ฉบับ จ.ป.ร. อนุรักษ์ดิจิทัล พ.ศ. 2566
สนทนาธัมม์นำสุข
กองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
คำนำ
การจัดพิมพ์พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒)
ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล ชุด ๓๙ เล่ม (รวมดัชนี ๑ เล่ม) จัดพิมพ์ใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๖
โครงการพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน เป็นการดำเนินตามรอยพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ การอนุรักษ์พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. ๒๔๓๖ ชุด ๓๙ เล่ม จึงเกิดขึ้นตามคำแนะนำของอาจารย์ สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. ๙ ประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิงหม่อมหลวงมณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๕๕) ซึ่งเริ่มดำเนินการอนุรักษ์ด้วยเทคโนโลยีทางภาพ และเทคโนโลยีฐานข้อมูลอักษรโรมัน กระบวนการอนุรักษ์ทางสารนิเทศอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยดังกล่าว ทำให้นักวิชาการทางสหวิชาการ อาทิ ด้านภาษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ และดุริยางคศาสตร์ประยุกต์ ได้มีโอกาสร่วมทำงานศึกษาวิจัยกับนักวิชาการด้านภาษาโบราณ ปาฬิภาสา ตลอดจนพุทธศาสตร์ และในที่สุดได้ร่วมงานพระไตรปิฎกศึกษากับคณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร ทำให้สามารถศึกษาตัวอย่างอักขรวิธีอักษรสยามอย่างละเอียด เนื่องจากต้นฉบับอักษรสยามได้ชำรุดสูญหายแทบจะหาหลักฐานไม่ได้แล้ว ดังนั้น การศึกษาฉบับอนุรักษ์ดิจิทัลในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. ๒๔๓๖ ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๕๒ จึงเกิดองค์ความรู้ใหม่ที่ทำให้มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลใช้อ้างอิงสร้างสรรค์โปรแกรมสิทธิบัตรการแบ่งพยางค์ปาฬิภาสาอัตโนมัติสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยได้รับสิทธิบัตร เลขที่ ๔๖๓๙๐ (พ.ศ. ๒๕๕๗) ซึ่งอ้างอิงกับสูตรสกัดทางคณิตศาสตร์ (ดู แรงบันดาลใจคำขอสิทธิบัตรในมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. ๒๕๕๗ โดย สุรธัช บุนนาค นายกกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ และคณะ และ บทความเรื่อง การแบ่งพยางค์ในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม โดย ศ.ดร. ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ ราชบัณฑิต หนังสือ ๘๐ ปีราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๗)
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการอนุรักษ์ดิจิทัล
มณฑลพิธีท้องสนามหลวง 2600 ปี แห่งการตรัสรู้
วิสาขบูชา พุทธชยันตี พ.ศ. 2555
ด้วยเหตุนี้ หนังสือพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล จึงกล่าวได้ว่าเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากการศึกษาคัมภีร์พุทธศาสนาโบราณสู่การศึกษาทางสหวิชาการพระไตรปิฎกสากลยุคใหม่ โดยเฉพาะในระบบเสียงอิเล็กทรอนิกส์ดิจิทัลที่เป็นเสียงวรรณยุกต์สามัญ (Monotone) (ดู ผลงานในระดับศาสตราจารย์ โดย ศ.ดวงใจ ทิวทอง) หรือ ปัจจุบันเรียกว่า การออกเสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Phonetic Saj-jhā-ya Tipiṭaka Recitation) ผลงานทางวิชาการที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว คือ นวัตกรรมการสร้างสรรค์โน้ตเสียงปาฬิในทางดุริยางคศาสตร์ (Pāli Tipiṭaka Notation) โดย รศ.ดร. ศศี พงศ์สรายุทธ ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๐) และได้รับรางวัลพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. ๒๕๖๒) ตลอดจนได้รับการคัดเลือกไปจัดแสดงในระดับนานาชาติ โดยได้รับเกียรติบัตรและเหรียญรางวัลในมหกรรมนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ ๔๘ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (พ.ศ. ๒๕๖๖)
การเขียนเสียงปาฬิภาสาในฉบับอักษรสยามจึงเป็นองค์ความรู้ในทางนิรุตติภาสาเก่าแก่ของชาติไทย แต่ความก้าวล้ำนำยุคในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. ๒๔๓๖ ที่เป็นภูมิปัญญาไทยสากลของมนุษยชาติ คือ การบันทึกเสียงปาฬิภาสาด้วยกระบวนการในทางภาษาศาสตร์ที่ล้ำยุค ๒ ประการ คือ การถอดอักขะระ ปัจจุบันเรียกว่า Pāḷi Alphabetic Transliterationและ อีกประการที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ คือ อักขรวิธี ไม้-อะ (อั) อักษรสยาม แสดงวิธี การถอดเสียงปาฬิภาสา ที่แม่นตรงยิ่งขึ้น หรือ เรียกว่า Pāli Alphabetic Transcription
ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของการอนุรักษ์เสียงปาฬิภาสาด้วยวิธีการทางภาษาศาสตร์ ที่เรียกว่า อักขรวิธี ไม้-อะ (อั) นี้ ศ.กิตติคุณ ดร. วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ได้นำเสนอในที่ประชุมราชบัณฑิต และตีพิมพ์ในหนังสือ ๘๐ ปี ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๗ เรียกว่า สัททะอักขะระสยาม-ปาฬิ (SaddaAkkharaSyām-Pāḷi) ซึ่งแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของพระไตรปิฎกชุดนี้ที่ควรจะต้องศึกษาให้กว้างขวางต่อไป พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. ๒๔๓๖ จึงมิใช่เป็นเพียงหนังสือพระไตรปิฎกที่ตีพิมพ์เป็นชุดแรกของโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดกำเนิดของการสร้างสรรค์นวัตกรรมการพิมพ์และอักขรวิธีในพระไตรปิฎกที่เขียนเสียงปาฬิที่เป็นสากลด้วยสัททสัญลักษณ์ทางเสียงที่ไม่เคยมีการสร้างสรรค์มาก่อน และปัจจุบันกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ร่วมกับ มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ได้พัฒนาเป็นพระไตรปิฎกสากล เพื่อส่งเสริมการออกเสียงและการเขียนเสียงตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะปาฬิที่เรียกว่า ฉบับสัชฌายะ (Saj-jhā-ya) อันนับเป็นความสำเร็จของโครงการพระไตรปิฎกสากลในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับล่าสุด ได้แก่ ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา - Pāḷi Manuscript) และ ชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ - Pāḷi Notation)
กล่าวโดยสรุป พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. ๒๔๓๖ มีความสำคัญต่อ สัชฌายะแมทริกซ์ ๔ ประการ (Fourfold Saj-jhā-ya Matrix) ดังนี้
๑. การถอดอักขะระ และ การถอดเสียง
ฉบับอักษรสยาม เป็นการจัดพิมพ์ทั้งวิธี การถอดอักขะระปาฬิ (Pāḷi Transliteration) และ การถอดเสียงปาฬิ (Pāli Transcription) ควบคู่กันเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญทางศิลปกรรมศาสตร์แห่งราชบัณฑิตยสภาพิสูจน์ได้ว่า อักขรวิธีสยาม-ปาฬิ ได้จัดพิมพ์ตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะปาฬิ ดังนั้นจึงนับเป็นนวัตกรรมการเรียงพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิภาสาในทางภาษาศาสตร์ เพราะในอดีตการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับอักษรนานาชาติต่างๆ เป็นการถอดอักขะระเท่านั้น ไม่มีการเขียนเสียงด้วยสัททสัญลักษณ์ (Phonetic Symbol) ที่ละเอียดซับซ้อนเป็นเลิศเหมือนอักขรวิธี ไม้-อะ (อั) อักษรสยาม
๒. การแบ่งพยางค์
อักขรวิธีสยาม-ปาฬิ แสดงการแบ่งพยางค์ที่ชัดเจน เช่น การเขียนว่า สัก๎ยปุต์โต แสดงการเขียนเสียงไม่สะกด คือ ไม้-อะ ( ั ) สั- [สะ], เสียงสะกด คือ ไม้วัญฌการ ( ์ ) -ปุต์- [ปุต], เสียงกล้ำ คือ ไม้ยามักการ ( ๎ ) -ก๎ย- [กยะ] แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางสหวิชาการในราชบัณฑิตยสภาได้พิสูจน์และตีพิมพ์รับรองอักขรวิธีสยาม-ปาฬิ ว่าแม่นตรงกับไวยากรณ์กัจจายะนะปาฬิ และแม่นตรงกับพระไตรปิฎกอักษรโรมัน และการถอดเสียงเป็นสัททอักขะระในโครงการพระไตรปิฎกสากล ตัวอย่างการออกเสียงแบ่งพยางค์ในบทสวดมนต์สำคัญที่รู้จักกันมานาน ว่า [ภะ-วะ-ตวัน] ไม่ใช่ [ภะ-วัต-วัน] (ดู วิดีทัศน์ที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม ทรงออกเสียงสวดให้พรในปี พ.ศ. ๒๕๖๐)
๓. เสียงละหุ และ เสียงคะรุ
อักขรวิธีอักษรสยามทำให้สามารถศึกษาองค์ความรู้ของการออกเสียงละหุคะรุ คือ พยางค์เสียงเร็วและพยางค์เสียงนาน ซึ่งเกิดจากการเขียนเครื่องหมายกำกับเสียง ๔ เครื่องหมายในอักขรวิธีอักษรสยาม-ปาฬิ ได้แก่ ไม้-อะ ( ั ) ไม้วัญฌการ ( ์ ) ไม้ยามักการ ( ๎ ) ไม้นิคคะหิต ( ํ ) สามารถเขียนเสียงละหุ (เสียงเร็ว) และเสียงคะรุ (เสียงนาน) ตามหลักการพยัญชนะกุสะละ เช่น อักษรสยาม เขียนว่า สัก๎ยปุต์ตํ สั- [สะ] เป็นเสียงคะรุไม่แท้ตามไวยากรณ์กัจจายนะปาฬิ ข้อ ๖๐๒ -ก๎ย- [กยะ] เป็นเสียงละหุ คือ สระเสียงสั้น ส่วน -ปุต์- [ปุต] เป็นเสียงคะรุแท้ คือ สระเสียงสั้นที่มีตัวสะกด ตัวอย่างการออกเสียงละหุคะรุในบทสวดมนต์สำคัญที่รู้จักกันมานานเป็นสากลใน Mettāsutta ว่า [เม็ต-ตา] ไม่ใช่ [เมตร-ตา] (เหมือน เนตร) (ดู วิดีทัศน์ที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทรงออกเสียงนำในบทขัด)
๔. เสียงสามัญ
เสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทย มี 5 เสียง 4 รูป รูปเขียนบางรูปอาจมีเสียงวรรณยุกต์ตรงหรือไม่ตรงกับรูปเขียนก็ได้ เช่น ไก่ รูปเขียนไม้เอก ออกเสียงวรรณยุกต์เอก หรือ โส รูปเขียนเสียงสามัญไม่มีรูปวรรณยุกต์ แต่ออกเสียงวรรณยุกต์จัตวา เป็นต้น เมื่อพิจารณารูปเขียน ปาฬิภาสา-อักษรสยาม ในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. พ.ศ. ๒๔๓๖ จะพบว่า ไม่มีรูปเขียนเสียงวรรณยุกต์ใดๆ และแม้ในปัจจุบันหนังสือพระไตรปิฎก ภาษาบาลี-อักษรไทย ที่ศึกษากันในปัจจุบันก็มิได้มีการพิมพ์เครื่องหมายวรรณยุกต์ของเสียงภาษาไทย ดังนั้น การที่ปัจจุบันอ่านออกเสียงปาฬิภาสามีเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำนั้น เป็นการนำเสียงวรรณยุกต์ในภาษาท้องถิ่นไทยไปปนแทรกกับเสียงปาฬิภาสาดั้งเดิมในพระไตรปิฎกปาฬิ ซึ่งในไวยากรณ์ไม่มีหลักฐานการอ้างอิงให้ออกเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำแต่อย่างใด
จากหลักการดังกล่าว ในเรื่องเสียงปาฬิที่เป็นเสียงสามัญนั้นเป็นองค์ความรู้เสียงสวดที่สืบทอดกันมาในคณะสงฆ์ไทยแต่โบราณ จึงมีคำศัพท์ที่คณะสงฆ์เรียกกันว่า เสียงกลาง ซึ่งหมายถึง เสียงสามัญ เสียงนี้คณะสงฆ์ อาทิ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม และวัดป่าเป็นจำนวนมากก็ยังรักษาเสียงนี้ไว้อยู่ แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่เคยมีผู้ใดจัดทำอ้างอิงไว้ในทางวิชาการ ในเบื้องต้นจึงอาจสรุปตามหลักวิชาการทางภาษาศาสตร์ได้ว่า ปาฬิภาสาเป็นเสียงภาษาในตระกูลภาษาอินโด-ยุโรป ซึ่งไม่มีเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ ทำให้สามารถถอดเสียงเป็นโน้ตเสียงดนตรีสากล ที่เรียกว่า เสียงโน้ตเส้นเดี่ยว (Monotone) จึงเป็นการอ้างอิงที่เป็นมาตรฐานเพียงพอในเบื้องต้นของการเขียนโน้ตเสียงปาฬิ ซึ่งเป็นเสียงสามัญในพระไตรปิฎกสัชฌายะ
ท้ายที่สุดนี้ จากมุมมองของพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. ๒๔๓๖ ซึ่งปัจจุบันได้จัดพิมพ์เป็นฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๖ ตลอดจนการศึกษา และพัฒนาการต่างๆ นับสองทศวรรษ ที่ได้พรรณามาจนถึงปัจจุบัน สามารถสร้างสรรค์โน้ตเสียงพระไตรปิฎกปาฬิภาสา และได้บันทึกเสียงสำเร็จ เรียกว่า เสียงสัชฌายะดิจิทัล (The Digital Phonetic Saj-jhā-ya Tipiṭaka Recitation) ตามรายงานของมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งระบุว่า เนื้อหาเสียงสัชฌายะในชุดหนังสือพระไตรปิฎกสากล ๔๐ เล่ม ได้บันทึกเสียงลงฐานข้อมูลพระไตรปิฎกอิเล็กทรอนิกส์ (World Tipiṭaka Database) มีความจุ ๑.๖ เทราไบต์ หรือ ๓,๐๕๒ ชั่วโมงนั้น อาจกล่าวได้ว่า เป็นเสียงมาตรฐานพระไตรปิฎกสากลที่สมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน และจะได้เผยแผ่ต่อไปในระบบอิเล็กทรอนิกส์ นับว่าเป็นพระไตรปิฎกสื่อเสียงสัชฌายะ ที่สามารถเปลี่ยนผ่านจากเทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์ สู่เทคโนโลยีทางเสียงที่ก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ในอดีต ดังที่อธิบายวิธีแก้ปัญหาไว้ใน สัชฌายะแมทริกซ์ พ.ศ. ๒๕๖๖ (Saj-jhā-ya Matrix 2023) เป็นส่วนหนึ่งของรายงานคณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร พระเทพวชิรมุนี (ม.ล. คิวปิด ปิยโรจโน) ที่ปรึกษามูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ได้เมตตาเขียนประกอบคำนำนี้ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้จัดทำ ในโอกาสนี้ข้าพเจ้าขอกราบขอบพระคุณอย่างสูงอีกวาระหนึ่ง
ดู วิดีทัศน์จดหมายเหตุ
พระไตรปิฎกสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. & ส.ก. พ.ศ 2566
(พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค)
หัวหน้าคณะผู้สร้างสรรค์สิทธิบัตร เลขที่ ๔๖๓๙๐ (พ.ศ. ๒๕๕๗)
นายกกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ผู้รับพระบัญชา
ในพระสังฆราชูปถัมภ์ให้ดำเนินโครงการพระไตรปิฎกสากล
พ.ศ. ๒๕๔๒-ปัจจุบัน
และ
รองประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล
พ.ศ. ๒๕๕๔-ปัจจุบัน
โครงการพระไตรปิฎกสากล :
----------------------------------
จาก พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436
สู่ พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน พ.ศ. 2554
คำนำการจัดทำต้นฉบับปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2562
รัตนโกสินทรศก 112 (พ.ศ. 2436) เป็นปีที่กรุงสยามประสบวิกฤตการณ์ร้ายแรงด้านความมั่นคงแห่งชาติ แต่เป็นที่อัศจรรย์ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงประสบความสำเร็จในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก ปาฬิภาสา-อักษรสยาม ชุด 39 เล่ม เป็นครั้งแรก เพื่อเป็นพระธัมมทานเนื่องในงานฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี ในปีดังกล่าว โดยได้พระราชทานพระไตรปิฎกชุดนี้แก่พระอารามต่างๆ ประมาณ 500 สำรับ ทั่วพระราชอาณาจักร และต่อมาได้พระราชทานแก่สถาบันต่างๆ อีกไม่น้อยกว่า 260 สถาบันในนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิเป็นชุดหนังสือชุดแรกของโลก นับเป็นภูมิปัญญาไทยสากล ดังนั้นการพระราชทานพระไตรปิฎกอักษรสยามแก่ชาวโลกจึงเป็นการเผยแผ่พระพุทธพจน์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งยังไม่มีบุคคลใดได้จัดทำสำเร็จมาก่อน
เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จทางภูมิปัญญาไทยสากลดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นวาระที่ใกล้จะบรรจบครบรอบ 112 ปี แห่งการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก ร.ศ. 112 อักษรสยาม กองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิงหม่อมหลวงมณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดปาฐกถาพิเศษหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เรื่อง จุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช ร.ศ. 112 พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ชุดแรกของโลก : 112 ปี เทคโนโลยีธัมมะสู่โลกโดยคนไทย ซึ่งในงานดังกล่าว สมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้ทอดพระเนตรพระไตรปิฎกฉบับประวัติศาสตร์ชุดนี้เป็นพิเศษเป็นครั้งแรก การเสด็จทรงเป็นประธานงานปาฐกถาพระไตรปิฎกจึงเป็นการประกาศมิติทางภูมิปัญญาไทยสากลที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การสืบทอดพระไตรปิฎกของโลก และเป็นการเกริ่นความสำเร็จของพระไตรปิฎกสากลซึ่งจะจัดพิมพ์ในปีต่อมา อันเป็นฉบับที่กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ได้ทำการตรวจทานแก้ไขข้อบกพร่อง และได้จัดพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2548 นับว่าเป็นพระไตรปิฎกอักษรโรมันฉบับแรกที่พิมพ์ขึ้นในประเทศไทย และเป็นฉบับอักษรโรมัน ชุดสมบูรณ์ของโลก
ในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2548 เนื่องในโอกาสครบรอบ 112 ปี พระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช ร.ศ. 112 อักษรสยาม สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะที่ทรงเป็นกุลเชษฐ์พระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์การพระราชทานและประดิษฐานพระไตรปิฎกสากลในนานาประเทศ ได้เสด็จจาริกอัญเชิญพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน ชุดปฐมฤกษ์ 40 เล่ม จากกรุงเทพมหานครไปกรุงโคลัมโบเพื่อพระราชทานแก่ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ตามรอยการพระราชทานพระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช ฉบับอักษรสยาม ในอดีตเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความสนใจในพระไตรปิฎก ร.ศ. 112 ฉบับอักษรสยาม มากยิ่งขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะการพิมพ์พระไตรปิฎก ร.ศ. 112 ฉบับอักษรสยาม เป็นการวางรากฐานของการประชุมสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นฉบับพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันในปัจจุบันด้วย
พระไตรปิฎก จ.ป.ร. ฉบับอักษรสยาม เป็นพระไตรปิฎกปาฬิฉบับพิมพ์ชุดแรกของโลก และเป็นผลงานทางภูมิปัญญาระดับสูงของชาติไทย เพราะเป็นผลจากการบูรณาการคลังความรู้ต่างๆ ที่เป็นเลิศ เพื่อสืบทอดพระไตรปิฎกปาฬิ การดำเนินการตรวจทานและจัดพิมพ์ฉบับอักษรสยามชุดนี้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6 ปี อันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้านเทคโนโลยีและวิธีการสืบทอดพระพุทธพจน์ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของโลก 5 ประการ
การเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรมที่สำคัญในการสืบทอดเสียงปาฬิ 5 ประการ มีดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงสื่อที่บันทึกพระไตรปิฎกปาฬิ จากใบลาน เป็น กระดาษ (การเปลี่ยนแปลงในรอบ 2,000 ปี หลังบันทึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรในพุทธศตวรรษที่ 4)
2. การเปลี่ยนแปลงอักษรที่ใช้บันทึก จากอักษรขอมโบราณ เป็นการเรียงพิมพ์ด้วย อักษรสยามที่ทันสมัย (การเปลี่ยนแปลงในรอบ 1,000 ปี ของอารยธรรมอักษรขอมในสุวรรณภูมิ)
3. การเปลี่ยนแปลงวิธีการบันทึก จากการใช้มือเขียน / จารลงใบลาน เป็นการตีพิมพ์ด้วยเครื่องจักร (การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทันสมัยแห่งยุค)
4. การเปลี่ยนแปลงระบบเอกสารสารสนเทศ จากพระไตรปิฎกใบลานเป็นแผ่นๆ หรือ ระบบเอกสารเดี่ยว (document) เป็นการสร้าง ระบบเอกสารรวมศูนย์ (document centric) ของหนังสือพระไตรปิฎก เช่น ระบบเลขหน้า และสารบัญ (แนวคิดที่ล้ำยุคสารสนเทศในสมัยนั้น)
5. การเปลี่ยนระบบการเก็บรักษาและเผยแผ่ จากการเก็บรักษาเฉพาะในสถาบันพระพุทธศาสนาในประเทศ หรือ จากระบบหอไตร เป็น ระบบบรรณารักษศาสตร์พระไตรปิฎกนานาชาติ คือการเก็บรักษาพระไตรปิฎกในหอสมุดของสถาบันภูมิปัญญาชั้นนำต่างๆ ในนานาประเทศทั่วโลก (การสร้างระบบเครือข่ายภูมิปัญญาสากลระดับนานาชาติ)
กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ได้ทำการอนุรักษ์ต้นฉบับพระไตรปิฎก ร.ศ. 112 (2436) ฉบับอักษรสยาม โดยบันทึกภาพพระไตรปิฎกอักษรสยามทุกหน้าและจัดทำเป็นสื่อดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีทางภาพเก็บเป็นจดหมายเหตุอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างปี พ.ศ. 2546-2547 ต่อมาได้เผยแผ่เป็นข้อมูลเบื้องต้นในระบบอินเทอร์เน็ต www.tipitkahall.info ในปี พ.ศ. 2548 ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์แพร่หลายยิ่งขึ้น กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ จึงได้จัดทำโครงการต่อเนื่องขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2550 ได้จัดพิมพ์ ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล ชุด 40 เล่ม ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งนอกจากได้พิมพ์ภาพถ่ายจดหมายเหตุดิจิทัลพระไตรปิฎกอักษรสยามรวมทั้งสิ้น 16,248 หน้าแล้วยังได้มีการนำข้อมูลพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน (World Tipiṭaka Data Centric) มาจัดพิมพ์อ้างอิงประกอบ เพื่อเป็นประโยชน์ในการค้นคว้่าระดับนานาชาติ รวม 7 รายการ คือ
1. การปริวรรตและถ่ายถอดอักษร : อักษรสยาม อักษรโรมัน และสัททอักษรสากลปาฬิ
(Pāḷi Tipiṭaka Syām-Script to Roman-Script Transliteration & Roman-Script to International Phonetic Alphabet for Pāḷi Transcription) แสดงการปริวรรตปาฬิภาสา เป็นอักษรสยาม และอักษรโรมัน พร้อมการถ่ายถอดเสียงเป็นสัททอักษรสากลปาฬิ มี สระ 8 เสียง และพยัญชนะ 33 เสียง รวม 41 เสียง โดยจัดพิมพ์ทุกหน้ารวม 16,248 หน้า ซึ่งพิมพ์เป็นแถวคู่กัน ระหว่างหน้าซ้ายและขวา
2. ข้อมูลโครงสร้างพระไตรปิฎกและช่ือตอน (The World Tipiṭaka Structures and Titles in Roman Script) แสดงภาพรวมที่มาของข้อมูลฉบับอักษรสยามเปรียบเทียบกับโครงสร้างฉบับสากลอักษรโรมัน โดยจัดพิมพ์ใต้ภาพถ่ายพระไตรปิฎกอักษรสยามในด้านซ้ายทุกหน้า รวม 16,248 หน้า
3. ระบบรหัสอ้างอิงพระไตรปิฎกอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tipiṭaka Quotation Number for Tipiṭaka Studies Reference) แสดงระบบการสืบค้นข้อมูลจากพระไตรปิฎกอักษรสยามสู่ฉบับสากลอักษรโรมันในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจาก www.tipitakaquotation.net โดยอ้างอิงข้อมูลในพระไตรปิฎกสากล รวม 118,280 ย่อหน้า ซึ่งสามารถนำไปจัดพิมพ์เผยแผ่ในสื่อผสมต่างๆ ได้ (ปัจจุบันได้อนุญาตให้ suttacentral นำข้อมูลไปใช้เผยแผ่ในระบบอินเทอร์เน็ต)
4. ตัวอย่างข้อมูลปาฬิภาสา 2 ฉบับ พิมพ์เทียบหน้าระหว่างอักษรสยามกับอักษรโรมัน (Example of Pāḷi Tipiṭaka Parallel Corpus in Syām-Script and Roman-Script) แสดงการพิมพ์เสียงปาฬิ โดยเปรียบเทียบระหว่างพระไตรปิฎกอักษรสยามกับอักษรโรมัน ทุกหน้า รวม 16,248 หน้า โดยพิมพ์ตัวอย่างข้อมูลไว้ใต้ภาพถ่ายในด้านขวาของภาพถ่ายพระไตรปิฎกอักษรสยาม
5. ภาพถ่ายดิจิทัลพระไตรปิฎกอักษรสยาม ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล (Chulachomklao of Syām Pāḷi Tipiṭaka 1893 : A Digital Preservation Edition 2009) แสดงความสามารถในการสืบค้นจดหมายเหตุภาพดิจิทัล พระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช อักษรสยาม ฉบับอนุรักษ์ ด้วยเทคโนโลยีทางภาพแต่ละหน้า จำนวน 16,248 หน้า ซึ่งจัดเก็บในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
6. ข้อมูลคำต่างท้ายอรรถ อักษรโรมัน (Variant Readings at Endnotes) แสดงรายละเอียด คำศัพท์และรูปคำที่พิมพ์ต่างกัน (Variant Readings) ระหว่างพระไตรปิฎกอักษรสยามกับอักษรโรมันทั้งหมด จำนวน 7,414 รายการ ซึ่งเดิมได้จัดพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งในเชิงอรรถพระไตรปิฎกสากล ฉบับสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ซึ่งในฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล ชุด 40 เล่ม ได้จัดพิมพ์ใว้ในตอนท้ายของหนังสือ
7. ดัชนีศัพท์ปาฬิ อักษรโรมัน (Index of Pāḷi Words in Roman Script) แสดงจำนวนคำศัพท์ปาฬิอักษรโรมันในพระไตรปิฎกสากล และชี้ตำแหน่งของศัพท์เหล่านั้นในพระไตรปิฎกอักษรสยาม รวม 109,629 คำ เพื่อสะดวกในการค้นหาศัพท์เทียบกับอักษรสยาม โดยจัดพิมพ์ไว้ในตอนท้าย
ของหนังสือ
ตัวอย่างการพิมพ์ฉบับอนุรักษ์ครั้งนี้ นอกจากเป็นการเปิดมิติใหม่ของสื่อผสมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการจัดพิมพ์ที่ทันสมัยแล้ว ยังได้บูรณาการวิธีนำเสนอข้อมูลของพระไตรปิฎกอักษรสยามและอักษรโรมันทั้งสองฉบับไว้ด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงในวงการวิชาการ โดยเฉพาะในสถาบันนานาชาติจำนวนไม่น้อยกว่า 260 สถาบัน ใน 30 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับพระราชทานพระไตรปิฎกอักษรสยามเมื่อศตวรรษที่แล้ว ซึ่งเป็นสถาบันที่จะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรกในการจัดพระราชทาน พระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน ไปประดิษฐานเพื่อศึกษาค้นคว้าต่อไป
อนึ่ง การเตรียมงานจัดพิมพ์ครั้งนี้ทำให้ผู้ดำเนินงานหลายฝ่ายได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลอักษรสยามมากขึ้น ที่สำคัญคือทำให้คณะผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่จัดทำฐานข้อมูลเกิดความเข้าใจที่ชัดเจนในระบบการบันทึกเสียงปาฬิด้วยอักษรสยาม และในที่สุดก็ได้ข้อสรุปสำคัญยิ่ง คือ การจัดพิมพ์ปาฬิด้วยอักษรสยามสามารถบันทึกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกได้ครบถ้วนและด้วยวิธีการเรียงพิมพ์อักษรสยามของชาติไทยอันชาญฉลาด เช่น สามารถใช้เครื่องหมายยามักการ ( ๎ ) แสดงเสียงกล้ำ ร่วมกับ ไม้-อะ ( ั ) แสดงเสียง สระ-อะ และ ไม้วัญฌการ ( ์ ) แสดง เสียงสะกด เช่น สัก๎ยปุต์โต แสดงการพิมพ์พยัญชนะเสียงกล้ำแยกออกจากเสียงสะกดอย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้ จึงต้องนำหลักการพิมพ์อักขรวิธี ที่เรียกว่า อักขรวิธี ไม้อะ อักขะระสยาม-ปาฬิ ไปพิจารณาปรับปรุงการถ่ายถอดเสียงเป็น สัททอักษรสากลปาฬิ (International Phonetic Alphabet Pāḷi , IPA Pāḷi) ในพระไตรปิฎกสากลให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วย ดังข้อเสนอหนึ่งในบทความนี้ในกรณีที่พยัญชนะเสียงกล้ำ เพื่อแสดงเสียงพยัญชนะ 2 ตัว ออกเสียงกล้ำกันโดยไม่มีสระคั่น เช่น ก๎ย ใน สัก๎ยปุต์โต
เพื่ออธิบายลักษณะพิเศษของเสียงปาฬิในมิติของภาษาพระธัมม์ โดยเฉพาะการออกเสียงปาฬิอักษรโรมัน ที่ยังมิได้มีการนำเสนอในทางสัททศาสตร์โดยประยุกต์และบูรณาการในด้านพระไตรปิฎกศึกษาอย่างจริงจัง กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ได้เชิญศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิจินตน์ ภาณุพงศ์ เป็นผู้เขียนคู่มือระบบการออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกสากลฉบับอักษรโรมัน เรื่อง ปาฬิกับสัททอักษรสากล ซึ่งเป็นตัวอย่างของความพยายามในการศึกษาพระไตรปิฎกระดับนานาชาติที่บูรณาการกับความรู้สหสาขาวิชาปัจจุบัน และเป็นแนวทางหนึ่งของพระไตรปิฎกศึกษาในยุคใหม่ คือ พระไตรปิฎกศึกษาระดับนานาชาติ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงปรารถนาให้เกิดขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2547 ได้ทรงมีพระดำรัสกับกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ให้โครงการพระไตรปิฎกสากลหาทางเผยแผ่ความรู้เรื่องพระไตรปิฎกแก่ประชาชนทั่วไปด้วย
บทความปาฬิกับสัททอักษรสากล จึงเป็นการค้นคว้าและเรียบเรียงเพื่อสนองพระราชประสงค์ดังกล่าวและเป็นการพิมพ์ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์อุปถัมภ์พระไตรปิฎกสากล ผู้ทรงพระปัญญาญาณ โดยได้จัดพิมพ์คู่มือนี้เป็นพิเศษในตอนท้ายของพระไตรปิฎกฉบับอนุรักษ์ชุดนี้ทุกเล่ม ในนามโครงการพระไตรปิฎกสากล ขอขอบพระคุณศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ผู้เขียนคู่มือ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบันกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ได้ก่อตั้งมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เผยแผ่ผลงานด้านพระไตรปิฎกศึกษา ขอขอบพระคุณผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ที่ได้ให้คำแนะนำและให้ความอนุเคราะห์ ในการจัดทำต้นฉบับหนังสือชุดนี้ โดยเฉพาะท่านที่เป็นผู้แทนสถาบันต่างๆ ดังมีรายนามต่อไปนี้
ขอขอบพระคุณรองศาสตราจารย์ ดร. ธัชชัย สุมิตร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เป็นผู้ก่อตั้งหอพระไตรปิฎกนานาชาติขึ้น ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2543 โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ได้เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีเพื่อประทานคลังพระไตรปิฎกนานาชาติ ซึ่งกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ได้อนุรักษ์ขึ้นสำหรับประดิษฐานเป็นแห่งแรกในประเทศ ณ หอพระไตรปิฎกนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่ที่อนุรักษ์พระไตรปิฎกปาฬิ จุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ซึ่งเป็นชุดสมบูรณ์ที่ได้ขอยืมมาจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 5 และเป็นต้นฉบับในการถ่ายภาพดิจิทัลสำหรับการจัดพิมพ์ชุดนี้
ขอขอบพระคุณอาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. 9 ประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ที่ได้กรุณาให้ข้อมูลการออกเสียงอักขรวิธีอักษรสยาม ท่านผู้หญิงวรุณยุพา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์ของโครงการฯ ที่กรุณาตรวจสอบหลักการดำเนินงานต่างๆ, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ปัญญา บริสุทธิ์ นายกราชบัณฑิตยสถาน ที่กรุณาสนับสนุนให้ราชบัณฑิตและผู้เชี่ยวชาญจากราชบัณฑิตยสถานมาร่วมให้คำปรึกษาต่างๆ, ม.ล. อนงค์ นิลอุบล คุณหญิงวิจันทรา บุนนาค และศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ ดร. อรรณพ คุณาวงษ์กฤต ในฐานะที่ปรึกษา และผู้แทนผู้อุปถัมภ์ที่ได้ร่วมสืบค้นพระไตรปิฎก จ.ป.ร. ในประเทศสวีเดน ญี่ปุ่น นอร์เวย์ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น, ประสิทธิ์ เสกสรรค์ เลขาธิการกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ, วิทูร ทวีสกุลชัย กรรมการก่อตั้งและเหรัญญิกกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ พร้อมด้วยอริยะ อ่วมอร่าม และ ดร. บูชา บูชาธรรม หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีและคณะ ที่ร่วมดำเนินโครงการและควบคุมการจัดพิมพ์
ขอขอบพระคุณคณาจารย์จากสถาบันต่างๆ ที่ได้กรุณาให้คำปรึกษาและให้การสนับสนุนการพิมพ์พระไตรปิฎก ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล ดังมีรายนามดังต่อไปนี้ : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. กาญจนา เงารังษี มหาวิทยาลัยนเรศวร, ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. อมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รองศาสตราจารย์ ดร. นิตยา กาญจนะวรรณ ภาควิชามนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ให้คำปรึกษาด้านภาษา, ศาสตราจารย์ ดร. เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และราชบัณฑิต, รองศาสตราจารย์พรทวี พึ่งรัศมี หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีการพิมพ์, อาจารย์ธีระ ปิยคุณากร, รองศาสตราจารย์ ดร. อรัญ หาญสืบสาย, อาจารย์จุฬพงษ์ พานิชเกรียงไกร ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้คำปรึกษาเรื่องการพิมพ์ และนิสิตอาสาสมัครภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นอาสาสมัครดำเนินการปรับปรุงข้อมูลทางภาพ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รจิต วัฒนสินธุ์ คณะวิทยาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สนับสนุนอุปกรณ์การถ่ายภาพดิจิทัล และศาสตราจารย์ มณีวรรณ กมลพัฒนะ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และราชบัณฑิต ที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการถ่ายภาพ ขอขอบคุณรองศาสตราจารย์ ดร. มานพ วงศ์สายสุวรรณ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และคณะอาสาสมัครทั้งนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบันจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนผู้ร่วมงานในโครงการพระไตรปิฎกสากล ที่ได้สร้างฐานข้อมูลภาพพระไตรปิฎกอักษรสยามฉบับอนุรักษ์ การเขียนโปรแกรมเรียงพิมพ์ข้อมูลสื่อผสมต่างๆ และการจัดหน้าใหม่ทั้งหมด; ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาวิน อินทรังษี ภาควิชามัณฑศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ให้คำปรึกษาด้านศิลปกรรมพระไตรปิฎก พร้อมทั้งออกแบบปกและอักษรชุดเรียงพิมพ์
อักษรสยาม
ขอขอบพระคุณผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พลโท ปริญญา สมสุวรรณ และพลตรี ณัทกร เกิดสุขผล ผู้อำนวยการส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พร้อมด้วยคณาจารย์กองวิชากฏหมายและสังคมศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าที่สนับสนุนการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก จุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช อักษรสยาม เป็นเวลายาวนาน ถึง 10 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2542-2552 รวมทั้งนักเรียนนายร้อยทุกคนที่ได้ให้ข้อคิดเห็นต่างๆ ในวิชาทหารกับการพัฒนา และ วิชาเทคโนโลยีภูมิปัญญาไทยสากล : ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ
ท้ายที่สุด ขอขอบพระคุณ พลเอก อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่กรุณาสนับสนุนการเผยแผ่ข้อมูลการสร้างพระไตรปิฎกอักษรสยาม แก่ข้าราชการกระทรวงกลาโหม และมอบหมายให้นักเรียนนายร้อย นักเรียนนายเรือ และนักเรียนนายเรืออากาศ พร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่จากกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เข้าร่วมขบวนอัญเชิญพระไตรปิฎกอักษรสยาม ชุด 40 เล่ม จากกระทรวงกลาโหมเข้าสู่พิธีสมโภชพระไตรปิฎกอักษรสยาม ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล พ.ศ. 2552 น้อมถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อสืบทอดความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ของการสร้างพระไตรปิฎกอักษรสยามโดยกระทรวงกลาโหมในสมัยรัชกาลที่ 5
การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิ จุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช อักษรสยาม ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล ชุด 40 เล่ม (รวมเล่มประมวลเนื้อหา เล่มที่ 40) ในปี พ.ศ. 2552 ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ
กุศลและประโยชน์ประการใดที่สำเร็จจากการพิมพ์พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม ฉบับอนุรักษ์ชุดนี้ ขอน้อมถวายเป็นพุทธบูชา และอุทิศถวายเป็นเครื่องสักการะสูงสุดแด่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์พุทธมามกะไทย สถาบันอันทรงพระคุณอันประเสริฐที่ได้อนุรักษ์พระไตรปิฎกปาฬิ และสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
อนึ่ง เนื่องในการปรับปรุงและจัดพิมพ์ใหม่ พ.ศ. 2562 ผู้เขียนมีข้อบันทึกเพิ่มเติมว่าในปี พ.ศ. 2555 มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลร่วมกับกระทรวงมหาดไทยได้จัดนิทรรศการพระไตรปิฎกโดยอัญเชิญต้นฉบับพระไตรปิฎก จ.ป.ร.อักษรสยาม พ.ศ. 2436 และฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล พ.ศ. 2554 มาตั้งแสดงถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งเสด็จฯ มาทรงเป็นประธานในงานฉลองครบครอบ 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ พุทธชยันตี พ.ศ. 2555 โดยรัฐบาลจัดขึ้น ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร นับเป็นศิริมงคลหาที่สุดมิได้ และเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการจัดพิมพ์เสียงปาฬิในพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ (Sajjhāya Edition) โน้ตเสียงปาฬิ ชุด ส.ก. พ.ศ. 2559 และ ต้นฉบับปาฬิภาสา ชุด ภ.ป.ร. พ.ศ. 2559 ผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นได้ที่โครงการเสียงสัชฌายะในมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล
(พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค)
หัวหน้าคณะศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกฉบับจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช ร.ศ. 112 อักษรสยาม
กองวิชากฏหมายและสังคมศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
พ.ศ. 2542-2554
นายกกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
พ.ศ. 2542-ปัจจุบัน (2562)