โครงการเสียงสัชฌายะดิจิทัล

โครงการพระไตรปิฎกสากลถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2542 ตามพระบัญชาในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค และคณะผู้มีจิตศรัทธาก่อตั้งเป็นกองทุนในช่วง 10 ปีแรกของการดำเนินงาน มีจุดประสงค์เพื่อจัดพิมพ์และเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล เป็นอักษรโรมัน (Roman Script) จากต้นฉบับการสังคายนาระดับนานาชาติครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ซึ่งเจ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ได้เสด็จทรงเป็นผู้แทนคณะสงฆ์ไทยเข้าร่วมสังคายนา เมื่อปี พ.ศ. 2500 โครงการฯ ใช้เวลาประมาณ 6 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2542-2548 ทำการตรวจสอบต้นฉบับปาฬิภาสา อันเป็นภาษาที่ใช้ในการบันทึกพระไตรปิฎก ซึ่งได้ตรวจทานใหม่ทั้งหมด พร้อมทั้งจัดพิมพ์เป็นอักษรโรมันชุดสมบูรณ์ชุดแรกรวม 40 เล่มตามต้นฉบับสังคายนานานาชาติ ซึ่งสำเร็จในปี พ.ศ. 2548 ในการนี้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กุลเชษฐ์พระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์การพระราชทานแก่ประธานาธิบดีแห่งศรีลังกาเป็นปฐมฤกษ์ และเพื่อประดิษฐานในนานาประเทศทั่วโลก ตามรอยประวัติศาสตร์การพระราชทานพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อศตวรรษที่แล้ว

โครงการฯ ได้ใช้เวลาอีก 6 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2548-2554 ดำเนินการจัดพระราชทานพระไตรปิฎกอักษรโรมันชุดนี้เป็นพระธัมมทานจากชาวไทยแก่สถาบันสำคัญระดับนานาชาติ ในประเทศสวีเดน อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา พม่า มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น ประเทศที่เคยได้รับพระราชทานพระไตรปิฎกฉบับ จ.ป.ร. อักษรสยาม หรือสถาบันในปัจจุบันที่ประสงค์จะได้รับพระไตรปิฎกชุดสากล ปัจจุบันพระไตรปิฎกชุดนี้เป็นพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมันชุดสมบูรณ์ชุดแรกของโลก การริเริ่มใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาจัดพิมพ์เป็นครั้งแรก จึงนับเป็นนวัตกรรมการพิมพ์พระไตรปิฎกที่สำคัญที่ไม่มีการจัดทำมาก่อนเรียกว่า Print on Demand ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลที่มีคุณภาพสูงแทนการพิมพ์ในระบบ Offset แต่เดิม

นอกจากการจัดพิมพ์เป็นสื่อหนังสือแล้ว โครงการฯ ยังได้จัดทำฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากลในระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยในปี พ.ศ. 2551 ได้ร่วมมือเผยแผ่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ชื่อ suttacentral.net ซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิงเพื่อการแปลเป็นภาษาต่างๆ ที่ได้รับความนิยมสืบค้นอย่างแพร่หลาย และปัจจุบันเผยแผ่ที่ sajjhaya.org ด้วย การเผยแผ่พระไตรปิฎกสากลตลอดเวลา 12 ปีที่ผ่านมา โครงการฯ พบว่าแม้อักษรโรมันจะเป็นที่รู้จักว่าเป็นอักษรนานาชาติ แต่การอ่านออกเสียงปาฬิภาสา-อักษรโรมัน มิใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะการแบ่งพยางค์ในอักษรโรมัน ซึ่งมีอักขรวิธีการเขียนติดต่อกันโดยไม่มีสัททสัญลักษณ์กำกับ ดังนั้นโครงการฯ จึงได้ริเริ่มศึกษาการเขียนเสียงปาฬิให้ง่ายขึ้นสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์เรียกว่า ระบบการถอดเสียง (Phonetic Transcription) เป็นอักษรเสียง หรือ สัททะอักขะระ (Phonetic Alphabet) ซึ่งยังไม่เคยมีการจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกมาก่อน ในการนี้โครงการฯ ได้อ้างอิงวิธีการถอดเสียงกับอักขรวิธีสยาม-ปาฬิ ในพระไตรปิฎกฉบับ จ.ป.ร. พ.ศ. 2436 ซึ่งมีลักษณะพิเศษที่โดดเด่น คือมีเครื่องหมายกำกับเสียงปาฬิที่มีประสิทธิภาพก้าวล้ำนำยุคในทางภาษาศาสตร์ อาทิการใช้ไม้ยามักการกำกับเสียงกล้ำ และไม้วัญฌการกำกับเสียงสะกด เป็นต้น ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นต้นฉบับพระไตรปิฎกชุดแรกของโลกที่ได้ริเริ่มการเขียนเสียงด้วยสัททสัญลักษณ์เป็นครั้งแรก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าพระไตรปิฎกชุดนี้ในประเทศไทยได้ชำรุดสูญหายตามกาลเวลา และมิได้มีการจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ ในประเทศไทยชุดสมบูรณ์คงมีเหลือเก็บที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวิหาร และหอสมุดแห่งชาติ ในต่างประเทศมีเก็บอยู่ในหอสมุดชั้นนำที่ได้รับพระราชทานไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5 เท่านั้น ด้วยเหตุนี้โครงการฯ จึงได้ทำการอนุรักษ์ด้วยเทคโนโลยีทางภาพ จัดพิมพ์เป็นฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล น้อมถวายแด่สมเด็จพระญาณสังวรฯ และสมเด็จพระสังฆราชฯ แห่งประเทศสหพันธรัฐเมียนมาร์ และต่อมาได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง 

ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของโครงการฯ ที่ผ่านมาคือการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและพอเพียงเป็นหลักในการพัฒนา ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีทางเสียง เพื่อให้บรรลุถึงสิ่งที่เรียกว่า Tipiṭaka Content Provider คือ การสร้างเนื้อหาสาระสำคัญของพระไตรปิฎกในระบบดิจิทัลที่จะใช้เผยแผ่ได้กับเทคโนโลยีล้ำสมัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  

ในการนี้โครงการฯ ได้รับความอนุเคราะห์ในทางวิชาการเป็นอย่างดีจากราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา โดยเฉพาะการศึกษาวิธีแบ่งพยางค์ด้วยการสกัดเป็นสูตรคณิตศาสตร์เพื่อพิสูจน์ความแม่นตรงของอักขรวิธีสยาม-ปาฬิ ในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. กับไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ที่รู้จักกันทั่วโลก จากการอ้างอิงและตรรกะของสูตรสกัดคณิตศาสตร์ดังกล่าว ทำให้โครงการฯ สามารถพัฒนาเป็นโปรแกรมการแบ่งพยางค์อัตโนมัติของพระไตรปิฎกทั้งชุดในระบบดิจิทัลได้สำเร็จ และได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาเลขที่ 46390 อันเป็นสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎกฉบับแรกของโลกซึ่งสร้างสรรค์โดยคนไทย

 โปรแกรมสิทธิบัตรการแบ่งพยางค์ดิจิทัลชุดนี้เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้โครงการฯ สามารถบูรณาการต่อยอดจากวิธีเขียนเสียงในทางภาษาศาสตร์เป็นวิธีเขียนเสียงด้วยสัททสัญลักษณ์ทางดุริยางคศาสตร์สากล เรียกว่า “โน้ตเสียงปาฬิ” (Pāḷi Notation) โดยคณาจารย์จากภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมเป็นที่ปรึกษาเพื่อสร้างสรรค์ การถอดเสียงเนื้อหาของพระไตรปิฎกทั้ง 40 เล่ม เป็นโน้ตเสียงที่สามารถแสดงจังหวะเสียงละหุและจังหวะเสียงคะรุที่ซับซ้อนได้ ในระดับเสียงสามัญที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำ อันเป็นระบบโน้ตเสียงมาตรฐานสากล ซึ่งหากจัดพิมพ์เป็นเล่มจะรวมได้ทั้งสิ้นเป็นชุด 250 เล่ม ปัจจุบันได้จัดพิมพ์เป็นชุดตัวอย่าง 40 เล่ม โดยนำเสนอข้อมูลโน้ตเสียงปาฬิทั้งชุดในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถเปล่งเสียงสัชฌายะดิจิทัลได้โดยอัตโนมัติ (Digital Sajjhāya Recitation) ความยาว 3,052 ชั่วโมง หรือความจุ 1.6 เทระไบต์


ภาพโดยพระราชานุญาต

ในปี พ.ศ. 2555 ท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์ ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลและคณะกรรมการในขณะนั้น ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง ในนิทรรศการพระไตรปิฎก ซึ่งจัดขึ้นในวาระ 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ พุทธชยันตี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และได้กราบบังคมทูลถึงความสำคัญของเสียงและการออกเสียงในพระไตรปิฎก ตลอดจนการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเพื่อการออกเสียง ที่เรียกว่า ฉบับสัชฌายะ (Sajjhāya Recitation Edition) ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงมีพระปรีชาในศาสตร์แห่งดนตรีสากล ทำให้ทรงเข้าพระราชหฤทัยเป็นอย่างดีในมิติใหม่ของการศึกษาพระไตรปิฎกเสียงสัชฌายะที่เขียนด้วยโน้ตดนตรีสากล ในการนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพพระนามาภิไธย ส.ก. ให้มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลจัดพิมพ์บนปกพระไตรปิฎกสัชฌายะ ชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ) ชุด 40 เล่ม ในปี พ.ศ. 2558 และด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2559 พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. พิมพ์บนปกพระไตรปิฎกสัชฌายะ อีกชุดหนึ่ง คือ พระไตรปิฎกสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา) พิมพ์ด้วยอักขรวิธีสยาม-ปาฬิ คู่ขนานกับ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ซึ่งถอดเสียงสำเร็จเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ 9 ชุด 40 เล่ม ปัจจุบันเรียกทั้งสองชุดนี้ว่าฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก.


ภาพโดยพระบรมราชานุญาต

จากการดำเนินงานเป็นเวลาร่วม 20 ปี โครงการฯ ได้บรรลุสู่จุดมุ่งหมายตามพระราชปณิธานในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร คือการอนุรักษ์เสียงปาฬิในพระไตรปิฎกให้แม่นตรงตามกฎไวยากรณ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ปัจจุบันทุกพยางค์ของเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกสากลสามารถอ้างอิงได้กับกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ และสามารถบันทึกเป็นเสียงสัชฌายะจากต้นฉบับสากล ชุด 40 เล่ม เป็นเสียงสัชฌายะดิจิทัล รวมเวลา 3,052 ชั่วโมง ซึ่งรวมเป็นการออกเสียงอักขะระปาฬิทั้งสิ้นจำนวน  20,304,367 อักขะระ หรือ 9,442,442 พยางค์  ซึ่งได้บันทึกลงเป็นตัวอย่างต้นแบบในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ปาฬิแอปลิเคชั่น (Pāḷi App) สัชฌายะแอปส์ (Sajjhāya App) และสัชฌายะแท็บเล็ต (Sajjhāya Tablet) เป็นต้น ในการนี้โครงการพระไตรปิฎกเสียงสัชฌายะหวังว่าการเปลี่ยนผ่านในระบบดิจิทัลที่จะเกิดขึ้นในโลกอนาคตจะเป็นรากฐานในการพัฒนาสู่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการอนุรักษ์และศึกษาเสียงปาฬิอันเป็นแก่นแท้ในพระพุทธศาสนาเถรวาทให้ยืนยงคงอยู่ตราบนานเท่านาน


ภาพโดยพระบรมราชานุญาต

เนื่องด้วยวัฒนธรรมพระไตรปิฎกเป็นอารยธรรมทางปัญญาของมนุษยชาติและเป็นรากฐานวัฒนธรรมของชาติไทยมาแต่ปางบรรพ์ โครงการฯ ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลจึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงพระกรุณารับเป็นองค์ประธานการสร้างพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลเข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายต้นฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร และ ชุด ส.ก. ชุดปฐมฤกษ์ รวมทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สัชฌายะ ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลในปัจจุบัน อัญเชิญไปน้อมถวายแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นต้น พร้อมทั้งดำเนินการจัดพิมพ์และเผยแผ่ต่อไปตามความเหมาะสม