คำกราบทูลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ พัชรกิติยาภา
คำกราบทูลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
เนื่องในโอกาส มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล และผู้อุปถัมภ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายพระไตรปิฎกสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ส.ก. พร้อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สัชฌายะ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอพระราชทานกราบทูลทราบฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้า พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค รองประธานคณะกรรมการมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล (ปฏิบัติหน้าที่แทน ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ซึ่งอยู่ต่างประเทศ) พร้อมกรรมการ ที่ปรึกษา และ ผู้แทนผู้อุปถัมภ์ มีความปลื้มปีติยินดีเป็นล้นพ้นที่ใต้ฝ่าพระบาททรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชวโรกาส ให้เหล่าข้าพระพุทธเจ้าได้มาเฝ้าทูลละอองพระบาทเพื่อแสดงความจงรักภักดี ในวันนี้
มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. จำนวน 80 เล่ม พร้อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สัชฌายะ และขอพระราชทานกราบทูลความเป็นมาของพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุดนี้ โดยสังเขป ดังนี้
พระไตรปิฎกสัชฌายะ ชุดนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับเป็นองค์ประธานการจัดพิมพ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ 70 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2559 และเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งนี้ มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายชุดปฐมฤกษ์แด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พุทธศักราช 2560
พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. เป็นการอ้างอิงอักขรวิธีการเขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก ฉบับ จ.ป.ร. อักษรสยาม พุทธศักราช 2436 ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกที่อ้างอิงคัมภีร์ใบลานล้ำค่าในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยได้ตีพิมพ์เป็นชุดหนังสือพระไตรปิฎก ชุดแรกของโลก และในปัจจุบันอักขรวิธีสยามได้ถูกยกเลิกไปด้วยความเข้าใจว่าเขียนยุ่งยาก ต้นฉบับในประเทศไทยกำลังผุพังและสูญหาย มีเหลือแต่ที่พระราชทานเก็บไว้ในต่างประเทศเมื่อศตวรรษที่แล้ว ดังนั้นการที่ใต้ฝ่าพระบาททรงรับเป็นองค์ประธานการอนุรักษ์และจัดพิมพ์เป็นฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล ตั้งแต่ พุทธศักราช 2554 จึงเป็นนิมิตหมายสำคัญยิ่งด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาสากล กล่าวคือ การอนุรักษ์ฉบับอักษรสยามของใต้ฝ่าพระบาท ทำให้เปิดมิติใหม่ที่สำคัญ เช่น การรักษาลิขสิทธิ์ของการทำสำเนาเพื่ออนุรักษ์ต้นฉบับดิจิทัลในประเทศไทย ที่สำคัญ มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้ร่วมกับราชบัณฑิตศึกษาอักขรวิธีเขียน “ปาฬิภาสา” ด้วย “สัททสัญลักษณ์” (Phonetic Symbol) อย่างละเอียด จนสามารถอ้างอิงกับ ฉบับ จ.ป.ร. โดยสร้างเป็นพระไตรปิฎกฉบับใหม่ได้ถึง 2 ชุด เรียกว่า ฉบับสัชฌายะ ชุดที่ 1 คือ ชุด ภ.ป.ร. (หรือ ต้นฉบับปาฬิภาสา) จำนวน 40 เล่ม ซึ่งเรียงพิมพ์ อักษรสยาม คู่ขนานกับ สัททะอักขะระ (Phonetic Alphabet) และ ชุดที่ 2 ชุด ส.ก. (หรือ โน้ตเสียงพระไตรปิฎกสัชฌายะ) ชุดมาตรฐาน จำนวน 40 เล่ม และชุดสมบูรณ์ดิจิทัล จำนวน 250 เล่ม ซึ่งเรียงพิมพ์ชุดอักขะระในฉบับ ภ.ป.ร. กับ โน้ตเสียงพระไตรปิฎก ที่ออกแบบรูปโน้ตใหม่ในทางดุริยางคศาสตร์ และจัดพิมพ์ด้วยโปรแกรมสิทธิบัตรการตัดพยางค์อัตโนมัติในมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ซึ่งเป็นสิทธิบัตรฉบับแรกที่ว่าด้วยพระไตรปิฎกของมนุษยชาติ
ความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลจากที่ใต้ฝ่าพระบาทได้ทรงอนุรักษ์ฉบับอักษรสยามไว้ในอดีต ทำให้มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลสร้างสรรค์เป็นฉบับสัชฌายะชุดใหม่เพื่อการออกเสียงตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะให้แม่นตรงและเป็นสากลยิ่งขึ้น
เนื่องด้วยในปีนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ร่วมกับผู้อุปถัมภ์ถือเป็นมงคลฤกษ์ที่จะเผยแผ่พระไตรปิฎกสัชฌายะในนานาประเทศ โดยเฉพาะหอสมุดสำคัญระดับนานาชาติ โดยจัดเป็นปฐมฤกษ์แก่ 30 ประเทศทั่วโลก มิตรประเทศซึ่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนิน เยือนเป็นพระราชไมตรีอย่างเป็นทางการ ตลอดรัชสมัยที่ทรงครองสิริราชสมบัติ 70 ปี อันยาวนานในรัชกาลที่ 9
หลังจากนั้นจะได้ดำเนินการเผยแผ่ให้แพร่หลายต่อไปจนครบ 1,000 ชุด ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตในรัชกาลที่ 9 ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันแพร่หลายว่า ชุด ต้นฉบับ 'ปาฬิภาสา' ภ.ป.ร. และ ชุด 'โน้ตเสียงพระไตรปิฎก' ส.ก. โดยจะจัดพิมพ์ทั้งสื่อหนังสือ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามความเหมาะสม และหลักการแห่งความพอเพียง เป็นพระธัมมทานเพื่อเฉลิมพระเกียรติล้นเกล้าล้นกระหม่อม ทั้งสองพระองค์ และสถาบันพระมหากษัตริย์พุทธมามกะที่ประเสริฐสืบไป
ภาพสัททะอักขะระชาติพันธุ์ต่างๆ น้อมเกล้าฯ น้อมถวายฯในอุปกรณ์อิเล็กทรอกนิกส์สัชฌายะ
ภาพตัวอย่างอุปกรณ์สัชฌายะ และ ชุดสัททะอักขะระใหม่ โดย พระชยณัฐ ชินวํโส (วัดมกุฏวิมุติคิรี)
- ในวโรกาสนี้ ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานพระอนุญาตเบิก กรรมการ ที่ปรึกษา และ ราชบัณฑิต จำนวน 5 ราย ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายพระวินัยปิฎก ชุด ภ.ป.ร. เล่มที่ 1 – 5 ดังนี้
1. |
คุณหญิงจามรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา |
ที่ปรึกษาโครงการพระไตรปิฎกสากล |
2. |
ศาสตราจารย์ ดร.ณัชชา พันธุ์เจริญ ราชบัณฑิต |
ที่ปรึกษาสาขาดุริยางคกรรม |
3. |
นายปิยะพงษ์ รักพงษ์ไทย |
ที่ปรึกษาฐานข้อมูล |
4. |
หม่อมหลวงผกามาลย์ เกษมศรี |
กรรมการ |
5. |
นางสาวอนินทิตา โปษะกฤษณะ |
กรรมการ |
- ขอพระราชทานพระอนุญาตเบิก ผู้แทนผู้อุปถัมภ์ และกรรมการมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล จำนวน 5 ราย ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายพระวินัยปิฎก ชุด ส.ก. เล่มที่ 1 – 5 ดังนี้
1. |
นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา |
ผู้แทนผู้อุปถัมภ์ |
2. |
ศ.กิตติคุณ นพ.วงศ์กุลพัทธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา |
ผู้แทนผู้อุปถัมภ์ |
3. |
หม่อมหลวงสิริณา จิตตาลาน |
ผู้แทนผู้อุปถัมภ์ |
4. |
นางสาวอัญชลี ฐิติไชโย |
ผู้แทนผู้อุปถัมภ์ |
5. |
นายชัชวานนท์ สุนทรวิภาต |
กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิฯ |
- ขอพระราชทานพระอนุญาตเบิก ผู้แทนผู้อุปถัมภ์พระไตรปิฎกสากลฉบับอักษรโรมัน จำนวน 2 ราย ทูลเกล้าถวาย พระไตรปิฎกศึกษาฉบับสากล
1. |
ศ.กิตติคุณ นพ.ศักดิ์ชัย ลิ้มทองกุล |
อดีตแพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร และผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค |
หนังสือคู่มือเรื่องการเปลี่ยนผ่านพระไตรปิฎกสัชฌายะ
2. |
นางสาว พิชชาพร ฐิติไชโย |
ผู้แทนผู้อุปถัมภ์ |
หนังสือคู่มือการออกเสียงสัชฌายะ ปาฬิ-พินอิน
(ถวายและสาธิตไปพร้อมกัน)
- 1. ขอพระราชทานพระอนุญาตเบิก นายลักษมณ์ เตชะวันชัย กรรมการและผู้อำนวยการเทคโนโลยีพระไตรปิฎกสากล ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายอุปกรณ์ชุดที่ 1 แท็บเล็ตสัชฌายะ ซึ่งบันทึกพระไตรปิฎก จ.ป.ร. ฉบับอักษรสยาม อนุรักษ์ดิจิทัล ซึ่งใต้ฝ่าพระบาททรงเป็นประธานการอนุรักษ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 และโปรแกรมแอปพลิเคชันเสียงสัชฌายะปัญญาประดิษฐ์ AI ที่ถอดเสียงจากอักษรสยาม
มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือ ชุดภิกขุปาติโมกขะปาฬิ อักษรสยาม ทูลเกล้าฯ ถวายใต้ผ่าพระบาทในปี พ.ศ. 2558 ปัจจุบันได้พัฒนาฐานข้อมูล พระไตรปิฎก ปาฬิ-สยาม หรือ ไต-สยาม สร้างเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต้นแบบ ซึ่งในอนาคตจะเพิ่มเป็นชุดอักษรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อาทิ ไต-ยวน ในล้านนา, ไตขืน ในไทย รัฐฉาน และเชียงตุง, ไต-ลื้อ ในรัฐฉาน และสิบสองปันนา, ไต-ล้านช้าง ในภาคอีสานและประเทศลาว เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นชุดอักษรสำคัญในพุทธศาสนาเถรวาทที่จะสามารถเผยแผ่ในหมู่ชาติพันธุ์ไตได้ทั่วโลก โดยเรียงพิมพ์คู่ขนานกับ ปาฬิ-โรมัน ซึ่งเป็นอักษรสากล ที่ชาวโลกสามารถอ่านออกเสียงได้เป็นมาตรฐานในระดับนานาชาติ
ขอพระราชทานพระอนุญาตให้นายลักษมณ์ เตชะวันชัย เข้าทูลเกล้าฯ ถวายและทำการสาธิตอุปกรณ์
(กล่าวจบนายลักษมณ์ เตชะวันชัย เข้าไปถวายอุปกรณ์ และสาธิตอุปกรณ์)
- 2. พลอากาศเอก อนุพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้แทนผู้อุปถัมภ์ ถวายอุปกรณ์ ชุดที่ 2 แท็บเล็ตสัชฌายะ บรรจุอักษรเสียง (Phonetic Alphabet) ที่สร้างขึ้นใหม่ ชื่อ ปาฬิ-คิรีลลิซะ (Pāḷi-Kirillitsa) ซึ่งอ้างอิงกับชุดอักษรของชาวสลาฟโบราณ หรือที่เดิมชาวตะวันตกเรียกกันว่า อักษรซิริลลิก (Cyrillic) สำหรับเผยแผ่ในหมู่ชาติพันธุ์รัสเซียและยุโรปตะวันออก
(กล่าวจบพลอากาศเอก อนุพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เข้าถวายแท็บเล็ต)
และขอเบิกนายปิยะพงษ์ รักพงษ์ไทย ผู้ร่วมสร้างสรรค์สิทธิบัตรพระไตรปิฎกสัชฌายะ และเป็นผู้สร้างโปรแกรมชุดอักษรต่างๆ เป็นผู้สาธิตวิธีใช้อุปกรณ์สัชฌายะ
(นายปิยะพงษ์ รักพงษ์ไทย สาธิตการใช้งาน)
- 3. นางนภาพร อภัยวงศ์ ผู้แทนผู้อุปถัมภ์ ถวายอุปกรณ์ชุดที่ 3 โทรศัพท์สมาร์ทโฟนสัชฌายะ บรรจุอักษรเสียงของจีนปัจจุบัน (The New Chinese Phonetic Alphabet) ชื่อ ปาฬิ-พินอิน ซึ่งอ้างอิงกับอักษรเสียงจีนโบราณ หรือ ฮั่นจื้อ ในสมัยราชวงศ์ถัง
(กล่าวจบนางนภาพร อภัยวงศ์ ถวายอุปกรณ์)
นายปิยะพงษ์ รักพงษ์ไทย เป็นผู้สาธิตอุปกรณ์สัชฌายะ
(นายปิยะพงษ์ รักพงษ์ไทย สาธิตการใช้งาน)
สุดแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ข่าวพระราชสำนัก วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ นาทีที่ 9.36