ปาฐกถาเฉลิมพระเกียรติ 100 ปี วันประสูติ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

โดย

พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค

มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล

 

 

วิดิทัศน์ แสดงปาฐกถาเฉลิมพระเกียรติ 100 ปี วันประสูติ 

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 

ตอนที่ 1/3 **

1.1

กราบนมัสการ พระเถรานุเถระ

 

กราบเรียน

ท่านวรวิทย์ กังศศิเทียม

        ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา

        ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล

 

เรียน

ดร. จงรัก วัชรินทร์รัตน์

         อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รศ. ดร. กิติมา อินทรัมพรรย์

        คณบดีคณะมนุษยศาสตร์

ผศ. วัชราภรณ์ อาจหาญ

       ผู้อำนวยการสถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์

และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย

 

ในนามมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เชิญมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลมาร่วมงานในวันนี้ ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ได้มอบหมายให้ผมเป็นผู้แสดงปาฐกถาเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอในรัชกาลที่ 9

ผู้ซึ่งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระกุลเชษฐ์แห่งพระราชวงศ์ในรัชกาลที่ 9 โดยทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์ในโครงการพระไตรปิฎกสากล ตั้งแต่ พ.ศ. 2548

โครงการพระไตรปิฎกสากล ก่อตั้งและดำเนินงานในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน

 

 

ขออนุโมทนาศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ยินดีอนุญาตให้คณะผู้จัดงาน อัญเชิญพระไตรปิฎกสากลชุดปฐมฤกษ์ของโลกประดิษฐาน ณ ที่นี้

 

และขอแสดงความยินดีและชื่นชมในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างยิ่ง เพราะปาฐกถาที่เกี่ยวกับพระราชศรัทธาของสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในพระพุทธศาสนาจะไม่มีความหมาย หากไม่มีพระไตรปิฎกสากลในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประดิษฐาน ณ ที่นี้ 

 

อย่างไรก็ตามแม้สถานการณ์ต่างๆ จะทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงการจัดนิทรรศการ แต่เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยก็สามารถทำให้มีการอัญเชิญพระไตรปิฎกมาประดิษฐานได้เสมือนจริง ประเด็นเรื่องเทคโนโลยีนี้จึงนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งกับ โครงการพระไตรปิฎกสากล ในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพราะ พระไตรปิฎกสากล เป็นการเปลี่ยนผ่านของพระไตรปิฎกเป็นฉบับดิจิทัลที่สมบูรณ์ที่สุดด้วย

 

ท่านผู้ร่วมรายการจะพบว่า โครงการพระไตรปิฎกสากล ได้มอบตัวอย่างเนื้อหาพระธัมมวินัยครบทั้ง 5 เล่ม ในพระไตรปิฎกสากล ฉบับต่างๆ มาจัดแสดง เพื่อการสืบค้นด้วย ได้แก่ พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ชุด 40 เล่ม และ ปทานุกรมพระไตรปิฎกศึกษา อักษรโรมัน ชุด 40 เล่ม เป็นต้น

 

ซึ่งปทานุกรมชุดดังกล่าว เป็นการนำเสนอแก่สาธารณชนในระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นครั้งแรก เพราะในอดีตมีข้อจำกัดในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งปัจจุบันกำลังหาหนทางที่จะทำให้ข้อมูลฉบับสากลสามารถเผยแผ่ได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพที่สุด

 

1.3

ในวัฒนธรรมพระไตรปิฎกมีคำว่า "ทัศนานุตริยะ" (dasnānutariya) คือ การเห็นที่ยอดเยี่ยม ไม่มีสิ่งใดเหนือกว่า

 

ในสมัยพุทธกาล การได้เห็นพระพุทธเจ้าย่อมเป็นทัศนานุตริยะ เพราะผู้ที่ได้เห็นพระพุทธเจ้าย่อมจะได้ฟังธัมม์ และย่อมบรรลุธัมม์เป็นธรรมดา แต่ปัจจุบันไม่มีพระบรมศาสดาแล้ว การได้เห็นพระไตรปิฎก จึงกล่าวได้ว่า เป็นทัศนานุตริยะ เพราะพระไตรปิฎก คือ พระบรมศาสดาในปัจจุบันสมัย การเห็นพระไตรปิฎกนี้ย่อมนำไปสู่การได้ฟังเสียงพระธัมม์ในพระไตรปิฎก ซึ่งจะยังให้เกิดปัญญา คือการเห็นธัมมะตามความเป็นจริงในที่สุด

1.4

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ ว่า "การให้ธัมมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง" ด้วยเหตุนี้ สมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้ซึ่งพระราชทานพระไตรปิฎกสากลแก่ชาวไทยและมนุษยชาติ จึงทรงมีพระกรุณาธิคุณอย่างล้นเหลือ

 

1.5

ในเบื้องต้นขอกล่าวถึงเน้น "บริบท" ของการปาฐกถา เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวันนี้ 3 ประการ :

  1. พุทธศาสนา คือ พระไตรปิฎก นิยาม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
  2. พระไตรปิฎกสากล อ้างอิง โครงการในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
  3. เฉลิมพระเกียรติ ด้วยมุมมอง ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา

 

1.6

ประการที่ 1. หัวข้อปาฐกถา มุ่งเน้นที่ว่า "พระพุทธศาสนา" นั้น ในปาฐกถานี้หมายถึง พระไตรปิฎก

ในการกล่าวถึงสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กับ พระพุทธศาสนานั้น ผมจะยกคำจำกัดความของพระพุทธศาสนา โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ที่เขียนไว้ในคำนำหนังสือพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ว่า :

"..ความดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา หมายถึง ความคงอยู่แห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า หากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเลือนลางหายไป แม้จะมีบุคคล กิจการ ศาสนสถาน และศาสนวัตถุใหญ่โตมโหฬารมากมายเพียงใด ก็ไม่อาจถือว่ามีพระพุทธศาสนา แต่ในทางตรงข้าม แม้สิ่งที่เป็นรูปธัมม์ภายนอกดังกล่าว จะสูญสลาย ถ้าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ายังดำรงอยู่ คนก็ยังรู้จักพระพุทธศาสนาได้ ด้วยเหตุนี้ การดำรงรักษาพระพุทธศาสนาที่แท้จริง จึงหมายถึงการรักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า"

คำนำ

พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน พ.ศ. 2548

ความสำคัญของพระไตรปิฎก

โดย

พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)

ที่ปรึกษาโครงการพระไตรปิฎกสากล

แต่งตั้งตามพระบัญชา ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พ.ศ. 2542-ปัจจุบัน

ปัจจุบันได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอัฐิ เป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร

 

 

1.7

ประการที่ 2 :

ข้อมูลพระไตรปิฎกสากล สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากสื่อดิจิทัลของมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล  sajjhaya.org

 

ภูมิหลังเหล่านี้หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสัมมนา  และจุดประกายของการศึกษาด้านภาษาศาสตร์ และวัฒนธรรมศึกษา ซึ่งหวังว่าสถาบันฯ ราชนครินทร์แห่งนี้จะได้รวบรวมให้สมบูรณ์ต่อไปในทางวิชาการะดับนานาชาติ ซึ่งมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลยินดีที่จะสนับสนุนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างเต็มที่

 

1.8

ประการสุดท้าย ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา

ปาฐกถานี้จะกล่าวเฉลิมพระเกียรติสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในบริบทของ "ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา" โดยอ้างอิงกับแนวคิดผ่านปรมาจารย์ ต่อไปนี้ :

 

ราชบัณฑิต สาขาตันติภาสา ศาสตราจารย์พิเศษ วิสุทธิ์ บุษยกุล

 

ผู้เชี่ยวชาญพระไตรปิฎก อาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ.9 โครงการพระไตรปิฎกสากล

 

Prof. of Russian Intellectual History, Dr. Arthur Mendel, University of Michigan

 

Prof. of Physics, Dr. Arthur Zajonc, Amherst College

 

1.9

แนวคิดนี้กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเกิดจากความคิดและการกระทำของปัจเจกบุคคลเป็นหลัก มิใช่เกิดจากปัจจัยอื่นใด เช่น พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ประดิษฐ์ ณ ที่นี้ เป็นผลจาก พระปัญญาญาณการตรัสรู้ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิใช่เกิดจากปัจจัยทางสังคม และเศรษฐกิจ หรือการเมืองแต่อย่างใด

1.10

ฉันใดก็ฉันนั้น พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ที่สำเร็จและแพร่หลายไปในนานาประเทศทั่วโลก กล่าวได้ว่าเป็นเพราะพระปรีชาญาณในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระองค์นี้เป็นสำคัญ มิใช่เพราะปัจจัยจากสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

 

เหตุใด สมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงพระราชทานพระไตรปิฎกอักษรโรมัน ชุดปฐมฤกษ์ แก่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

เหตุผลที่เป็นทางการ คือ ประธานศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลอย่างเป็นทางการ และศาลรัฐธรรมนูญคงมีเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้ทรงพระกรุณาพระราชทานเป็นชุดปฐมฤกษ์

 

ส่วนเหตุใด ศาลรัฐธรรมนูญจึงทราบถึงโครงการพระไตรปิฎกสากลในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ก็คงเป็นจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ที่ผู้สนใจจะต้องสืบค้นต่อไป

 

ในส่วนของผู้ที่ดำเนินงานจัดพิมพ์ฉบับอักษรโรมันชุดนี้ คงจะสันนิษฐานว่า สมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงคุ้นเคยกับประธานศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น เพราะประธานศาลรัฐธรรมนูญเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ซึ่งทั้งสมเด็จพระศรีนครินทร์ และสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จไปประทับที่ตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางภาคใต้เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรเป็นเวลานานๆ

 

 

แต่การที่ทรงคุ้นเคยกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ คงมิใช่เหตุผลเดียวที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับพระราชทานชุดปฐมฤกษ์ ศาลยุติธรรมเป็นองค์กรที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด การขอพระราชทานพระไตรปิฎก ซึ่งบันทึกเป็นอักษรโรมัน ซึ่งไม่เคยมีการจัดพิมพ์มาก่อนในประเทศยิ่งเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมเป็นพิเศษ

 

บัดนี้เวลาก็ผ่านมาร่วม 20 ปีแล้ว สิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์พอระลึกได้คือ โครงการพระไตรปิฎกสากลได้รับเชิญให้ไปชี้แจงรายละเอียดและความสำคัญของพระไตรปิฎกอักษรโรมัน และความเป็นสากล และเหตุใดจึงเป็นการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับอักษรโรมันชุดสมบูรณ์ชุดแรกของโลก ซึ่งตุลาการทุกท่านออกนั่งบัลลังก์ฟังคำชี้แจง การขอพระราชทานพระไตรปิฎกอักษรโรมันจึงเป็นมติของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการพระไตรปิฎกสากลจะมีเหตุผลอย่างไร แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ พระปรีชาญาณและความเป็นปราชญ์ทางศิลปวิทยาการในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้ที่ทรงเข้าพระทัยในความสำคัญของพระไตรปิฎก ตลอดจนปาฬิภาสาที่บันทึกในพระไตรปิฎก และอักษรโรมันซึ่งเป็นอักษรสากลนานาชาติ ที่เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญตระหนักในความสำคัญของพระไตรปิฎกอักษรโรมัน และความเป็นสากลของพระไตรปิฎก ที่ศาลสมควรได้รับพระราชทานเพื่อเป็นประโยชน์กับงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรใหม่ของชาติ

 

การที่ชุดปฐมฤกษ์ชุดแรก สมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จจาริกอัญเชิญไปพระราชทานแก่ประธานาธิบดีแห่งศรีลังกาในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2548 ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานาธิบดี ย่อมทำให้เป็นที่ประจักษ์ว่า พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ชุด 40 เล่ม ที่จัดพิมพ์สำเร็จในประเทศไทย เป็นคลังอารยธรรมทางปัญญาของมนุษยชาติ มิใช่เฉพาะเรื่องของพระศาสนาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้สถาบันสำคัญสูงสุดจึงสมควรได้รับพระราชทาน

หลังจากการพระราชทานแก่ศรีลังกา อีก 6 เดือนต่อมา จึงมีการจัดพระราชทานพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ชุดปฐมฤกษ์ชุดที่ 2 แก่ศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 15 สิงหาคม ในปีเดียวกัน และได้โปรดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้แทนร่วมกับผู้อุปถัมภ์พระไตรปิฎกสากล อัญเชิญชุดอักษรโรมันปฐมฤกษ์ ชุดที่ 3 (วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2548) ไปจัดพระราชทานแก่ หอสมุดมหาวิทยาลัยอุปซอลา ราชอาณาจักรสวีเดน ตามที่ทางมหาวิทยาลัยได้มีหนังสือมากราบบังคมทูลขอพระราชทาน..

 

กล่าวได้ว่า ธัมมะจัดสรรให้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับพระราชทานชุดปฐมฤกษ์ ซึ่งก็เป็นผลของความร่วมมือร่วมใจของผู้อุปถัมภ์พระไตรปิฎกที่เห็นในความสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้แทนของสถาบันศาลสถิตยุติธรรม

 

 

ปัจจุบันศาลสูงสุดทุกแห่งในประเทศไทยล้วนได้รับพระราชทานพระไตรปิฎกอักษรโรมัน ฉบับต่างๆ พร้อมทั้งข้อมูลฉบับดิจิทัล แม้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก ณ กรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ก็ได้รับพระราชทาน โดยประธานศาลฎีกา ในขณะนั้น (พ.ศ. 2550) ซึ่งเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งเป็นพิเศษ ได้เดินทางอัญเชิญพระไตรปิฎกอักษรโรมัน และปทานุกรมพระไตรปิฎกศึกษาอ้างอิง อักษรโรมัน ชุดพิเศษ 80 เล่ม ไปมอบเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม เป็นชุดพระราชทานในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อปัญญาและสันติสุขจากประชาชนชาวไทย แก่ประธานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ ที่ทำการศาลโลก หรือที่รู้จักกันว่า พระราชวังแห่งสันติภาพ ดังนั้นปัจจุบันพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน  ชุดนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรมทางกฏหมายที่เก่าแก่ของมนุษยชาติ และ กล่าวได้ว่าการจัดพิมพ์สำเร็จเป็นชุดแรกของโลก นับเป็นภูมิปัญญาไทยสากล ที่สำคัญยิ่ง

 

1.11

หวังว่าข้อมูลในปาฐกถานี้จะทำให้การเฉลิมพระเกียรติในวาระ 100 ปี ที่จะมาถึง มีสาระมิใช่แต่พระอัจฉริยภาพเท่านั้น แต่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาไทย หรือจะเรียกว่า "ภูมิปัญญาไทยสากล" ดังประจักษ์พยานที่แสดงในนิทรรศการการนี้ คือ พระไตรปิฎกที่เป็นสากล และหวังว่าหากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม จะส่งเสริมเพระราชวิสัยทัศน์ในภูมิปัญญาไทยสากลนี้ ย่อมจะเห็นว่า พระไตรปิฎกสากล ในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อาจเป็นผลงานที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งที่ได้ทรงริเริ่มไว้ มิใช่เป็นชุดหนังสือพระไตรปิฎกสากลที่สมบูรณ์ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่เป็นนวัตกรรมอักษรโรมัน ที่ปัจจุบัน ได้พัฒนาเป็น สัททะอักขะระ -- Phonetic Alphabet และได้สร้างเป็น อุปกรณ์พระไตรปิฎกดิจิทัล และสามารถเปลี่ยนผ่านเป็นเทคโนโลยีเสียงสัชฌายะในพระไตรปิฎกสากล ที่จะแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นทั้งศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก        และศูนย์กลางของอารยธรรมทางปัญญาพระไตรปิฎกสากล สมดังที่สถาบันฯ ราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์แห่งนี้มีเจตจำนงให้เกิดการศึกษาในระดับสากล

 

รายละเอียดต่างๆ และภาพที่นำเสนอ สามารถสืบค้นได้ที่เว็บไซต์ของสถาบัน

 

ตอนที่ 2/3**

2.1

saddho sīlena sampanno..

[ซัด-โด  ซี-เล-นะ  ซัม-ปัน-โน]

 

ท่านผู้ฟังสังเกตที่ผมออกเสียงอ่านพระไตรปิฎก ตามอักษรโรมัน

 

dʰō  (โด-เสียงพ่นลม) ใน [sad-dʰō] จึงมิใช่ [โท-เสียงพ่นลม] เหมือนเสียง ธ-ธง ในภาษาไทย

 

ส่วน sīlena sampanno

sī… [ซี] และ sam.. [ซัม] เป็นเสียงวรรณยุกต์สามัญ มิใช่ [สี] ใน สีเลนะ และ [สัม] ใน สัมปันโน ในภาษาไทย ซึ่งเป็นเสียงวรรณยุกต์จัตวา

 

2.2

จากตัวอย่างนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า อักษรโรมัน มีผลต่อการบันทึกเสียงในพระไตรปิฎก เพราะผู้อ่านอักษรโรมันในประเทศต่างๆ จะออกเสียงอ่านพระไตรปิฎกเหมือนกันตามรูปเขียนอักษรโรมัน โดยไม่มีเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำลำดับต่อไปจะกล่าวถึงประเด็นต่างๆ ของพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

 

ประเด็นที่ 1. พระไตรปิฎกคืออะไร ?

ปัจจุบันคนทั่วไปเห็นพระไตรปิฎก เป็น ชุดหนังสือ และคำแปลเป็นภาษาต่างๆ แต่โครงการพระไตรปิฎกสากล "เห็น" พระไตรปิฎกเป็น "เสียง" กล่าวคือ "เสียง" คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

ยกตัวอย่าง ท่านโกณฑัญญะบรรลุธัมม์

 

ท่านอัญญาโกณฑัญญะบรรลุธัมม์ในขณะที่ฟังเสียงพระพุทธเจ้าแสดงพระธัมมเทศนา เรื่อง ธัมมจักกัปปวัตตนสุตตะ ท่านโกณฑัญญะมิได้บรรลุธัมม์ขณะอ่านหนังสือธัมมะ แต่ขณะกำลังสดับฟังเสียงพระพุทธเจ้าเทศนา ซึ่งเป็นประสพการณ์สัมผัสสภาวะที่ผ่านโสตประสาท หรือ ประสาททางหู ที่นักเรียนอภิธัมม์เรียกว่า โสตวิญญาณธาตุ มิใช่ประสพการณ์จากการอ่านหนังสือ ที่ผ่านจักขุประสาททางตา หรือ ผ่านจักขุวิญญาณธาตุ

 

ถ้าท่านทั้งหลายมาพิจารณา ปัจจุบันท่านเคยแต่อ่านพระธัมม์คำสอนในหนังสือพระไตรปิฎกภาคแปลเป็นภาษาต่างๆ ท่านเคยถามตัวท่านหรือไม่ว่า ใครเป็นผู้แปล ? แน่นอนที่สุดคือ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าเป็นผู้แปล และการแปลนี้แม่นตรงเพียงใด ? เหตุใดเราจึงไม่สนใจเสียงพระธัมม์ดั้งเดิม ?

 

ในเมื่อประวัติศาสตร์บันทึกว่า พ.ศ. 1 พระอรหันตสาวกได้ร่วมกันทรงจำเสียงคำสอนนี้ด้วยการออกเสียงสังคายนาพระไตรปิฎก เราควรตั้งสมมุติฐานในการหาเสียงที่ดั้งเดิมนี้หรือไม่ ?

 

2.4

ในทางภาษาศาสตร์ คณาจารย์ที่สถาบันฯ ราชนครินทร์ ย่อมเข้าใจดีว่า เสียงล้วนมีพัฒนาการและเปลี่ยนแปลตามกาลเวลา ปัจจุบัน ทำให้ไทยออกเสียง พุทโธ ว่า [พุท-โธ] แต่ทั่วโลกออกเสียงว่า [บุด..] ใน  [bud-dʰō]  คือ เสียงไม่พ่นลมทั้งสองคำ (อธิบายเสียงไม่พ่นลม) พม่า ศรีลังกา และตะวันตก ล้วนออกเสียงว่า  [bud-dʰō]  มีแต่ไทยเราเท่านั้นที่ออกเสียงว่า  [พุท-โท]  คือ เสียงพ่นลมทั้งสองพยางค์

 

นี่คือปรากฏการณ์ที่ทางภาษาศาสตร์เรียกว่า การแทรกแซงทางเสียง หรือ Linguistic Interference ที่เสียงท้องถิ่น เช่น พุทธ หรือเสียง [พะ] พ-พาน กลายไปปนแทรกกับเสียงดั้งเดิมคือ [บะ] หรือ [บุด] ในพระไตรปิฎก

2.4

ทำนองเดียวกัน ไทยเราชาติเดียวที่ ออกเสียงว่า โกณ-ทัน-ยะ แต่นานาชาติ ออกเสียงว่า [kōṇ-dañ-ña] สังเกต สระ ō (สังเกต เสียง ō Pāḷi ออกเสียงว่า o สระเสียงเดี่ยว ต่างจากเสียง o ในภาษาอังกฤษ) แต่เมื่อ ō มีตัวสะกด จะออกเสียงสั้น ส่วนในภาษาไทย มีอำนาจของเสียง สระ-โอ มากกว่าเสียงสะกด

 

ส่วน เสียง d ที่ปุ่มเงือก ไทยออกเป็น /ฑ/ เช่น ท-มณโท แท้จริงเสียงในพระไตรปิฎก คือ [ด-พ่นลม] เช่น [ดิต] ใน [บัณ-ฑิต]

 

เพราะหลักการเรื่อง "เสียง" คือการอนุรักษ์เสียงดั้งเดิมในการสังคายนาพระไตรปิฎก ทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากล เลือกสื่อ อักษรที่จะเขียนเสียงที่เป็นสากลที่สุด ก็คือ อักษรโรมัน ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดต่อไป

 

แหล่งที่มาของภาพ:

https://www.wikiwand.com/en/%C4%80nanda

https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Nava_Jetavana_Temple_-_Shravasti...(9241729223).jpg

 

 

2.5

ถ้าเราเข้าใจหลักการสังคายนาที่เริ่มด้วยพระอรหันตสาวก ผู้ถึงพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ หรือ ความเชี่ยวชาญในนิรุตติศาสตร์ หรือที่ปัจจุบันเป็นวิชาการทางที่เรียกว่า ภาษาศาสตร์ เราย่อมจะมั่นใจได้ว่า การอ้างอิงเสียงดั้งเดิมนั่นสามารถทำได้ ในอดีตมักเข้าใจกันว่า พระอานนท์ เป็นอัจฉริยะทางภาษาและความจำ ที่ฝรั่งเรียกว่า photographic memory แต่บัดนี้ผู้ที่ได้ศึกษาและผ่านการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานย่อมสามารถเข้าใจว่า พระอานนท์เมื่อบรรลุพระอรหันต์ ท่านได้ ปฏิสัมภิธาญาณ คือ ญาณพิเศษที่ต่างจากความจำคำสอนด้วยสมอง แต่ท่านสอบทานด้วย อตีตังสญาณ คือ ความรู้พิเศษที่ย้อนไปในอดีต และพระอรหันต์ทั้งหลายที่ประชุมสังคายนาเมื่อ พ.ศ. 1 ก็ตรวจสอบด้วยอตีตังสญาณเช่นกัน เสียงคำสอนที่บันทึกในพระไตรปิฎกจึงกล่าวได้ว่าเป็นเสียงพระธัมม์เที่ยงแท้

 

ประเด็นที่ 2 ภาษาในพระไตรปิฎก

 

2.6  

     

เสียงที่กล่าวข้างต้น โครงการพระไตรปิฎกสากล เรียกว่า "เสียงปาฬิ" (Pāḷi) เพราะในการสังคายนาระดับนานาชาติ พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นการสังคายนาครั้งนานาชาติครั้งแรกและครั้งเดียวของโลก คณะสงฆ์นานาชาติมีมติ เรียกภาษาที่บันทึกคำสอนในพระไตรปิฎกว่า ป า ฬิ  หรือ  P ā ḷ i  คือ ฬิ ที่เขียนด้วย ฬ-จุฬา โครงการพระไตรปิฎกสากลจะสรุปประเด็นนี้ว่า ปาฬิ ส่วนผู้ที่ยกไวยากรณ์ต่างๆ มาอธิบาย ก็พึงทราบว่า ปาฬิ เป็นมติของสังคายนา ซึ่งคัมภีร์พระไตรปิฎกทุกเล่ม เรียกว่า ปาฬิ ทั้งสิ้น เช่น เล่มที่ 1 เรียกว่า ปาราจิกะปาฬิ Pārājikapāḷi เป็นต้น

2.7

การกลายเสียงจากปาฬิ  เป็น บาลี ในประเทศไทย

 

เรื่องนี้ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ได้อธิบายเรื่อง  จิตวิทยาการออกเสียงของคนไทย ที่ไม่ชอบเสียง ป [ปะ] แต่ชอบเสียง บ [บะ] นอกจากนี้ คนไทยยังไม่ชอบเสียงลงท้ายพยางค์ เป็น เสียงสระสั้น เช่น -ฬิ ในปาฬิ ด้วยเหตุนี้ ปาฬิ ดั้งเดิมจึงกลายเสียงเป็น บาลี ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาศาสตร์ย่อมสามารถอธิบายเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

 

2.8

ดังนั้นในปัจจุบัน โครงการพระไตรปิฎกสากล จึงเรียกว่า ปาฬิภาสา สังเกตว่า -สา ใน "ภาสา" เขียนด้วย ส-เสือ ตามรูปศัพท์ปาฬิ ในพระไตรปิฎก มิใช่เขียนตามรูปสันสฤต ด้วย  ษ-ฤษี  เหมือนคำว่า "ภาษา" ในภาษาไทย สรุปว่า เมื่อโครงการพระไตรปิฎกสากลมุ่งเน้นเรื่องเสียง การถอดเสียง Pāḷi เป็นศัพท์ไทย จึงทำการถอดเสียง (Transcription) ในทางภาษาศาสตร์ให้ตรงกันว่า ปาฬิ ที่เขียนด้วย ฬ-จุฬา

 

ประเด็นที่ 3. ต้นฉบับพระไตรปิฎกที่ใช้พิมพ์เป็นฉบับสากล

2.9     

โครงการพระไตรปิฎกสากลนำเอาต้นฉบับพระไตรปิฎกสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ในข้อ 2 มาจัดพิมพ์เป็นฉบับสากล

 

2.10

ปัจจุบันน้อยคนจะรู้ว่า ในการสังคายนานนานาชาติ พ.ศ. 2500 สมเด็จพระญาณสังวรฯ หรือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวรในปัจจุบัน ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหาเถระผู้เชี่ยวชาญ เปรียณธัมม์ 9 ในยุคนั้นที่ได้ทรงรับเลือกให้เป็นผู้แทนคณะสงฆ์ไทยไปประชุม ณ กรุงย่างกุ้ง ซึ่งทำให้หอสมุดของวัดบวรนิเวศวิหารมีต้นฉบับพระไตรปิฎกอักษรพม่าที่ทรงนำกลับมาเก็บอยู่ และได้ประทานต้นฉบับสังคายนานานาชาตินี้มาให้โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ทำสำเนาเพื่อใช้ตรวจทาน เป็น ฉบับอักษรโรมัน

 

เรื่องนี้ต้องเข้าใจได้ว่า เมื่อพม่าเป็นเจ้าภาพจัดการสังคายนาแม้ว่า จะเป็นการสังคายนานานาชาติ แต่ต้นฉบับที่ใช้ทำงาน ก็ยังต้องพิมพ์ ปาฬิภาสา-อักษรพม่า ซึ่งในอดีตผู้ที่ศึกษาปาฬิภาสา ระดับเปรียญธรรม 9 ล้วนสามารถอ่านพระไตรปิฎกพม่าได้ทั้งนั้น

 

มาถึงจุดนี้ ท่านทั้งหลายคงสงสัยว่าพม่าจัดงานสังคายนาระดับนานาชาติ แต่เหตุใดพม่าเจ้าภาพจึงยังใช้อักษรพม่าเขียนปาฬิภาสา ?

 

เหตุที่พม่ามิได้ใช้อักษรนานาชาติหรืออักษรโรมัน ก็เพราะเวลานั้น พม่าเพิ่งได้รับเอกราช พ้นจากอาณานิคมอังกฤษ การที่จะนำเอาอักษรโรมัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอาณาจักรอังกฤษมาใช้พิมพ์พระไตรปิฎกอันเป็นวัฒนธรรมสูงสุดของพม่า ที่กำลังจะประกาศความเป็นชาติเอกราช จึงเป็นไปไม่ได้ในขณะนั้น

 

131979

2.11

ด้วยเหตุนี้ เมื่อต้นฉบับสังคายนานานาชาติยังมิมีการแปลงอักษรเป็นฉบับอักษรโรมัน จึงเป็นเหตุสำคัญให้เกิดโครงการพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ในปี พ.ศ. 2542 โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวรทรงมีพระบัญชาให้ กองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ซึ่งก่อตั้งโดยท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นผู้ดำเนินงานจัดพิมพ์ในพระสังฆราชูปถัมภ์

 

ประเด็นที่ 4. อักษรโรมัน สำคัญไฉน ?

แหล่งที่มาของภาพ:

https://www.dkfindout.com/us/history/ancient-rome/roman-writing/

2.12      

อักษร คือ สื่อที่ใช้เขียนตัวหนังสือ หรือ พยัญชนะ และ สระ ในภาษาต่างๆ

 

พระไตรปิฎกอักษรโรมัน ก็คือ การเขียนเสียงปาฬิ ด้วย อักษรของอาณาจักรโรมันที่เก่าแก่นับ 5,000 ปี ซึ่งเป็นอักษรที่ชาวโลกรู้จัก และสามารถออกเสียงได้

 

นักวิชาการตะวันตกได้ริเริ่มใช้อักษรโรมันในการเขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 แต่เป็นผลงานของนักวิชาการที่ต่างคนต่างทำ และไปลอกจากคัมภีร์อักษรต่างๆ จากทั่วโลก จึงแตกต่างจากพระไตรปิฎกสากล ฉบับนี้ ที่ได้อธิบายแล้วในข้อ 3 ว่า เป็นการสังคายนาระดับนานาชาติครั้งสำคัญที่สุดของโลก ดังนั้นประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญที่เมื่อโครงการพระไตรปิฎกสากลไปเฝ้าถวายรายงาน เมื่อ พ.ศ. 2546 สมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์จึงทรงเข้าพระทัยทันที ว่าฉบับนี้เป็นพระไตรปิฎกอักษรโรมัน ชุดสมบูรณ์ชุดแรก

 

แหล่งที่มาของภาพ:

http://www.cu100.chula.ac.th/story/374/

 

2.13

สมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติที่กรุงลอนดอน ทรงได้รับการศึกษาในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทำให้ทรงเชี่ยวชาญทั้ง ภาษาฝรั่งเศษ เยอรมัน และอังกฤษ ซึ่งล้วนเขียนเสียงด้วยอักษรโรมันที่เก่าแก่ของอารยธรรมตะวันตกที่เรืองอำนาจ อักษรโรมันจึงเป็นอักษรสากลนานาชาติที่ชาวโลกรู้จัก และอ่านออกเสียงได้เป็นสากล ทำนองเดียวกัน ปาฬิเป็นเสียงภาษาพระธัมม์ในพระไตรปิฎก ถ้าสามารถเขียน "เสียงปาฬิ" ด้วย "อักษรโรมัน" พระไตรปิฎกอักษรโรมันฉบับใหม่ ย่อมจะแพร่หลายไปทั่วบรรณพิภพ และแพร่หลายไปในโลกแห่งศิลปศาสตร์ด้วย เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ความคิดที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนา ผ่านพระไตรปิฎกอักษรโรมัน จึงเป็นพระราชวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลระดับสากล

แหล่งที่มาของภาพ:

https://sea.mashable.com/science/1953/the-worlds-oldest-periodic-table-has-been-found-its-134-years-old

 

ตารางธาตุทางเคมีในรูป นักเคมีชาวรัสเซีย ดมีตรี อีวาโนวิช เมนเดเลเยฟ เป็นผู้นำเสนอเป็นคนแรก พ.ศ.1869  (ตรงกับ พ.ศ. 2412 ตอนต้นรัชกาลที่ 5) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ชาวรัสเซีย ก็มิได้นำเสนอตารางธาตุนี้ด้วย อักษรรัสเซีย ที่ชาวรัสเซียออกเสียงชื่ออักษรนี้ในภาษารัสเซียว่า คิรีลลิซะ (Kirillitsa) หรือที่ชาวยุโรปเรียกว่า อักษร        ซีริลลิก (Cyrillic) แต่กลับเลือก อักษรโรมัน (Roman Alphabet) เป็น สัญลักษณ์สากลทางเคมีแทน เช่น K สำหรับ potassium และ Ca สำหรับ calcium เป็นต้น

 

2.14

นอกจากนี้ สมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ยังทรงศึกษามาทางวิทยาศาสตร์ ด้านเคมี ซึ่งชาวโลกกำหนดให้ อักษรโรมัน เป็นสัญลักษณ์ของตารางธาตุทางเคมี ดังนั้นจึงทรงตระหนักในความสำคัญของอักษรโรมัน ในมิติของสมมุติในทางวิทยาศาสตร์ด้วย ประเด็นนี้ทำให้ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์ยาวไกลที่ อักษรโรมันเป็นสัญลักษณ์ทางเสียงในทางภาษาศาสตร์ ที่เรียกว่า สัทอักษร ซึ่งจะกล่าวต่อไปภายหลัง

 

สรุปทั้ง 4 ประเด็น

1. พระไตรปิฎก คือ เสียง

2. เสียงพระไตรปิฎก เรียกว่า ปาฬิภาสา

3. ปาฬิภาสา มาจากต้นฉบับสังคายนานานาชาติ 2500

4. ต้นฉบับนี้ สามารถเขียนเป็น อักษรโรมัน ชุดสมบูรณ์

 

2.15

ประเด็นทั้ง 4 ข้อที่ได้กล่าวมาเบื้องต้น ได้แก่ 1. พระไตรปิฎกคือเสียง 2. เสียงพระไตรปิฎกเรียกว่า เสียงปาฬิภาสา 3. ปาฬิภาสา มาจาก ต้นฉบับสังคายนานานาชาติ 2500 และ 4.  ต้นฉบับนี้ สามารถเขียนเป็น อักษรโรมัน

 

ประเด็นทั้ง 4 จึงทำให้สมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เข้าพระทัยความสำคัญของอักษรโรมันซึ่งเป็นสื่ออักษรสากลนานาชาติ และการจัดพิมพ์ตามการสังคายนานานาชาติเป็นครั้งแรก ยิ่งทำให้ทรงเข้าพระทัยในความแตกต่างระหว่างพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันฉบับนี้กับฉบับอื่นๆ ในอดีต ด้วยเหตุนี้การเปิดตัวพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันที่จัดพิมพ์ในประเทศไทย เป็นปฐมฤกษ์ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

 

ตอนที่ 3/3*

ประเด็นที่ 5 

3.1

พ.ศ. 2546 โครงการพระไตรปิฎกสากลจัดปาฐกถาพิเศษถวาย เรื่อง พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกที่ตีพิมพ์เป็นชุดๆ แรกของโลก ครั้งนั้น พิมพ์ ชุด 39 เล่ม

พระไตรปิฎก จ.ป.ร. พ.ศ. 2436 ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล พ.ศ. 2551 ชุด 39 เล่ม ที่จัดแสดงในนิทรรศการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กันยายน พ.ศ. 2564

 

 

3.2

ด้วยพระปรีชาในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงเริ่มศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับพระไตรปิฎกในมิติต่างๆ ประมาณ 7 เดือน โดยทรงมีคำถามให้คณะทำงานอธิบายถวายทุกเดือน จนในที่สุดได้โปรดให้คณะทำงานเข้าเฝ้าเพื่อจะกราบทูลเชิญทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์เพื่อพระราชทานพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันไปในนานาประเทศ ซึ่งพวกเราได้รับทราบเป็นการภายในจากผู้ใกล้ชิดว่าจะไม่ทรงรับตำแหน่งนี้ ด้วยเหตุผลส่วนพระองค์ที่เราไม่อาจจะรู้ได้ แต่เหตุผลหนึ่งที่น่าจะเป็น ก็คือ ทรงถ่อมพระองค์ว่ามิได้ทรงเป็นเจ้านายพระองค์เดียวในขณะนั้น และมิได้ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกเลย

 

อย่างไรก็ตามในวันสำคัญที่เข้าเฝ้านั้น ก่อนที่จะทรงปฎิเสธ ได้ทรงถามคำถามสำคัญอีกข้อหนึ่งว่า "ทำไมต้องเป็นฉันที่จะเป็นผู้พระราชทานเป็นปฐมฤกษ์ ?" ท่านประธานโครงการพระไตรปิฎกสากลในขณะนั้น ได้กราบทูลตอบทันที่ว่า "เพราะทรงเป็นกุลเชษฐ์แห่งพระราชวงศ์" ซึ่งหมายถึงทรงเจริญด้วยพระชนมายุที่มากกว่าพระราชวงศ์พระองค์ใดจะเสมอเท่า และทรงเป็นพระราชนัดดาที่อาวุสโสสูงสุดในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ซึ่งพระราชทานพระไตรปิฎก อักษรสยามในอดีต ดังนั้นโครงการพระไตรปิฎกสากลจึงมากราบทูลเชิญ  "ผู้ทรงเป็นกุลเชษฐ์ในพระราชวงศ์" เป็นผู้พระราช ทานชุดอักษรโรมันเป็นปฐมฤกษ์

3.3

คำตอบที่ว่าทรงเป็นพระกุลเชษฐ์แห่งพระราชวงศ์นี้คงเป็นคำกราบบังคมทูลที่เกินความคาดหมาย เพราะทรงนิ่งอยู่พักหนึ่ง แล้วจึงทรงพระสรวลและทรงตอบว่า "ถ้าเช่นนั้น.. วันนี้รับเชิญ"

3.4

พระกรุณาธิคุณที่ทรงรับเป็นประธานกิตติมศักดิ์ในวันนั้น ทำให้เกิดแผนการเสด็จจาริกไปศรีลังกาเพื่อพระราชทานพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน เป็นปฐมฤกษ์ และเมื่อความนี้ทราบถึง ฯพณฯ ประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา ว่า พระกุลเชษฐ์แห่งพระราชวงศ์ และผู้ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าและพระเจ้าพี่นางเธอในพระมหากษัตริย์ไทยถึงสองพระองค์จะเสด็จจาริกไปกรุงโคลัมโบเพื่อพระราชทานพระไตรปิฎกฉบับอักษรโรมันจากการสังคายนานานาชาติ ชุดสมบูรณ์เป็นปฐมฤกษ์แก่ประเทศศรีลังกา โดยสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเห็นว่าศรีลังกาเป็นชาติที่ให้กำเนิดพระไตรปิฎกลายลักษณ์อักษรเป็นชาติแรกของโลก เมื่อประมาณ พ.ศ. 430

 

กล่าวคือเป็นชาติที่จารึกอักษรสิงหฬลงใบลานเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลังจากที่พระไตรปิฎกได้สวดทรงจำมานานกว่า 4 ศตวรรษ

 

3.5

ด้วยเหตุผลนี้ประธานาธิบดีแห่งศรีลังกาจึงมีหนังสืออย่างเป็นทางการส่งผ่านเอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำประเทศไทยไปถวายโดยตรง โดยเชิญเสด็จไปกรุงโคลัมโบในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2548

 

3.6

ท่านทั้งหลายคงจำได้ว่าก่อนวันที่เชิญเสด็จนั้น ได้เกิดภัยพิบัติซึนามิทำให้ชาวลังกาเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งของโลก สมเด็จฯ กรมหลวงจึงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จไปเช้าและกลับตอนเย็น ซึ่งก็เป็นเรื่องอัศจรรย์ ที่มีผู้มีจิตศรัทธาแรงกล้าจัดเรือบินพระที่นั่งถวายเป็นเที่ยวบินพิเศษเพื่อการเสด็จจาริก

 

ในการนี้ ทรงโปรดให้ผู้อุปถัมภ์พระไตรปิฎกสากลตามเสด็จด้วย รวมผู้เดินทางทั้งสิ้นประมาณ 100 คน

 

3.7

รายละเอียดเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เกินความคาดหมายและการวางแผนของโครงการพระไตรปิฎกสากลทั้งสิ้น แต่ด้วยพระปรีชาญาณการตัดสินพระทัย และเหตุผลที่ทรงพระกรุณาอธิบายแก่ทุกฝ่ายแสดงถึงพระราชศรัทธาในการบำเพ็ญพระราชกุศลของชาวไทยที่จะเผยแผ่พระไตรปิฎก อักษรโรมัน ชุดสมบูรณ์ชุดแรก ตามรอย ฉบับ จปร. อักษรสยาม ในอดีต ทำให้ทุกคนต้องการมีส่วนร่วม แม้หลายท่านอาจกล่าวว่าไม่เคยมีความรู้เกี่ยวกับพระไตรปิฎกก็ตาม

 

การอัญเชิญพระไตรปิฎก อักษรโรมัน ชุดปฐมฤกษ์ครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการอัญเชิญด้วยอากาศยานครั้งแรกสำเร็จด้วยดียิ่ง และแม้การเสด็จจาริกจะเป็นไปอย่างรวดเร็วและเรียบง่าย แต่การที่ประธานาธิบดีมารับเสด็จเพื่อรับพระราชทานพระไตรปิฎกในหอประชุมนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของศรีลังกาซึ่งมีผู้รอเฝ้าเต็มหอประชุม จึงเป็นข่าวไปทั่วประเทศ และสื่อมวลชนด้านพุทธศาสนาก็ได้รายงานข่าวไปทั่วโลกด้วย นอกจากนี้ได้มีการเผยแผ่คำรับรองของการจัดพิมพ์ฉบับสากลโดยปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญชาวศรีลังกาเผยแผ่แก่นักวิชาการ ในระดับนานาชาติ

 

3.8

การพระราชทานพระไตรปิฎกสากลเพียงชุดเดียวดังกล่าวเป็นข่าวไปทั่วโลก เป็นเหตุให้สถาบันสำคัญทั่วโลกที่เคยได้รับพระราชทานพระไตรปิฎก ฉบับ จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ก็ได้มีหนังสือเป็นทางการมายังประเทศไทยเพื่อขอพระราชทานฉบับสากลอักษรโรมันชุดนี้ ปัจจบันได้มีการจัดพระราชทานเป็นพระธัมมทานในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไม่น้อยกว่า 150 สถาบันทั่วโลก

 

อาทิ

หอสมุดมหาวิทยาลัยอุปซอลา ประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นหอสมุดที่เก่าแก่ที่สุดในสแกนดิเนเวีย

การพระราชทานพระไตรปิฎกสากล ณ พุทธสถานชิเตนโนจิ ซึ่งมีอายุกว่า 1,000 ปี ณ นครโอซากาและ พิธีอ่านออกเสียงสัชฌายะ พร้อม การแปลเป็นภาษาไทย และ ภาษาญี่ปุ่น ณ พุทธสถานิตไตจิ นครนาโงยะ และสถาบันการศึกษาระดับนานาชาติในประเทศญี่ปุ่น 18 สถาบัน

สหพันธ์พุทธศาสนาแห่งนอร์เวย์และหอสมุดมหาวิทยาลัย Oslo ประเทศนอร์เวย์

มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นแห่งออสเตรเลียที่มีชื่อเสียงที่สุดในปัจจุบัน ณ นครเมลเบิร์น

หอสมุด Suzzalo มหาวิทยาลัยวอชิงตัน กรุงซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา

หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ The  British Library ณ กรุงลอนดอน ซึ่งได้ขอความอนุเคราะห์พระไตรปิฎกสากลอย่างเป็นทางการผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศไทย โดยได้จัดเป็นนิทรรศการพระไตรปิฎกสากล ตั้งแสดงเพียงฉบับเดียวในนิทรรศการการพิเศษ เรื่อง Buddhism เมื่อปี พ.ศ. 2562-2563

 

3.9 สำหรับประเทศไทย สมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้พระราชทานฉบับอักษรโรมัน เป็นชุดปฐมฤกษ์แก่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีการอัญเชิญมาประดิษฐาน ในนิทรรศการพิเศษ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวันนี้แล้ว

 

 

ประเด็นที่ 6 ฉบับสากลแตกต่างจากฉบับอื่นอย่างไร?

 

3.10

 

เนื่องจากปาฐกถาในวันนี้มิได้มุ่งเน้นเรื่องวิชาการปาฬิภาสาและพระไตรปิฎก ดังนั้น จึงจะไม่ขอยกตัวอย่างรายละเอียด ท่านผู้สนใจสามารถสืบค้นทางวิชาการจาก คณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาทิ ดร. ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่โครงการพระไตรปิฎกสากลได้มอบต้นฉบับพระไตรปิฎกอักษรของชาติต่างๆ ที่ใช้อ้างอิงในการตรวจทานทั้งหมดเพื่อศึกษาวิจัย รวมถึงพระไตรปิฎกฉบับที่พิมพ์ขึ้นภายหลังด้วย รวมพระไตรปิฎกที่ใช้อ้างอิงทั้งสิ้นในยุคนั้น ประมาณ 3,000 เล่ม ปัจจุบันเก็บรักษา ณ หอพระไตรปิฎกนานาชาติ ในอาคารเทวาลัย ที่เก่าแก่ที่สุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

3.11

ลักษณะสำคัญของฉบับสากลประการแรก คือ ชื่อคัมภีร์

 

การตั้งชื่อแต่ละคัมภีร์ที่จบท้ายว่า ปาฬิ เช่น เล่มที่ 1 คือ ปาราชิกปาฬิ และเล่มที่สมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชทานประธานาธิบดี คือ ธัมมสังคณีปาฬิ ดังนั้นชื่อของฉบับสากล จึงไม่ตรงกับทุกฉบับที่พิมพ์ขึ้นในประเทศไทย

 

3.12

ถ้าหากโลกนี้ยอมรับการสังคายนานานาชาติ และการจัดพิมพ์เป็นฉบับสากล ในอนาคตพระไตรปิฎกอักษรไทย ก็จะต้องปรับเป็นชุด 40 เล่ม ตามมติของการสังคายนา ในนิทรรศการนี้ท่านทั้งหลายจะพบว่าฉบับอักษรไทยไม่สามารถสืบค้นอ้างอิงกับฉบับสากล ชุด 40 เล่มได้ เพราะเมื่อไทยแบ่งเป็นชุด 45 เล่ม เลขข้อในแต่ละคัมภีร์ก็แตกต่างกัน การที่อ้างอิงได้ยากลำบากนี้ ทำให้ชาวโลกไม่ศึกษาพระไตรปิฎกอักษรไทยที่พิมพ์อยู่ในปัจจุบัน

 

3.13

ประการที่ 2 เชิงอรรถ ของการต้นฉบับสังคายนานาชาติ อักษรพม่า หรือที่พม่าเรียกว่า ฉัฏฐสังคีติ

 

ในฉบับสากล จะบันทึกเชิงอรรถของคำที่เขียนต่างกันในแต่ละอักษร การจัดพิมพ์เป็นอักษรโรมัน ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใจคำที่เขียนต่างเหล่านี้ได้ เพราะในอดีต คำเหล่านี้เขียนด้วย อักษรขอม อักษรพม่า อักษรสิงหฬ เป็นต้น ประชาชนทั่วไปไม่สามารถอ่านได้

 

3.14

การมีฉบับสากล อักษรโรมัน เป็นฉบับมาตรฐานทำให้ผู้ที่มิได้เป็นนักวิชาการสามารถอ้างอิงคำปาฬิภาสาที่ถูกต้องได้ เช่น คำว่า ปาติโมกข์ /ต/ ไม่ใช่ /ฏ/ แต่ที่พิมพ์ในประเทศไทยยังมีการพิมพ์ด้วย ฏ-ปฏัก ด้วยเหตุใดนั้น ผู้รู้ที่จะสัมมนาจะสามารถอธิบายได้ ที่ยกขึ้นมานี้ก็เพื่อจะแสดงว่า ฉบับสังคายนานานาชาติ อักษรพม่า เขียนว่า ติ.. ต-เต่า ดังนั้น อักษรโรมันจึง เขียนว่า t ก็คือ ต-เต่า ที่น่าสนใจต่อไปคือ อักษรสยาม ฉบับเก่าที่สุดก็ ติ ต-เต่า แต่ไฉน ฉบับอักษรไทย จึงไปเปลี่ยนเป็น ฏ-ปฏัก

3.15

โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ตรวจทานเชิงอรรถพม่าใหม่ทั้งหมด โดยอธิการบดีศิลปากรขณะนั้นมอบให้ผู้เชี่ึยวชาญศิลปากรเป็นผู้ตรวจ พบว่า เชิงอรรถ ประมาณ 3 หมื่นรายการ ฉบับพม่าพิมพ์บกพร่องประมาณ 6,000 รายการ และมีเป็นจำนวนมากที่พบข้อมูลเช่น ปาติโมกข์ ที่ฉบับอักษรไทย ไม่ตรงกับฉบับสากล และยังไม่มีการศึกษา อธิบาย หรือ แก้ไขจนถึงทุกวันนี้

3.16

ตัวอย่างความผิดปกติดังกล่าว "ปทานุกรมพระไตรปิฎกศึกษาอ้างอิงสากล ได้บันทึกรายละเอียดต่างๆ ไว้ทั้งหมดแล้ว เป็นอักษรโรมัน ดังนั้น พระไตรปิฎกศึกษาในอนาคต คือ การศึกษาปทานุกรมพระไตรปิฎกอ้างอิงสากล อักษรโรมัน ชุดที่จัดพิมพ์ขึ้น 40 เล่ม ชุดนี้ ด้วยพระปรีชาญาณทาง  ภาษาศาสตร์ในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงแนะนำโครงการพระไตรปิฎกสากล และทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สามารถขอยืมจากศาลฎีกามาได้ 

 

3.17

ความสำคัญของการเก็บรักษาต้นฉบับ

 

พระราชวิสัยทัศน์ที่พระราชทานเก็บไว้ที่ศาลสถิตยุติธรรม ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญว่า ข้อมูลที่แตกต่างระหว่างฉบับสากลกับฉบับไทย จะสามารถยุติข้อสงสัยในศาลได้เมื่อมีการยกขึ้นสู่กระบวนการพิจารณา ซึ่งแตกต่างจากทางวิชาการศึกษาด้านภาษาทางวิชาการที่ยุติได้ยาก

 

ประเด็นที่ 7 ฉบับสากล อักษรโรมัน สู่ฉบับสัชฌายะ และ

ประเด็นที่ 8 อนาคตของฉบับสากล

 

3.18

    

กล่าวโดยสรุป พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมันชุดนี้ สำเร็จได้ด้วยพระปรีชาญาณในสมเด็จฯ กรมหลวง และปัจจุบัน ความรู้จากอักษรโรมันชุดนี้ ได้พัฒนาเป็น ฉบับสัชฌายะ หรือฉบับที่อ้างอิงการออกเสียงตามกฎไวยากรณ์ คือ การเขียนเสียงปาฬิ ด้วย สัททสัญลักษณ์ทางเสียง หรือ สัทอักษร หรือที่ทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์เรียกว่า Phonetic Alphabet

 

3.19

แต่เมื่อโครงการพระไตรปิฎกสากลได้ศึกษา ชุด IPA หรือ International Phonetic Alphabet ของสมาคมสัทอักษรสากลของฝรั่งแล้วก็พบว่ายังไม่มีประสิทธิภาพในการเขียนปาฬิตามกฎไวยากรณ์ ดังนั้นโครงการพระไตรปิฎกสากลจึงริเริ่มการเขียนเสียงด้วยชุดที่เรียกว่า "สัททะอักขะระปาฬิ" หรือ Pāḷi Phonetic Alphabet ซึ่งเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่การเฉลิมพระเกียรติ และการศึกษาพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน จะเริ่มขึ้นที่สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์แห่งนี้ เพราะในอนาคตวิชาการด้านภาษาศาสตร์จะเป็นกุญแจสำคัญในความเข้าใจเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก

 

ตอนจบ*

ปาฐกถาเฉลิมพระเกียรติเรื่อง สมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กับพระพุทธศาสนา จึงเป็นการกล่าวถึงพระพุทธศาสนาในบริบทที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตโต) ได้ให้คำจำกัดความไว้ในตอนต้น ซึ่งจะยกมาอีกครั้งว่า..

 

"..ความดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา  หมายถึง ความคงอยู่แห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า  หากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเลือนลางหายไป  แม้จะมีบุคคล กิจการ  ศาสนสถาน  และศาสนวัตถุใหญ่โตมโหฬารมากมายเพียงใด  ก็ไม่อาจถือว่ามีพระพุทธศาสนา  แต่ในทางตรงข้าม  แม้สิ่งที่เป็นรูปธัมม์ภายนอกดังกล่าว จะสูญสลาย  ถ้าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ายังดำรงอยู่  คนก็ยังรู้จักพระพุทธศาสนาได้  ด้วยเหตุนี้  การดำรงรักษาพระพุทธศาสนาที่แท้จริง  จึงหมายถึงการรักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า"

ดังนั้น เมื่อพระพุทธศาสนา คือ คำสอน หรือ พระไตรปิฎกในปัจจุบันสมัย สมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระองค์นี้ได้ทรงแสดงให้ปรากฎแล้วว่า ทรงเล็งเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาผ่านพระไตรปิฎก กล่าวโดยสรุป คือ ทรงเอื้อเฟื้อต่อพระไตรปิฎก 3 ประการ คือ

 

1. ทรงสร้างพระไตรปิฎกฉบับสากล

2. ทรงเผยแผ่พระไตรปิฎกในระดับสากล

3. ทรงริเริ่มสนับสนุน พระไตรปิฎกศึกษา ในทางสหวิชาการสากล

 

1. ทรงสร้างฉบับสากล

 

คือทรงสร้างพระไตรปิฎกให้เป็นสากล ด้วยการพิมพ์พระไตรปิฎกอักษรโรมัน หรือ Roman-Script Edition เป็นฉบับสากล

 

นอกจากนี้ การจัดพิมพ์เป็นเนื้อหาการสังคายนานาชาติ

พ.ศ. 2500 ที่นักวิชาการชาวโลกยังไม่คุ้นเคย เพราะเป็นต้นฉบับเป็นอักษรพม่า นักวิชาการฝรั่งคุ้นเคยแต่อักษรสิงหฬ และอักษรสยาม ดังนั้นการถอดเป็นอักษรพม่าเป็นอักษรโรมัน ทำให้เกิดการปฏิวัติองค์ความรู้ใหม่ของต้นฉบับพระไตรปิฎกจากการสังคายนานานาชาติของโลก

 

ในอดีต มีการพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรโรมัน แต่ การจัดพิมพ์ ชุดสมบูรณ์ 40 เล่ม จากการสังคายนนนานาชาติครั้งล่าสุด ชาติไทยเป็นผู้จัดพิมพ์สำเร็จเป็นครั้งแรก

 

นอกจากนั้น อักษรโรมันที่จัดพิมพ์ ยังเป็นสร้างจากฐานข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัล  ซึ่งสามารถพิสูจน์ความแม่นยำของการตรวจทานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และสามารถแก้ไขการพิมพ์ผิดในอดีต ตลอดจนสามารถปรับปรุงการเรียงพิมพ์ด้วยระบบดิจิทัลที่ล้ำสมัย เป็นต้น

 

2. ทรงเผยแผ่พระไตรปิฎกในระดับสากล

 

การเผยแผ่ในระดับสากล เริ่มจาก วิธีพระราชทานเป็นปฐมฤกกษ์ โดยการเสด็จจาริกอัญเชิญไปพระราชทานแก่ประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา ซึ่งเป็นการมอบแก่สถาบัน  สถาบันสำคัญสูงสุดของประเทศ มิใช่การมอบแก่องค์กรในศาสนา ศรีลังการมีวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ และเป็นชาติที่คุ้นเคยกับอักษรโรมัน 

 

การเสด็จจาริกโดยอากาศยาน ที่เรียบง่ายภายในเวลา 24 ชั่วโมง แต่ทำให้เกิดเป็นข่าวสำคัญไปทั่วโลก นอกจากนี้ยังได้ทรงมีวิธีพระราชทานประดิษฐาน ณ สถาบันสำคัญต่างๆ ของโลกอีกด้วย เช่น ศาลยุติธรรม ทั้งในประเทศ และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เช่น ศาลโลก เป็นต้น รวมทั้งพระราชทานเป็นฉบับอ้างอิงแก่หอสมุดที่สำคัญของโลก  ตามรอยการพระราชทาน ฉบับ จปร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งปัจจุบันมีหอสมุดสำคัญระดับนานาชาติไม่น้อยกว่า 150 สถาบันที่ได้รับพระราชทานพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน

3. พระไตรปิฎกศึกษา สหวิชาการในระดับสากล

 

ทรงสนับสนุนให้มีการศึกษาพระไตรปิฎกในระดับสากลนานาชาติ ทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากลทำการจัดพิมพ์ คู่มือการศึกษาทางสหวิชาการ ได้แก่ ปทานุกรมพระไตรปิฎกศึกษาอ้างอิง ซึ่ง เป็นการริเริ่มการศึกษาเสียงปาฬิภาสาในพระไตรปิฎก ในทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์ เช่น การจัดพิมพ์วิธีออกเสียง ด้วย "สัทอักษร" (phonetic alphabet) หรือที่ปัจจุบัน เรียก "สัททะอักขะระ-ปาฬิ" (Saddaakkhara-Pāḷi) และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาบูรณาการการศึกษาพระไตรปิฎก เช่น วิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์มาทำการสร้างดัชนีต่างๆ ที่ลึกซึ้งเพื่อสืบค้นเนื้อหาในพระไตรปิฎกที่ไม่มีการจัดทำมาก่อน รวมทั้งปัจจุบันได้มีการสร้างพระไตรปิฎกสัชฌายะ โน้ตเสียงปาฬิ เพื่อส่งเสริมการออกเสียงให้แม่ตรงตามไวยากรณ์ ซึ่งเป็นการต่อยอดนวัตกรรม จาก ฉบับอักษรโรมัน ที่ทรงริเริ่มเผยแผ่ไว้

 

พระกรณียกิจสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในพระพุทธศาสนา อาจกล่าวโดยสรุป ดังนี้

 

ทรงอุปถัมภ์พระไตรปิฎกสากล โดยทรงเผยแผ่เป็นพระธัมมทานในระดับนานาชาติ 1

 

การเลือกสถานที่พระราชทาน โดยพระราชทานในระดับสถาบันเพื่อการเก็บรักษาในยุคใหม่ 1

 

และวิธีการที่ทรงส่งเสริมพระไตรปิฎกศึกษาระดับนานาชาติ ด้วยการศึกษาในด้านสหวิชาการ 1

 

นับเป็นพระกรณีกิจ 3 ประการสำคัญในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้ทรงวางรากฐานให้ พระไตรปิฎก ที่เดิมรู้จักกันว่า ภาษาบาลี นั้น ปัจจุบัน เขียนว่า Pāḷi Tipiṭaka หรือ ปาฬิภาสา เผยแผ่สู่สากลอย่างแท้จริง

พระไตรปิฎกสากลฉบับอักษรโรมัน ในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นรากฐานสำคัญต่อพัฒนาการพระไตรปิฎกของโลก อาทิ

1. การสร้าง สัททะอักขะระ-ปาฬิ หรืออักษรเสียงปาฬิภาสา

 

อักษรโรมัน ที่จัดพิมพ์ในโครงการพระไตรปิฎกสากล มีการพิมพ์อักษรเสียง (Phonetic Alphabet) หรือที่ปัจจุบันเรียกตามการถอดเสียงว่า สัททะอักขะระปาฬิ สังเกตในวงกลม [ นังํ ] ในอักษรโรมัน จะมีเครื่องหมายนิคคะหิต ด้วยซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ใหม่

 

2. การจัดพิมพ์คู่ขนาน Transliteration กับ Transcription

 

การเรียงพิมพ์ระหว่างการถ่ายถอดอักษร หรือ ถอดอักษร และ การถอดเสียง ซึ่งในที่นี้ ถอดเสียงเป็น "สัททสัญลักษณ์" คือ "โน้ตเสียงปาฬิ" หรือ โน้ตเสียงในทางดุริยางคศาสตร์ (Pāḷi Notation)

 

3. การเปลี่ยนผ่าน แพลตฟอร์มเทคโนโลยีบันทึกจากสื่ออักษร สู่ เสียงดิจิทัล

 

 เมื่อถอดเสียงได้ ก็ย่อมบันทึกเสียงได้ ในภาพข้างล่าง คือ ตัวอย่างผลของการบันทึกเสียงสัชฌายะดิจิทัล ได้แก่ การออกเสียงปาฬิ ตามหลักไวยากรณ์กัจจายะนะ ภาพนี้เรียกว่า Sajjhāya Waveform ที่แสดงให้เห็นมิติของเสียงในทางอิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้น ในกล่องสี่เหลี่ยมจะเห็น เสียงนิคคะหิต ซึ่งหากออกเสียงแม่นตรงตามไวยากรณ์กัจจายะนะ จะเป็นเสียงก้องเฉพาะที่จมูก ภาษาศาสตร์เรียก เสียงนาสิก ฟังตัวอย่าง [ นังํ ] ไม่ใช่ นัง เสียง ง-งู สะกดในภาษาไทย ซึ่งเป็นเสียงเกิดที่ลำคอ แล้วจึงขึ้นจมูก ซึ่งมักจะเป็นเสียงอนุนาสิก

 

4. การศึกษาสหวิชาการภาษา สู่พลังงาน และปรมัตถธัมม์

 

สังเกต รูปภาพ waveform ซึ่งพิเศษและหนาแน่นกว่าเสียงพยางค์อื่นๆ เสียงนิคคะหิตเช่นนี้ ถ้าสามารถวิเคราะห์ว่าเป็นเสียงความถี่ต่ำ ก็คือเสียงที่มีความสำคัญในการสั่นสะเทือนน้ำในร่างกายมนุษย์ ศ.มณีวรรณ กมลพัฒนะ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ และหนึ่งในที่ปรึกษาในโครงการพระไตรปิฎกสากล ซึ่งตามเสด็จสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไปศรีลังกา จะอธิบายได้ว่าเสียงที่ผลิตได้จากอักษรโรมัน และ สัททสัญลักษณ์ เหล่านี้มีความสำคัญเพียงใดในทาง Quantum Physics อันเป็นการเปลี่ยนผ่านแพลตฟอร์มแห่งประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ การเปลี่ยนผ่านสู่แพลตฟอร์มเทคโนโลยีเสียงนี้ เป็นการนำไปสู่การศึกษาพระไตรปิฎกสากล ทางสหวิชาการ ในระดับนานาชาติ ซึ่งก็จะสามารถอ้างอิงกับแนวคิดของ Prof. Arthur Zajonc ผู้ศึกษาทางฟิสิกส์ และ ธรรมชาติ spiritual science ที่กล่าวไว้ในบริบทประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาในตอนต้นของปาฐกถา

ปัจจุบันคงจะสมพระทัยสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่โครงการพระไตรปิฎกสากล ได้บูรณาการ จาก ฉบับอักษรโรมัน สู่ ฉบับการอ่านออกเสียงสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. ซึ่งมุ่งเน้นการออกเสียงปาฬิภาสา ตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ อธิบาย ภ.ป.ร. และ ส.ก. ที่ประดิษฐาน ณ ศาลฎีกา เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในปีนี้

เกร็ดประวัติศาสตร์

 

เมื่อเตรียมการพิธีมอบ มีประเด็นว่า จะพระราชทานพระไตรปิฎกอักษรโรมัน แก่ประธานาธิบดีอย่างไร เพราะฉบับสากล เป็นชุด 40 เล่ม เมื่อทรงศึกษาโครงสร้างพระไตรปิฎกอย่างดีแล้ว จึงสรุปว่า จะพระราชทานเล่มที่ 29 ซึ่งเป็นเล่มแรกของพระอภิธัมมปิฎก ชื่อว่า ธัมมสังคณีปาฬิ เป็นคัมภีร์ที่บันทึกหัวข้อสภาวธัมม์ในพระไตรปิฎกทั้งหมด ดังนั้นการพระราชทานเล่ม ธัมมสังคณีปาฬิ ซึ่งแม้เป็นเล่มที่ 29 แต่ก็กล่าวได้ว่ามีนัยที่พระราชทานเนื้อหาพระไตรปิฎกทั้งชุดแก่ประธานาธิบดีศรีลังกา ดังนั้นผมจึงได้รับมอบหมายให้เชิญคัมภีร์เล่มที่ 29 ทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อพระราชทานแก่ประธานาธิบดี

เนื้อหาที่ขึ้นต้นเป็น บทที่พวกเราคุ้นเคยกันดี ได้แก่

 

kusalā dhammā

akusalā dhammā

abyākatā dhammā

 

ถอดความได้ว่า ธัมมะทั้งหลายมีที่เป็นกุสะละ คือ กุศล 1

เป็น อะกุสะละ คือ อกุศล 1

และ เป็น อะบยากะตะ คือ ไม่เป็นทั้ง กุศล และ อกุศล 1 การพระราชทานเล่มธัมมสังคณีในพิธีพระราชทานชุดปฐมฤกษ์ จึงอาจเป็นปริศนาธัมมะให้แก่พวกเราในปัจจุบันว่า แม้พระไตรปิฎกจะเป็นเรื่องของกุศล ที่ตรงข้ามกับอกุศล แต่ในทางปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน พระวิปัสสนาจารย์ย่อมสอนผู้ปฏิบัติให้ละทั้งกุศลและอกุศล พิจารณาให้ถึงสภาวะของธัมมะ ที่เรียกว่า อะบยากะตะธัมม์

 

ดังนั้นคัมภีร์ธัมมสังคณีนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ทั้งในด้านสัญลักษณ์ของพระไตรปิฎกศึกษา และแนวทางการปฏิบัติธัมมะที่เป็นจริง ภายหลังพิธีพระราชทานเมื่องทางศรีลังการับทราบและตระหนักในความสำคัญว่าทรงเลือกเล่มที่ 29 คือ ธัมมสังคณีปาฬิ พระราชทานแก่ประธานาธิบดี ชาวศรีลังกาที่มีความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมพระไตรปิฎกก็ล้วนปลาบปลื้ม และอนุโมทนาสาธุการในพระราชอัฉริยภาพและความละเอียดลึกซึ้งในการพระราชทานพระไตรปิฎกอักษรโรมันเป็นปฐมฤกษ์ในครั้งนั้น

เรียงพิมพ์ตามโปรแกรมสิทธิบัตรการแบ่งพยางค์อัตโนมัติ เลขที่ 46390

3.20

ในอวสานแห่งการปาฐกถานี้ ขอยกพุทธพจน์ในพระไตรปิฎก ขึ้นออกเสียงสัชฌายะ โดยจะอ่านจาก

สัททะอักขะระโรมัน (แสดงภาพ) ว่า :

3.21 

 

ผู้มีสัทธา ถึงพร้อมด้วยสีล,

เพียบพร้อมด้วยยศ และโภคสมบัติ;

ไปถึงยังถิ่นฐานใดใด,

ย่อมได้รับการบูชา ณ ที่นั้นนั้น.

 

ตัวอย่างการแปลในโครงการพระไตรปิฎกสากล เทียบบรรทัดต่อบรรทัด โดย อาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ.9 และเขียนตามอักขรวิธีภาษาไทย ของคำศัพท์วิชชมานบัญญัติ ในฉบับสัชฌายะ ซึ่งนำเสนอโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิจินตน์ ภาณุพงศ์ เช่น "สัทธา" และ "สีล" ตามรูปศัพท์ในฉบับ ปาฬิภาสา-อักขะระสยาม และ ปาฬิภาสา-อักขะระโรมัน ว่า saddha และ sīla ไม่เขียนตามรูปศัพท์สันสกฤต ว่า ศรัทธา และ ศีล เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการแบ่งพยางค์ในโปรแกรมสิทธิบัตรสัชฌายะ เลขที่ 46390 ซึ่งมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลใช้ในการเรียงพิมพ์พระไตรปิฎกชุดอักขะระต่างๆ ตลอดจนการถอดเสียงเพื่อสังเคราะห์ในเทคโนโลยีทางเสียง เป็น เสียงสัชฌายะดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ AI

ปัจจุบัน ฉบับอักษรโรมัน ได้พัฒนาเป็นฉบับสัชฌายะ คือ การถอดเสียงและเรียงพิมพ์เป็นโน้ตเสียงปาฬิในทาง     ดุริยางคศาสตร์เพื่อแสดงจังหวะเสียงละหุและเสียงคะรุให้ชัดเจนขึ้น โดยสามารถพิมพ์อักขะระชุดต่างๆ ประกอบ ในภาพเป็นการพิมพ์ชุดสัททอักขะระไทย และ ปาฬิ-พินอิน (Pāḷi-PinYin) ซึ่งระบบการเขียน "พินอิน" เป็น   สัทอักษรของจีนที่ใช้รูปเขียนอักษรโรมันมาใช้เขียนเสียงในภาษาจีนด้วย โน้ตเสียงปาฬิ-พินอิน (The World Tipiṭaka Pāḷi Notation with a new proposed Pin Yin Phonetics) ในรูปนี้ จึงเป็นการแสดงศักยภาพของอักษรโรมัน ในพระไตรปิฎกฉบับอักษรโรมัน ในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของพัฒนาการในโครงการพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ พ.ศ. 2564 ที่จัดพิมพ์ขึ้นล่าสุดด้วย

 

3.22

ด้วยอำนาจสัจจะวาจา การออกเสียงสัชฌายะในพระไตรปิฎก

ขอน้อมถวายเป็นพระราชกุศลในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระองค์นั้น

 

พร้อมทั้งขอให้ประเทศชาติ และท่านทั้งหลายที่ร่วมรายการเฉลิมพระเกียรตินี้ ปราศจากภยันตราย และเจริญในพระธัมม์คำสอนทุกเมื่อ เทอญ !

 

ภาคผนวก

 

 

อ้างอิงจดหมายเหตุ กองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร

ปัจจุบัน ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิจินตน์ ภาณุพงศ์ เป็นประธานกองทุนฯ พ.ศ. 2556-ปัจจุบัน

 

ขอขอบคุณ

 

มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ผลิตรายการ

 

คุณวรพล พุฒจ้อย ผู้บันทึกภาพและเสียง รวมทั้งดำเนินการตัดต่อวิดีทัศน์

 

คุณปิยะพงษ์ รักพงษ์ไทย และทีมงานเทคโนโลยี ผู้คัดเลือกภาพจดหมายเหตุและ

จัดทำพระไตรปิฎกสากลดิจิทัลไปประกอบกับนิทรรศการเสมือนจริง

 

 

ประวัติ

พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค

 

 

วิดิทัศน์แนะนำประวัติองค์ปาฐกถา

การงาน : รับราชการที่กระทรวงกลาโหม เป็นเวลา 33 ปี จนเกษียณอายุราชการ โดยเป็นอาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ กองกฎหมายและสังคมศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และเคยเป็นอาจารย์พิเศษวิชาทฤษฎีการเมือง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิชาอารยธรรมดนตรีตะวันตก คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

การศึกษา : สำเร็จการศึกษาโรงเรียนจิตรลดา เข้าศึกษาคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ปี จึงโอนไปศึกษาต่อปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์และรัสเซียศึกษา Syracuse University, New York; ปริญญาโททางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญารัสเซียศึกษาและยุโรปตะวันออก, University of Michigan, Ann Arbor, สหรัฐอเมริกา และระดับปริญญาเอกสาขารัฐประศาสนศาสตร์ ที่ London School of Economics and Political Science (LSE), University of London, สหราชอาณาจักร

 

อุปสมบท : เป็นนาคหลวง พ.ศ. 2532 โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เป็นพระอุปัชฌาย์ จำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดวะภูแก้ว กับพระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)

 

โครงการพระไตรปิฎกสากล : พ.ศ. 2542 พันเอก สุรธัชฯ ได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง วชิรญาณสังวร ในฐานะนายกกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ให้เป็นผู้ดำเนินการโครงการพระไตรปิฎกสากลในพระสังฆราชูปถัมภ์ เพื่อจัดพิมพ์ต้นฉบับพระไตรปิฎกสังคายนานานาชาติ ชุด 40 เล่ม เป็นฉบับอักษรโรมัน ชุดสมบูรณ์ชุดแรกของโลก สำเร็จ พ.ศ. 2548 ปัจจุบันมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลเป็นผู้เผยแผ่เป็นพระธัมมทานในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แก่สถาบันระดับนานาชาติไม่น้อยกว่า 150 สถาบัน ในนานาประเทศทั่วโลก

 

ผลงาน : เป็นหัวหน้าคณะสร้างสรรค์โปรแกรมสิทธิบัตรการแบ่งพยางค์อัตโนมัติในพระไตรปิฎกสากลสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ The World Tipiṭaka Patent No.46390 (2014) ซึ่งเป็นสิทธิบัตรฉบับแรกที่ว่าด้วยพระไตรปิฎก

   • เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมลิขสิทธิการเรียงพิมพ์อักษรต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิบัตรพระไตรปิฎกสากล ในระบบดิจิทัล ไม่น้อยกว่า 2,000 ฉบับ รวมทั้งโปรแกรม อักขะระปาฬิ-คิรีลลิซะ (Pāḷi-Kirillitsa) สำหรับรัสเซียและยุโรปตะวันออก, อักขะระปาฬิ-พินอิน (Pāḷi-Pinyin) สำหรับจีน, และ อักขะระปาฬิ-ไต (Pāḷi-Tai) สำหรับพระไตรปิฎกสากล อักขะระชาติพันธุ์ไต

 

   • เป็นหัวหน้าบรรณาธิการพระไตรปิฎกสากล อักษรต่างๆ ชุดละ 40 เล่ม ไม่น้อยกว่า 100 ชุด รวมฉบับจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล พ.ศ. 2554 ชุด 40 เล่ม (รวมดัชนี 1 เล่ม) และฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา) และ ชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ) พ.ศ. 2559 ชุดมาตรฐาน 80 เล่ม โดยมอบสิทธิประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาให้มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลสำหรับเผยแผ่เป็นธัมมทาน

 

   • เป็นผู้ให้เสียงพระไตรปิฎกสัชฌายะ (Saj-jʰā-ya Tipiṭaka Recitator) โดยอ่านจากโน้ตเสียงพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด 250 เล่ม จำนวน 9,422,422 พยางค์ บันทึกเป็นต้นแบบเสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Saj-jʰā-ya Recitation Audio) รวม 3,052 ชั่วโมง หรือ 1.6 เทราไบต์ ซึ่งได้สังเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ผลิตเป็น Pāḷi Apps เพื่อแสดงผลของทั้งภาพโน้ตเสียงปาฬิและภาพรูปอักขะระ ประกอบกับเทคโนโลยีทางเสียงสัชฌายะดิจิทัลในอุปกรณ์ Smart Phone และ Tablet เป็นต้น

 

ปัจจุบัน : เป็นรองประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล โดยมีท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ (สาขานาฏศิลป์สากล) เป็นประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ซึ่งมอบหมายให้ พันเอก สุรธัช บุนนาค เป็นผู้แสดงปาฐกถาพิเศษเฉลิมพระเกียรติสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2564

 

 

มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล

87 สุขุมวิท 89/1 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร: 023110134 โทรสาร : 023112575 โทรผู้ประสาน: 0813457266

 

 

ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล และ พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค รองประธานฯ อัญเชิญพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา 40 เล่ม) และ ชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ 40 เล่ม) ซ้ายและขวา รวมชุด 80 เล่ม ซึ่งอ้างอิงกับต้นฉบับชุดอักษรโรมัน 40 เล่ม ที่ประดิษฐานบนโต๊ะ ซึ่งพิมพ์ขึ้นพิเศษในโอกาสครบรอบ 20 ปี โครงการพระไตรปิฎกสากล ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร โดยมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ได้จัดเป็นพระธัมมทานแก่หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ (The British Library) สำหรับแสดงในนิทรรศการพิเศษ เรื่อง Buddhism พ.ศ. 2562-2563 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

 

หมายเหตุ :

บันทึกภาพที่โรงเรียนสยามสามไตร ถนนสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร ในวันบำเพ็ญกุศลก่อนการส่งมอบให้กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ประสานของความอนุเคราะห์เป็นพระธัมมทาน เป็นผู้จัดส่งไปยังสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน