ ​พ.ศ​.​ 2548

 

ประดิษฐาน​พระ​ไตรปิฎก​เป็น​พระ​ธัมม​ทาน​

หลัง​จาก​การ​พระราชทาน​เป็น​ปฐมฤกษ์​ ​พ.ศ​.​ ​2548 และ​เพื่อ​ให้​สาธารณชน​ชาว​ไทย​ได้​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​เผย​แผ่​พระ​ธัมม​ทาน​ ​จึง​ได้​มี​การ​จัด​พิธี​พระราชทาน​พระ​ไตรปิฎก​สากล​ใน​ประเทศไทย​ก่อน​การ​อัญเชิญ​พระ​ไตรปิฎก​สากล​ไป​ประดิษฐาน​ใน​นานา​ประเทศ​ ​เช่น​ ​พ.ศ​.​ ​2550 สถาน​เอกอัครราชทูต​ไทย​ ​ณ​ ​กรุง​นิวเด​ลี​ ​ได้​ขอพระราชทาน​พระ​ไตรปิฎก​สากล​อักษร​โรมัน​ ​สำหรับ​ประดิษฐาน​ ​ณ​ ​สาธารณรัฐ​อินเดีย​ ​สมเด็จ​ฯ กรม​หลวง​นราธิวาส​ราช​นครินทร์​ ​องค์​ประธาน​กิตติมศักดิ์ฯ​ ​ได้​โปรด​เกล้าฯ​ ​ให้​สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ​เสด็จ​อัญเชิญ​พระ​ไตรปิฎก​สากล​ไป​พระราชทาน​แก่​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​การ​ต่าง​ประเทศ​และ​ผู้​อุปถัมภ์พระ​ไตรปิฎก​ ​ณ​ ​กระทรวง​การ​ต่าง​ประเทศ​ ​ใน​วัน​ที่​ ​6​ ​มีนาคม​ ​(​วันพระ​ราช​ทานพ​ระ​ไตร​ปิฎก​สากล​ชุด​ปฐมฤกษ์​)​ ​สำหรับ​อัญเชิญ​ไป​ประดิษฐาน​ใน​สาธารณรัฐ​อินเดีย​ต่อ​ไป​ ​ซึ่ง​ต่อ​มา​ผู้​อุปถัมภ์​พระ​ไตรปิฎก​สากล​ได้​อัญเชิญ​พระ​ไตร​ปิฎก​ชุดนี้ไป​ประดิษฐาน​ ​ณ​ ​สมาคม​มหา​โพธิ​แห่ง​ประเทศ​อินเดีย​พุทธ​ค​ยา​ ​เมื่อ​วัน​ที่​ ​12​ ​กุมภาพันธ์​ ​พ.ศ​.​ 2550​ ​เป็นต้น​

 

นโยบาย​​พระราชทาน​ฉบับอักษร​โรมัน​

ใน​เอกสาร​การ​พระราชทาน​พระ​ไตรปิฎก​สากล​จาก​เลขานุการ​ใน​พระองค์​สมเด็จ​พระเจ้า​พี่​นาง​เธอ​ ​เจ้า​ฟ้า​กัลยาณิ​วัฒนา​ ​กรม​หลวง​นราธิวาส​ราช​นครินทร์​ ​พ.ศ​.​ ​2549​ ​ได้​ทรง​กำหนด​นโยบาย​สำหรับ​การ​พระราชทาน​พระ​ไตรปิฎก​สากล​เป็น​ลำดับ​แรก​แก่​สถาบัน​สำคัญ​นานาชาติ​ทั่ว​โลก​ที่​ได้​ขอ​พระราชทาน​มา​อย่าง​เป็น​ทางการ​ ​และ​จะ​พระราชทาน​แก่​สถาบัน​ที่​ส่ง​เสริม​การ​ศึกษา​ฐาน​ปัญญา​เพื่อ​สันติสุข​ ​หรือ​เป็น​สถาบัน​ที่​เคย​ได้​รับ​พระราชทาน​พระ​ไตร​ปิฎก​ปาฬิ​ฉบับ​ ​จุลจอม​เก​ล้า​บรม​ธัม​มิ​กม​หา​ราช​ ​ร.ศ​.​ ​112​ ​(​2436​)​ ​อักษร​สยาม​ ​ใน​อดีต​และ​ปัจจุบัน​ยัง​คง​รักษา​ไว้​อย่าง​ดี​

นับ​แต่​นั้น​เป็นต้น​มา​ ​ผู้​อุปถัมภ์​พระ​ไตรปิฎก​สากล​ได้​อัญเชิญ​พระ​ไตรปิฎกสากล​ชุด​พระราชทาน​ไป​ประดิษฐาน​เป็น​พระ​ธัมม​ทาน​ ​ณ​ ​สถาบัน​ต่างๆ​ ​เช่น​ ​ประธาน​ศาล​รัฐธรรมนูญ​แห่ง​ราช​อาณาจักร​ไทย​และได้​อัญเชิญ​ไป​​พระราชทาน​และ​ประดิษฐาน​ ​ณ​ ​ศาล​ยุติธรรม​ระหว่าง​ประเทศ​ กรุง​เฮก​ ​ราช​อาณาจักร​เนเธอร์แลนด์​ ​(​2550​)​ ​ประธาน​ศาล​ฎีกา​แห่ง​ราช​อาณาจักร​ไทย​อัญเชิญ​ไป​พระราชทาน​และ​ประดิษฐาน​ ​ณ​ ​ศาล​ฎีกา​แห่ง​ราช​อาณาจักร​ไทย​ ​(​2550​)​ ​สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี  ​ทรง​อัญเชิญ​ไป​พระราชทาน​และ​ประดิษฐาน​ ​ณ​ ​สถาบัน​ต่างๆ​ ​รวม​ ​18​ ​สถาบันใน​ประเทศ​ญี่ปุ่น​ ​(​2551​)


พุทธสถานชิเตนโนจิ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น

 

เนื่องด้วยพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ชุด 40 เล่ม เป็นต้นฉบับที่ใช้อ้างอิงในการสร้างฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา) และ ชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ) รวมชุด 80 เล่ม ในปี พ.ศ. 2560 มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลนำโดยท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์ ได้เข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และชุด ส.ก. แด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นองค์ประธานการสร้างฉบับ สัชฌายะ พ.ศ. 2559 และองค์พระบรมราชูปถัมภ์โครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2545 ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

พ.ศ. 2562 โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ปรับปรุงการพิมพ์ใหม่และทำดัชนีคำ (Index) เทียบกับสัททะอักขะระสากล (IPA) โดยอ้างอิงอักขรวิธีการออกเสียงปาฬิกับต้นฉบับ จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ซึ่งมีการจัดพิมพ์สัททสัญลักษณ์แสดงการแบ่งพยางค์เสียงสะกดแยกออกจากเสียงกล้ำอย่างเด็ดขาดและชัดเจน 

ระหว่าง พ.ศ. 2548-2562 โครงการพระไตรปิฎกสากลได้จัดพระราชทานพระไตรปิฎกสากล อักขะระโรมัน เป็นพระธัมมทานใน สมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้ทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์ โครงการพระไตรปิฎกสากล จำนวนไม่น้อยกว่า 160 สถาบัน ใน 25 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ ณ กรุงลอนดอน (The British Library) ซึ่งทางประเทศอังกฤษได้เชิญท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลเป็นผู้จัดพระราชทานในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562 อันบรรจบเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์พระสังฆราชูปถัมภ์โครงการพระไตรปิฎกสากล ซึ่งปัจจุบันได้รับโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอัฐิเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร


ถวายฉบับอักษรโรมัน แด่สมเด็จพระสังฆราชพม่า


มูลนิธิฯ ถวายพระไตรปิฎกสัชฌายะ
ซึ่งอ้างอิงจากพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน

การดำเนินงานในวาระครบรอบ 20 ปี

ปัจจุบันชุดอักษรโรมันได้พัฒนาเป็นฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากลเพื่อสร้างเป็นนวัตกรรมการบันทึกพระไตรปิฎกสากลในทางวิชาการภาษาศาสตร์ที่ไม่เคยมีการจัดทำมาก่อน โดยปริวรรตการเขียนเสียงปาฬิด้วยวิธีการถอดเสียงอย่างละเอียด (Pāḷi Phonetic Transcription) เป็น สัททะอักขะระ-ปาฬิ (Pāḷi Phonetic Alphabet) เรียกว่า ฉบับสัชฌายะ (Sajjhāya Phonetic Edition) ชุด ภ.ป.ร.ต้นฉบับปาฬิภาสา (Pāḷi Manuscript) ชุด 40 เล่ม และชุด ส.ก. โน้ตเสียงปาฬิ  (Pāḷi Notation) ชุด 40 เล่ม พ.ศ. 2559 ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณารับเป็นองค์ประธานการสร้างฉบับสัชฌายะ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในวาระทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี พ.ศ. 2559

โน้ตเสียงปาฬิ ชุด ส.ก. ปัจจุบันได้จัดพิมพ์เป็นชุดสมบูรณ์ ชุด 250 เล่ม รวม 4 เวอร์ชั่น และได้ใช้ในการบันทึกเสียงในระบบดิจิทัลโดยผู้เชี่ยวชาญทางดุริยางค์และไวยากรณ์การออกเสียงในพระไตรปิฎก เพื่อผลิตเป็น เสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation Sound) จากต้นฉบับพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ทั้งชุด 40 เล่ม รวมเวลาการออกเสียงสัชฌายะดิจิทัลทั้งสิ้น 3,052 ชั่วโมง หรือความจุ 1.6 เทราไบต์ในระบบอิเล็กทรอนิกส์

จากความสำเร็จในการสร้างพระไตรปิฎกเสียงสัชฌายะดิจิทัลดังกล่าว อันนับเป็นการถอดเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกสากลอย่างละเอียดพร้อมทั้งบูรณาการต่อยอดเป็นโน้ตเสียงปาฬิในทางดุริยางคศาสตร์ ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 ผลงานวิจัยโน้ตเสียงปาฬิชุดนี้ได้รับรางวัลพระราชทานผลงานวิจัยดีเด่นจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งระบุว่าเป็นการบันทึกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกด้วยโน้ตเสียงสากลเป็นครั้งแรกในโลก 

ด้วยเหตุนี้ระหว่างปี พ.ศ. 2562-2563 เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี การดำเนินงานในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ โครงการพระไตรปิฎกสากลจึงได้ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากลในระบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ทั้งหมด โดยบูรณาการกับโปรแกรมสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาในพระไตรปิฎกสากล เรื่อง การแบ่งพยางค์คำปาฬิอัตโนมัติ World Tipiṭaka Patent No. 46390 ตลอดจนได้จดทะเบียนบันทึกเป็นลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ประเภทต่างๆ อันเป็นการสร้างความคุ้มครองในทางกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเพื่ออนุรักษ์มิให้มีการดัดแปลงต้นฉบับภูมิปัญญาไทยในพระไตรปิฎกให้ผิดเพี้ยนไปจากดั้งเดิม แต่จะให้สิทธิ์แก่ผู้ที่สามารถนำภูมิปัญญาพระไตรปิฎกสากลดังกล่าวต่อยอดบูรณาการกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในอนาคตได้ ปัจจุบันมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลสามารถจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล จากคลังฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ชุดนี้ (World Tipiṭaka Big Data) เป็นกลุ่มชุดอักขะระต่างๆ (Akkʰara) 5 กลุ่ม สำหรับชุดพระไตรปิฎกสากลที่สำคัญของโลก คือ

1. กลุ่มชุด อักขะระโรมัน (Pāḷi-Roman Script)

2. กลุ่มชุด อักขะระชาติพันธ์ุไต (Pāḷi-Tai Script)

3. กลุ่มชุด อักขะระปาฬิ-รัสเซีย (Pāḷi-Russian Script)

4. กลุ่มชุด อักขะระ ปาฬิ-พินอิน ของจีน (Pāḷi-Pinyin Script)

5. กลุ่มชุด โน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi Notation) 

ชุดโน้ตเสียงปาฬิสามารถพิมพ์ประกอบกับอักขะระต่างๆ ในข้อ 1-4 ข้างต้น หรือพิมพ์เป็นชุดคู่ขนานสองชุดอักขะระ (Parallel Corpus) ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงเลือกพิมพ์ผสมระหว่างสองอักขะระใดๆ จากชุดต่างๆ ในข้อ 1-4 ได้ตามความต้องการ

รวมพระไตรปิฎกสากล ชุดต่างๆ เบื้องต้นจำนวน 120 ชุดๆ ละ 40 เล่ม ตามต้นฉบับการสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ที่แบ่งเป็นชุด 40 เล่ม ซึ่งหากจะพิมพ์แยกเป็นแต่ละคัมภีร์จะมีจำนวน 4,800 เล่มคัมภีร์ ในระบบชุดหนังสือ หรือ ชุดดิจิทัล

 

สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. 9
ประธาน​กองทุน​สน​ทนาธัมม์​นำ​สุข​ ​ท่านผู้หญิง​ ​ม.ล.มณี​รัตน์​ ​บุนนาค​ ​
ใน​พระ​สังฆ​ราชูปถัมภ์​​สมเด็จ​พระ​สังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร​ ​
พ.ศ. 2543-2554

ประธานผู้ก่อตั้งมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล
พ.ศ. 2555

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์
ประธาน​กองทุน​สน​ทนาธัมม์​นำ​สุข​ ​ท่านผู้หญิง​ ​ม.ล.มณี​รัตน์​ ​บุนนาค​ ​
ใน​พระ​สังฆ​ราชูปถัมภ์​​สมเด็จ​พระ​สังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร​ ​
พ.ศ. 2554-ปัจจุบัน

 

ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา
ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2560-ปัจจุบัน

 

พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค
นายกกองทุน​สน​ทนาธัมม์​นำ​สุข​ ​ท่านผู้หญิง​ ​ม.ล.มณี​รัตน์​ ​บุนนาค​ ​
ใน​พระ​สังฆ​ราชูปถัมภ์​​สมเด็จ​พระ​สังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
พ.ศ. 2542-ปัจจุบัน