พระไตรปิฎกอักขะระชาติพันธุ์ไต
โครงการพระไตรปิฎกสากล ฉบับเสียงสัชฌายะ
ชุด ปาฬิภาสา-อักขะระชาติพันธุ์ไต
กำเนิดโครงการ
โครงการพระไตรปิฎกสากลกำเนิดขึ้นโดยพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อจัดพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิ (Pāḷi) เป็นอักขะระโรมัน (Roman Alphabet) เรียกว่า พระไตรปิฎกสากล อักขะระโรมัน (The World Tipiṭaka in Roman-Script Edition) ชุด ๔๐ เล่ม จากต้นฉบับการสังคายนานานาชาติ พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร จัดพิมพ์สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ และปัจจุบันมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้เผยแผ่พระไตรปิฎกเป็นพระธัมมทานแก่สถาบันสำคัญไม่น้อยกว่า ๑๕๐ สถาบันในนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นการดำเนินตามรอยประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม พ.ศ. ๒๔๓๖ และพระราชทานเป็นพระธัมมทานเผยแผ่ไปทั่วโลกเมื่อศตวรรษที่แล้ว
การเขียนเป็นรูปศัพท์ (Transliteration) กับ รูปเสียง (Pāḷi Transcription)
วิสัยทัศน์และเจตนารมณ์ที่มุ่งเน้นการเขียนเสียงปาฬิในฉบับ จ.ป.ร. จึงกล่าวได้ว่าเป็นการริเริ่มการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วย สัททะอักขะระ-ปาฬิ (Pāḷi Phonetic Alphabet) เป็นครั้งแรกของโลก เพราะเป็นการมุ่งเน้นการเขียนรูปเสียงปาฬิที่ไม่เคยมีการจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกทั้งชุดมาก่อน แตกต่างจากพระไตรปิฎกอักขะระนานาชาติชุดอื่นๆ ที่จัดพิมพ์ภายหลัง ต่างมุ่งเน้นการพิมพ์แต่รูปศัพท์ปาฬิ (Pāḷi Transliteration) ไม่มีรูปเสียงปาฬิ (Pāḷi Transcription) ด้วยเหตุนี้ฉบับ จ.ป.ร. จึงเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญให้โครงการพระไตรปิฎกสากลทำการถอดเสียงปาฬิให้ละเอียดยิ่งขึ้น (Narrow Phonetic Transcription) โดยอ้างอิงกับกฎไวยากรณ์ที่ว่าด้วยการออกเสียง โดยเฉพาะคัมภีร์กัจจายะนะปาฬิที่สำคัญและเก่าแก่ จนสามารถสร้างสรรค์การเรียงพิมพ์รูปเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกเป็นฉบับเพื่อการออกเสียงสัชฌายะ (Saj-jhā-ya Phonetic Tipiṭaka Edition) ที่เรียงพิมพ์ด้วยสัททะอักขะระ-ปาฬิ เป็นชุดแรกใน พ.ศ. ๒๕๕๗
ผลงานสหวิชาการ สิทธิบัตรและรางวัล
การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วย สัททะอักขะระ หรือ สัททสัญลักษณ์สากล (International Phonetic Symbol) ที่สืบค้นได้ง่ายในระบบดิจิทัลจึงเปิดมิติใหม่ในทางสหวิชาการ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญในทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ทำการตรวจสอบความแม่นตรงของการปริวรรตด้านการพิมพ์อักขะระและเปลี่ยนผ่านในทางภาษาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันได้รับการรับรองความถูกต้องในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ (ดู หนังสือราชบัณฑิตยสถาน ๘๐ ปี เรื่อง การสกัดอักขรวิธี ไม้-อะ (อั) อักขะระสยาม-ปาฬิ เป็นสูตรคณิตศาสตร์ โดยศาสตราจารย์ ดร.ชิดชนก เหลือสินทรัพย์, ราชบัณฑิตสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๗)
มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้จดทะเบียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เรื่อง การแบ่งพยางค์อัตโนมัติ เพื่อเขียนเสียงละหุและเสียงคะรุตามที่ไวยากรณ์ระบุไว้ได้สำเร็จ และได้รับสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา เลขที่ ๔๖๓๙๐ (พ.ศ. ๒๕๕๗) ซึ่งนับเป็นสิทธิบัตรฉบับแรกที่ว่าด้วยเรื่องพระไตรปิฎก เรียกพระไตรปิฎกเพื่อการออกเสียงฉบับนี้ว่า พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ (World Tipiṭaka Sajjhāya Phonetic Edition) พ.ศ. ๒๕๕๙ (ดู เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ รายละเอียดสิทธิบัตร เลขที่ ๔๖๓๙๐ โดย พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค และคณะ เป็นผู้ประดิษฐ์ พ.ศ. ๒๕๕๗) การบันทึกเสียงสัชฌายะดิจิทัลดังกล่าวในอุปกรณ์สัชฌายะอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับรางวัลการสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรม ในการแสดงนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ ครั้งที่ ๔๘ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พ.ศ. ๒๕๖๖ (ดูผลงานของสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ โดย รศ. ดร. ศศี พงศ์สรายุทธ ซึ่งนำเสนอวิธีเขียนเสียงปาฬิเป็นโน้ตเสียงสามัญที่ไม่มีระดับเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ ในพระไตรปิฎก และผลงานโน้ตเสียงพระไตรปิฎกได้รับรางวัลรัชฎาภิเษกสมโภชจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๒ และนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ ณ นครเจนีวา พ.ศ. ๒๕๖๖)
ความรู้ในโครงสร้างของพระไตรปิฎกทั้งชุด โดยเฉพาะสิทธิบัตรการแบ่งพยางค์ รวมทั้งสิ้น ๙,๔๔๒,๔๔๒ พยางค์ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ในโครงการพระไตรปิฎกสากลสามารถสร้างเป็นฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากลที่สมบูรณ์ที่สุดชุดหนึ่ง กล่าวคือ มีศักยภาพที่สามารถปริวรรตข้อมูลเป็นอักขะระต่างๆ เพื่อเขียนพระไตรปิฎกในสื่อดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น อักขะระธัมมะต่างๆ ในคัมภีร์ใบลานและหนังสือพระไตรปิฎกโบราณ
การค้นคว้าวิจัย
ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๘-ปัจจุบัน คณะทำงานในโครงการพระไตรปิฎกสากลเดินทางไปเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล อักขะระโรมัน ในประเทศต่างๆ ได้พบว่า แม้อักขะระโรมันเป็นชุดอักขะระสากลที่รู้จักกันทั่วโลก แต่ความสามารถในการอ่านออกเสียงปาฬิและแบ่งพยางค์ด้วยอักขะระโรมันยังคงจำกัดอยู่แต่ในหมู่นักวิชาการจำนวนน้อยที่ผ่านการศึกษาในประเทศตะวันตก ประชาชนชาวพุทธทั่วโลกยังคงคุ้นเคยกับอักขะระธัมมะในวัฒนธรรมอักษรท้องถิ่นของตน ไม่คุ้นเคยกับอักขะระโรมัน โดยเฉพาะประชากรที่ใช้อักขะระชาติพันธุ์ไต หรือ ชนชาติในตระกูลภาษาไต-กะได ที่มีเอกลักษณ์นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทตลอดมาเป็นเวลายาวนาน เมื่อได้รู้จักโครงการพระไตรปิฎกสากลก็ได้ขอความอนุเคราะห์ “ฉบับสากล” จากการสังคายนานานาชาติ พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่พิมพ์ด้วย “อักขะระไต” แทน “อักขะระโรมัน” เป็นธัมมทาน อันเป็นเหตุให้เกิดโครงการพระไตรปิฎกอักขะระชาติพันธุ์ไตขึ้น
โครงการพระไตรปิฎกสากล อักขะระชาติพันธุ์ไต (World Tipiṭaka in Tai Ethnolinguistic Scripts) ได้ทำการค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฎกในท้องถิ่นชาวไตในดินแดนต่างๆ ได้แก่ ล้านนาในภาคเหนือของไทย รัฐฉานในพรมแดนไทยพม่า ล้านช้างหรือลาวในปัจจุบัน ตลอดจนรัฐอรุณาจาล และรัฐอัสสัมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และมณฑลยูนานหรือแคว้นสิบสองปันนาในตอนใต้ของจีน ซึ่งได้พบว่าปัจจุบันต้นฉบับพระไตรปิฎกอักขะระไตในท้องถิ่นดังกล่าวได้สูญหายไปหมดแล้ว ทำให้ยุวชนชาวไตในปัจจุบันไม่สามารถอ่านอักขะระธัมมะไตโบราณของตนซึ่งในอดีตใช้เขียนบนใบลานได้ นอกจากนี้การออกเสียงปาฬิตามพระไตรปิฎกของชาวไตในท้องถิ่นต่างๆ ก็ผิดเพี้ยนไปตามกาลเวลา ไม่ตรงกับเสียงที่ระบุไว้ในไวยากรณ์พระไตรปิฎก
ในเบื้องต้นโครงการพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไต ได้นำเสนอการเรียงพิมพ์อักขะระไตชุดต่างๆ ตามต้นฉบับพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งมุ่งเน้นการเรียงพิมพ์คู่ขนานระหว่างอักขะระไตชุดต่างๆ กับ กับสัททะอักขะระไทยในปัจจุบันชุดหนึ่ง และ อักขะระไตกับสัททะอักขะระโรมันที่เป็นสากลอีกชุดหนึ่ง
ชื่ออักขะระไตที่ได้จัดพิมพ์ในโครงการพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตนี้ เป็นศัพท์บัญญัติในโครงการพระไตรปิฎกสากลที่มุ่งเน้นเขียนเสียงของชาวไตในท้องถิ่นต่างๆ อ้างอิงประกอบกับข้อมูลจากรองศาสตราจารย์ ดร.อนาโต เปลติเยร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์สมหมาย เปรมจิตต์ ป.ธ. ๙ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวคือ ใช้คำศัพท์ดั้งเดิมว่า “ไต” ตามภาษาในตระกูล ไต-กะได (Tai-Kadai) ไม่เรียกว่า ไท-กะได หรือ ไทย-กะได ด้วยเหตุนี้โครงการพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไต จึงเรียกว่า ปาฬิ ไต-ยวน (Pāḷi Tai-Yuan) ไม่เรียกว่า อักษรไทยล้านนา, ปาฬิ ไต-โหลง (Pāḷi Tai-Lōng) ไม่เรียกว่า อักษรไทยใหญ่, ปาฬิ ไต-ขืน (Pāḷi Tai-Khün) ไม่เรียกว่า อักษรไทยขึน, ปาฬิ ไต-ลื้อ (Pāḷi Tai-Lü) ไม่เรียกว่า อักษรไทยสิบสองปันนา และยังได้รวมถึงประชาการในชาติไทยปัจจุบันที่โครงการพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตเรียกว่า ไตสยาม (Tai Syām) ซึ่งเป็นผู้นำชาติพันธุ์ไตในการจัดพิมพ์ปาฬิ ไต-สยาม (Pāḷi Tai-Syām) ที่ตีพิมพ์เป็นชุดหนังสือพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม ชุดแรกของโลก ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
พระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตรวมชุดอักขะระชาติพันธุ์ไตต่างๆ ที่สำคัญและจัดพิมพ์เป็นชุดปฐมฤกษ์ พ.ศ. ๒๕๖๓ รวม ๑๘ ชุด แบ่งเป็นชุดหนังสือชุดละ ๔๐ เล่ม ตามการแบ่งเล่มของสังคายนานานาชาติ พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งมีระบบอ้างอิงระหว่างเล่มกับข้อในแต่ละเล่มที่เป็นสากล ทำให้สามารถสืบค้นเนื้อหาในพระไตรปิฎกได้โดยง่าย
นอกจากชุดพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตอักขะระต่างๆ จำนวน ๑๘ ชุดดังกล่าวแล้ว โครงการฯ ยังได้รวบรวมดัชนีจากชุดอักขะระไตต่างๆ จัดทำเป็นปทานุกรมพระไตรปิฎกอักขะระชาติพันธุ์ไต ชุด ๑๐๐ เล่ม เพื่อใช้ศึกษาอ้างอิงเป็นสากลอีกด้วย สำหรับนักวิชาการในระดับนานาชาติ และสื่อดิจิทัลสามารถสืบค้นที่ sajjhaya.org
อักขรวิธีในชาติพันธุ์ไต
จากการรวบรวมเป็นชุดพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตดังกล่าวข้างต้น ทำให้วิเคราะห์ได้ว่า อักขรวิธีในชาติพันธุ์ไตสามารถแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท ได้แก่
๑. อักขรวิธีซ้อนอักขะระแสดงทั้งเสียงสะกดและเสียงกล้ำ
๒. อักขรวิธีกำกับเสียงสะกดและเสียงกล้ำด้วยไม้แพ้ด
๓. อักขรวิธีที่ใช้สัททสัญลักษณ์กำกับเสียงสะกดแยกจากเสียงกล้ำ
อักขรวิธีประเภทที่ ๑ ซ้อนอักขะระเสียงสะกดและเสียงกล้ำ
พบในการเขียนเสียงปาฬิด้วย ปาฬิ ไต-ยวน (Pāḷi Tai-Yuan) ในดินแดนล้านนา ปาฬิ ไต-ขืน (Pāḷi Tai-Khün) ในเมืองเชียงตุง อักขะระธัมม์ลาวล้านช้าง ซึ่งโครงการพระไตรปิฎกสากลได้จัดทำเป็น ปาฬิ ไต-ลาว (Pāḷi Tai-Lao) ในภาคอิสานและประเทศลาว รวมทั้ง ปาฬิ ไต-ลื้อ (Pāḷi Tai-Khün) ของแคว้นสิบสองปันนาในตอนใต้ของจีน
อักขรวิธีประเภทที่ ๒ กำกับเสียงสะกดและเสียงกล้ำด้วยไม้แพ้ด
พบในการเขียนเสียงปาฬิด้วย ปาฬิ ไต-โหลง (Pāḷi Tai-Lōng) ในรัฐฉาน ตลอดจน ปาฬิ ไต-คำตี่ (Pāḷi Tai-Khamti) ปาฬิ ไต-พ่าเก (Pāḷi Tai-Phāke) ของรัฐอรุณาจาล และ ปาฬิ ไต-อาหม (Pāḷi Tai-Āhom) ของรัฐอัสสัมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
อักขรวิธีประเภทที่ ๓ สัททสัญลักษณ์กำกับเสียงสะกดแยกจากเสียงกล้ำ
พบว่าริเริ่มการเขียนด้วย อักขะระไตสยาม และปัจจุบันได้พัฒนาเป็น สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ (Thai Phonetic Alphabet-Pāḷi) และ สัททะอักขะระโรมัน-ปาฬิ (Roman Phonetic Alphabet-Pāḷi) รวมทั้ง อักขะระปาฬิ (Pāḷi Alphabet) ในโครงการพระไตรปิฎกสากล
สำหรับอักขะระไตดำในเวียดนาม และอักขะระไตจ้วงในจีน มิได้นำมาจัดรวมด้วยในชุดพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไต เพราะมิได้มีความโดดเด่นในวัฒนธรรมพระพุทธศาสนา และมิได้มีประวัติรูปอักขะระโบราณที่ใช้เขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก
จากการเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างของอักขรวิธีต่างๆ ข้างต้น จะเห็นว่าอักขะระปาฬิ-ไตสยาม มีลักษณะที่โดดเด่นที่เป็นสัททะอักขะระในทางวิชาการภาษาศาสตร์ เพราะมีพัฒนาการเป็นสัททสัญลักษณ์ที่เป็นสากล ทำให้สามารถเรียงพิมพ์พยัญชนะบนบรรทัดเดียวกันได้ (ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้สามารถแบ่งพยางค์ต่อยอดเขียนด้วย โน้ตเสียงปาฬิ ในทางดุริยางคศาสตร์ และทำการเปลี่ยนผ่านบันทึกเป็น โน้ตเสียงปาฬิดิจิทัล ได้สำเร็จ)
นอกจากนี้อักขรวิธีสยาม-ปาฬิ ยังมีสัททสัญลักษณ์ที่ใช้กำกับเสียงสะกดและเสียงกล้ำที่แยกออกจากกันโดยเด็ดขาด ดังนั้นอักขรวิธีสัททสัญลักษณ์ของไตจะทำให้ผู้อ่านเห็นวิธีเขียนและการออกเสียงแยกกันอย่างชัดเจนและทำให้ง่ายในการอ่านออกเสียงสัชฌายะที่แม่นตรงตามกฎไวยากรณ์ที่สืบทอดเสียงปาฬิมาจากการสังคายนาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ในกรณีนี้จึงกล่าวได้ว่าอักขะระไตมีประสิทธิภาพมากกว่าอักขะระโรมันซึ่งเขียนติดต่อกันทำให้แบ่งพยางค์ได้ยาก
การรวบรวมเป็นชุดอักขะระชาติพันธุ์ไตที่หลากหลายจึงทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากลมั่นใจได้ว่าองค์ความรู้เรื่องอักขรวิธีในพระไตรปิฎกสากลย่อมมีความใกล้เคียงกับเสียงปาฬิที่สวดสืบทอดในการสังคายนามาแต่อดีต ซึ่งปัจจุบันสามารถทำการเปลี่ยนผ่านด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ล้ำสมัยเป็น โน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi Notation) ชุดสมบูรณ์ ๒๕๐ เล่ม รวมทั้งสิ้น ๔ เวอร์ชั่น ซึ่งได้บันทึกสำเร็จเป็น เสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation Sound) จำนวนความจุ ๑.๖ เทระไบต์ โดยจะสามารถส่งเสียงพระธัมม์ดังกล่าวในทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวไตทั่วโลก รวมทั้งเชื้อสายชาวไตที่อาศัยอยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกา ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรไม่น้อยกว่า ๒๐๐-๕๐๐ ล้านคน
สูตรสกัดชิดชนก : มาตรฐานการจัดพิมพ์ชุดใหม่
อนึ่ง ในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกอักขะระชาติพันธุ์ไต เป็นชุดอักขะระต่างๆ เป็นจำนวนมากพร้อมกันนี้ ทำให้ผู้ดำเนินงานได้ตรวจสอบความแม่นตรงของการถอดเสียงปาฬิภาสาอีกครั้งหนึ่ง ตามหลักการที่สำคัญยิ่งยวดใน “สูตรสกัดคณิตศาสตร์-การแบ่งพยางค์สัชฌายะ” โดย ศาสตราจารย์ ดร. ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ หลักการดังกล่าวทำให้สามารถถอดรหัสภูมิปัญญาอักขรวิธี “สยามปาฬิ” (Pāḷi in Syām-Script Orthographic Writing) โดยเฉพาะ การออกเสียงสะกด และ เสียงกล้ำ ที่อักขรวิธี ไม้-อะ (อั) ฉบับอักษรสยาม พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้เรียงพิมพ์ด้วยสัญลักษณ์ “ไม้วัญฌการ” แสดง เสียงสะกด ส่วน “ไม้ยามักการ” แสดง พยางค์เสียงกล้ำ อันเป็นนำเสนอที่ก้าวล้ำนำยุคที่ทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์ปัจจุบัน เรียกว่า สัททสัญลักษณ์ (Phonetic Symbol) ที่ชัดเจนและง่ายสำหรับประชาชนทั่วไปอ่านแบ่งพยางค์ ต่างกับระบบการเขียนซ้อนพยัญชนะอักขะระโบราณที่ผู้อ่านจะต้องมีพื้นการศึกษาในภาษาธัมม์ท้องถิ่น หรือเป็นนักวิชาการเท่านั้นจึงจะสามารถรู้ว่าพยางค์ใดจะออกเสียงสะกดและพยางค์ใดจะออกเสียงกล้ำ
การเรียงพิมพ์สามบรรทัดคู่ขนาน เป็นเสียงวรรณยุกต์สามัญ
ดังนั้น การนำเสนอการพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยการเพิ่มการเรียงพิมพ์เป็นสามบรรทัดคู่ขนานกัน (Parallel Corpus) จึงเป็นการง่ายที่จะแบ่งพยางค์อ่านออกเสียงสัชฌายะ กล่าวคือ พิมพ์เทียบระหว่าง อักขะระไตฉบับท้องถิ่นเพื่ออนุรักษ์อักขรวิธีเขียนซ้อนอักษร กับ อักขะระโรมัน ซึ่งเป็นชุดมาตรฐานสากลนานาชาติ และยังสามารถเทียบกับ สัททะอักขะระไตไทย ซึ่งเป็นการเขียนเสียงปาฬิภาสาด้วยรูปเขียนอักขะระไทยที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำ
การเรียงพิมพ์คู่ขนานกับฟอนต์เสียงสัชฌายะ เพื่อแก้ปัญหาการออกเสียง
ดู สัชฌายะ : แก้ปัญหาการออกเสียง
ฟอนต์สัชฌายะ
อักขะระเสียงสามัญดังกล่าว เรียกว่า ฟอนต์สัชฌายะ (Saj-jʰā-ya Typeface) เป็นชุด ๑๘ อักขะระ ซึ่งได้นำมาจัดพิมพ์เป็นครั้งแรก เมื่ออ่านประกอบการฟังเสียงสัชฌายะดิจิทัลแล้ว ย่อมจะอ้างอิงเป็นคู่มือออกเสียงสัชฌายะได้อย่างดี
การนำเสนอรูปเสียงที่เรียกว่า ฟอนต์สัชฌายะ ๑๘ อักขะระ ข้างต้น จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการจัดพิมพ์ระบบถอดเสียงปาฬิที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ในปัจจุบัน กล่าวคือ พ.ศ. ๒๕๕๙ ในชุด ภ.ป.ร. จากเดิมได้พิมพ์คู่ขนานสองบรรทัดระหว่าง อักษรสยาม กับ สัททะอักขะระไทย หรือ สัททะอักขะระโรมัน-ปาฬิ ปัจจุบันได้เรียงพิมพ์เพิ่ม อักขะระชาติพันธุ์ไตต่างๆ เป็นคู่ขนานสามบรรทัด ทำให้สามารถแก้ปัญหาเสียงของท้องถิ่นมาปนแทรกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก ที่เรียกว่า การแทรกแซงทางเสียง เช่น การสับสนระหว่างเสียงพ่นลม (Aspirated) และเสียงไม่พ่นลม (Unaspirated) รวมทั้งการแบ่งพยางค์ที่สับสนระหว่างเสียงสะกด กับ เสียงกล้ำ ที่ระบุไว้ในไวยากรณ์ ดังนั้นเพื่อเป็นการสรุปการแก้ปัญหาต่างๆ โครงการเสียงสัชฌายะจึงได้นำเสนอ สัชฌายะแมทริกซ์ (Saj-jʰā-ya Matrix) เพื่อให้สามารถอ้างอิงการแก้ปัญหาทางเสียงในอดีตที่ซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว
สาแหรกพระไตรปิฎก
ชาติพันธ์ุไต อ้างอิง สัชฌายะ
กล่าวโดยสรุป พระไตรปิฎกอักขะระชาติพันธุ์ไตเป็นการบูรณาการการดำเนินงานในโครงการพระไตรปิฎกสากลที่ผ่านมาตลอด ๒๐ ปี โดยเฉพาะการอ้างอิงหลักการถอดเสียงตามฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. (ต้นปาฬิภาสา) และ ชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ) ชุด ๘๐ เล่ม พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งอ้างอิงกับอักขรวิธีไตสยาม-ปาฬิ โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับโครงการพระไตรปิฎกสากลอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๕ และทรงเป็นองค์ประธานการสร้างพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ พ.ศ. ๒๕๕๙
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์พระสังฆราชูปถัมภ์โครงการพระไตรปิฎกสากล ปัจจุบันได้รับการโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอัฐิเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร และดำเนินตามเจตนารมย์ของพระครูบาศรีวิชัย บูรพาจารย์แห่งล้านนา ที่ได้อนุรักษ์พระไตรปิฎกที่ถูกทอดทิ้งอยู่ตามวัดต่างๆ โดยรวบรวมจารลงใบลานขึ้นมาใหม่ เนื่องด้วยมีดำริเกรงว่าพระธัมม์คำสอนต่างๆ จะถูกทำลายไปตามกาลเวลา เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาและปฏิบัติธัมมะตามพระไตรปิฎกของชาวล้านนา ซึ่งปัจจุบันโครงการพระไตรปิฎกสากลได้บูรณาการต่อยอดเป็น ฉบับ ปาฬิ-ไต ของชาติพันธุ์ไตต่างๆ ทั่วโลก ๒๐๐-๕๐๐ ล้านคน ทั่วโลก
มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินงานจัดพิมพ์และเผยแผ่พระไตรปิฎกสากลจะมีการศึกษาและพัฒนาต่อยอดในทางวิชาการที่ละเอียดและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อเผยแผ่ให้กว้างไกลมิใช่แต่ในหมู่คณะสงฆ์และนักวิชาการ แต่แพร่หลายไปในประชาชนชาวโลกผู้มีปัญญา ดังที่ได้มีการรักษาและสืบทอดตลอดเวลาอันยาวนานในหมู่ชาติพันธุ์ไตผู้นับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลก อันเป็นการตามรอยพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราชของชาวไทย ผู้ทรงเป็นพระบรมธัมมิกมหาราชของชาวโลก
ขอขอบคุณ พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค นายกกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ และคณะ ที่ดำเนินการออกแบบสร้างสรรค์ บันทึก และสร้างฐานข้อมูลต้นฉบับอักขะระปาฬิชุดนี้ เพื่อมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกสากล ชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต
ขอน้อมเกล้าฯ ถวายอนุโมทนาสาธุการ และขอบพระคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงที่ได้มีส่วนในโครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. ๒๕๔๒-ปัจจุบัน
การเรียงพิมพ์ที่เรียกว่า การออกเสียงสัชฌายะ (The Saj-jhā-ya Phonetic Recitation) เป็นการแก้ไขปัญหาหลัก 4 ประการ ที่ได้นำเสนอตามตาราง สัชฌายะแมทริกซ์ 2566 ที่แนบมานี้
(ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา)
ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล
(ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์)
ประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค
ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
และ ที่ปรึกษามูลนิธิพระไตรปิฎกสากล
(ศาสตราจารย์ ดร.ชิดชนก เหลือสินทรัพย์)
ราชบัณฑิตสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์
สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา
และ ที่ปรึกษามูลนิธิพระไตรปิฎกสากล