พระไตรปิฎกสากล ชุด การถอดอักษร

ชุดต้นฉบับ

ชุดการถอดอักษร พิมพ์คู่ขนาน
ปาฬิ ไต-สยาม / ปาฬิ-โรมัน

พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ชุดการถอดอักษรและพิมพ์คู่ขนานกับอักษรต่างๆ  พ.ศ. 2563

โครงการพระไตรปิฎกสากลในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (2542-ปัจจุบัน) ได้จัดพิมพ์ต้นฉบับพระไตรปิฎกฉัฏฐสังคีติ พ.ศ. 2500 โดยปริวรรตถอดอักษรจากอักษรพม่า เป็นฉบับอักษรโรมัน สำเร็จเป็นชุดแรกของโลก พ.ศ. 2548 รวมเป็นชุด 40 เล่ม ตามต้นฉบับ โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้ประทานนามว่า Mahāsaṅgīti Tipiṭaka Buddhavasse 2500 และได้มีพระบัญชาให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) เป็นพระเถระที่ปรึกษาและเป็นผู้เขียนคำนำ

เนื่องด้วยฉบับสากลจัดพิมพ์เป็นชุดพิเศษขนาดใหญ่เหมาะแก่การอ้างอิงในสถาบันนานาชาติ และอักษรโรมันเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักวิชาการชาวตะวันตก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์ประธานกิตติมศักดิ์จึงได้พระราชทานในเบื้องต้นแก่สถาบันสำคัญและหอสมุดระดับนานาชาติในนานาประเทศ อาทิ ประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา, หอสมุดมหาวิทยาลัยอุปซาลา สวีเดน, ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก, หอสมุดมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย, หอสมุดมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กรุงซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา, และศาลฎีกาแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นต้น  ได้จัดพระราชทานตลอดเวลา 15 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 150 ชุด ใน 15 ประเทศทั่วโลก

แม้ปัจจุบันโครงการพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ได้อนุญาตให้มีการนำเนื้อหาปาฬิภาสา-อักษรโรมัน บางส่วนไปเผยแผ่ในระบบอินเทอร์เน็ต แต่ก็ยังแพร่หลายเฉพาะแต่ในหมู่นักวิชาการในวงแคบ ประชาชนทั่วไป รวมทั้งคณะสงฆ์ในท้องถิ่นชนบทไม่สามารถสืบค้นพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ในระบบอินเทอร์เน็ตได้สะดวก ดังนั้น พ.ศ  2562 เนื่องในวาระ 20 ปี ของการดำเนินงานอักษรโรมัน โครงการพระไตรปิฎกสากล จึงได้ทำการบรูณาการฉบับอักษรโรมัน เป็นฉบับพิมพ์คู่ขนานกับอักษรต่างๆ โดยเฉพาะชุดที่สำคัญในวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาเพื่อเผยแผ่ควบคู่กับต้นฉบับอักษรโรมัน มหาสังคีติ ติปิฎะกะ พ.ศ. 2500 ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น โดยจัดสร้างเบื้องต้นเป็น พระไตรปิฎกสากล ชุด การถอดอักษร พ.ศ. 2563 รวม 12 ชุดๆ ละ 40 เล่ม (ดูรายละเอียด) หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า The World Tipiṭaka Transliteration 2020 Edition
 

1. ต้นฉบับอักษรโรมัน 
    อ้างอิงกับ สัทอักษรสากล IPA

2. อักษรโรมัน
    อักษรสยาม ไทย

3. อักษรโรมัน
    อักษรไทย ในประเทศไทย

4. อักษรโรมัน
    อักษรไตยวน (ล้านนา) ไทย

5. อักษรโรมัน
    อักษรไตโหลง (ไทยใหญ่) ไทย/พม่า

6. อักษรโรมัน 
    อักษรไตลาว ไทย/ลาว

7. อักษรโรมัน
    อักษรล้านช้างโบราณ ไทย/ลาว

8. อักษรโรมัน
    อักษรไตขืน (เชียงตุง) พม่า

9. อักษรโรมัน
    อักษรไตลื้อ (สิบสองปันนา) จีน

10. อักษรโรมัน
      อักษรไตคำตี่ อินเดีย

11. อักษรโรมัน
      อักษรไตอาหม อินเดีย

12. อักษรโรมัน
      อักษรไตพ่าเก่ อินเดีย

การจัดพิมพ์ชุดการถอดอักษร 12 ชุด มีประโยชน์ดังนี้

1. เผยแผ่ฉบับสากล อักษรโรมัน ชุดสมบูรณ์ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น

1.1 ต้นฉบับอักษรโรมัน
1.2 ชุดการถอดอักษร
1.3 การอ้างอิงทางวิชาการ
1.4 การเปิดตัวต้นฉบับ

1.1 ต้นฉบับอักษรโรมัน
ต้นฉบับการสังคายนาระดับนานาชาติของพระไตรปิฎกมหาสังคีติชุดนี้มาจากการสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ครั้งสำคัญครั้งเดียวของโลก ณ กรุงย่างกุ้ง แต่เนื่องจากต้นฉบับพิมพ์เป็นอักษรพม่าและเป็นชุดหนังสือเก่าจึงมิได้แพร่หลายในระดับนานาชาติ คนทั่วไปเข้าใจว่าฉบับอักษรโรมันที่ตีพิมพ์ในยุโรปเมื่อศตวรรษที่แล้วเป็นฉบับมาตรฐานจึงนิยมศึกษาเพื่อแปลจากฉบับเก่า แท้จริงแล้วการสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ได้นำเสนอการจัดพิมพ์ที่เป็นระบบ มีการจัดลำดับคัมภีร์ตามการสังคายนาที่สืบทอดมาในประวัติศาสตร์ และมีระบบหัวข้อที่ละเอียดเป็นมาตรฐานในการอ้างอิงกับคัมภีร์บริวาร ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป

1.2 ชุดการถอดอักษร
การจัดพิมพ์อักษรโรมันกับชุดอักษรต่างๆ จึงทำให้ต้นฉบับสากลที่เป็นมาตรฐานได้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น และเป็นเหตุสำคัญในการอนุรักษ์และศึกษาอักษรท้องถิ่นในวัฒนธรรมพุทธศาสนาเถรวาท เพราะการพิมพ์คู่ขนานกับอักษรท้องถิ่นต่างๆ ด้วยวิชาการทางภาษาศาสตร์สากลที่เรียกว่า การถอดอักษร (Transliteration) และดำเนินงานด้วยกระบวนการที่ควบคุมด้วยระบบวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยทำให้สามารถป้องกันข้อผิดพลาดของการพิมพ์ต่างๆ ในอดีต

1.3 การอ้างอิงทางวิชาการ
นอกจากนี้ฉบับพิมพ์อักษรคู่ขนานชุดนี้มีเชิงอัฏฐ์อ้างอิงคำที่พิมพ์ต่างกันของพระไตรปิฎกอักษรท้องถิ่นฉบับต่างๆ รวม 13 ชุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจทานที่เรียกว่า The World Tipiṭaka Critical Apparatus ซึ่งไม่เคยมีการจัดทำอย่างละเอียดเช่นนี้มาก่อน การนำเสนอดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสำคัญยิ่งก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลพระไตรปิฎกเป็นระบบดิจิทัล ซึ่งจากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า ฉบับท้องถิ่นอื่นๆ ที่เริ่มจัดทำเป็นระบบดิจิทัล มิได้คำนึงถึงต้นฉบับสังคายนานานาชาติที่เป็นมาตรฐาน ไม่มีระบบการตรวจทานทั้งทางวิชาการและอิเล็กทรอนิกส์อย่างละเอียด ตลอดจนไม่มีกระบวนการบันทึกต้นฉบับเพื่อการตรวจสอบ (ดูรายละเอียดการตรวจทานฉบับสากล อักษรโรมัน เทียบกับฉบับเทวนาครี)

1.4 การเปิดตัวต้นฉบับ
ชุดการถอดอักษรและพิมพ์คู่ขนานที่สำคัญได้แก่ ชุดสยาม และชุดไตยวน ของไทย, ชุดไตโหลงของไทยใหญ่, ตลอดจนชุดไตล้านช้างของลาวโบราณ และชุดไตอาหมของอินเดีย ซึ่งต้นฉบับทั้งหมดได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ผู้แทนผู้เชี่ยวชาญอักษรต่างๆ ดังกล่าวยังร่วมกับมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลเข้าเฝ้าน้อมเกล้าฯ ถวายต้นฉบับการพิมพ์คู่ขนานแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2559 (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกชุดชาติพันธุ์ไต)

ปาฬิ ไต-อาหม / ปาฬิ-โรมัน 

ปาฬิ ไต-คำตี่ / ปาฬิ-โรมัน  

ปาฬิ ไต-พ่าเก่ / ปาฬิ-โรมัน 

2. บูรณาการฉบับสากล กับ เนื้อหาพระไตรปิฎกท้องถิ่น ให้สมบูรณ์เป็นมาตรฐาน

2.1 ประโยชน์การแบ่ง 86 ปาฬิ
2.2 ประโยชน์ในการตรวจทานเนื้อหา
2.3 ประโยชน์การสืบค้น
2.4 ประโยชน์ในการอ้างอิง

2.1 ประโยชน์การแบ่ง 86 ปาฬิ
การสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 มุ่งหวังเพื่อจัดพิมพ์เป็นชุดหนังสือพระไตรปิฎกที่เป็นมาตรฐาน จึงมีการตั้งชื่อคัมภีร์ทุกคัมภีร์ให้เป็นเอกภาพว่า ปาฬิ เช่น ปาราชิกปาฬิ (Pārājikapāḷi) เป็นคัมภีร์ปาฬิแรก และ ทุกะทุกะปัฏฐานะปาฬิ (Dukadukapaṭṭhānapāḷi) เป็นคัมภีร์สุดท้าย หรือคัมภีร์ปาฬิที่ 86 โดยรวมพิมพ์เป็นชุดหนังสือ 40 เล่ม และมีเลขข้อสอดคล้องกับเนื้อหาแต่ละเล่ม เป็นระบบสืบค้นที่มีประสิทธิภาพ

คัมภีร์ปาฬิ 86 ปาฬิ

2.2 ประโยชน์ในการตรวจทานเนื้อหา
ปัจจุบันแม้ว่ามิตรประเทศต่างๆ ที่ได้เข้าร่วมประชุมสังคายนานานาชาติ ก็ยังมิได้มีการปรับปรุงชุดพระไตรปิฎกของตนให้ตรงตามต้นฉบับสังคายนานานาชาติดังกล่าว เช่น ไทยก็มิได้เรียกคัมภีร์แรกว่า ปาราชิกปาฬิ แต่เรียกตามต้นฉบับโบราณว่า มหาวัคค์ นอกจากนี้ไทยยังแบ่งเล่มพระไตรปิฎกเป็นชุด 45 เล่ม ตามปีที่ประกาศพระศาสนา มิได้แบ่งตามมติการสังคายนานานาชาติ ทำให้ไทยต้องเปลี่ยนลำดับเลขข้อใหม่ในแต่ละเล่ม ซึ่งไม่ตรงกับต้นฉบับ ปัญหาการเทียบหน้านี้ทำให้การศึกษาพระไตรปิฎกของไทยมิได้ลงในรายละเอียดต้นฉบับของผลงานสังคายนานานาชาติ เนื้อหาในการจัดพิมพ์บางตอนยังไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้องตามต้นฉบับ เช่น ในมหาปรินิพพานสุตตะ ฉบับสยามรัฐของไทยในอดีต ตกคำว่า < ไม่ > ทำให้แปลว่า ไฟไหม้ผ้าห่อพระพุทธสรีระเพียง 2 พับ แทนที่จะแปลว่า ไม่ไหม้เพียง 2 พับ เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจุบันแม้มีการแปลและแก้ไขใหม่บางตอน แต่ก็มิได้มีการทำเชิงอัฏฐ์ให้เป็นที่กระจ่างแพร่หลาย ทั้งนี้ก็ด้วยระบบอ้างอิงหน้าที่ไม่สามารถอ้างอิงได้อย่างชัดเจนเป็นสากล

การใช้พระไตรปิฎกอักษรโรมันตรวจทานเนื้อหากับฉบับต่างๆ

2.3 ประโยชน์การสืบค้น
เนื่องจากพระไตรปิฎกของไทยชุด 45 เล่ม เป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้พระไตรปิฎกอักษรลาวทำการลอกเนื้อหาจากพระไตรปิฎกไทยไปจัดพิมพ์เป็นฉบับแปลภาษาลาว จึงมีข้อบกพร่องเหมือนต้นฉบับไทยในอดีต นอกจากนี้อักขรวิธีปาฬิภาสาของลาวยังยึดถือตามฉบับอักษรไทยที่ใช้ทั้งจุดพินทุบอดแสดงทั้งเสียงสะกดและเสียงกล้ำ (ต่างจากอักขรวิธีสยามที่จัดพิมพ์ในลำดับที่ 2 ซึ่งมีระบบสัททสัญลักษณ์แยกพยางค์เสียงสะกดและเสียงกล้ำออกจากกันเด็ดขาดตามกฎไวยากรณ์) ทำให้การพิมพ์อักษรไตลาว (จัดพิมพ์ในลำดับที่ 6) เกิดความลักลั่นในการเขียนเสียงกล้ำเป็นเสียงสะกด ซึ่งไม่ตรงกับอักขรวิธีลาวล้านช้างโบราณแต่เดิม ด้วยเหตุนี้ชุดอักษรลาวล้านช้าง (จัดพิมพ์ขึ้นในชุดนี้ลำดับที่ 7) จึงเป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์อักษรท้องถิ่นโบราณเพื่อใช้เปรียบเทียบกับอักษรลาวชุดใหม่ในปัจจุบันด้วย ซึ่งการจัดพิมพ์ที่ถูกต้องจะเป็นการรักษาเสียงปาฬิในอักษรลาวให้แม่นตรงตามไวยากรณ์สืบไปในอนาคต

การสืบค้นเนื้อหา 
โครงการพระไตรปิฎกสากลอนุญาตให้ใช้อักษรโรมัน

2.4 ประโยชน์ในการอ้างอิง
การจัดพิมพ์ใหม่เป็นอักษรและเลขโรมันที่เป็นสากลจึงทำให้ง่ายในการอ้างอิงและสืบค้นกับพระไตรปิฎกอักษรท้องถิ่นฉบับต่างๆ รวม 13 ชุด ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ดูการสืบค้นอ้างอิงที่หอสมุดมหาวิทยาลัยออสโล

3. การจัดพิมพ์การถอดอักษรและพิมพ์คู่ขนานเป็นส่งเสริมการอ่านออกเสียงปาฬิภาสา 

3.1 ช่วยการออกเสียงพิเศษ
3.2 ช่วยการแบ่งพยางค์
3.3 การศึกษาอักขรวิธี
3.4 ป้องกันการแทรกแซงทางเสียง

การถอดอักษร เป็น รากฐานการถอดเสียงในอนาคต

3.1 ช่วยการออกเสียงพิเศษ
อักษรโรมันเป็นอักษรสากลที่รู้จักกันในนานาประเทศ เพราะอักษรโรมันมีประวัติเก่าแก่และมีอักขรวิธีเขียนและอ่านที่สามารถถอดอักษรและตรึงเสียงปาฬิดั้งเดิมไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น อักษร h เช่น dh ในคำว่า Dhamma แสดงเสียงพ่นลม ซึ่งอักษรพ่นลมในบางอักษรนานาชาติไม่มีรูปเขียนที่แสดงเสียงพ่นลมอย่างชัดเจนเท่า ทำให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่คุ้นกับเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก มิได้มีการออกเสียงพ่นลมที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ที่เรียกว่า ธะนิตะ แต่ออกเสียงพ่นลมแบบท้องถิ่นปนแทรกกับเสียงปาฬิดั้งเดิม เช่น ไทย ออกเสียง ธ-ปาฬิ เป็นเสียง เป็นต้น

3.2 ช่วยการแบ่งพยางค์
การพิมพ์อักษรโรมันคู่ขนานกับอักษรต่างๆ ในโครงการพระไตรปิฎกสากลจึงเป็นแสดงประสิทธิภาพของการพิมพ์ในระบบดิจิทัล จากเทคโนโลยีฐานข้อมูลด้วยระบบการเรียงพิมพ์ที่ล้ำสมัย แสดงผลให้เกิดประสิทธิภาพจากการนำเสนอชุดอักษรพร้อมกันทั้งสองชุด เพื่อการออกเสียงและตรวจสอบความแม่นตรง ซึ่งปัจจุบันการเรียงพิมพ์ด้วยฐานข้อมูลดังกล่าวได้รับการตรวจสอบจากโปรแกรมสิทธิบัตรการพิมพ์สัชฌายะ The World Tipiṭaka Patent No. 46390 ทำให้สามารถรับรองความแม่นตรงของการพิมพ์ปราศจากข้อผิดพลาดทางเทคนิคในอดีต

3.3 การศึกษาอักขรวิธี
การพิมพ์อักษรคู่ขนานทำให้สามารถเปรียบเทียบอักขรวิธีปาฬิภาสาซึ่งแม้คำทั้งสองที่พิมพ์คู่ขนานกันและมีเสียงเดียวกัน แต่อาจมีอักขรวิธีที่ต่างกันได้ เช่น อักษรไทยเขียนสระได้ทั้งหน้า หลัง ข้างบน และข้างล่าง พยัญชนะ ส่วนอักษรโรมันเขียนสระอยู่หลังพยัญชนะเท่านั้น 

ชุดอักษรไตยวน ไตขึน และไตล้านช้างมีลักษณะการเขียนพยัญชนะซ้อนกัน แต่ชุดอักษรไทย อักษรไตโหลง กลุ่มชุดอักษรไตในอินเดีย และอักษรโรมัน ไม่เขียนพยัญชนะซ้อนกัน เป็นต้น รายละเอียดในการศึกษาอักขรวิธีที่หลากหลายใน 12 ชุด พระไตรปิฎกชุดการถ่ายอักษรย่อมมีประโยชน์ในทางสหวิชาการต่อไป

3.4 ป้องกันการแทรกแซงทางเสียง
ฉบับการพิมพ์อักษรคู่ขนานยังเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมการออกเสียงปาฬิ ด้วยการถอดเสียง ที่ทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์เรียกว่า Pāḷi Phonetic Transcription ซึ่งโครงการพระไตรปิฎกสากลจะได้พัฒนาต่อไปในอนาคต เรียกว่า ฉบับสัชฌายะ

ผู้สนใจสามารถศึกษาอักขรวิธีการอ่านและการเขียนที่ : https://www.sajjhaya.org/node/56
 

4. ประสิทธิภาพของฐานข้อมูล
จากศักยภาพฐานข้อมูลการพิมพ์ของฉบับสากลจึงทำให้สามารถสั่งพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรคู่ขนานได้เป็นฉบับย่อยๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามความต้องการของแต่ละองค์กร เป็นหนังสือสวดมนต์ หรือเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ 

พระไตรปิฎกในอดีตเป็นชุดหนังสือที่พิมพ์เป็นชุด 40 เล่ม ไม่สามารถแยกพิมพ์เป็นเล่มย่อยๆ ได้ การสร้างฐานข้อมูลซึ่งมีการวางแผนเนื้อหาเป็นส่วนย่อยๆ ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ทำให้สามารถแยกพิมพ์เป็นเล่มย่อยๆ ได้ 

นอกจากนี้การสร้างเป็นฐานข้อมูลยังสามารถประมวลการพิมพ์ตามความต้องการเป็นพิเศษ เช่น เนื้อหา ซึ่งจะสามารถเผยแผ่ได้เป็นเอกภาพต่อไปในอนาคต เป็นการเปลี่ยนผ่านที่สมบูรณ์ชุดแรก สู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์

ตัวอย่างการสั่งพิมพ์ชุดถอดอักษร
ซึ่งสามารถสั่งพิมพ์แยกเป็นเล่มย่อยๆ ได้ประมาณ 60,000 รายการ 

สรุป

ในทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์ การถอดอักษร (Transliteration) เป็นกระบวนการแปลงอักษรจากชุดอักษรหนึ่งไปเป็นอีกชุดหนึ่ง ซึ่งมุ่งเน้น "รูปศัพท์" ที่นิยมเขียนกันมาในอดีตโดยไม่คำนึงถึงเสียงดั้งเดิม อันเป็นหลักการในการบันทึกพระไตรปิฎกใบลาน การถอดอักษรเป็นอักษรโรมันจึงเป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของพระไตรปิฎกสากล 

ในบทความนี้อธิบายถึงพระไตรปิฎกสากล ชุดการถอดอักษร (Transliteration)  ซึ่งเป็นการจัดพิมพ์ใหม่รวม 12 ชุด ที่มีความหลากหลายในวัฒนธรรมของโลก และต่อไปจะใช้อ้างอิงกับ ชุดการถอดเสียง (Transcription) เพื่อการศึกษาทางด้านวัฒนธรรมการออกเสียง และโน้ตเสียงที่ลึกซึ้งในทางสหวิชาการ ซึ่งจะกล่าวในเรื่องของ ฉบับสัชฌายะ ซึ่งจะจัดพิมพ์แยกอีกชุดหนึ่งต่อไป