จดหมายเหตุการเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช
โครงการพระไตรปิฎกสากลได้มีโอกาสสำคัญเข้าเฝ้ากราบทูลปรึกษาสมเด็จพระสังฆราชถึงสองพระองค์ โดยเฉพาะในเรื่องพระไตรปิฎก จปร. และอักขรวิธีอักษรสยาม พ.ศ. 2436 ซึ่งเป็นชุดหนังสือพระไตรปิฎกชุดแรกของโลก มีรายละเอียดที่สมควรบันทึกไว้เป็นหลักฐานดังต่อไปนี้
1. ภูมิหลัง
โครงการพระไตรปิฎกสากลได้เริ่มศึกษาพระไตรปิฎกฉบับต่างๆ เพื่อจัดพิมพ์เป็นฉบับสากล ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ในการนี้สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ผู้ทรงเป็นองค์พระสังฆราชูปถัมภ์โครงการพระไตรปิฎกสากล ได้มีพระบัญชาให้ทำการศึกษาพระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช ร.ศ. 112 หรือที่รู้จักกันว่า พระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 เพราะมีความสำคัญที่เป็นฉบับตีพิมพ์เป็นหนังสือพระไตรปิฎกชุดแรกของโลก
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
องค์พระสังฆราชูปถัมภ์โครงการพระไตรปิฎกสากล
พ.ศ. 2543 โครงการพระไตรปิฎกสากลได้นำความไปกราบเรียนสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีรามในขณะนั้น และได้ขอยืมพระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม มาทำการศึกษา ณ หอพระไตรปิฎกนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องด้วยวัดราชบพิธเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการนี้สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ได้เสด็จมาทรงเป็นประธานเปิดหอพระไตรปิฎกนานาชาติ เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2543 และได้ทรงเป็นผู้ประทานพระไตรปิฎก จปร. ของวัดราชบพิธฯ ฉบับนี้แก่ รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้นเป็นผู้เก็บรักษาในการขอยืม
อ.สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. 9 อัญเชิญพระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม เล่มที่ 1 มาถวาย
เพื่อประทานแก่ รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โครงการพระไตรปิฎกสากลร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการบันทึกภาพพระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม ทั้งชุดประมาณ 20,000 หน้า ลงในระบบดิจิทัล และได้สร้างเป็นฐานข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลอักษรโรมัน ใช้เวลาดำเนินงานประมาณ 10 ปี จึงสำเร็จ และได้จัดพิมพ์เป็นชุดพิเศษเป็นฉบับอนุรักษ์ดิจิทัลน้อมถวายสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร พ.ศ. 2552 และในปี พ.ศ. 2555 โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยจัดพิมพ์น้อมถวายสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2558 ได้นำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จทรงเป็นผู้แทนพระองค์ทั้งสองพระองค์
2. อักขรวิธีสยาม-ปาฬิ สำคัญอย่างไร
ปัจจุบันได้มีการยกเลิกการพิมพ์อักขรวิธีสยาม-ปาฬิ และเนื่องด้วยต้นฉบับก็มิได้มีการอธิบายการอ่านอักขรวิธีนี้โดยละเอียด ดังนั้นโครงการพระไตรปิฎกสากลจึงทำการค้นคว้า ศึกษา และจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม ฉบับดิจิทัลดังกล่าวขึ้นใหม่ โดยอธิบายอักขรวิธีเขียนเสียงในพระไตรปิฎกในเชิงภาษาศาสตร์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นโดย ศ.กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ผู้ก่อตั้งภาควิชาภาษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เรียกอักขรวิธีนี้ว่า ไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ ซึ่งสามารถถอดเสียงเขียนเป็น อักขรวิธี ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถอ่านได้ง่าย (หนังสือราชบัณฑิตยสถาน 80 ปี พ.ศ. 2557) นอกจากนี้ ศ.ดร.ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ ราชบัณฑิตสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สำนักวิทยาศาสตร์ ยังได้สร้างสูตรสกัดคณิตศาสตร์ 61 ข้อ พิสูจน์ความแม่นตรงของอักขรวิธี ไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ กับ อักขรวิธี ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ และกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ พร้อมทั้งฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการพระไตรปิฎกสากล ว่า คลังข้อมูลทั้ง 4 ประเภทมีความสัมพันธ์กันและถูกต้องแม่นตรงทุกประการ (หนังสือราชบัณฑิตยสถาน 80 ปี พ.ศ. 2557)
อักขรวิธี “ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ”
โดย ศ.กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์
ผู้ก่อตั้งภาควิชาภาษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สูตรสกัดคณิตศาสตร์ 61 ข้อ
โดยศาสตราจารย์ ดร. ชิดชนก เหลือสินทรัพย์
ราชบัณฑิตสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์
ผลงานทางวิชาการของ ศ.กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ และ ศ.ดร.ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ สรุปได้ว่า อักขรวิธีสยามในพระไตรปิฎก จปร. พ.ศ. 2436 มีนวัตกรรมการเขียนเสียงสะกดด้วยไม้วัญฌการ ( ์ ) และเสียงกล้ำด้วยไม้ยามักการ ( ๎ ) ที่ชัดเจนและแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด ในสูตรสกัดคณิตศาสตร์ยังได้พิสูจน์และรายงานว่า อักขรวิธีสยาม-ปาฬิ มีนวัตกรรมการเขียนที่ ศ.กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ เรียกว่า สัททสัญลักษณ์ (Phonetic Symbol) ซึ่งเบื้องต้นสามารถถอดเสียงเป็นเสียงละหุ และเสียงคะรุ ที่เรียกว่า อักขรวิธี ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ซึ่งคุณสมบัติต่างๆ ที่กล่าวมานี้ไม่มีในอักขรวิธีพินทุบอด ข้อมูลนี้เป็นการอ้างอิงที่สำคัญยิ่งที่ทำให้มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลสามารถจดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง โปรแกรมการแบ่งพยางค์อัตโนมัติ เลขที่ 46390 พร้อมทั้งลิขสิทธิ์ต่างๆ (พ.ศ. 2557-2558) และจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกสากลขึ้นใหม่อีกชุดหนึ่ง เรียกว่า พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร (ต้นฉบับปาฬิภาสา) และ ชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ) พ.ศ. 2559 และต่อมาได้นำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2560
3. การออกเสียงกล้ำที่แม่นตรงกับกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ
ตลอดระยะเวลาการทำงานอันยาวนานประมาณ 20 ปี โดยเฉพาะระหว่าง พ.ศ. 2555-ปัจจุบัน (2562) มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ปัจจุบัน หลายโอกาสทั้งที่เป็นทางการในพระวิหารและส่วนพระองค์ที่ตำหนักอรุณ โดยมูลนิธิฯ ได้ถวายรายงานการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร และ ชุด ส.ก. ซึ่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์ประธานการสร้าง และต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิฯ อัญเชิญมาน้อมถวายสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องด้วยวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นพระอารามหลวงประจำพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเก็บรักษาต้นฉบับพระไตรปิฎก จปร. พ.ศ. 2436 ไว้เป็นอย่างดี
ท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์
ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2560
โอกาสที่สำคัญยิ่งคือมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้ไปกราบทูลถามการออกเสียงคำให้พรในปัจจุบันมีการออกเสียงสองอย่าง ทางวัดราชบพิธออกเสียงอย่างไร คือ
1. ภะวะตวันตะราโย
(bhava-tvantarāyo)
2. ภะวัตวันตะราโย
(bhavat-vantarāyo)
สมเด็จพระสังฆราชฯ ได้ทรงเน้นว่า ..ตวัน-ตะ-รา-โย กล่าวคือ ..ตวัน.. (ตว เป็นเสียงกล้ำ) ไม่ใช่ ..วัต-วัน.. ซึ่งเป็นเสียงสะกด และเป็นเสียงที่วัดราชบพิธรักษาสืบมาจนถึงปัจจุบัน แต่อาจออกเสียงไม่ตรงกับที่อื่นๆ
ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา
ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2562
ข้อมูลดังกล่าวได้รับสั่งกับ ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล และคณะกรรมการมูลนิธิฯ พร้อมทั้งพระอุปัฏฐากและเจ้าหน้าที่ แม้มิได้มีการบันทึกเสียงไว้ แต่เสียงการให้พรของเจ้าประคุณสมเด็จนี้ มีบันทึกในวิดีโอซึ่งเผยแผ่อยู่ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งสืบค้นได้ทั่วไป
ข้อมูลเสียงการให้พรของสมเด็จพระสังฆราชฯ
มีบันทึกในวิดีโอซึ่งเผยแผ่อยู่ในอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลการออกเสียงกล้ำดังกล่าวของเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งกับข้อสรุปทางวิชาการในโครงการพระไตรปิฎกสากลที่อ้างอิงกับพระไตรปิฎก จปร.อักษรสยาม และไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ เพราะเป็นการออกเสียงของคณะสงฆ์วัดราชบพิธซึ่งตรงกับอักขรวิธี ไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ ในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. ซึ่งดูในรูปจะเห็นว่า ไม้-อั (อะ) แสดงเสียง สระ-อะ (ในกรณีนี้ลดรูป ไม้-อั (อะ)) ไม้ยามักการแสดงเสียงกล้ำ (ต๎ว) ไม้วัญฌการแสดงเสียงสะกด (น์ เป็นตัวสะกด) ดังนั้นคำนี้ต้องออกเสียงว่า ภะวะตวันตะราโย ตรงตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602 ที่ระบุว่า สระเสียงสั้น หน้าพยางค์เสียงกล้ำ ต้องออกเสียงคะรุ สังเกตว่า กัจจายะนะ-ปาฬิ ระบุว่า สระสั้น (รัสสะสระ) เป็นเสียงคะรุ ไม่ใช่เสียงสะกด (สังโยคะ) ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้พยางค์หน้าเคลื่อนไปประกอบกับพยางค์หลัง ดังที่เป็นปรากฏการณ์ปัจจุบัน
สรุป เสียงกล้ำ ..ตวัน.. ในคำว่า ภะวะตวันตะราโย สามารถพิสูจน์ได้ในทางไวยากรณ์และสอดคล้องกับการออกเสียงของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งมีหลักฐานการออกเสียงเผยแผ่ในระบบอินเทอร์เน็ต และสอดคล้องกับการได้ข้อมูลการออกเสียงเพิ่มเติมจาก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และคณะสงฆ์วัดราชบพิธ
4. ปัญหาการพิมพ์ปาฬิภาสา ปะปนกับ ภาษาไทย
การที่หนังสือสวดมนต์ภาษาไทย (ภาษาไทย คือ การพิมพ์รูป สระ-อะ ด้วยการแสดงรูปประวิสรรชนีย์) เช่น หนังสือสวดมนต์ตีพิมพ์รุ่นแรกๆ ของพระครูอรุณธรรมรังษี (เอี่ยม สิริวณฺโณ) วัดอรุณราชวราราม ใช้เครื่องหมายไม้ยามักการ ( ๎ ) ว่า ..ต๎วัน.. จึงเป็นการพิมพ์ตามฉบับ จปร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ดั้งเดิม แต่การใช้เครื่องหมายยามักการในหนังสือสวดมนต์ที่พิมพ์เป็นภาษาไทย มิใช่เป็นปาฬิภาสานี้อาจทำให้คนไทยปัจจุบันผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับปาฬิภาสา-อักษรสยามเข้าใจผิดว่า วั.. เป็น ว-ไม้หันอากาศ และออกเป็นเสียงสะกด ว่า ภะ-วัต-ตวัน.. (ดูรูป 2) แทนที่จะเขียนตาม อักขรวิธีสยาม ที่ถูกต้อง ว่า ภวต๎วัน.. หรือเขียนเป็นภาษาไทย ว่า ภะวะตวัน.. ซึ่งออกเสียงว่า ภะ-วะ-ตวัน.. (ดูรูป 1)
การพิมพ์ปาฬิภาสา ปะปนกับ ภาษาไทย นำไปสู่ปัญหาการออกเสียง
5. ข้อสันนิษฐานการเกิดปัญหาในการอ่านเสียงสะกด และเสียงกล้ำ
ตัวอย่างการออกเสียงคำนี้คำเดียว อาจฟังดูเป็นเรื่องเล็ก แต่แท้จริงแล้วเป็นประเด็นใหญ่ในทางภาษาศาสตร์ให้นักศึกษาพระไตรปิฎกและคนไทยหวนกลับมาพิจารณาอักขรวิธี ไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ ในพระไตรปิฎก ฉบับ จปร. พร้อมทั้งทบทวนข้อเด่นและข้อด้อยของอักขรวิธีพินทุบอด ( ฺ ) ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันมีการศึกษาไวยากรณ์อย่างกว้างขวางในประเทศไทย แต่เหตุใดจึงมีปัญหาในการออกเสียง กล่าวคือ ออกเสียงไม่ตรงกับกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ที่ยอมรับกันเป็นสากล
และเหตุใดจึงเกิดปัญหาการแบ่งพยางค์ดังกล่าว เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงจากอักขรวิธีสยาม-ปาฬิ จากไม้วัญฌการ ( ์ ) และไม้ยามักการ ( ๎ ) ทั้งสองเครื่องหมายเป็น พินทุบอด ( ฺ ) เพียงเครื่องหมายเดียวหรือไม่ หรือเป็นเพราะขาดการศึกษาในเชิงภาษาศาสตร์และการเขียนสัททะอักขะระในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาให้จริงจังกันต่อไป
ไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602 ระบุไว้ชัดเจนว่า เสียงกล้ำ เช่น ทุม๎หิ.. มห เป็นเสียงกล้ำ ไม่สามารถแยก ม มาสะกดกับ ทุ ในพยางค์หน้าได้ ฉะนั้น จึงต้องออกเสียงคำนี้ว่า [ดุ-มหิคะรุ]
ไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602
6. ข้อด้อยของพินทุบอด
ข้อด้อยของอักขรวิธีจุดพินทุบอดในทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์ คือ การกำหนดให้เครื่องหมายจุดพินทุ หนึ่งเครื่องหมายทำหน้าที่สองหน้าที่ กล่าวคือ เป็นทั้งเสียงสะกด และ เสียงกล้ำ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญศัพท์และไวยากรณ์ปาฬิจึงมีความสับสนในการออกเสียงกล้ำและเสียงสะกด เช่นคำว่า สกฺยปุตฺโต กฺ เป็นเสียงกล้ำกับ ย ตฺ เป็นเสียงสะกด และคำว่า พฺรหฺม พฺ และ หฺ เป็นเสียงกล้ำทั้งสองตัว และเนื่องด้วยการพิมพ์พระไตรปิฎกของชาติไทย ได้ใช้อ้างอิงในประเทศต่างๆ เมื่อเกิดความสับสนในการถอดเสียงสะกด และ เสียงกล้ำ จึงสร้างความสับสนในการเขียนเสียงในพระไตรปิฎกของชาติต่างๆ ด้วย เช่น อักขรวิธีของชาติลาว ซึ่งเดิมใช้อักขรวิธีซ้อนพยัญชนะ ที่โครงการพระไตรปิฎกสากล เรียกว่า ไตล้านช้าง ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็น อักขรวิธีไตลาว และปรับเปลี่ยนให้ง่ายเป็นหนังสือสวดมนต์ภาษาลาว พบว่า มีการเขียนเสียงและแบ่งพยางค์ที่ไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ที่กล่าวมาเบื้องต้น เช่น คำว่า พ๎รห๎มมารา [บระ-หมะ-มารา] พร เป็นเสียงกล้ำ ออกเสียงว่า (บระ..) แต่อักขรวิธีลาวปัจจุบันแทน สระ-อะ ด้วยรูปไม้หันอากาศ ( ั ) เหมือนไม้หันอากาศของอักษรไทย ทำให้เข้าใจผิดว่า ..หม ที่ตามมาเป็นตัวสะกด ว่า พรัหม ซึ่งแท้จริงเป็นพยางค์เสียงไม่สะกด หมะ (ดูรูปด้านล่าง)
เพื่อแก้ปัญหาการเขียนเสียงสะกด และ เสียงกล้ำ ในพระไตรปิฎกลาว โครงการพระไตรปิฎกสากล ได้ทำการศึกษาอักขรวิธีโบราณในใบลานของลาวที่เขียนซ้อนพยัญชนะ หรือ ที่โครงการพระไตรปิฎกสากล เรียกว่า อักขรวิธีไตล้านช้าง โดยปัจจุบันได้เสนอวิธีเขียนและอ่านที่ง่ายยิ่งขึ้น เรียกว่า อักขะระไตลาว-ปาฬิ
สำหรับหนังสือสวดมนต์ภาษาลาว ตามตัวอย่างข้างล่าง สังเกต การใช้เครื่องหมายไม้หันอากาศลาว สำหรับเสียงสะกด และใช้รูป สระ-อะ หน้าพยางค์เสียงกล้ำ ซึ่งเปรียบเทียบกับการเขียนเสียงด้วยอักษรไทย ซึ่งเรียกว่า สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ
อักขรวิธีสยาม มีการเขียนเสียงสะกด และเสียงกล้ำ ที่แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด สามารถอ้างอิงไปเขียนในอักขะระต่างๆ ในระดับนานาชาติได้