ละหุ คะรุ อักขะระสยาม-ปาฬิ
คำจำกัดความของ ลหุ [ละหุ] ครุ [คะรุ] โดย สุรธัช บุนนาค
ละหุ คะรุ คัมภีร์กลุ่มอภิธานศัพท์ที่อธิบายความหมายของศัพท์ปาฬิ ได้ให้ความหมายไว้เป็นสองลักษณะ คือ รูปธัมม์ และ นามธัมม์ ในความหมายของรูปธัมม์หมายถึง สิ่งที่จับต้องได้ เช่น วัตถุหนัก วัตถุเบา เป็นต้น ส่วนในทางนามธัมม์หมายถึง สิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น จิต รูป เสียง กลิ่น และ รส เป็นต้น ซึ่งปาฬิภาสาเป็นภาสาที่ถ่ายทอดกันด้วยเสียงอันเป็นนามธัมม์ ความหมายเกี่ยวกับการออกเสียงปาฬิ ที่เป็นละหุ คะรุ จึงแสดงไว้ตามหลักฐานอ้างอิงดังต่อไปนี้
เสียง ลหุ [ละหุ] อ้างอิงในคัมภีร์ไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อที่ 4 ละหุมัตตา ตะโย รัสสา ละหุมัตตา แปลว่า มีระยะการออกเสียงเร็ว
ใน ธัมมะสังคะณีปาฬิ ในพระไตรปิฎกปาฬิ เล่มที่ 29 ย่อหน้า 421 ข้อ 42 ลหุ [ละหุ] แปลว่า “เร็ว” ละหุตา คือ ความรวดเร็ว ของเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ ละหุปริณามะตา คือ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ใน อะภิธานัปปะทีปีกาปาฐะ อะภิธานัปปะทีปิกาสูจิ อะภิธานะวัณณะนา คาถาที่ 40 เวโค, ชะโว, ระโย, ขิปปัง, สีฆัง, ตุริตัง, ละหุ, อาสุ, ตุณณะ, มะรัง, จาวิ, ลัมพิตัง, ตุวะฏะ เป็นศัพท์ที่ใช้ในความหมายว่า เร็ว ทั้งหมด
คาถาที่ 929 ละหุ ศัพท์ ในนะปุงสะกะลิงค์ มีอรรถว่า สีฆะ ความเร็ว
ใน ปะทะรูปะสิทธิ นามะกัณฑะ กฎข้อที่ 282 สัพพาสะมาวุโสปะสัคคะนิปาตาทีหิ จะ เรื่อง เนปาติกะปะทะ ว่า ขิปปะ, อะระ, ละหุ, อาสุง, ตุณณัง, อะจิรัง, สีฆัง เป็นศัพท์ที่ใช้ในความหมายว่า เร็ว ทั้งหมด
เสียง ครุ [คะรุ] อ้างอิงใน อะภิธานัปปะทีปีกาปาฐะ อะภิธานัปปะทีปิกาสูจิ อะภิธานะวัณณะนา คาถาที่ 840 ครุ [คะรุ] แปลว่า “ช้า” หรือ “นานขึ้น”
มีอัตถะว่า อะละหุกะ คือ หนัก ไม่เบา ไม่เร็ว ไม่ด่วน ไม่พลัน
การที่ปัจจุบันมีความเข้าใจว่า เสียงละหุ แปลว่า เสียงเบา และ เสียงคะรุ แปลว่า เสียงหนัก จึงไม่ตรงตามความหมายในพระไตรปิฎกและคำอธิบายเพิ่มเติมในพระอัฏฐะกะถา และอาจเข้าใจว่ามีความหมายเป็นเสียงค่อย (เสียงไม่ชัด) และเสียงดัง (เสียงชัด) ได้ สันนิษฐานว่าความเข้าใจนี้มาจากนักวิชาการตะวันตกที่แปล ละหุ ว่า light (เบา) หรือ quick (เร็ว) และคะรุ แปลว่า heavy (หนัก)* ซึ่งไม่ถูกต้องก่อให้เกิดความสับสนและขัดแย้งกับหลักการพยัญชนะกุสละ 10 ที่ว่า ละหุ คือการออกเสียงเร็ว และ คะรุ คือ การออกเสียงนานขึ้น ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปในหลักการออกเสียงพระไตรปิฎกสัชฌายะ
* The Pali Text Society Pali-English Dictionary 1999