สัชฌายะ โดย ท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์
พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม-ปาฬิ ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล
ต้นฉบับในการจัดทำพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ
ท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์ (ซ้าย)
น้อมเกล้าฯ จัดแสดง ต้นฉบับ พระไตรปิฎกสัชฌายะ ถวาย แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
วิสาขบูชา-พุทธชยันตี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พ.ศ. 2555
สัมโมทนียกถา
สัช์ฌาย-เตปิฏก เป็นอักขรวิธีในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. พ.ศ. 2436 ซึ่งศาสตราจารย์กิตติคุณดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ เรียกว่า อักขรวิธี ไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ ปัจจุบันถอดเสียงเป็น สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ว่า [สัชฌายะ] [เตปิฏะกะ]
สัช์ฌาย คือ การเปล่งเสียงปาฬิ เพื่อใช้ท่อง ศึกษา และทรงจำ (Recitation for Studying)
เตปิฏก คือ พระไตรปิฎกสากล ฉบับเพื่อการออกเสียงปาฬิ (Pāḷi Phonetic Edition)
ในภาษาไทยให้ชื่อชุดนี้ว่า พระไตรปิฎกสัชฌายะ อันเป็นระบบการเขียนเสียงปาฬิด้วยรูปอักขะระไทย และสัททสัญลักษณ์ตามอักขรวิธีในภาษาไทย และเนื่องด้วย สัททะอักขะระ เป็นระบบสัญลักษณ์ทางเสียงที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถฝึกอ่านเสียงปาฬิได้ง่ายขึ้น กองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นคู่มือสำหรับการอ่านออกเสียงสัชฌายะ เพื่อเผยแผ่เป็นพระธัมมทานเป็นครั้งแรก ในวาระ 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ พ.ศ. 2555
เนื้อหาเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกสัชฌายะ เป็นผลจากการสังคายนาพระไตรปิฎกนานาชาติ พ.ศ. 2500 ซึ่งใช้พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม-ปาฬิ พ.ศ. 2436 เป็นต้นฉบับสำคัญ ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ได้จัดพิมพ์ต้นฉบับสากลจากการตรวจทานใหม่ และน้อมถวายแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กุลเชษฐ์แห่งพระราชวงศ์จักรี พระราชทานเป็นธัมมทานแก่นานาประเทศตามรอยพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม-ปาฬิ พ.ศ. 2436 ฉบับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ตีพิมพ์เป็นหนังสือชุดแรกของโลก และพระราชทานเป็นพระธัมมทาน จากกรุงสยามแก่สถาบันสำคัญในนานาประเทศเมื่อศตวรรษที่แล้ว
การเผยแผ่พระไตรปิฎกสัชฌายะ ด้วยการพิมพ์ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ซึ่งใช้อักขรวิธีเขียนเสียงปาฬิตามฉบับ จ.ป.ร. และใช้เนื้อหาตามฉบับสังคายนานานาชาติ มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการออกเสียงพระพุทธพจน์ให้แม่นตรงกับเสียงปาฬิที่ได้มีการสังคายนา บันทึก และสืบทอดมาเป็นเวลายาวนานกว่า 2,600 ปี ตามวิธีการออกเสียงที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ อันจะนำไปสู่การใช้ท่องเพื่อทรงจำ หรือใช้สัชฌายะอย่างสม่ำเสมอ เป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาเสียงปาฬิในทางนิรุกติศาสตร์ให้ถูกต้องยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ชุดนี้ได้มีการศึกษาและคัดเลือกโดยนักวิชาการผู้เป็นปราชญ์ และอภิธัมม์บัณฑิต พร้อมทั้งได้มีการปรับปรุงตามคำแนะนำของคณะสงฆ์ผู้ทรงพระปาติโมกข์ ซึ่งทรงคุณวุฒิสูงสุดทางเปรียญธัมม์ 9 ประโยค รวมทั้งผู้เช่ี่ยวชาญทางภาษาศาสตร์แห่งราชบัณฑิตยสถาน และได้มีการทดสอบการอ่านออกเสียงสัชฌายะเป็นอย่างดีแล้ว
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในสถาบันพระมหากษัตริย์พุทธมามกะไทย ที่ได้ทรงอุปถัมภ์พระไตรปิฎก ให้สืบทอดอยู่ในแผ่นดินไทยจนถึงทุกวันนี้ ผู้อุปถัมภ์พระไตรปิฎกสากลจึงได้ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายพระไตรปิฎกสัชฌายะเป็นปฐมฤกษ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พ.ศ. 2559 ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นอักขรวิธี ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ และ โน้ตเสียงปาฬิ ในการพิมพ์พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ
(ท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์)
ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล
23 มิถุนายน พ.ศ. 2559
พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ
ชุด ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา) และ ชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ)
ชุด 80 เล่ม
น้อมเกล้าฯ ถวายพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ณ พระที่นังอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต 28 ธันวาคม พ.ศ. 2560