ไตสยาม-ปาฬิ ต้นฉบับสำคัญ
อักขรวิธีไตสยาม-ปาฬิ ในฉบับ จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 : เป็นต้นฉบับสำคัญของพระไตรปิฎกอักขะระชาติพันธุ์ไต และวัฒนธรรมอักขะระชาติพันธุ์ไตในดินแดนต่างๆ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ความสำคัญของต้นฉบับพระไตรปิฎก จ.ป.ร.
2. นวัตกรรมพระไตรปิฎก จ.ป.ร. ด้านภาษาศาสตร์
3. ข้อสรุปทางสหวิชาการด้านวิทยาศาสตร์
4. ศักยภาพของอักขะระไตสยาม-ปาฬิ
5. หลักฐานอักขะระไตในต่างประเทศ
6. สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ กับ ปาฬิพินอิน ของจีน และปาฬิรัสเซีย
1. ความสำคัญของต้นฉบับพระไตรปิฎก จ.ป.ร. :
มีทั้งระบบ การถอดอักขะระ (Alphabetic Transliteration) และ การถอดเสียง (Phonetic Transcription)
พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม พ.ศ. 2436 (ดูรูปภาคผนวกที่ 1) เป็นพระไตรปิฎกที่ตีพิมพ์เป็นชุดหนังสือชุดแรกของโลก ปัจจุบันโครงการพระไตรปิฎกสากล อักขะระชาติพันธุ์ไต เรียก สยาม ว่า ไตสยาม และจากการศึกษาค้นคว้าในโครงการพระไตรปิฎกสากล นำโดยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ผู้ก่อตั้งภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าอักขรวิธีที่อาจารย์เรียกว่า ไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ ในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. เป็นทั้ง การถอดอักขะระ (Alphabetic Transliteration) และ การถอดเสียง (Phonetic Transcription) ควบคู่กันไป (ดูรูปภาคผนวกที่ 2)
2. นวัตกรรมพระไตรปิฎก จ.ป.ร. ด้านภาษาศาสตร์ :
การแบ่ง พยางค์เสียงสะกด และ พยางค์เสียงกล้ำ
พยางค์เสียงสะกด กับ พยางค์เสียงกล้ำ
โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ทำการศึกษาต้นฉบับ จ.ป.ร. และทำการถอดเสียงปาฬิให้ละเอียดยิ่งขึ้น โดยอ้างอิงกับกฎไวยากรณ์ที่ว่าด้วยการออกเสียง โดยเฉพาะคัมภีร์กัจจายะนะปาฬิที่สำคัญและเก่าแก่ จนสามารถสร้างสรรค์การเรียงพิมพ์รูปเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกเป็น ฉบับเพื่อการออกเสียง เรียกว่า ฉบับสัชฌายะ (The World Tipiṭaka Sajjhāya Phonetic Edition 2016) พ.ศ. 2559 ที่เรียงพิมพ์ด้วย สัททะอักขะระปาฬิเป็นชุดแรก พ.ศ. 2557 (ดูรูปภาคผนวกที่ 3) การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยสัททะอักขะระ โดยมีสัททสัญลักษณ์แสดง พยางค์เสียงสะกด และ พยางค์เสียงกล้ำ แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด ซึ่งไม่เคยมีการจัดทำมาก่อน ฉบับ จ.ป.ร. ได้ตีพิมพ์อักขะระสยาม เทียบทั้งรูปเขียนพยัญชนะและรูปเสียงปาฬิ กับ อักขะระโรมัน ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมการพิมพ์ในทางนิรุตติศาสตร์ที่ก้าวล้ำนำยุค (ดูหนังสือราชบัณฑิตยสถาน 80 ปี เรื่อง อักขรวิธี ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ พ.ศ. 2557 ปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2559)
3. ข้อสรุปทางสหวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ :
สัททสัญลักษณ์ในทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นสากล
แม้ว่าฉบับ จ.ป.ร. ในปี พ.ศ. 2436 ได้จัดพิมพ์เป็นชุดพระไตรปิฎก 39 เล่ม หรือ 86 คัมภีร์ปาฬิ ซึ่งยังขาดอยู่อีก 5 คัมภีร์ที่ยังมิได้จัดพิมพ์ (ดูรายละเอียดในพระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช พ.ศ. 2547) ก็สามารถกล่าวได้ว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญ คือ ได้แสดงหลักการปริวรรติทั้งในระบบการถอดอักขะระ และการถอดเสียงอักขรวิธีสยามปาฬิ ที่สมบูรณ์แล้วในทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์ ทำให้ปัจจุบันสามารถพัฒนาการถอดเสียงปาฬิให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในระบบดิจิทัล ซึ่งสามารถพิสูจน์ความแม่นตรงของการปริวรรติด้านการพิมพ์อักขะระด้วยสูตรสกัดคณิตศาสตร์ได้ (ดูหนังสือราชบัณฑิตยสถาน 80 ปี เรื่อง การสกัดอักขรวิธี ไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ เป็นสูตรคณิตศาสตร์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.ชิดชนก เหลือสินทรัพย์, ราชบัณฑิตสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2557 ปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2559)
อักขรวิธีและสัททสัญลักษณ์ในพระไตรปิฎก จ.ปร. แตกต่างจากพระไตรปิฎกอักขะระนานาชาติชุดอื่นๆ ที่จัดพิมพ์ภายหลัง ซึ่งต่างมุ่งเน้นการพิมพ์แต่รูปศัพท์ ไม่มีรูปเสียงปาฬิ อักขรวิธีสยามปาฬิจึงถือว่าเป็นสัททสัญลักษณ์ในทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นสากล วิสัยทัศน์และเจตนารมย์ที่มุ่งเน้นการเขียนเสียงปาฬิในฉบับ จ.ป.ร. จึงกล่าวได้ว่าเป็นการริเริ่มการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วย สัททะอักขะระ-ปาฬิ (Pāḷi Phonetic Alphabet) เพราะเป็นการมุ่งเน้นการเขียนรูปเสียงปาฬิที่ไม่เคยมีการจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกทั้งชุดมาก่อน
หมายเหตุ ส่วน 5 คัมภีร์ที่ยังมิได้จัดพิมพ์โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ทำการจัดพิมพ์ให้ครบสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2557
4. ศักยภาพของอักขะระไตสยาม-ปาฬิ :
สามารถเปลี่ยนผ่านการเขียนเสียงปาฬิเข้าสู่ระบบดิจิทัล
เอกลักษณ์อักขรวิธีสยามปาฬิในฉบับ จ.ป.ร. ที่เรียกว่า อักขรวิธี ไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ ที่กล่าวไว้ข้างต้น จึงเป็นอักขรวิธีการเขียนและการออกเสียงสำคัญที่ทำให้มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลสามารถจดทะเบียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เรื่อง การแบ่งพยางค์อัตโนมัติเพื่อเขียนเสียงละหุและเสียงคะรุตามที่ไวยากรณ์ระบุไว้ได้สำเร็จ และได้รับ สิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา เลขที่ 46390 (พ.ศ. 2557) ซึ่งนับเป็นสิทธิบัตรฉบับแรกที่ว่าด้วยเรื่องพระไตรปิฎก เรียกว่า สิทธิบัตรการแบ่งพยางค์สัชฌายะ (ดูเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ รายละเอียดสิทธิบัตร เลขที่ 46390 โดย พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค และคณะ เป็นผู้ประดิษฐ์ พ.ศ. 2557)
สัททสัญลักษณ์ในอักขรวิธีสยาม-ปาฬิ ซึ่งได้นำไปอ้างอิงสร้างสรรค์เป็นสิทธิบัตรช่วยในการแบ่งพยางค์ ทำให้มีศักยภาพในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิทัลเป็นครั้งแรกของโลก โดยสร้างสรรค์เป็นพระไตรปิฎก ชุด โน้ตเสียงปาฬิ ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ฉบับสัชฌายะ ชุด ส.ก. และบันทึกเป็นเสียงสัชฌายะดิจิทัลได้
5. หลักฐานอักขะระไตในต่างประเทศ :
การเขียนเสียง อักขะระชาติพันธุ์ไต-ปาฬิ อ้างอิง อักขรวิธีสยาม-ปาฬิ
คณะทำงานในโครงการพระไตรปิฎกสากลเดินทางไปเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล อักขะระโรมัน ในประเทศต่างๆ ระหว่าง พ.ศ. 2548-ปัจจุบัน ได้พบว่าแม้ว่าอักขะระโรมันเป็นชุดอักขะระสากลที่รู้จักกันทั่วโลก แต่ความสามารถในการแบ่งพยางค์และอ่านออกเสียงปาฬิด้วยอักขะระโรมันยังคงจำกัดอยู่แต่ในหมู่นักวิชาการจำนวนน้อยที่ผ่านการศึกษาในประเทศตะวันตก ประชาชนชาวพุทธทั่วโลกยังคงคุ้นเคยกับอักขะระธัมมะในวัฒนธรรมภาษาต่างๆ ของตน ไม่คุ้นเคยกับอักขะระโรมัน โดยเฉพาะประชากรชาติพันธุ์ไต หรือ ชนชาติในตระกูลภาษาไต-กะได ที่มีเอกลักษณ์นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทตลอดมาเป็นเวลายาวนาน ดังนั้น เมื่อผู้นำชาติพันธุ์ไตได้รู้จักโครงการพระไตรปิฎกสากลก็ได้ขอความอนุเคราะห์ “ฉบับสากล” จากการสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ที่พิมพ์ด้วยอักขะระไตเป็นธัมมทาน อันเป็นเหตุให้เกิดโครงการพระไตรปิฎกอักขะระชาติพันธุ์ไตขึ้น ด้วยเหตุนี้ นวัตกรรมการพิมพ์ฉบับสัชฌายะที่สามารถจัดพิมพ์อักขะระชาติพันธุ์ไต กับ สัททสัญลักษณ์ที่เป็นสากล จึงเกิดประโยชน์อย่างยิ่งยวดในการเชื่อมวัฒนธรรมทางภาษาในพระไตรปิฎกระหว่างชาติพันธุ์ไตทั่วโลก
โครงการพระไตรปิฎกสากล อักขะระชาติพันธุ์ไต (World Tipiṭaka in Various Tai Scripts) ได้ทำการค้นคว้าศึกษาเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกท้องถิ่นของชาวไตในดินแดนต่างๆ ได้แก่ รัฐฉานในพม่า ล้านช้างหรือลาวในปัจจุบัน ตลอดจนรัฐอรุณาจัลประเทศ และรัฐอัสสัมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และมณฑลยูนานหรือแคว้นสิบสองปันนาในตอนใต้ของจีน ซึ่งได้พบว่าปัจจุบันต้นฉบับพระไตรปิฎกอักขะระไตในท้องถิ่นดังกล่าวได้สูญหายไปหมดแล้ว ทำให้ยุวชนชาวไตในปัจจุบันไม่สามารถอ่านอักขะระธัมมะไตโบราณของตนในอดีตที่ใช้เขียนบนใบลานได้ นอกจากนี้การออกเสียงปาฬิตามพระไตรปิฎกของชาวไตในท้องถิ่นต่างๆ ก็ผิดเพี้ยนไปตามกาลเวลา ไม่ตรงกับเสียงที่ระบุไว้ในไวยากรณ์พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นหลักสำคัญในพระธัมมวินัย
ในการจัดทำพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไต โครงการพระไตรปิฎกสากลในเบื้องต้นได้นำเสนอการเรียงพิมพ์อักขะระไตชุดต่างๆ ตามต้นฉบับพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. พ.ศ. 2559 ซึ่งมุ่งเน้นการเรียงพิมพ์คู่ขนานระหว่างอักขะระไตชุดต่างๆ กับ กับสัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ซึ่งใช้รูปอักษรไทย ที่ชาวไตทั่วโลกสามารถออกเสียงได้ นอกจากนี้ยังสามารถพิมพ์คู่ขนานกับ สัททะอักขะระโรมัน ที่เป็นสากลอีกชุดหนึ่ง ซึ่งชาวไตที่อาศัยอยู่ในซึกโลกตะวันตกก็สามารถออกเสียงได้ (ดูรูปอักขะระไตต่างๆ หน้า 8)
ชุดอักขะระแรก ได้แก่ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ เหมาะกับชาวไตโหลงในรัฐฉาน ชาวไตล้านช้างในประเทศลาว และชาวไตลื้อในแคว้นสิบสองปันนา ที่มีดินแดนและปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวไทยและคุ้นเคยกับภาษาไทยทำให้สามารถอ่านสัททะอักขะระไทยที่ใช้เขียนเสียงปาฬิได้ ส่วนอักขะระชุดที่สอง ได้แก่ สัททะอักขะระโรมัน-ปาฬิ เหมาะสำหรับชาวไตอาหม ชาวไตคำตี่ และชาวไตพ่าเก ในรัฐอรุณาจัลประเทศและรัฐอัสสัม ตลอดจนชาวไตที่อาศัยอยู่ในโลกตะวันตกผู้ที่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษทำให้สามารถอ่านสัททะอักขะระโรมันได้โดยง่าย การพิมพ์ คู่ขนาน (parallel copus) ที่เรียกว่า ฉบับสัชฌายะ ทั้งสองชุดพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตจึงช่วยให้ง่ายในการศึกษาทั้งการเขียนและการออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกในหมู่ชาวไตทั่วโลก
ตัวอย่างอักขะระบนปกพระไตรปิฎกสัชฌายะ
ไตคำตี่-ปาฬิ ไตพ่าเก-ปาฬิ ไตอาหม-ปาฬิ
หมายเหตุ ชื่ออักขะระไตที่ได้จัดพิมพ์ในโครงการพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตนี้ เป็นศัพท์บัญญัติในโครงการพระไตรปิฎกสากลที่มุ่งเน้นเขียนเสียงของชาวไตในท้องถิ่นต่างๆ อ้างอิงประกอบกับข้อมูลด้านภาษาและมนุษยวิทยาได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.อนาโต เปลติเยร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์สมหมาย เปรมจิตต์ ป.ธ. 9 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวคือ ใช้คำศัพท์ดั้งเดิมว่า “ไต” ตามเสียงในภาษาตระกูล ไต-กะได (Tai-Kadai) ไม่เรียกว่า ไท-กะได หรือ ไทย-กะได ด้วยเหตุนี้โครงการพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไต จึงเรียกว่า อักขะระไตยวน-ปาฬิ (Tai Yuan-Pāḷi) ไม่เรียกว่า อักษรไทยล้านนา, อักขะระไตโหลง-ปาฬิ (Tai Lōng-Pāḷi) ไม่เรียกว่า อักษรไทยใหญ่, อักขะระไตขืน-ปาฬิ (Tai Khün-Pāḷi) ไม่เรียกว่า อักษรไทยขึน, อักขะระไตลื้อ-ปาฬิ (Tai Lü-Pāḷi) ไม่เรียกว่า อักษรไทยสิบสองปันนา และยังได้รวมถึงเชื้อชาติชาวไทยในปัจจุบันที่โครงการพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตเรียกว่า ไตสยาม (Tai Syām) ซึ่งเป็นผู้นำชาติพันธุ์ไตในการจัดพิมพ์ อักขะระไตสยาม-ปาฬิ (Tai Syām-Pāḷi) ที่ตีพิมพ์เป็นชุดหนังสือพระไตรปิฎก ในฉบับ จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ชุดแรกของโลก ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า อักษรสยาม หรือ อักขะระไตสยาม-ปาฬิ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
6. สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ
ปาฬิพินอิน ของจีน
และ ปาฬิรัสเซีย :
พัฒนาการ สัททะอักขะระปาฬิ ชุดสำคัญต่างๆ ของโลก
จากการศึกษาฉบับ จ.ป.ร. พบว่าอักขรวิธีสยาม-ปาฬิ มีหลักการอ้างอิงสำคัญ 4 ประการ คือ
1. อ้างอิงหลักการออกเสียงที่แม่นตรงกับฐานกรณ์ตามหลักพยัญชนะกุสะละในพระวินัยปิฎก
2. อ้างอิงการแบ่งพยางค์ตามคัมภีร์กัจจายะนะ-ปาฬิ ซึ่งเป็นไวยากรณ์ที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุด
3. อ้างอิงการออกเสียงละหุเสียงคะรุ ตามพระวินัยปิฎก และ กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602 เป็นต้น
4. อ้างอิงการออกเสียงปาฬิเป็นเสียงสามัญ ซึ่งปาฬิเป็นเสียงในตระกูลอินโดอารยัน ที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำ
อักขรวิธีสยาม-ปาฬิ ในฉบับ จ.ป.ร. มีการนำเสนอตามหลักการข้างต้นด้วย สัททสัญลักษณ์ ที่เป็นเลิศ เช่น การถอดเสียงปาฬิ ได้แก่ ก/k ข/kh ค/g ฆ/gh ง/ṅ นอกจากนี้นวัตกรรมทางสัญลักษณ์ในสยาม-ปาฬิ ยังสามารถแบ่งพยางค์การออกเสียงได้อย่างชัดเจน เช่น สั ใน สัก๎ยปุต์ ตํ ออกเสียงว่า สะ ที่ต้องลากเสียงยาวเป็นเสียงคะรุ แยกออกจาก ก๎ย (กยะ) ซึ่งเป็นพยางค์เสียงกล้ำที่ตามมาเป็นเสียงละหุ ที่ออกเสียงเร็ว (ดู อักขรวิธีวิจินตน์ ในข้อ 2 ข้างต้น)
นอกจากนี้ในกรณีที่ไวยากรณ์ระบุไว้เป็นพิเศษ โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ทำการถอดเสียงปาฬิ จาก อักขรวิธีสยาม-ปาฬิ ซึ่งเป็นนวัตกรรมต้นแบบที่ละเอียด เป็น อักขรวิธี ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ โดยใช้พยัญชนะไทย เนื่องจากภาษาไทยมีเสียงครบทุกเสียงตามปาฬิ และสามารถเขียนเสียงละหุคะรุได้ เช่น ไวยากรณ์รูปสิทธิ ข้อ 5 ระบุว่า สระเสียงยาวที่มีตัวสะกดจะต้องออกเสียงเร็ว เป็นเสียงละหุ เช่น เส็ฎ.. ใน เส็ฏโฐ และไวยากรณ์วุตโตทัย ข้อ 7 ระบุว่า สระเสียงสั้นเมื่ออยู่ท้ายบทต้องออกเสียงลากยาวขึ้นเป็นเสียงคะรุ เช่น ..ถิ ใน โส็ตถิ เป็นต้น (ดูรูป)
ชุด ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ทำให้ รองศาสตราจารย์ ดร.ศศี พงศ์สรายุทธ ใช้อ้างอิงและนำเสนอเป็นชุด โน้ตเสียงปาฬิ พ.ศ. 2559 โดยใช้เครื่องหมาย “บรรทัดเส้นเดี่ยว” (One-Staff Line) หรือเครื่องหมาย “เสียงที่ปราศจากกุญแจเสียง” (Neutral Clef) เพื่อแสดงสัญลักษณ์ทำนองเสียงระดับเดียว (Monotone) (นวัตกรรมการบันทึกโน้ตเสียงปาฬิจากพระไตรปิฎกสัชฌายะ รางวัลวิจัยดีเด่น พ.ศ. 2562 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
จากรายละเอียดต่างๆ ของละหุคะรุ และองค์ความรู้จากการถอดเสียงปาฬิในฉบับ จ.ป.ร. ทำให้ปัจจุบันสามารถพัฒนาต่อยอดโน้ตเสียงปาฬิสู่การบันทึกเสียงปาฬิโดย ศาสตราจารย์ดวงใจ ทิวทอง ผู้เชี่ยวชาญในการออกเสียง เป็นผู้อำนวยการผลิตเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกสากลในระบบดิจิทัล เรียกว่า เสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation Sound) ในพระไตรปิฎกทั้งชุด 40 เล่ม ซึ่งต่อมาเสียงสัชฌายะดิจิทัลชุดนี้ได้ใช้เป็นมาตรฐานในการถอดเสียงและสร้างเป็นชุดสัททะอักขะระปาฬิ เรียกว่า สัททะอักขะระรัสเซีย-ปาฬิ และ สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ
ปัจฉิมลิขิต
การที่อักขรวิธีสยาม-ปาฬิ ในฉบับ จ.ป.ร. พ.ศ. 2436 สามารถบูรณาการกับเทคโนโลยีการพิมพ์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น ทำให้ฉบับ จ.ป.ร. อักขะระสยาม-ปาฬิ เป็นชุดหนังสือพระไตรปิฎกชุดแรกของโลกที่สามารถศึกษาและเผยแผ่ได้อย่างมีเอกภาพ ปัจจุบันพบว่าได้เก็บรักษาอยู่ในหอสมุดนานาชาติทั่วโลก และดังที่กล่าวมาแล้วว่า อักขรวิธีสยาม-ปาฬิ มีนวัตกรรมการเขียนเสียงเสียงสะกดและเสียงกล้ำที่แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด ทำให้อักขะระสยาม-ปาฬิ ที่เรียกว่า อักขรวิธี ไม้-อั (อะ) โดดเด่นแตกต่างจากอักขะระชาติพันธุ์ไตอื่นๆ ได้แก่ อักขะระไตยวน อักขะระไตขืน และอักขะระไตลื้อ ซึ่งล้วนใช้อักขรวิธีซ้อนพยัญชนะเพื่อแสดงเสียงสะกดและเสียงกล้ำ ซึ่งผู้อ่านจะต้องรู้ไวยากรณ์จึงจะสามารถอ่านได้ แต่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถอ่านได้อย่างถูกต้อง ทำให้มีปัญหาการแบ่งพยางค์เสียงสะกดและเสียงกล้ำ สันนิษฐาว่าอักขรวิธีซ้อนพยัญชนะเป็นอักขรวิธีโบราณที่สืบทอดมาจากอักขะระปัลลวะ อักขะระมอญ และอักขะระขอม ซึ่งไม่สามารถเขียนเสียงปาฬิได้มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน
ส่วน อักขะระไตโหลง ดินแดนรัฐฉานในพม่า รวมทั้งอักขะระไตอาหม อักขะระไตคำตี่ และอักขะระไตพ่าเก ในอินเดีย ล้วนใช้อักขรวิธีเครื่องหมายที่ท้องถิ่นเรียกว่า ไม้แพ้ด ซึ่งมีลักษณะรูปเขียนที่เหมือนกัน ใช้กำกับอยู่บนพยางค์ทั้งเสียงสะกดและเสียงกล้ำ ซึ่งผู้อ่านก็จำต้องมีความรู้พื้นฐานทางไวยากรณ์จึงจะสามารถอ่านเสียงสะกดแยกจากเสียงกล้ำได้
วิธีการใช้เครื่องหมาย ไม้แพ้ด เป็นหลักการเดียวกับอักขรวิธีพินทุบอดที่ใช้ในการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทยปัจจุบัน ซึ่งแม้จะเห็นรูปศัพท์ชัดเจน และอาจง่ายต่อการแปล แต่ไม่สามารถเขียนเสียงละหุและเสียงคะรุได้ดีเท่ากับ สัททะอักขะระ-ปาฬิ ที่ถอดมาจากอักขรวิธีสยาม-ปาฬิ นอกจากนี้พินทุบอดเป็นอักขรวิธีที่จำกัดอยู่เฉพาะคณะสงฆ์และหมู่นักวิชาการ จึงทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถอ่านได้อย่างถูกต้อง เช่น ตุมฺเห อ่านว่า [ตุม-เมห] หรือผิดเพี้ยนไม่อ่านเสียงกล้ำจนกลายเป็น [ตุม-เห] แทนที่จะอ่านเป็นเสียงกล้ำว่า [ตุ-เมห] หรือ [ตุ-มเห] (ดู กัจจายะนะปาฬิ ข้อ 602) การออกเสียงกล้ำผิดเพี้ยนเป็นเสียงสะกดก็เหมือนกับอ่านว่า เป-ล่า แทนที่จะออกเป็นเสียงกล้ำอย่างถูกต้องว่า เปล่า ซึ่งการออกเสียงผิดทำให้ความหมายผิดด้วย
ดังนั้นอักขรวิธีสยาม-ปาฬิ ในฉบับ จ.ป.ร. จึงมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เพราะมีเครื่องหมายต่างๆ ที่เป็นสัททสัญลักษณ์กำกับพยางค์เสียงไม่สะกด (ไม้-อั (อะ)) พยางค์เสียงสะกด และพยางค์เสียงกล้ำ ที่แยกออกจากกัน อันเป็นนวัตกรรมทางภาษาศาสตร์ที่ก้าวล้ำนำยุค กล่าวคือ นอกจากมีตารางการถอดเสียง เทียบระหว่าง อักขะระสยาม-ปาฬิ กับ อักขะระโรมัน-ปาฬิ เช่น ด เทียบกับ d พ เทียบกับ b ยังมีการสร้างสรรค์ระบบสัททสัญลักษณ์การแบ่งพยางค์ (Phonetic Symbol for Syllabic Segmentation) ได้แก่ ไม้วัญฌการกำกับพยางค์เสียงสะกด และไม้ยามักการกำกับเสียงกล้ำ ที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน ซึ่งไม่มีระบบการเขียนใดเสมอเหมือน
ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2562 โครงการพระไตรปิฎกสากล จึงได้นำเสนอการพิมพ์พระไตรปิฎกสากลเป็นชุดอักขะระชาติพันธ์ุไตต่างๆ ที่บันทึกพระไตรปิฎกสืบทอดมานับพันๆ ปี โดยพิมพ์เป็นชุดคู่ขนานกับ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ เป็นหลัก สำหรับการพิมพ์ที่เรียกว่า ฉบับสัชฌายะ (Sajjhāya Phonetic Edition) เพื่อมุ่งเน้นการออกเสียงโดยเฉพาะ โดยมีการถอดเสียงปาฬิอย่างเป็นมาตรฐานสากล ทั้งนี้เพื่ออนุรักษ์ทั้งอักขรวิธีไตโบราณ และเสียงปาฬิที่แม่นตรงตามกฎไวยากรณ์กัจยายะนะ-ปาฬิ อันเป็นการส่งเสริมการอ่านด้วยสัททสัญลักษณ์สากลในปัจจุบัน ที่ประชาชนทั่วไปในประเทศต่างๆ สามารถศึกษาได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุดอักขะระชาติพันธ์ุไต-ปาฬิ เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระราชปัญญาญาณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงสร้างพระไตรปิฎกเป็นชุดหนังสือ ฉบับ จ.ป.ร. ชุดแรกของโลก และถือเป็นพระไตรปิฎกชุดสัททะอักขะระชุดแรกของโลกด้วย อันเกิดจากภูมิปัญญาไทยที่เป็นสากล และปัจจุบันโครงการพระไตรปิฎกสากลได้ต่อยอดสร้างสรรค์ภูมิปัญญานี้จนสามารถประดิษฐ์เป็นสิทธิบัตรการแบ่งพยางค์คำปาฬิ (สิทธิบัตร เลขที่ 46390) และบูรณาการเปลี่ยนผ่านจากอักขรวิธีสยาม-ปาฬิ เป็น อักขรวิธี ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ สำเร็จในระบบดิจิทัล ทั้งในเทคโนโลยีทางภาพและเทคโนโลยีทางเสียง