สัชฌายะ : แก้ปัญหาการอ่านปาฬิภาสา

115494

 

โครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2542-ปัจจุบัน
The World Tipiṭaka Project since B.E. 2542/1999 

มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล (พ.ศ. 2555-ปัจจุบัน) ก่อตั้งขึ้นโดย โครงการพระไตรปิฎกสากล ในพระสังฆราชูปถัมภ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร พ.ศ. 2542 เพื่อดำเนินการจัดพิมพ์ พระไตรปิฎกสากล ฉบับมหาสังคีติ พ.ศ. 2500 (ปาฬิภาสา-อักษรโรมัน) จากต้นฉบับสังคายนานานาชาติ (ฉัฏฐสังคีติ) พ.ศ. 2500 

การจัดพิมพ์สำเร็จลุล่วงในปี พ.ศ. 2548 และได้เผยแผ่ ฉบับอักษรโรมัน เป็นพระธัมมทานไปในนานาประเทศไม่น้อยกว่า 150 สถาบันทั่วโลก แม้ว่า อักษรโรมัน เป็น อักษรที่ยอมรับว่าเป็นสากลนานานาชาติ แต่ประชาชนทั่วไปก็ยังไม่สามารถอ่าน ปาฬิภาสา-อักษรโรมัน ได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะไม่คุ้นเคยกับเสียงพิเศษของพยัญชนะอักษรโรมันในไวยาการณ์ และ การแบ่งพยางค์ของคำในพระไตรปิฎก ดังนั้นในปี พ.ศ. 2553 โครงการพระไตรปิฎกสากล จึงเริ่มทำการศึกษา อักขรวิธีการเขียนและออกเสียงปาฬิภาสา ในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. ฉบับอักษรสยาม พ.ศ. 2436 เพราะอักขรวิธี สยามปาฬิ มีระบบเครื่องหมายกำกับเสียงสะกด และเสียงกล้ำ ซึ่งนับเป็นการริเริ่มการถอดเสียงปาฬิในทางสัทศาสตร์ เป็นครั้งแรกในระบบการพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิ (Pāḷi Phonetic Transcription) ซึ่งทำให้ผู้อ่านสามารถแบ่งพยางค์ในพระไตรปิฎกที่ชัดเจน ฉบับอักษรสยามชุดนี้จึงเป็นมาตรฐานในการถอดเสียงปาฬิภาสาในโครงการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล ฉบับอักษรโรมัน

เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถอ่านออกเสียงปาฬิภาสาในพระไตรปิฎกสากลได้ง่ายยิ่งขึ้น กฎไวยากรณ์ทางเสียงที่เก่าแก่และสำคัญที่สุด ได้แก่ กัจายะนะ-ปาฬิ ได้นำมาใช้อ้างอิงกับทุกพยางค์ของคำทุกคำในพระไตรปิฎกปาฬิ จำนวน 9,442,422 พยางค์ และได้พัฒนาเนื้อหาปาฬิภาสาด้วยกระบวนการต่างๆ ซึ่งเป็นนวัตกรรมในการถอดเสียงปาฬิ ที่เชื่อว่าเป็นการออกเสียงสังคายนาพระไตรปิฎก หรือที่เรียกว่า สัชฌายะ (Saj-jʰā-ya Tipiṭaka Recitation) ในอดีตเมื่อ 2500 ปีมาแล้ว และสังเคราะห์ด้วยกระบวนการต่างๆ ในทาง "วิศวกรรมศาสตร์ย้อนรอย" โดยเฉพาะวิชาการทางด้านภาษาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ ทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากลสามารถนำเสนอเสียงปาฬิในอดีตให้กลับคืนมาใหม่

ในเบื้องต้น ชุดอักษรเสียง (หรือที่ พระพุทธพจน์เขียนว่า สะกายะ นิรุตติยา - sakāya niruttiyā) หรือ ปัจจุบันโครงการพระไตรปิฎกเรียกว่า สัททะอักขะระ-ปาฬิ (The Pāḷi Phonetic Alphabet) ซึ่งถอดเสียงปาฬิตามการอ้างอิงไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้างต้น ได้นำเสนอต่อราชบัณฑิตยสถานและตีพิมพ์เผยแผ่ ซึ่งแม้ว่าชุด สัททะอักขะระปาฬิ ดังกล่าวจะเป็นคู่มือทางภาษาศาสตร์ในออกเสียงปาฬิภาสาที่ง่ายขึ้น แต่บุคคลทั่วไปที่ยังไม่คุ้นเคยกับชุดรูปเขียนทางวิชาการด้านสัทศาสตร์ ก็ย่อมออกเสียงไม่คล่องแคล่วอยู่ดี ด้วยเหตุนี้ โน้ตเสียงดนตรีสากลในทางดุริยางคศาสตร์ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลนานาชาติ จึงนำมาใช้เขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก เนื่องจากโน้ตเสียงดนตรีสากลเป็นสัญลักษณ์ทางเสียงที่ละเอียดที่สุดที่เป็นมาตรฐานสากลนานาชาติ โดยเฉพาะจังหวะของเสียงละหุ (เร็ว) และเสียงคะรุ (นานขึ้น) ซึ่งไม่มีรูปเขียนเสียงแต่สามารถเขียนได้ด้วยโน้ตเสียงทางดนตรีสากล 

จากการศึกษาวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และการร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการด้านดุริยางคศาสตร์ ทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากลสามารถสร้างสรรค์ "โน้ตเสียงดนตรีสากล-เสียงสามัญ" (The Pāḷi Tipiṭaka Monotone Music Notation) ซึ่งเป็นวิธีการเรียงพิมพ์เสียงปาฬิด้วย "โน้ตเสียงเส้นเดี่ยว" (Single-Line Staff) ตามหลักการทางนิรุตติภาสา (Historical Linguistics) ที่สรุปว่า ปาฬิภาสาเป็นเสียงของภาษาในตระกูลอินโด-ยุโรป ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำ หรือ เป็นเสียงสามัญ (Monotone) และ การพิมพ์โน้ตเสียงปาฬิ ดังกล่าว ทำให้สามารถสร้างมาตรฐานจังหวะของเสียงละหุ และเสียงคะรุ ได้เป็นครั้งแรก กล่าวคือ โน้ตหัวดำมีค่าจังหวะเป็นหนึ่งมาตรา (ละหุ) ส่วนโน้ตหัวขาว สองมาตรา (คะรุ) เป็นต้น

เมื่อเรียงพิมพ์โน้ตเสียงได้สำเร็จนักวิชาการด้านการออกเสียงในทางดุริยางคศิลป์ ซึ่งเมื่อได้ศึกษาเสียงพิเศษในไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิเป็นอย่างดีแล้ว เช่น เสียงพ่นลม/ไม่พ่นลม และ เสียงก้อง/เสียงไม่ก้อง ก็สามารถฝึกออกเสียง ที่เรียกว่า "การออกเสียงพระไตรปิฎกสัชฌายะ" (Saj-jʰā-ya Tipiṭaka Recitation) ในพระไตรปิฎกโน้ตเสียงปาฬิ (The Saj-jhā-ya Phonetic Tipiṭaka) ตามจังหวะ สระสั้น/ยาว และ ละหุ/คะรุ ได้อย่างชัดเจน 

โครงการพระไตรปิฎกสากลสามารถจดสิทธิบัตรโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง "การแบ่งพยางค์เสียงสัชฌายะอัตโนมัติในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เลขที่ 46390 ทั้งนี้ เพื่อควบคุมการประมวลผลสัญลักษณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ในระบบสารสนเทศต่างๆ ให้แม่นตรงโดยปราศจากความผิดพลาดในการอ้างอิงกับไวยากรณ์ข้างต้น นอกจากการจดสิทธิบัตรแล้ว ลิขสิทธิ์สำคัญของโปรแกรมการเรียงพิมพ์โน้ตเสียงปาฬิ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 ลิขสิทธิ์ ปัจจุบันสามารถสืบค้น เสียงสัชฌายะดิจิทัลของโน้ตเสียงพระไตรปิฎกสัชฌายะทั้งชุด 250 เล่มได้ในตัวอย่างแอพพลิเคชั่น

พ.ศ. 2567 โครงการพระไตรปิฎกสากล ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศไทยได้เริ่มเผยแผ่ฉบับสัชฌายะเพื่อเป็นคู่มือตัวอย่างการออกเสียง 2 ชุด รวมชุดมาตรฐาน 80 เล่ม เป็นพระธัมมทานและ เฉลิมพระเกียรติในนนาประเทศ ทั่วโลก โดยได้รับพระบรมราชานุญาตในรัชกาลที่ 9 ว่า พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ พุทธศักราช 2559 ชุด ภ.ป.ร. (40 เล่ม) และ ชุด ส.ก. (40 เล่ม ชุดมาตรฐาน และ ชุดสมบูรณ์ 250 เล่ม) โดย ชุด ภ.ป.ร. เป็น การพิมพ์ต้นฉบับปาฬิภาสา เทียบระหว่าง อักษรสยามปาฬิ กับ สัททะอักขะระ-ปาฬิ ส่วนชุด ส.ก. เป็น  โน้ตเสียงปาฬิ-เสียงสามัญ พร้อม สัททะอักขะระไทย/โรมัน-ปาฬิ ในฉบับ ภ.ป.ร. กำกับอยู่ด้วย นับว่า ฉบับสัชฌายะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากสื่อเทคโนโลยีการพิมพ์ เป็นสื่อเทคโนโลยีทางเสียงอย่างสมบูรณ์ 

โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า เสียงสัชฌายะดิจิทัล (The Digital Saj-jʰā-ya Recitation Wavesound) ซึ่งได้อ้างอิงกับไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ จะเป็นสื่อเทคโนโลยีทางเสียงมาตรฐานล่าสุด และจะเป็นทางเลือกในการอ้างอิงวิธีออกเสียงปาฬิภาสาที่แม่นตรงต่อไปในอนาคต

ตาราง สัชฌายะแมทริกซ์ พ.ศ. 2567 (Problem-Solving Saj-jʰā-ya Matrix 2024) เป็นสรุปการอ้างอิงต่างๆ ในทางสหวิชาการของโครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2542-ปัจจุบัน (2567)

สัชฌายะ แก้ปัญหาการออกเสียงปาฬิภาสา

การบันทึกพระไตรปิฎกปาฬิภาสา เป็น ลายลักษณ์อักษร มีปัญหาที่ทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์ เรียกว่า การแทรกแซงทางเสียง (Linguistic Interference) กล่าวคือ การนำเสียงท้องถิ่นไปปนแทรกกับเสียงปาฬิภาสาในพระไตรปิฎกที่พระอรหันตสาวกทรงจำสวดสังคายนาสืบทอดกันมา ปัญหาดังกล่าวอาจแบ่งได้เป็น 4 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ

1. การแทรกแซงทางเสียง
เสียงพยัญชนะท้องถิ่นไปปนแทรกกับเสียงปาฬิดั้งเดิม ที่ระบุไว้ในไวยากรณ์ (ดู Matrix A1 และ รูปที่ 1)

2. การแบ่งพยางค์ไม่ถูกต้อง
เช่น เสียงกล้ำ มักกลายเป็น เสียงสะกด (ดู Matrix A2 และ รูปที่ 2)

3. การละเว้นการออกเสียงที่มีจังหวะพิเศษที่ไวยากรณ์กำหนด
ได้แก่ เสียงละหุ (เสียงเร็ว 1 มาตรา) และเสียงคะรุ (เสียงที่นานขึ้น 2 มาตรา) (ดู Matrix A3 และ รูปที่ 3)

4. การออกเสียงมีวรรณยุกต์
ตามหลักการทางนิรุตติภาสา ปาฬิเป็นเสียงสามัญในภาษาตระกูล อินโด-ยุโรป ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำ (ดู Matrix A4 และ รูปที่ 4)

ดังนั้น การนำเสนอการบันทึกพระไตรปิฎกสัชฌายะ ด้วยโน้ตเสียง (Pāḷi Notation) และเป็นโน้ตเสียงเส้นเดี่ยว (Single-Line Staff) จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นการแก้ปัญหา ที่สืบทอดมมาเป็นเวลานับพันๆ ปี

องค์ความรู้เรื่องออกเสียงสัชฌายะตามกฎไวยากรณ์ จึงเป็นการปลี่ยนผ่าน จาก การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร สู่ การบันทึกเสียงในทางดุริยางคศาสตร์ และเทคโนโลยีทางเสียง ที่เป็นสากลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในปัจจุบัน

ตาราง สัชฌายะแมทริกซ์ Matrix เป็นการสรุปการดำเนินงานของโครงการ (ดู Matrix A2-4, B2-4, C2-4, D2-4)

Untitled1

Problem-Solving Concepts

รูปที่ 1

Problem-Solving Concepts2

รูปที่ 2

Untitled2

Problem-Solving Concepts3

รูปที่ 3

Problem-Solving Concepts4

รูปที่ 4