กระบวนการออกแบบโน้ตเสียงปาฬิ
โน้ตเสียงปาฬิ กับ ชุดสัททะอักขะระไทย, ปาฬิ-พินอิน, ปาฬิ-ฮั้นจื้อ
ต้นฉบับที่ใช้อ้างอิงการจัดทำ ปาฬิ-ฮั่นจื้อ, ปาฬิ-พินอิน
“อักขะระ” (akkʰara) หมายถึง “เสียง” ซึ่งเป็นเสียงที่เรียกว่า ปาฬิ หรือ ปาฬิภาสา (Pāḷi Bhāsā) ที่บันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ในพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นเป็นชุดสมบูรณ์ชุด 40 เล่ม พ.ศ. 2548 มีจำนวนอักขะระทั้งสิ้น 20,946,860 ตัว ดังนั้นการสร้างสรรค์เสียงสัชฌายะขั้นสุดท้ายของ รองศาสตราจารย์ ดร.ศศี พงศ์สรายุทธ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผลงานวิจัยดีเด่น พ.ศ. 2562) คือการนำโน้ตเสียงปาฬิที่สร้างสรรค์ใหม่ทั้งสิ้น จำนวน 407 ตัว (สัญลักษณ์โน้ตเสียงปาฬิ 181 ตัว และสัททะอักขะระ 226 ตัว ไปสังเคราะห์กับฐานข้อมูลอักขะระในพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ซึ่งมีจำนวนพยางค์ทั้งสิ้น 9,442,442 พยางค์ รวมสัญลักษณ์ทั้งหมดที่เกิดจากการสังเคราะห์โน้ตเสียงปาฬิในระบบดิจิทัล รวม 225,964,457 ตัว ในพระไตรปิฎกสากล ชุด 40 เล่ม
การอ้างอิงสัญลักษณ์โน้ตเสียงปาฬิจำนวน 225,964,457 ตัว
พระไตรปิฎกสากล ชุดโน้ตเสียงปาฬินี้ หากจะจัดพิมพ์เป็นชุดสมบูรณ์จะมี 4 Version หรือชุดละ 250 เล่ม ซึ่งแต่ละเล่มมีประมาณ 400-500 หน้า และเมื่อได้นำไปออกเสียงสัชฌายะจะต้องใช้เวลา 3,052 ชั่วโมง หรือ 1.6 เทราไบต์ (ดู การบันทึกเสียงสัชฌายะดิจิทัล โดย ศาสตราจารย์ดวงใจ ทิวทอง ผลงานทางวิชาการระดับศาสตราจารย์ดีเด่น พ.ศ. 2562)
ในด้านรายละเอียด วิศวกรคอมพิวเตอร์ของมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล โดยปิยะพงษ์ รักพงษ์ไทย เจ้าของลิขสิทธ์โปรแกรมสัชฌายะปัญญาประดิษฐ์ และคณะ เป็นผู้ทำการสังเคราะห์โน้ตเสียงปาฬิดังกล่าวกับฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากล โดยวิธีที่เรียกว่า วิศวกรรมย้อนรอย (Reverse Engineering) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ :
โน้ตเสียงปาฬิ Version 1 มีจำนวนสัญลักษณ์ทางเสียงที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ 41,468,379 ตัว สร้างขึ้นเพื่อแสดงจังหวะของพยางค์เสียงเร็ว หรือ เสียงละหุ (โน้ตตัวดำ หนึ่งมาตรา) และพยางค์เสียงที่ลากยาวขึ้น หรือเสียงคะรุ (โน้ตตัวขาว สองมาตรา) โน้ตชุดนี้ทำให้ผู้อ่านโน้ตเสียงปาฬิแม้ไม่รู้ไวยากรณ์ละหุและคะรุ ก็จะสามารถออกเสียงสัชฌายะได้อย่างพร้อมเพรียงกัน เพราะอ่านตามสัญลักษณ์ที่เขียนจังหวะชัดเจนเป็นมาตรฐานสากล รวมทั้งสัญลักษณ์โน้ตเสียงเส้นเดี่ยวระบุให้ต้องออกเป็นเสียงสามัญ (monotone) คือไม่มีเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ นอกจากนี้ยังมีเครื่องหมายหยุดการออกเสียงของวรรคตอนได้ตรงตามหลักไวยากรณ์ตามที่พิมพ์ไว้ในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม ด้วย (ดู สิทธิบัตรโปรแกรมการแบ่งพยางค์ World Tipiṭaka Patent No. 46390 (2014) โดย พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค และคณะ มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2556)
โน้ตเสียงปาฬิ Version 1
อักขะระปาฬิ / อักขะระโรมันปาฬิ
โน้ตเสียงปาฬิ Version 2 มีสัญลักษณ์ทางเสียงที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ 50,076,751 ตัว สร้างขึ้นเพื่อแสดงสัททสัญลักษณ์ (phonetic symbol) ของเสียงปาฬิตามหลักพยัญชนะกุสะละ 10 ในพระวินัยปิฎก ซึ่งระบุว่าสงฆ์ต้องออกเสียงให้แม่นตรง มิฉะนั้นสังฆกัมม์ เช่น การบวชย่อมเป็นโมฆะ และภิกขุผู้ออกเสียงไม่แม่นตรงย่อมมีความผิดต้องอาบัติต่างๆ (ปริวารวัคค์) กล่าวคือ เสียงไม่พ่นลม [บะ/ba] ห้ามออกเป็นเสียงพ่นลม [พะ/pha] และ เสียงพ่นลม ห้ามออกเป็นเสียงไม่พ่นลม ตลอดจนต้องออกเสียงให้ชัดเจน เช่น เสียงไม่ก้อง [ขะ/kha] เสียงก้อง [ฆะ/gha] เสียงนาสิก [ญ/ñ] และ เสียงนิคคะหิต [อํ] (ก้องเฉพาะในโพรงจมูกเท่านั้น) เสียงเหล่านี้มีสัญลักษณ์พิเศษกำกับที่ตัวโน้ต ทำให้ผู้ออกเสียงเห็นได้ชัดเจน (ดู สูตรสกัดคณิตศาสตร์การแบ่งพยางค์ชิดชนก โดย ศาสตราจารย์ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ ราชบัณฑิต หนังสือราชบัณฑิตยสถาน 80 ปี พ.ศ. 2556)
โน้ตเสียงปาฬิ Version 2
อักขะระปาฬิ / อักขะระโรมันปาฬิ
โน้ตเสียงปาฬิ Version 3 มีสัญลักษณ์โน้ตเสียงทางดุริยางคศาสตร์ (Pāḷi musical symbol) ที่สร้างขึ้นใหม่ 62,220,280 ตัว สร้างขึ้นเพื่อแสดงการออกเสียงมาตรฐานของพยัญชนะปาฬิ รวม 41 เสียงตาม โดยใช้เลขโรมันเป็นรหัสแทนเสียงพยัญชนะต่างๆ ตามลำดับดังนี้ เช่น ก/k ลำดับที่ 1, ข/kʰ ลำดับที่ 2, และ ค/gʰ ลำดับที่ 3 จะเขียนเลข 1, 2, 3.. อยู่เหนือหัวโน้ต ส่วนเลขลำดับแทนตำแหน่งอวัยวะภายในปาก จากในสุดออกมาสู่ภายนอกสุดของที่เกิดเสียง จะเขียนเลขอยู่ในหัวโน้ต เช่น ก/k (ลิ้นแตะเพดานอ่อน) ลำดับที่ 1, จ/c (ลิ้นแตะเพดานแข็ง) ลำดับที่ 2, ฏ/ṭ (หลังปุ่มเหงือก) ลำดับที่ 3, ฑ/ḍ ดังนั้นเลขเหล่านี้จึงเป็นสัญลักษณ์แทนคำอธิบายในไวยากรณ์เมื่อลิ้นเคลื่อนไปแตะอวัยวะต่างๆ ภายในปากเพื่อเปล่งเสียง (ดู อ้างอิงตารางฐานกรณ์ เสียงปาฬิ ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือราชบัณฑิตยสถาน 80 ปี พ.ศ. 2556)
โน้ตเสียงปาฬิ Version 3
อักขะระปาฬิ / อักขะระโรมันปาฬิ
โน้ตเสียงปาฬิ Version 4 มีสัญลักษณ์ทางเสียงที่สร้างสรรค์ใหม่ 72,199,038 ตัว ซึ่งได้พัฒนาขึ้นจาก Version 2 และ 3 เพื่อเน้นเสียงสระปาฬิทั้ง 8 เสียงในพระไตรปิฎก ให้มีสัญลักษณ์ทางเสียงปาฬิที่ชัดเจนยิ่งขึ้น การเลือกสีสระทั้ง 8 ชุด อ้างอิงหลักการทางสีจากสูตรทฤษฎีสีของ Grassmann's Law ซึ่งสามารถแทนเสียงสระต่างๆ ได้อย่างลงตัว เป็นธรรมชาติ และทำให้สามารถแปลงโน้ตเสียงปาฬิเป็นรหัสในระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ต้องใช้รูปเขียนที่เป็นสัททะอักขะระ โน้ตเสียงปาฬิ ทั้ง 4 Version เมื่อให้ผู้เชี่ยวชาญอ่านออกเสียงบันทึกในระบบดิจิทัลจึงทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากลสามารถใช้เทคโนโลยีทางปัญญาประดิษฐ์ AI ควบคุมให้เป็นเอกภาพ แม่นตรง และปราศจากเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ ซึ่งไม่เคยมีการจัดทำมาก่อน (ดู องค์ประกอบการบันทึกโน้ตเสียงปาฬิโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศศี พงศ์สรายุทธ)
โน้ตเสียงปาฬิ Version 4
อักขะระปาฬิ / อักขะระโรมันปาฬิ
นวัตกรรมการบันทึกเสียงปาฬิ ด้วยโน้ตเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ จึงสามารถนำเสนอเสียงสังคายนาพระไตรปิฎก พ.ศ. 1 ให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่งในระบบดิจิทัล และอาจกล่าวได้ว่าเป็นเสียงมีความใกล้เคียงกับเสียงปาฬิตามที่ระบุไว้ในไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในปัจจุบัน นับเป็นการเปลี่ยนผ่านในการบันทึกเสียงในพระไตรปิฎกสากลที่สำคัญยิ่ง ประโยชน์สูงสุดต่อไปคือการนำเสียงสัชฌายะดิจิทัลชุดนี้มาฝึกออกเสียงเพื่อให้เกิดความชำนาญในการศึกษารูปเสียงปาฬิสำหรับทั้งผู้ออกเสียงและสดับฟัง ตลอดจนนำไปศึกษาในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงต่อไป
(ดู รายละเอียดเพิ่มเติม โครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2542-2565)
แผนผังแสดงการพัฒนาโครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2542 - 2565